Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์ 70 พรรษา 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา บีบีซีไทยเผยแพร่พระบรมราโชวาทว่าด้วยกฎหมาย ข้าราชการ และโควิด  ผมคิดว่ามีสาระสำคัญบางอย่าง ที่เป็นประเด็นพื้นฐานทางนิติปรัชญา (legal philosophy) ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการ “อ่าน” พระบรมราโชวาทดังกล่าว ขอยกมาบางส่วนดังนี้

"การที่ผู้พิพากษาประจำศาลได้มาให้คำสัตย์ปฏิญาณ ก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเตือนใจตัวเองว่า บัดนี้ จะปฏิบัติงานเป็นผู้พิพากษา อันเป็นตำแหน่งหน้าที่สำคัญที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประเทศชาติ และประชาชน ในการอำนวยความยุติธรรมนั้นมีข้อควรคำนึงอยู่ว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับรักษาความยุติธรรมก็จริง แต่เมื่อจะนำมาใช้ต้องอาศัยดุลยพินิจที่ถูกต้องด้วย ผู้พิพากษาจึงต้องใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ และวินิจฉัยตัดสินอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ตามตัวบทกฎหมาย ตามศีลธรรมและตามความเป็นจริง หากท่านทั้งหลายจะได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จผลตามที่ได้ปฏิญาณไว้ ก็จะสามารถสร้างสรรค์จรรโลงความยุติธรรม ให้เป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชนได้อย่างแท้จริง ขออำนวยพรให้ทุกท่านมีความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความสุขความเจริญตลอดไป" 

ข้อความข้างบน สรุปได้ 3 ประเด็นหลักๆ คือ (1) ประเด็นทางหลักการ ได้แก่ ความยุติธรรมและกฎหมาย (2) ประเด็นทางปฏิบัติ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย เช่น การใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา และ (3) วัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมาย คือ เกิดความยุติธรรมแก่ประเทศชาติ และประชาชน

ประเด็นแรก ความยุติธรรมและกฎหมาย ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) โดยทั่วไปจะยึดหลักนิติปรัชญาของ “สำนักกฎหมายธรรมชาติ” (natural law) ตามแนวคิดเสรีนิยม ที่ถือว่า “ความยุติธรรมกับกฎหมายแยกขาดจากกันไม่ได้” เลย 

พูดอีกอย่างคือ กฎหมายต้องบัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่บัญญัติขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นปกครอง ดังนั้น กฎหมายจึงไม่ใช่คำสั่งของชนชั้นปกครอง แต่กฎหมายต้องสะท้อนความยินยอม หรือเจตจำนงร่วมของประชาชน (general will) ที่มุ่งให้มีระเบียบทางสังคมและการเมืองสำหรับใช้ยึดถือเป็น “สัญญาประชาคม” (social contract) ในการปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ของประชาชนทุกคน

แนวคิดพื้นฐานรองรับความยุติธรรมแบบเสรีนิยมมีหลากหลาย ผมขอยกมาเพียงสองแนวคิด คือ แนวคิด “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) ของจอห์น ล็อก (John Loke) นักปรัชญาชาวอังกฤษ กับแนวคิด “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) ของจอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาชาวอเมริกัน

แนวคิดสิทธิตามธรรมชาติของล็อก ถือว่า ประชาชนทุกคนคือ “องค์อธิปัตย์” (sovereign) ผู้เป็นเจ้าของสิทธิตามธรรมชาติโดยสมบูรณ์ ความยุติธรรม (justice) จึงเป็นคุณสมบุติของ... (1) กระบวนการบัญญัติกฎหมาย ต้องมาจาก หรือสะท้อน “ความยินยอม” (consent) ของประชาชน (2) ตัวกฎหมาย ต้องมีเนื้อหาและเจตนารมณ์ปกป้องรักษาสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน อันได้แก่ สิทธิในชีวิต, ทรัพย์สิน, เสรีภาพ, การเป็นเจ้าของผลผลิตจากแรงงานของตน และ (3) กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย (เช่น ดุลพินิจของศาล ฯลฯ) ต้องสอดคล้องกับตัวบทและเจตจำนงของกฎหมายในการปกป้องรักษา “สิทธิและเสรีภาพ” ของประชาชนอย่างเคร่งครัด 

ตามแนวคิดของล็อก การใช้อำนาจใดๆ ที่ถือว่าเป็น “ความยุติธรรม” ย่อมหมายถึง การปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น “ความอยุติธรรม” ก็คือ การใช้กฎหมาย หรืออำนาจรูปแบบใดๆ ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 

ส่วนแนวคิดว่าด้วย “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” ของรอลส์ ถือว่า กฎหมายที่ยุติธรรม ต้องเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามกระบวนการที่ชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย โดยเนื้อหาและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ อันได้แก่ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม (equal liberty) หมายถึง เสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง เช่น เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุม สิทธิเลือกตั้ง สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ (rule of law) หรือการไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ เป็นต้น และ หลักความแตกต่าง (difference principle) หมายถึง การยอมให้มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เปิดกว้างทางโอกาสที่เป็นธรรมและเท่าเทียมแก่พลเมืองทุกคน ในการเข้าถึงอาชีพการงานที่ก้าวหน้า และรัฐให้หลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่ประชาชน

รอลส์เสนอว่า หลักความยุติธรรมสาธารณะ คือ “คุณค่าสาธารณะ” ซึ่งถือเป็น “คุณค่าแกนกลาง/คุณค่าหลัก” (core values) ที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และใช้เป็นแนวทางกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ทางสังคมและการเมือง เช่น ประมุขของรัฐ สถาบันรัฐสภา ศาล กองทัพ ระบบราชการโดยรวม ต้องมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะเสมอ 

ภายใต้หลักความยุติธรรมสาธารณะ ทุกคนคือ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ประมุขของรัฐต้องอยู่ใต้กฎหมาย มีขอบเขตของอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจนตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งหมายความว่า สถานะและอำนาจของประมุขของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบของประชาชนเช่นเดียวกับบุคคลสาธารณะอื่นๆ ที่ใช้อำนาจในนามประชาชน และใช้ภาษีของประชาชน 

ดังนั้น การปกครองที่ยุติธรรม จึงได้แก่ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติหลักความยุติธรรมสาธารณะไว้ในรัฐธรรมนูญ, กฎหมายอื่นๆ, และกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องสอดคล้องตามหลักความยุติธรรมสาธารณะนั้นเสมอ 

ถ้าขัดแย้ง เช่น มีกฎหมายบางฉบับหรือหลายฉบับ และมีสถานะอำนาจบางอำนาจหรือหลายอำนาจ และมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบขัดแย้งกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ก็ย่อมเป็น “ความอยุติธรรม” ที่ไม่สามารถยอมรับได้

ประเด็นที่สอง โดยทั่วไปในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ถือว่า “ยุติธรรม” ต่อประชาชน ต้องเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามหลักนิติรัฐของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน เช่น ต้องไม่มีกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายใดๆ ที่ปิดกั้นและละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุมของประชาชน ตราบที่เขาไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น 

ประเด็นที่สาม วัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเกิดความยุติธรรมต่อประเทศชาติ และประชาชน ตัวชี้วัดก็คือ ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีเสรีภาพ ไม่มีนักโทษการเมือง, นักโทษทางความคิด, หรือไม่มีใครที่จะถูกจับกุมขังคุกเพียงเพราะเขาหรือเธอใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่ได้สิทธิ์ประกันตัว สมดังพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่ “ผู้พิพากษา” ให้ยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ความตอนหนึ่งว่า

"คนเราเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศ ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างเป็นปรกติ ความสงบสุขของประเทศจึงมิได้เกิดจากการที่ไม่มีความขัดแย้ง แต่อยู่ที่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นคราวใด ก็จะสามารถคลี่คลายลงได้ด้วยความยุติธรรม จึงกล่าวได้ว่าความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของความสงบสุข หากปรารถนาจะให้ประเทศมีความสงบสุขก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน...”  

ดังนั้น หากศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบน้อมนำพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติตามตามหลักนิติปรัชญาแบบเสรีนิยม และหลักนิติรัฐของระบอบประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด ประชาชนย่อมได้รับ “ความยุติธรรม” และประเทศชาติย่อมสงบสุขเป็นแน่แท้

 


 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net