Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ปกติผมจอดในวัด... ในกลุ่มมีประมาณ 10 คน เพราะมันอยู่ใกล้ร้านอาหารหลายร้าน และมันมีร่มไม้ มีที่ให้นั่งพัก...และที่วัดมีห้องน้ำ ถ้าจำเป็นเราก็อาศัยห้องน้ำวัด”  

โน้ต คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์มหรือ “ไรเดอร์” ในจังหวัดอุบลราชธานี วัย 29 ปี เล่าให้ฟัง เมื่อเราสัมภาษณ์เกี่ยวกับที่พักในระหว่างทำงาน เขาเล่าต่ออีกว่า “ไรเดอร์มีจุดจอดพักประจำของตัวเอง แต่ก็ไม่แน่ว่าจะอยู่ที่เดิมตลอด อย่างผมบางครั้งก็ไปจอดแถวบิ๊กซี แต่แถวนั้นลำบากต้องอยู่กันข้างฟุตบาท”[3]  

อุบลราชธานีมีวัดในตัวจังหวัดจำนวนมาก วัดจึงเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับจอดพักรองานของไรเดอร์ นอกจากวัดก็คือปั๊มน้ำมัน ที่จอดรถของห้าง พ้นไปจากนั้นก็คือซอกตึก ริมถนนที่พอมีร่มเงาต้นไม้ หรือบางกรณีคือการจอดรถที่หน้าร้านอาหาร แล้วเอาตัวไปอยู่ตรงไหนซักแห่งที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น 

ระหว่างตระเวนสัมภาษณ์ เราพบเห็นที่พักไรเดอร์บางแห่งเริ่มมีความสะดวกสบายขึ้นบ้าง มีเก้าอี้ผ้าใบที่บางคนหามา ตั่งไม้พอได้เอนตัวลงนอน กระติกน้ำแข็งไว้กินน้ำเย็น กระดานหมากฮอสสำหรับบางคนที่เบื่อเล่นเกมโทรศัพท์ แต่ในบางโอกาส เราเห็นบางคนปูเสื่อลงนอนบนฟุตบาทข้างถนน บางคนนั่งยองย่อกินข้าวห่อริมทางที่คนผ่านไปมา 

เมื่อถามเรื่องที่พัก เราอดถามเรื่องการกินอาหารระหว่างการทำงานไม่ได้ ส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่าจะไม่รับประทานอาหารขณะที่เป็นเวลาอาหารเที่ยง หรืออาหารเย็น เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีงานเข้าเยอะ ดังนั้นจะรับประทานอาหารก่อนหรือหลัง เวลาอาหารเที่ยงหรือเย็น

ไรเดอร์บางคนขยายความว่า บางครั้งตัวเองกินข้าว ขณะที่ไปรอรับอาหาร อาจกินที่ร้านนั้น หรือที่อยู่ใกล้กัน ขอให้กินได้ปุ๊ปปั๊ปทันใจเป็นใช้ได้ บางคนบอกว่าอาหารยอดฮิตของไรเดอร์คือ ข้าวเหนียว หมูปิ้ง เพราะสะดวกที่สุด แต่บางคนบอกติดตลกว่าชอบกินข้าวจี่มากกว่า และบางคนบอกว่า ชอบลูกชิ้นยืนกิน เพราะมีผักให้กินเยอะดี – กินพอรองท้อง แล้วค่อยกลับไปกินมื้อหนักที่บ้าน   

เราพยายามถามพวกเขาอย่างอ้อมๆ ว่า การมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่มีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก และไม่มีเวลาพักที่แน่นอนแบบนี้ คิดว่าทางแพลตฟอร์มหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้ามาช่วยเหลือจัดหาสถานที่ หรืออำนวยความสะดวกในรูปแบบอื่นๆ หรือไม่ เราพบว่าพวกเขาไม่คิดไปไกลขนาดนั้น และออกจะประหลาดใจกับคำถามทำนองนี้ นัยหนึ่งหมายความว่า พวกเขาคิดว่าสภาพการทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ และจะต้องหาทางออกด้วยตัวเอง

ภาพการทำงานและที่พักข้างถนนของไรเดอร์ ในมุมมองของคนทั่วไปในสังคม ผู้บริโภคที่สั่งอาหารจากไรเดอร์ และแม้กระทั่งไรเดอร์เอง อาจเห็นว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” ด้วยเหตุผลว่า สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นเช่นนั้น ไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทก็ต้องดูแลตัวเอง ไรเดอร์มีทางเลือกที่จะดูแลตัวเองให้ดีได้หากต้องการ ฯลฯ   

แต่หากย้อนมองประวัติศาสตร์ของ “งาน” และ ความสัมพันธ์ในสังคมในการสร้างระบบ “คุ้มครองคนทำงาน” จะเห็นว่า เรากำลังเดินสวนทางกับความก้าวหน้าที่สร้างมาในอดีต 

ต้นศตวรรษที่ 19 ในประเทศอังกฤษ ได้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานฉบับแรกชื่อว่า กฎหมายสุขภาพและศีลธรรมของเด็กฝึกงาน (Health and Morals of Apprentices Act) เนื่องจากในขณะนั้นคนฝึกงานส่วนใหญ่คือเด็ก และมีเด็กจำนวนมากทำงานในโรงงานสิ่งทอ

กฎหมายกำหนดให้เด็กทำงานไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวันและห้ามไม่ให้ทำงานตอนกลางคืน ในด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อม ได้กำหนดให้มีการทำความสะอาดโรงงานให้ได้สุขลักษณะ ให้มีการระบายอากาศที่ดี และให้เด็กฝึกงานได้รับเสื้อผ้าที่เพียงพอและเหมาะสมต่อปี และรวมถึงที่นอนที่เพียงพอคือไม่เกินเตียงละ 2 คน และกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบเข้ามาตรวจโรงงาน[4]

กฎหมายฉบับนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบของ กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และหลังจากนั้นเมื่อมีการเรียกร้องให้มีข้อกำหนดการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้เกิดเป็นต้นแบบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายดังกล่าวได้กลายเป็นบรรทัดฐานของกฎหมายแรงงานในประเทศทั่วโลก

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ในประเทศไทยได้เกิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สาระสำคัญคือ การคุ้มครองแรงงานให้ได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างเป็นธรรม ในด้านสิทธิต่างๆ ที่พึงจะได้รับอย่างเหมาะสม เช่น เวลาทำงาน วันหยุด ค่าจ้าง ฯลฯ (ในงานที่เกี่ยวกับการขนส่งยังมีกฎหมายให้การคุ้มครองแรงงานไว้เป็นการเฉพาะด้วย เช่น กฎกระทรวงฉบับที่ 12 กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะมีเวลาพักติดต่อกันวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะได้ทำงานมาแล้วไม่เกินสี่ชั่วโมง)

ต่อมาได้เกิดกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 สาระสำคัญคือ กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการ ให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย จากการทำงาน

ในปัจจุบันอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องๆ เช่นกฎหมายประกันสังคม ด้วยเหตุผลหลักคือ แพลตฟอร์มถือว่าเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นจับคู่ความต้องการ ระหว่างไรเดอร์กับลูกค้า (ผู้สั่งอาหาร) แพลตฟอร์มจึงไม่ใช่นายจ้างไรเดอร์ ไม่มีหน้าที่คุ้มครองไรเดอร์ตามกฎหมายแรงงาน

หากจะหากรอบการอ้างอิงทางกฎหมาย อาจกล่าวว่า ไรเดอร์มีฐานะเป็นผู้ทำสัญญาอิสระ ทำงานในลักษณะ “สัญญาจ้างทำของ” ตามมาตรา 587 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ภายใต้สัญญาจ้างทำของผู้จ้างตกลงให้สินจ้างผู้รับจ้างโดยมุ่งที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ (คนสั่งอาหารจ้างไรเดอร์ไปซื้ออาหารมาส่งให้เป็นอันสำเร็จ) ส่วนการจัดหาอุปกรณ์ หรือความรับผิดชอบต่างๆ ระหว่างการทำงานเป็นของผู้รับจ้าง – ตามแนวทางนี้ การแบกรับภารกิจการทำงานให้ลุล่วงที่ไรเดอร์ทำอยู่เป็นเรื่องปกติ

แต่หากได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงจากการวิจัยหลายชิ้นที่พบตรงกันว่า ไรเดอร์จำนวนมากทำงานวันละมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การทำงานบนท้องถนนในเวลายาวนานทำให้ไรเดอร์จำนวนมากมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคกระเพาะอาหาร มีปัญหาด้านสุขภาพจิต คือมีความวิตกกังวล เคร่งเครียด อารมณ์แปรปรวน และมีอีกจำนวนมากที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงานถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต

การสำรวจภาคสนามของเราเรื่องที่พักระหว่างการทำงานของไรเดอร์ ซึ่งมีสภาพไม่ส่งเสริมสุขภาวะ แต่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า เหตุใดไรเดอร์จำนวนมากจึงเผชิญกับปัญหาสุขภาพ สุขภาพจิต และอุบัติเหตุ ดังกล่าวมา

หากยึดเอาข้อเท็จจริงของสภาพปัญญาที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์จำนวนมากเป็นตัวตั้ง และคำนึงถึงบทเรียนจากอดีต ที่สังคมสร้างระบบคุ้มครองคนทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ก็น่าจะสรุปได้ว่า สภาพการทำงานของไรเดอร์ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  “ไม่ปกติ”

สังคมควรหันมาแก้ไขเรื่องอย่างจริงจัง หรือแสร้งมองเรื่องไม่ปกติให้เป็นเรื่องปกติ อยู่ในสังคมที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ล้าหลังเรื่องการคุ้มครองแรงงานย้อนไปกว่า 2 ศตวรรษ. 

 

อ้างอิง

[1] คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

[2] โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ” มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ความเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน มูลนิธิฯและ สสส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

[3] ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 เราสัมภาษณ์ไรเดอร์ที่จังหวัดอุบลราชธานี 7 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และกรุงเทพฯและปริมณฑล 2 ราย

[4] History of Occupational Safety and Health https://www.historyofosh.org.uk/timeline.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net