Skip to main content
sharethis
  • ก้าวไกล ดัน 5 ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ยกเลิกเรื่องเกณฑ์พิสูจน์ความจน ขยายเงื่อนไขการให้ทุนเรียนฟรี สำหรับผู้เรียนบางกลุ่ม ยกเลิกการมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี  ผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ จ่ายคืนต่อเมื่อมีรายได้ ปัญหาสัญชาติที่ค้างคาอยู่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืม 
  • ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายหนุนลดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน รัฐหยุดฟ้องทันที
  • 'ภูมิใจไทย' เผย มติพรรค เห็นควร ยกเลิกดอกเบี้ยเงิน กยศ. เพิ่มโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงทุนทรัพย์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

31 ส.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องสวัสดิการการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย (ซึ่งกว้างกว่าแค่ประเด็นในร่าง พ.ร.บ. กยศ.) กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง

การศึกษาเป็นสวัสดิการที่สำคัญสำหรับอนาคตของประชาชนและเป็นการลงทุนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แม้หลายประเทศจะมีข้อถกเถียงและข้อสรุปที่แตกต่างกันถึงระดับชั้นที่รัฐควรอุดหนุนให้ประชาชนได้เรียนฟรี ณ ปัจจุบัน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหากสามารถจัดสรรงบประมาณได้เพียงพอ การอุดหนุนให้ประชาชนมีสิทธิเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นนโยบายที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้คนจำนวนมาก และเป็นนโยบายที่บางประเทศทำให้เกิดขึ้นจริงได้

การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี จึงเป็นเป้าหมายที่พรรคก้าวไกลต้องการมุ่งไป โดยหากรัฐไทยยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อเรียนอุดมศึกษาฟรีได้ในทันที เรามีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ดังที่วาระร่างพระราชบัญญัติ กยศ. เข้าสู่สภาในวันนี้ครับ เพื่อรับประกันสิทธิทางการศึกษาของผู้เรียนในช่วงเปลี่ยนผ่าน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของการขยายโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านการให้ผู้เรียนกู้ยืมจากกองทุนในส่วนของค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพ 3,000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยประมาณ ~400,000 บาทต่อคน สำหรับการเรียน ป.ตรี 4 ปี) เพื่อจ่ายคืนตามจำนวนที่ยืมมา

แต่ที่ผ่านมา เงื่อนไขและการบริหารจัดการในหลายส่วน กลับทำให้เกิดปัญหาทั้งในการจำกัดโอกาสสำหรับผู้ที่อยากเรียนบางกลุ่ม การเพิ่มภาระให้กับผู้เรียนที่กู้เงินไปแล้ว และการบริหารจัดการกองทุนให้มีสภาวะทางการเงินที่เสี่ยงจะไม่ยั่งยืนสำหรับการปล่อยกู้ให้ผู้เรียนในอนาคต

หากเรายังต้องการคงไว้ถึงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ในช่วงที่ยังไม่มีการอุดหนุนการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอ 5 ข้อเสนอ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาวาระ 2 (รายมาตรา) เพื่อปรับปรุงให้ กยศ. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระต่อผู้เรียน และรักษาความยั่งยืนของกองทุน:

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคมีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ

1. ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการ กยศ. ได้อย่างถ้วนหน้า (มาตรา 4) : ยกเลิกเรื่องเกณฑ์พิสูจน์ความจนในการกู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตกหล่น และเพื่อยืนยันหลักคิดว่าสวัสดิการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ควรเป็นสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน

2. ขยายเงื่อนไขการให้ทุนเรียนฟรี สำหรับผู้เรียนบางกลุ่ม (มาตรา 5) : เพิ่มความยืดหยุ่นให้กองทุน ในการพิจารณาให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าสำหรับผู้เรียนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การเรียน ปวส. ฟรี หรือ ป.ตรี ฟรี สำหรับบางกลุ่ม

3. ยกเลิกการมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี (มาตรา 13) : รับประกันว่า กยศ. จะไม่มีการกำหนดให้ผู้กู้ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ซึ่งครอบคลุมกว่าร่างข้อเสนออื่นๆ ที่ยังเปิดช่องให้กำหนดผู้ค้ำประกันได้ในทุกระดับ หรือ ในบางระดับ (เช่น สูงกว่า ป.ตรี)

4. ผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ จ่ายคืนต่อเมื่อมีรายได้ (มาตรา 17) : ผู้เรียนมีสิทธิจ่ายเงินกู้คืนต่อเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือภายในระยะเวลาสามสิบปี มีเพดานดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เกิน 1% ต่อปี ซึ่งอาจปรับลดเหลือ 0% (โดยรัฐอุดหนุนส่วนต่างรายได้กองทุนที่หายไป) และอาจมีทางเลือกชำระหนี้เป็นทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

5. ปัญหาสัญชาติที่ค้างคาอยู่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืม (มาตรา 12/1) : อนุญาตให้บุคคลที่รัฐกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะให้มีสัญชาติไทยอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่เสียสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการ กยศ.

พิธา ระบุด้วยว่า นอกเหนือจากข้อเสนอนี้ที่อยู่ภายใต้อำนาจของ กยศ. โดยตรง รัฐและ กยศ. จำเป็นต้องร่วมแก้ปัญหาเรื่องสภาวะการตกงานของผู้จบใหม่ด้วย ตั้งแต่การแก้ที่ “ต้นทาง” ผ่านการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะซึ่งสอดรับกับตลาดแรงงาน และการแก้ที่ “ปลายทาง” ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหางานให้กับผู้เรียนที่จบใหม่พิธากล่าว

ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายหนุนลดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน รัฐหยุดฟ้องทันที

ขณะที่ เพจพรรคเพื่อไทย รายงานว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ กยศ. โดยสรุปว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นนโยบายที่ดี เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาที่ยากจน ได้มีโอกาสกู้ยืมเงินมาศึกษาเล่าเรียนเพื่อสร้างอนาคต แต่ในกระบวนการกู้ยืมเงินมีปัญหาและอุปสรรค ตั้งแต่การจำกัดให้เฉพาะนักเรียนหรือนักศึกษาในระบบการศึกษาเท่านั้นที่สามารถกู้ยืมได้ แต่ประชาชนทั่วไปที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินกองทุนกู้ยืม เงื่อนไขการกู้ยืมเงินที่ยุ่งยาก ต้องมีการพิสูจน์ความยากจน มีอัตราดอกเบี้ยสูง และต้องมีบุคคลค้ำประกันเงินกู้ เพราะสำหรับคนจนซึ่งยากจนอยู่แล้ว ก็ยิ่งหาคนมาช่วยค้ำประกันได้ยากยิ่งกว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาและถึงกำหนดชำระหนี้เงินกู้ ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจนเป็นข่าวแพร่หลายว่าผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ต้องถูกฟ้องยึดบ้านยึดไร่นาเพื่อใช้หนี้ กยศ. ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงร่วมอภิปรายแสดงความเห็น เสนอแนวคิดให้นักศึกษาที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาเอกชนนอกระบบก็สามารถกู้ยืมเงินกองทุนได้ อาทิ โรงเรียนฝึกมวยไทยอาชีพ การกู้ยืมเงินกองทุนไม่ควรต้องพิสูจน์เรื่องความยากจน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และควรมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงรัฐควรยุติฟ้องคดีหนี้ กยศ.ชั่วคราว เพราะการฟ้องร้องคดี กยศ.เป็นการทำลายอนาคตของนักศึกษาและสร้างภาระความเดือดร้อนแก่ผู้ค้ำประกัน 

'ภูมิใจไทย' เผย มติพรรค เห็นควร ยกเลิกดอกเบี้ยเงิน กยศ. เพิ่มโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงทุนทรัพย์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานด้วยว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค ร่วมแถลงถึงจุดยืนต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ว่าพรรคได้เสนอร่างกฎหมายประกบไปพร้อมกับร่างที่เสนอโดยรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมพรรคมีมติไม่ให้เก็บดอกเบี้ยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลควรมีหน้าที่สนับสนุนการศึกษาให้กับประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่ง กยศ. เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาได้ตามความต้องการของผู้ใฝ่เรียน และเป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนที่มีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ได้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ขณะที่เมื่อไม่คิดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมจะกลายเป็นเพียงแค่ผู้ยืม ไม่ใช่ผู้กู้ยืมอีกต่อไป

อนุทิน กล่าวด้วยว่าในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สมาชิกเสียงข้างมากยังเสนอให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.25 แต่นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้ขอแปรญัตติเอาไว้ในชั้นกรรมาธิการ โดยเสนอให้ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย กยศ. เนื่องจากพรรคแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ควรเก็บดอกเบี้ย และให้ใช้คืนแค่เงินต้น เพราะเห็นว่ารัฐก็ได้ประโยชน์หากเยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียน ก็สามารถสร้างเสริมรายได้ในอนาคตและเมื่อมีรายได้ก็จะเกิดการชำระและเสียภาษี โดยรัฐต้องมั่นใจว่าเยาวชนของชาติมีความเก่ง เข้มแข็ง และมีความคิดต่อยอดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของสภาจะลงมติอย่างไร ก็ถือเป็นเอกสิทธิของผู้แทนราษฎร แต่ในความเป็นผู้แทนราษฎรของพรรคภูมิใจไทย ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยืนยันว่าจะลงมติไม่ให้คิดดอกเบี้ยในร่างฉบับฉบับแก้ไข และยืนยันว่าจะทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุดตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net