การคว่ำบาตรรัสเซีย กระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียมากน้อยแค่ไหน?

นับตั้งแต่ที่รัสเซียก่อสงครามต่อยูเครน ประเทศพันธมิตรก็มีมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียหลายครั้ง แต่ก็มีคำถามว่าการคว่ำบาตรจากชาติที่ต่อต้านการรุกรานของรัสเซียนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจของรัสเซียจริงหรือไม่ ประชาชนรัสเซียได้รับผลกระทบแบบไหนอย่างไร และสาเหตุที่เศรษฐกิจของรัสเซียยังพอฟื้นตัวได้บ้างเป็นเพราะอะไร

อัลจาซีรานำเสนอเรื่องที่การคว่ำบาตรส่งผลอะไรบ้างกับรัสเซีย โดยเริ่มจากการเล่าเรื่องของผลที่เกิดขึ้นกับประชาชนในรัสเซียเอง อย่างกรณีของ อเล็กซานเดอร์ คนทำงานพิพิธภัณฑ์อายุ 23 ปี ที่การคว่ำบาตรจากตะวันตกทำให้ชีวิตของเขามีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น การที่ราคาสินค้าสูงขึ้นทำให้เขาต้องลดรายจ่ายลงและต้องหางานเสริมทำเพื่อช่วยเหลือด้านรายจ่าย ในขณะเดียวกันสินค้าต่างๆ ที่เคยเป็นของที่ดูเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันก็กลายเป็นสิ่งที่ได้มายากขึ้น อย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ในครัวเรือน

อย่างไรก็ตามอเล็กซานเดอร์ก็บอกว่า เรื่องนี้อาจจะส่งผลดีต่อรัสเซียในระยะยาว เขามองว่ารัสเซีย "มีโอกาสมากขึ้นในการที่จะได้รับการจดจำว่าเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าของตัวเองได้" และอาจจะกลายเป็นการ "เปิดประตูไปสู่สิ่งใหม่ๆ และสิ่งบวกๆ" แต่นี่ก็เป็นแค่ตัวอย่างจากปากคำของคนๆ หนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศอำนาจนิยมอย่างรัสเซียที่อาจจะฟังดูเป็นมุมมองส่วนตัว

สำหรับภาพรวมแล้ว ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา การคว่ำบาตรได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกภายนอกไปมาก ตลอดเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียก็รับเอาระบอบทุนนิยมข้ามชาติมาใช้ ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีการคว่ำบาตร ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกจะมีความตึงเครียดในเชิงการเมือง แต่ความสัมพันธ์ในแง่เศรษฐกิจแล้วมีความคึกคักมาตลอด ชนชั้นกลางรัสเซียสามารถตีตั๋วเครื่องบินเดินทางไปยุโรปได้โดยง่าย หรือซื้อผลิตภัณฑ์ของชาติตะวันตกได้ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือกางเกงยีนส์ ธุรกรรมทางการเงินทั่วๆ ไปอย่างการส่งเงินหรือรับเงินข้ามประเทศก็ทำได้ง่ายๆ

แต่เรื่องเหล่านี้อาจจะกำลังสิ้นสุดลง หลังจากที่รัฐบาลรัสเซียตัดสินใจส่งกองทัพรุกรานยูเครน สหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศพันธมิตรทั้งในยุโรปและเอเชียต่างก็ทำการคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน มีมาตรการบางอย่างที่เป็นการระงับธุรกรรมต่อเงินทุนสำรองของรัสเซียเกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งในรัสเซียต้องยกเลิกระบบ SWIFT ที่ช่วยเหลือเรื่องการโอนเงินข้ามแดน มีหลายประเทศห้ามไม่ให้เรือของรัสเซียและเครื่องบินของรัสเซียเข้าเทียบท่าหรือบินเข้าสู่น่านฟ้าของพวกเขา นอกจากนี้ยังมีการจำกัดส่งออกเทคโนโลยีระดับสูงบางจำพวก รวมถึงคว่ำบาตรน้ำมันกับถ่านหินของรัสเซียด้วย

ในขณะเดียวกันบริษัทมากกว่า 1,200 แห่งก็มีการระงับการให้บริการหรือไม่เช่นนั้นก็มีการถอนกิจการในรัสเซีย ในนั้นมีบริษัทแบรนด์ดังๆ อย่างแอปเปิล, แมคโดนัลด์, IKEA, Visa และมาสเตอร์การ์ด รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามในแง่ของผลลัพธ์แล้ว การคว่ำบาตรต่อรัสเซียมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล ในแง่หนึ่งมันก็ทำให้รัสเซียมีผลผลิตมวลรวมประชาชาติลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มีการประเมินว่าจีดีพีของรัสเซียอาจจะลดลงยิ่งกว่าเดิมไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 7 ในช่วงไตรมาสที่สาม การที่สามารถเข้าถึงสินค้าได้จำกัดไม่เพียงแค่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงระดับเลขสองหลักเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ผลิตในรัสเซียประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตที่ต้องนำเข้าจากภายนอกด้วย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของรัสเซียลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 61.8 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียจำนวนมากที่ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหาชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกจำพวกไมโครชิปมาใช้ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่รัสเซียยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตกอยู่มากในด้านการผลิต

ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อประเมินมาจนถึงตอนนี้ เศรษฐกิจของรัสเซียก็ยังคงแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการฟื้นตัวเองได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ค่าเงินรัสเซียเคยมีการสูญเสียมูลค่ามากกว่าร้อยละ 30 ในระหว่างปลายเดือน ก.พ. ถึงต้นเดือน มี.ค. แต่ต่อมาค่าเงินรูเบิลของรัสเซียก็ฟื้นตัวกลับมากลายเป็นค่าเงินที่ทำสถิติได้ดีที่สุดของปีนี้ ในช่วงไม่กี่เดือนที่่ผ่านมาภาวะเงินเฟ้อของรัสเซียก็เริ่มจะชะลอตัวลงเรื่อยๆ จากระดับร้อยละ 17.8 ในเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 14.9 ในเดือน ส.ค. ขณะเดียวกันจำนวนเงินสำรองในบัญชีธนาคารก็สูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. ถึงเดือน ก.ค. อยู่ที่ 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่า

นอกจากนี้การคว่ำบาตรดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในรัสเซียเปลี่ยนไปมากนัก อย่างน้อยก็ในกรุงมอสโก ยังคงมีคนทำงานก่อสร้างในเมืองทำการปรับภูมิทัศน์ประจำปีในทุกแห่งหน ร้านอาหารในย่านใจกลางเมือง บาร์ และร้านกาแฟต่างๆ ก็ยังคงมีคนเข้าใช้บริการมาก ห้างสรรพสินค้าก็ยังเต็มไปด้วยผู้คน ถึงแม้ว่าร้านค้าจากชาติตะวันตกจะปิดไปเป็นเวลาหลายเดือนแล้วก็ตาม ในร้านขายของชำต่างๆ ก็ยังคงมีของจากต่างประเทศขายอยู่

อเล็กซานเดอร์ที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ในกรุงมอสโกกล่าวว่า ผู้คนเริ่มเหนื่อยกับการต้องรู้สึกวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแล้วพวกเขาจึงพยายามอย่างสุดความสามารถในการกลับไปสู่ชีวิตปกติแบบเดิม อเล็กซานเดอร์บอกว่าเขาเห็นว่ามีคนเพียงไม่กี่คนที่จำกัดการบริโภคของตนเองหรืออะไรทำนองนั้น พวกเขาอาจจะจะมีเงินน้อยกว่าเดิม แต่พวกเขาก็ยังมีเงินอยู่

ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา องค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือ "ไอเอ็มเอฟ" ได้ประเมินเศรษฐกิจของรัสเซียในปี 2565 เอาไว้ดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีการคาดการณ์ว่าจีดีพีของรัสเซียจะลดลงร้อยละ 6 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการประเมินว่าจะลดลงร้อยละ 8.5 ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นความเสื่อมถอยอย่างมีนัยสำคัญแต่ก็มีความรุนแรงน้อยลงมาก

อันตัน ทาบาคห์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์กรประเมินเครดิตในรัสเซีย Expert RA ระบุว่า มีสองปัจจัยที่เป็นสิ่งที่กอบกู้ไม่ให้เศรษฐกิจรัสเซียพังในช่วงที่ถูกคว่ำบาตร 6 เดือนแรก อย่างแรกคือการที่รัสเซียมียอดการส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะพลังงาน เอกสารในรัฐบาลรัสเซียระบุว่ารัสเซียคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการขายพลังงานเพิ่มขึ้น 337,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2564 ถึงร้อยละ 38 ปัจจัยที่สองคือการที่รัฐบาลรัสเซียมีการใช้จ่ายงบประมาณหรือมีการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น

ทาบาคห์กล่าวว่าการส่งออกของรัสเซียที่กำลังบูมอาจจะมาถึงจุดสูงสุดได้แค่นี้เพราะมีอุปสงค์ความต้องการของโลกลดลง และข้อจำกัดจากการคว่ำบาตรใหม่เริ่มมีการบังคับใช้ ในขณะเดียวกันทาบาคห์ก็บอกว่าการนำเข้าของรัสเซียเริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ลดลงอย่างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวกลับมาได้ในภาคการนำเข้าคือการที่ค่าเงินรูเบิลมีเสถียรภาพและการมีพัฒนาการในด้านระบบการขนส่งสินค้า-วัตถุดิบ

อย่างไรก็ตามทาบาคห์ก็บอกว่ายังมีคำถามสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจรัสเซียหลังถูกคว่ำบาตร คือเรื่องที่ว่า เศรษฐกิจของรัสเซียจะถูกปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใดภายใต้การปรับโครงสร้างโดยธนาคารกลางของรัสเซีย เช่นเรื่องการที่ผู้บริโภคจะหันไปเลือกผลิตภัณฑ์ใหม่, การเกิดขึ้นใหม่ของห่วงโซ่อุปทานและตัวกลางทางการเงิน, และการที่บริษัทต่างๆ ปรับตัวเข้ากับข้อจำกัดใหม่ๆ จากการประเมินของธนาคารกลางรัสเซียแล้ว พวกเขากำลังอยู่ในช่วงกระบวนการที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งอาจจะยาวนานเป็นเวลาระหว่าง 9 เดือน ถึง 1 ปี

 

สำหรับผู้ประกอบการรัสเซียบางส่วนแล้วพวกเขามองเรื่องการถูกคว่ำบาตรว่าเป็นโอกาสในแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่น นิโคไล ดูนาเยฟ รองประธานสมาคม "ออโปรา รัสเซีย" ซึ่งเป็นสมาคมแห่งชาติสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กกล่าวว่าการที่บรรษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากย้ายฐานออกไปจากรัสเซียได้เปิดโอกาสให้บริษัทภายในประเทศขยายส่วนแบ่งตลาดของตนเองโดยเฉพาะในแง่ของผลิตภัณฑ์อาหาร, เครื่องสำอาง, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, การท่องเที่ยว และการก่อสร้าง

ดูนาเยฟบอกว่าอุปสงค์ความต้องการโดยรวมของผู้คนลดลง แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากในระดับเลวร้าย เพราะส่วนใหญ่แล้วอุปสงค์ที่เหลือก็เบนเข็มมาทางผู้ผลิตภายในประเทศแทน

ทาบาคห์บอกว่าเศรษฐกิจในแบบที่ไม่ได้มาจากชาติตะวันตกยังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อแผนการของรัสเซียในการโต้ตอบการคว่ำบาตร เช่นการที่ทวีปเอเชียและตะวันออกกลางมีฐานการผลิตที่เติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาทำให้มันกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับรัสเซียในการหาแหล่งสินค้าใหม่ๆ มาแทนที่สินค้าจากตะวันตก

ในขณะเดียวกันทางการรัสเซียก็เริ่มอุดช่องว่างทางเศรษฐกิจด้วยแผนการนำเข้าแบบคู่ขนาน โดยให้บริษัทของรัสเซียเป็นผู้ซื้อและนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมของตะวันตกเข้ามา เช่น สมาร์ทโฟน, รถยนต์ และเสื้อผ้า โดยซื้อมาจากประเทศที่สามซึ่งไม่ใช่ประเทศที่แบนพวกเขา แล้วก็นำสินค้าเหล่านั้นมาขายทอดต่ออีกทีหนึ่งในตลาดของรัสเซีย ในแบบที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแบรนด์

ทาบาคห์บอกว่าวิธีการแบบนี้ทำให้ต้องจ่ายในราคาแพงเสมอและไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ซื้อ แต่ถึงที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องใช้วิธีนี้ในการบรรเทาผลกระทบจากการคว่ำบาตร "ความจริงที่ว่าพวกเราถึงขนาดมีทางเลือกในการใช้วิธีนี้ แสดงให้เห็นว่าโลกนี้เปลี่ยนไปมากขนาดไหนจากที่มันเคยเป็นมาเมื่อ 30 ปีก่อน เมื่อตอนที่ตะวันตกยังคงครอบงำตลาดได้เบ็ดเสร็จอยู่" ทาบาคห์กล่าว

มีคำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือเศรษฐกิจของรัสเซียจะสามารถฝ่าอุปสรรคไปได้ในระยะยาวหรือไม่ภายใต้ "การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ" ของพวกเขา และรัสเซียจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จบนรากฐานใหม่ๆ หรือจะประสบความล้มเหลวจนเกิดสภาวะเสื่อมถอยของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นเวลาอีกหลายปี

คริส เดวอนเชียร์-เอลลิส ผู้ก่อตั้งบริษัท เดซาน ชีรา แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุนภาคพื้นเอเชียกล่าวว่า มีปัจจัยสำคัญ 2 ปัจจัยที่มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียได้เปรียบ ปัจจัยแรกคือการที่รัสเซียมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง รัสเซียถือว่ามีทรัพยากรซึ่งเป็นที่ต้องการใน 3 อันดับแรกของโลกไม่ว่าจะเป็น พลังงาน, เพชร หรือน้ำสะอาด ไปจนถึงแร่แรร์เอิร์ธและแร่อื่นๆ ทำให้รัสเซียมีความร่ำรวยทรัพยากรมาก

ปัจจัยที่ 2 ที่ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียได้เปรียบคือการที่รัสเซียไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวในทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองมากนักถึงแม้ว่าจะถูกชาติตะวันตกตีตัวออกห่าง เดวอนเชียร์-เอลลิส กล่าวว่ารัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่มีอำนาจอย่างจีน, อินเดีย และอิหร่าน และมีความสัมพันธ์ห่างๆ กับประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่าง ซาอุดิอาระเบีย, ตุรเคีย (ตุรกี), บราซิล และหลายประเทศในแอฟริกา ทำให้เดวอนเชียร์-เอลลิส มองว่ารัสเซียจะรับมือการคว่ำบาตรได้

 

 

เรียบเรียงจาก

Did sanctions really hurt the Russian economy?, Aljazeera, 29-08-2022

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท