Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เนื่องใน “วันผู้สูญหายสากล” เรียกร้องให้ “รัฐ” ต้องกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมย้ำให้ไทยดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ โดยทันที เมื่อกฎหมายมีผลบังคับ ตามที่รัฐไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2554

 

30 ส.ค. 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม ของทุกปี เรียกร้องให้รัฐต้องกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำให้บุคคลสูญหายอีกต่อไป

เนื่องในโอกาส วันผู้สูญหายสากล ในวันที่ 30 ส.ค. 2565 ที่ประชาชนทั่วโลกและประชาชนไทยได้รำลึกและยืนยันเพื่อให้เกิดความตระหนักว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ที่ยังคงคุกคามสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนไทยตลอดมา นับแต่การหายไปของ อิหม่ามหะยีสุหลง บุตรชายและผู้ติดตาม รวมสี่คน ซึ่งคณะกรรมการค้นหาความจริงที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการไทย ได้ทำรายงานที่เชื่อได้ว่า ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำให้สูญหายไป เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2497 หรือ เมื่อ 68 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันมีการร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติว่า มีบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าไทยทำให้สูญหายไปกว่า 80 ราย ขณะที่ประเทศไทยไม่มีการรวบรวมสถิติอย่างเป็นทางการและประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงน่าเชื่อได้ว่ามีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ทำให้สูญหายไปอีกจำนวนมาก โดยที่ญาติพี่น้องไม่ได้แจ้งความหรือร้องเรียนต่อทางการไทยหรือองค์การสหประชาชาติ

ที่ผ่านมา การบังคับให้บุคคลสูญหายไม่เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายไทย และไม่เคยมีการนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งครอบครัวของผู้สูญหาย ญาติพี่น้อง เพื่อน และชุมชนของเขา รวมทั้งสังคมไม่เคยได้รับรู้ถึงชะตากรรมของผู้สูญหายเหล่านั้น จนกระทั่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา รัฐสภาไทย ได้ผ่านความเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.... ซึ่งจะมีผลทำให้การกระทำโดยเจ้าหน้าที่ หรือโดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในการกระทำการทรมาน คือการกระทำต่อบุคคลให้ได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ การลงโทษหรือกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรมเป็นความผิดอาญาร้ายแรง โดยกฎหมาย โดยจะมีผลบังคับ 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับนี้ รัฐมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิผล สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการป้องกันและปราบปราม การทรมาน การลงโทษหรือกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย การชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ฯลฯ ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากลนี้ จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ....จนผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้เร่งรัดการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว

2. ขอให้เผยแพร่ ฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ในหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัว ด้วยวิธีการต่างๆ การสอบสวน ซักถามหรือดำเนิน “กรรมวิธี” รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ ความเข้าใจบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ และจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายได้อย่างเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพ

3. เผยแพร่ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย เพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตน ในการสอดส่องดูแลป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำผิด สนับสนุนและช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวนการกระทำผิดที่เกิดขึ้น

4. จัดทำร่างอนุบัญญัติต่างๆ กฎ ระเบียบ นโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการบริหารงานยุติธรรม โดยเฉพาะกฎ ระเบียบ มาตรการเพื่อป้องกันการกระทำผิด การสืบสวน สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด การคุ้มครองประชาชนที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดและพยาน โดยขอให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสียหาย เพื่อปรับปรุงร่างอนุบัญญัติ และกฎระเบียบดังกล่าว ก่อนการอนุมัติเห็นชอบเพื่อนำไปใช้ต่อไป

5. กำหนดมาตรการในการอำนวยความยุติธรรม การคุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาครอบครัวของผู้ถูกกระทำให้สูญหายทั้งด้านสังคมและจิตใจ โดยพยายามฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งขอให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการให้ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้สูญหาย มีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ด้วย

6. ขอให้ดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED) โดยทันที เมื่อกฎหมายมีผลบังคับ ตามที่รัฐไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2554

สุดท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้ประชาชน องค์การภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชน ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง สอดส่อง เป็นหูเป็นตา เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิด เพื่อไม่ให้มีการกระทำให้บุคคลสูญหาย อีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net