ล้างหนี้ กยศ. “ผมจะดีใจมาก ถ้ารุ่นน้องจะไม่ต้องลำบากเหมือนที่ผมเคยผ่านมา”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยคิดที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ กยศ. (กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ในฐานะอดีตลูกหนี้ที่ได้ชำระหนี้แบบปิดยอดหนี้ก่อนกำหนดไปแล้ว ในประเด็นเกี่ยวกับการที่น้องๆนักเรียนในศึกษาเปิดประเด็นกันในคลับเฮาส์เรื่องนโยบายการสะสมชั่วโมงกิจกรรมจิตสาธารณะของผู้กู้ยืม กยศ. แต่ไม่ได้ฤกษ์ที่จะเขียนสักที ทั้งด้วยภารกิจมากมายประกอบกับปัญหาโรคซึมเศร้าที่เข้าสู่ช่วงอาการค่อนข้างหนัก

ซึ่งในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นทั้งผู้กู้ยืมและเป็นนักกิจกรรมในระดับที่เป็นผู้นำในองค์กรนักศึกษา (เคยเป็นเลขาธิการสภานักศึกษา) เป็นผู้จัดกิจกรรม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมทั้งในและนอกสถานศึกษา มีผลงานในระดับที่ได้พระราชทานรางวัลระดับชาติ ซึ่งหากว่ามีนโยบายแบบนี้ตั้งแต่สมัยผู้เขียนยังอยู่ระหว่างการศึกษา ในฐานะผู้กู้ ตัวผู้เขียนก็คงไม่น่าจะลำบากอะไรที่จะหาชั่วโมงสะสมเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ กยศ. กำหนดไว้เพื่อมีสิทธิในการกู้ยืมเงินไปในปีการศึกษาต่อๆไป

แต่ในมุมกลับกัน ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรม เป็นตำแหน่งผู้นำ กรรมการในกลุ่ม องค์กรต่างๆทั้งในและนอกสถานศึกษา ทั้งในภาคประชาสังคมและภาครัฐ ผู้เขียนกล่าวอย่างเต็มปากเลยว่า ผู้เขียนไม่อยากต้อนรับคนที่จะมาร่วมกิจกรรมเพียงเพื่อจะสะสมชั่วโมงจิตสาธารณะ ผู้เขียนยินดีที่จะจัดกิจกรรมโดยมีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 5 คน ดีกว่าที่จะประสบความสำเร็จเชิงปริมาณผู้เข้าร่วมที่มาเพียงเพื่อต้องมาเก็บชั่วโมงจิตสาธารณะแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเคยคัดค้านในการประชุมคณะกรรมการกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมาแล้ว (โดยที่ตอนนั้นเป็นเรื่องนโยบายของมหาวิทยาลัย กยศ. ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้)

และในมุมลูกหนี้ ผู้เขียนก็คิดเหมือนกับที่น้องคิดว่า “เงินกู้ยืม ไม่ได้ให้ฟรี ผู้กู้มีภาระต้องชำระคืนทั้งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย” การกู้ยืมจึงไม่ควรมีเงื่อนไขที่เกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลแบบนี้สำหรับผู้กู้ เพราะเงินกู้นี้เป็นสิทธิที่มาพร้อมหน้าที่ ความรับผิดชอบโดยตัวของมันอยู่แล้ว ตามคำพร่ำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เข้าใจความหมายของคำว่า “สิทธิ” (Rights) ในหลักวิชาการที่แท้จริง

ทั้งนี้ ตัวผู้เขียนเองก็ไม่เคยได้รับสิ่งตอบแทนที่สมเหตุสมผลเลยจาก กยศ. ไม่ว่าจะในฐานะผู้ที่มีผลงานกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่สมัยเรียนมาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นกรรมการสมาคม มูลนิธิ ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อย่างต่อเนื่อง หรือในฐานะผู้กู้ที่ชำระหนี้มาโดยตลอด ไม่เคยต้องเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีหรือไกล่เกลี่ยหนี้ (กว่าจะมาถึงจุดที่มีความสามารถพอชำระปิดยอดหนี้ก่อนกำหนดได้ในที่สุด)

หรือแม้วันนี้ ที่ทาง กยศ. เพิ่งได้มีการมอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ไปหมาดๆ ในวันก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเขียนบทความนี้ ผู้เขียนกล่าวอย่างเต็มปากเลยว่า ต่อให้ทาง กยศ. เสนอชื่อผู้เขียนให้ได้รับรางวัลนี้ในฐานะ “ศิษย์เก่า กยศ. ต้นแบบ” ผู้เขียนก็ไม่อยากได้รับรางวัลนี้ เพราะที่ผ่านมา ผู้เขียนก็รู้สึกเจ็บปวดมามากพอแล้ว กับระบบการคัดกรองความยากจนในการกู้ กยศ. ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกไร้ศักดิ์ศรีมาโดยตลอด และเชื่อว่าความรู้สึกมันคงไม่ต่างกับคนที่เคยต้องไปขอรับบริการการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยอนาถา ก่อนยุคที่จะมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเกิดขึ้น

และผู้เขียนรู้สึกสะอิดสะเอียนทุกครั้ง เวลาช่วงใกล้ๆเดือนกรกฎาคมของทุกๆปี ที่จะมีการปล่อยสปอตโฆษณาเชิญชวนให้ผู้กู้ กยศ. ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว กลับมาใช้หนี้ โดยโฆษณาแต่ละปีมักจะหนีไม่พ้นเรื่องความเป็น “คนดี” ของคนที่ทำงานได้เงินมาก็ต้องชำระหนี้ กยศ. และที่รู้สึกว่าน่าสะอิดสะเอียนสุดก็คือโฆษณาชุดที่นำเสนอในลักษณะว่า การใช้หนี้ของรุ่นพี่ คือการให้โอกาสทางการศึกษาของน้อง
ผู้เขียนรู้สึกว่า เนื้อหาลักษณะแบบนี้ เป็นการที่เอาโอกาสทางการศึกษาของบุคคลที่เป็น “อนาคตของชาติ” มาเป็นตัวประกัน โดยที่ที่ผ่านมา กยศ. ก็แทบไม่มีนโยบายอะไรที่จูงใจให้ลูกหนี้อยากใช้หนี้ ไม่มีแม้แต่นโยบายที่จะช่วยเหลือเรื่องการมีงานทำ การมีรายได้ที่เพียงพอแก่ค่าครองชีพของผู้กู้หลังจบการศึกษาเลย ตรงกันข้าม ผู้เขียนมักจะเห็นแต่การมีนโยบาย มาตรการทางกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้กู้ต้องมาใช้หนี้ราวกับเป็นอาชญากร โดยที่ไม่ได้สนใจสภาพที่แท้จริงว่าทุกวันนี้ ระบบค่าแรงขั้นต่ำที่ประเทศเราใช้อยู่นั้น สอดคล้องกับการที่ประชาชนจะมีความสามารถในการเลี้ยงดูตนเองและดูแลครอบครัวตามค่านิยม “ความกตัญญู” ที่ถูกปลูกฝังกันมาได้แค่ไหน? 

ดังนั้น เมื่อมีกระแสสังคมให้ “#ล้างหนี้กยศ.” ขึ้นมาจนเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ในกลุ่มคนแทบทุกฝ่ายความคิดทางการเมือง ส่วนตัวผู้เขียนจึงตอบได้อย่างไม่ต้องใช้เวลาคิด ไม่ต้องการวิจารณญาณใดๆทั้งสิ้นเลยว่า “เห็นด้วยอย่างที่สุด”

ผู้เขียนอยากเห็นแคมเปญรณรงค์นี้ที่เกิดขึ้นโดยศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดเป็นมรรคเป็นผลขึ้นจริงแก่ลูกหนี้ในปัจจุบัน โดยที่ไม่รู้สึกเสียดายที่ตนเองรีบจ่ายเงินปิดยอดหนี้ไปก่อนเลยแม้แต่นิดเดียว

และถ้าจะมีรุ่นพี่อดีตลูกหนี้ กยศ. คนไหนรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ มันก็ดูจะไม่ต่างอะไรกับการที่ตัวเองเห็นปัจจุบันมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านหน้าโรงเรียนที่ตนเคยเรียน แล้วพาลโกรธที่ตอนยุคตนเองเรียนต้องโหนรถเมล์ร้อนๆไปเรียน

เพราะที่จริงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรเป็นการลงทุนของรัฐอยู่แล้ว ที่ผ่านมารัฐได้ลงทุนออกกฎหมาย ทำนโยบายอำนวยความสะดวกต่างๆจูงใจนักลงทุนต่างชาติอยากมาลงทุนในประเทศไทยเพื่อหวังให้เกิดการจ้างงาน เกิดการห่วงโซ่การผลิต-บริโภคก็ดี (หลายนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนทางด้านเศรษฐกิจสังคมของคนในประเทศตัวเองด้วย) รัฐลงทุนเพื่อให้ประเทศได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา งานมหกรรมระดับนานาชาติเพื่อหวังให้ประชาชนมีรายได้จากการเข้ามาจับจ่ายใช้สอยของชาวต่างชาติ ไปพร้อมกับการสร้างความน่าเชื่อถือให้ประเทศก็ดี หากรัฐจะลงทุนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็เป็นสิ่งที่รัฐควรทำเช่นกัน

ไม่ว่าจะใช้มุมมองแบบทุนนิยมเสรี หรือมุมมองแบบสังคมนิยม ตราบใดที่ประชาชนจะต้องอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจ เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้า-บริการ สุดท้ายแล้วเงินภาษีที่รัฐลงทุนให้กับประชาชนในเรื่องบริการการศึกษาเพื่อให้คนมีความรู้ มีอาชีพ มีความสามารถในการสร้างผลผลิต มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยปัจจัยพื้นฐานรวมถึงการสันทนาการ แล้วยังต้องเสียภาษีเป็นหน้าที่ด้วยอีก ก็เท่ากับว่าเงินภาษีที่ลงทุนไปนั้นไม่ได้หายไปไหนเลย แต่วนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วนกลับมาในระบบงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง

ยิ่งในภาวะที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หลายฝ่ายกังวลเรื่องอัตราแรงงานจะลดลง คิดหาทางออกมากมายที่มุ่งหวังจะเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้คนรู้สึกว่าการมีลูก มีครอบครัวนั้นเป็นภาระ แท้จริงแล้วหากรัฐหันมาสนใจเรื่องการลดภาระประชาชนในการดูแลคุณภาพชีวิตประชากรที่จะถือกำเนิดใหม่ ซึ่งการศึกษาก็เป็นหนึ่งในภาระปัจจุบันของประชาชนด้วย หากเราทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นภาระได้อย่างเป็นรูปธรรม การมีประชากรเกิดใหม่ก็จะเกิดขึ้นเองในระดับที่ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปอย่างแน่นอน 

ผู้เขียนจึงขอกล่าวอย่างสุดเสียงว่า “ผมจะดีใจมาก ถ้ารุ่นน้องจะไม่ต้องลำบากเหมือนที่ผมเคยผ่านมา”
  
    
  
  
  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท