Skip to main content
sharethis

ประมวลกิจกรรม 'ตามหาคนหาย' จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา 'โมกหลวงริมน้ำ' เดินรณรงค์จากแยกราษฎรประสงค์มุ่งหน้าไปสยาม ในวันผู้สูญหายสากล ทวงความยุติธรรมให้ผู้ถูกอุ้มหาย ก่อนมีเซอร์ไพร์สแสดงเชิงสัญลักษณ์ก่อนจบงาน ย้ำ "ไม่ควรมีใครต้องหายเพราะความเห็นต่าง"

 

30 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (30 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.40 น. ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราษฎรประสงค์ ประชาชนรวมกลุ่มตามนัดหมายของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา 'โมกหลวงริมน้ำ' เพื่อร่วมงาน 'ตามหาคนหาย' รณรงค์ประเด็นการบังคับสูญหาย ในวันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ส.ค.ของทุกปี 

ผู้จัดงานเตรียมภาพของผู้ถูกบังคับสูญหายมาเป็นอุปกรณ์ประเด็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 

อนึ่ง ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ที่สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญรับรองไว้เมื่อ 18 ธ.ค. 2535 ให้นิยามของการบังคับให้สูญหายไว้ว่า

“การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย”

เมื่อ 21 ธ.ค. 2553 สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญได้ผ่านมติที่ 65/209 แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถิติการถูกบังคับให้สูญหาย การจับกุม กักขัง และลักพาตัวที่เพิ่มมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก จึงนำมาสู่ข้อตกลงในมติข้างต้น กำหนดให้วันที่ 30 ส.ค. ของทุกปีเป็นวันผู้สูญหายสากล โดยเริ่มปรับใช้ในปี 2554 เป็นต้นมา

หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อเดือน พ.ค. 2557 มีนักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านสูญหายไปแล้ว 9 ราย โดย 2 รายพบว่าเสียชีวิตแล้ว และอีก 7 ราย ไม่มีรายงานความคืบหน้าด้านการสอบสวนในทางสาธารณะ

รายงานปี 2563 ของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติระบุว่าไทยมีผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นจำนวน 75 ราย

แทนฤทัย แท่นรัตน์ หรือพิม นักกิจกรรมรุ่นใหม่ กล่าวว่า เนื่องในวันผู้สูญหายสากล เธอจึงออกมาหาคนที่ถูกบังคับสูญหาย ถูกดำเนินคดีโดยมิชอบโดยรัฐบาลเผด็จการ เธอจะมาร่วมทวงอุดมการณ์ของเพื่อนๆ ที่สูญหายไป และถูกทิ้งค้างคาไว้ 

การเดินวันนี้คือการส่งเสียงให้ภาคประชาชนทราบว่ายังมีคนที่ถูกบังคับสูญหาย ขณะที่รัฐบาลเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ใช้การปิดปากประชาชน ทำให้การบังคับสูญหายเป็นเรื่องปกติ

แทนฤทัย ทิ้งท้ายก่อนเดินว่า มีคนหนึ่งที่หายไป คนๆ แต่ไม่สามารถบอกชื่อได้ โดยบอกใบ้ว่าเป็นภาพที่ตนชู ซึ่งเป็นภาพมือที่ชูนิ้วกัอย

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 16.23 น. ประชาชนเดินทางรณรงค์ไปที่สยามสแควส์

เวลา 16.30 น. กลุ่มนักกิจกรรมเดินมาหยุดที่สยามสแควส์ พร้อมกล่าวปราศรัยถึงประวัติของผู้ถูกบังคับสูญหายหลายราย

อนึ่ง ภาพและชื่อของเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายที่ถูกนำมาร่วมแสดงออกในการเดินขบวนได้แก่พอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ชัชชาญ บุปผาวัลย์ สุรชัย แซ่ด่าน วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไกรเดช ลือเลิศ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) อิทธิพล สุขแป้น ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) เด่น คำแหล้ สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย

"ขอทวงความเป็นธรรมแก่ผู้สูญหายทุกท่าน แม้จะพบร่างหรือไม่พบร่างก็ตาม รวมถึงผู้ถูกทรมานด้วยเช่นกัน" แทนฤทัยกล่าวระหว่างปราศรัย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พบการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เวลา 17.00 น. นักกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สาธิตเหตุการณ์ลักพาตัว ก่อนยุติการทำกิจกรรม

ทั้งนี้ มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ ระบุว่า การแสดงเชิงสัญลักษณ์ 'การอุ้มหาย' นี้เพื่อสะท้อนว่าเคยเกิดเหตุการณ์นี้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของเขา

"มันอาจเป็นคุณก็ได้ มันอาจเป็นใครก็ได้ ใครก็ตามที่ต้องการออกมาพูดถึงปัญหา ใครก็ตามที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ใครก็ตามที่ต้องการแสดงความคิดเห็น หรือแสดงออก เอาง่ายๆ เลย พวกเรามารำลึกคนหาย ฝั่งนั้นมี คฝ.หญิง มาเตรียมอุ้มแล้ว เราไม่รู้ว่าการที่เรามารำลึกคนสูญหาย มันเป็นภัยความมั่นคงตรงไหน ทุกคนคิดว่าเราเป็นภัยความมั่นคงไหม ใครมีกองทัพไหม มีปืนไหม มีทหารไหม มีแต่พี่ๆ มีสื่อ กับกระเป๋า 1 ใบ ไม่มีผู้ติดตาม ไม่มีองครักษ์ ไม่มีบอดีการ์ด ซึ่งสามารถหายไปเมื่อไรก็ได้" มิ้นท์ กล่าว

นักกิจกรรมหญิงคนเดิมระบุต่อว่า ทุกคนที่สูญหายเป็นคนที่กล้าหาญ ที่ออกมาทำให้เราเข้าใจปัญหาของประเทศนี้ ซึ่งนี่เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ 

"เราเลยขอ 1 วัน เป็นการรำลึกถึงพวกเขา และเราเชื่อว่าเขายังอยู่ อย่างน้อยก็ในความทรงจำของเธอ" มิ้นท์ ทิ้งท้าย 

ช่วงการแสดงเชิงสัญลักษณ์

"ไม่ควรมีใครต้องหายเพราะความเห็นต่าง"

ผู้สื่อข่าวคุยกับชาญ (นามสมมติ) อายุ 18 ปี มีชื่ออยู่ในลิสต์เฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยชาญ เล่าว่า เขามาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เพราะเป็นวาระวันผู้สูญหายสากล ซึ่งในประเทศไทยยังมีการกระทำให้บุคคลสูญหายอยู่

"อยากให้คุณมีความเป็นมนุษย์ และคิดถึงจิตใจของครอบครัวคนที่ถูกบังคับสูญหาย วันหนึ่งมันอาจจะเป็นคนใกล้ตัวคุณก็ได้ ไม่อยากให้ใช้คำว่านายสั่งมา เพราะในวันข้างหน้าถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็อาจเป็นลูกหลานคุณก็ได้ที่โดน"

"ไม่ควรมีใครต้องหายเพราะความเห็นต่าง" ชาญ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net