Skip to main content
sharethis

กมธ. คนทำงานสิทธิ ครอบครัวผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานและอุ้มหายร่วมกันแถลงข่าวที่สภาแสดงความยินดีที่กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายผ่านสภาแล้ว อย่างไรก็ตามองค์กรสิทธิชี้ว่ากฎหมายยังมีปัญหา เช่น ไม่ห้ามใช้หลักฐานที่ได้จากการซ้อมทรมาน ไม่ห้ามนิรโทษฯ ผู้ก่อเหตุ ไม่กำหนดให้มีตัวแทนผู้เสียหายในคณะกรรมการ

31 ส.ค.2565 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย มีการแถลงข่าวของกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหายพร้อมครอบครัวของผู้สูญหายและคนทำงานในประเด็นนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ในที่ประชุมของรัฐสภาเพิ่งลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคภูมิใจไทยกล่าวในฐานะที่ตนเป็น 1กมธ.และทายาทของ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา บุคคลที่ถูกบังคับสูญหายเมื่อ 68 ปีก่อนว่า ร่างกฎหมายนี้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว แต่เมื่อกฎหมายเข้าสู่ 2 สภาแล้วย่อมถูกตัดเสริมไม่มีกฎหมายใดออกมาสมบูรณ์ทุกตัวอักษรอย่างที่เราอยากได้ 100% แต่เมื่อพิจารณาแล้วหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายยังคงอยู่และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย แต่การเริ่มใช้กฎหมายนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้นไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งไม่ให้บุคคลไม่กระทำความผิดได้และยังต้องติดตามเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้กับครอบครัวอื่นๆ พร้อมเยียวยาดูแลครอบครัวของผู้ที่ถูกอุ้มหายและซ้อมทรมานด้วย

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ แสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการสืบสวนสอบสวนไปจากประมวลกฎมหายวิธีพิจารณาความอาญาเกิดการถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายปกครองและอัยการจึงนับเป็นสิ่งใหม่ในการสอบสวนรวบรวมหลักฐานให้เป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลต้องรอ 15 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุกเบกษาต่อไป

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่าที่กฎหมายฉบับนี้สามารถออกมาได้เพราะแรงผลักดันที่มาจากความเจ็บปวดที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ และเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของภาคประชาชนและคนที่เคยถูกกระทำ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมแถลงว่าเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตลอดจนเข้าข่ายการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และถ้ามีการใช้แล้วพบปัญหาในตัวบทกฎหมายก็ต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป

สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ที่ถูกตำรวจซ้อมทรมานที่จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า เขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของลูกมาถึง 15 คำพิพากษา จึงมาเพื่อขอบคุณผู้แทนราษฎรที่ผ่านกฎหมายนี้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนและปกป้องและป้องกันจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ลุแก่อำนาจ

แอมเนสตี้-ICJ ติงแม้จะคืบหน้าแต่กฎหมายยังมีข้อบกพร่องเยอะ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่ามติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายนี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้ แต่ทั้งสององค์กรรู้สึกผิดหวังที่ยังคงมีข้อบกพร่องในบางมาตราที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์

“อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติ ฯ ฉบับนี้ยังไม่มีบทบัญญัติครบถ้วนหรือถูกต้องตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทำให้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติในลักษณะที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ UNCAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)” เอียน เซเดอร์แมน (Ian Seiderman) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของ ICJ

ในแถลงการณ์ร่วมได้ระบุประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในกฎหมายไว้อยู่หลายประการเช่น ในส่วนของนิยามยังไม่มีการระบุถึงผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ภาครัฐซี่งมีกำหนดอยู่ในมาตรา 3 ของ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) มีการตัดประเด็นการป้องกันการนิรโทษกรรมผู้ก่อเหตุออกจากกฎหมาย ไม่กำหนดให้มีตัวแทนผู้เสียหายในคณะกรรมการ

นอกจากนั้นยังมีการถอดเรื่องการห้ามนำพยานหลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายมาใช้ในคดี และขาดมาตราที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอายุความของอาชญากรรมที่เป็นการทรมานและบังคับสูญหายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ICPPED และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ UNCAT)

ทางด้าน เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ข้อบกพร่องบางประการที่เราได้ระบุในข้อเสนอแนะก่อนๆ ได้รับการแก้ไขแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ผ่านมติรับรอง ยกตัวอย่างเช่น เรายินดีที่ร่างฉบับนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พร้อมทั้งมีบทบัญญัติที่รับรองให้อาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง

“ในอนาคต ประเทศไทยควรทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป และดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์”

องค์กรทั้งสองยังเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการตามคำมั่นว่าจะทำการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา ICPPED โดยไม่ล่าช้า พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร้องในร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับประกันการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net