ทำไมหารห้าร้อยไม่ได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. ทำไมต้องหารร้อย

การคิดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ต้องเอาร้อยไปหาร ก็เพราะเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีร้อยเก้าอี้ การเอาร้อย ไปหารจากจำนวนคะแนนเสียงที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ก็เพื่อคำนวณหาว่า 1 เก้าอี้ จะเท่ากับคะแนนเสียงกี่คะแนน หลังจากนั้นจึงไปพิจารณาดูว่าแต่ละพรรคได้คะแนนเท่ากับหรือเกินนั้นหรือไม่ เช่น ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดมาลงคะแนน 600,000 คะแนน หารร้อย ก็จะได้ 6,000 คะแนน พรรค ก. ได้ 5,900 คะแนน ก็ย่อมไม่ได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ 6,000 คะแนน แม้ว่าคะแนนพรรค ก. จะขาดไปเพียงหนึ่งร้อยคะแนนก็ตาม ส่วนพรรค ข. ได้ 360,000 คะแนน ก็ต้องได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ เท่ากับ 60 เก้าอี้

ตามหลักคณิตศาสตร์ชั้นประถมสอง การหารร้อย ก็คือ การคิดเทียบเป็นฐานร้อย หรือที่เรียกกันว่าจำนวนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อเอา 6,000 คูณด้วยร้อย ย้อนกลับไป ก็จะได้เท่ากับ 600,000 คะแนน เท่าเดิม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถเอาห้าร้อยมาหารได้ เพราะเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้มีห้าร้อยเก้าอี้ หากเอาห้าร้อยมาหาร เช่น 600,000 คะแนน หารด้วยห้าร้อย จะได้เท่ากับ 1,200 คะแนน แปลว่า 1 เก้าอี้คิดเป็นคะแนนเสียง ได้เท่ากับ 1,200 คะแนน

ดังนั้น ตัวอย่างเดียวกัน พรรค ก. ได้ 5,900 คะแนน ที่จริงที่ถูกนั้นต้องไม่ได้เก้าอี้ แต่เมื่อเอาห้าร้อยมาหารก็จะได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ 4.91 หรือปัดเป็น 5 เก้าอี้

ส่วน พรรค ข. ได้ 360,000 คะแนน จะได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ 300 เก้าอี้

เฉพาะพรรค ก. กับพรรค ข. รวมกันเพียงสองพรรค จะได้เก้าอี้ 305 เก้าอี้ ซึ่งเกินจำนวนเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ที่มีอยู่จริง คือ 100 เก้าอี้ สมมติยังมีพรรค ค. ง. จ. ฉ. ช. หรือพรรคอื่นๆ อีกนับเป็นสิบ และเมื่อนำเก้าอี้ทุกพรรคมารวมกันทั้งหมดก็จะต้องได้ห้าร้อยเก้าอี้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราไปเทียบ 500 ให้เป็นฐานร้อย หรือเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์

ตามหลักคณิตศาสตร์ชั้นประถมปีที่สอง การเอาร้อยมาหาร เพื่อเทียบฐานร้อย จึงเป็นเพียงวิธีการเดียวที่ถูกต้อง หากเอาห้าร้อยมาหาร จะเกิดปัญหาทันที เพราะที่นั่งทั้งหมดของเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์จะนับได้รวมกันได้ห้าร้อยเก้าอี้ ซึ่งขัดต่อความเป็นจริง

การเอาห้าร้อยมาหารอย่างที่พยายามทำกันอยู่ เป็นเพียงกระทำเพื่อให้จำนวน 1 เก้าอี้ต่อคะแนนเสียงมีจำนวนน้อยลง เช่น จากเก้าอี้หนึ่งควรจะเป็น 6,000 คะแนน ก็ลดลงเหลือเพียง 1,200 คะแนน การกระทำเช่นนี้ เป็นการกระทำเพื่อให้พรรคเล็กได้มีโอกาสมีเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ โดยไม่มีหลักการหรือทฤษฎีการเลือกตั้งอะไรที่เป็นสากลรองรับ เพียงแต่อ้างว่าจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมกันเท่ากับห้าร้อย จึงต้องเอา  ห้าร้อยมาหาร หากมีคนหัวใสอ้างอีกว่าทำไมไม่นับที่นั่งสว.ด้วย เพราะสว.ก็ประกอบกันเป็นรัฐสภา ก็จะต้องเอา 750 มาหาร จำนวน 1 เก้าอี้ต่อคะแนนเสียง ก็จะยิ่งมีจำนวนน้อยลงอีก 

2. หากยิ่งทำไปก็จะยิ่งยุ่งและยิ่งเข้าเนื้อ

ทีนี้ ถ้าหากใช้วิธีการคิดแบบเก่า คือ คิดเศษทศนิยมสี่หลัก และไล่จำนวนเก้าอี้จากทศนิยม โดยไม่สนใจเกณฑ์ขั้นต่ำต่อหนึ่งเก้าอี้ เพื่อให้พรรคเล็กมีโอกาสได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคที่เสียเปรียบก็คือพรรคใหญ่ เพราะแทนที่จะคิดจากเลขจำนวนเต็มเป็นหลัก กลับไปคิดจากจุดทศนิยมแทน เช่น พรรค ข. เป็นพรรคใหญ่ ได้คะแนนเลือกตั้งถึง 360,000 คะแนน อาจได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ไม่มาก เพราะเมื่อคิดทศนิยมสี่หลักแล้ว พรรคเล็กๆ มีทศนิยมสูงกว่า แต่การคิดเลขในความเป็นจริงที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กนั้น เลขจำนวนเต็มต้องมากกว่าทศนิยม เช่น 9.0001 ย่อมต้องมากกว่า 0.9999 เราจะดูทศนิยมก็ต่อเมื่อเลขจำนวนเต็มเท่ากัน เช่น 9.0001 เทียบกับ 9.0002 เป็นต้น ดังนั้น พอพรรคใหญ่ไปนั่งทบทวนความรู้สมัยประถมปีที่สอง จึงเริ่มเข้าใจว่าตัวเองเสียเปรียบ เพราะยิ่งทำให้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ของตัวเองลดลง ดังนั้น พรรคใหญ่จึงเริ่มลังเลใจ อีกทั้งระบบคิดคะแนนของประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีที่เป็นแม่แบบของระบบผสม เขาจะคิดเกณฑ์ขั้นต่ำก่อน พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำจะต้องไม่ได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ ยกเว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขของการมีจำนวน ส.ส.เขตตามจำนวนที่เขากำหนด

3. สรุป

การเอาห้าร้อยมาหาร เพื่อหาจำนวนคะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ กระทำไม่ได้ ผิดหลักการคำนวณบัญญัติไตรยางค์ เพราะที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์มีร้อยเดียว ไม่ใช่ห้าร้อย หากเอาห้าร้อยมาหารและนับกันที่ทศนิยมสี่จุดแบบเดิม จะทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบ และทำให้พรรคเล็กได้เก้าอี้มาโดยไม่ถูกต้อง เพราะประการแรก ตัวเองได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ และประการที่สอง การนับทศนิยมสี่จุดโดยไม่คำนึงเกณฑ์ขั้นต่ำแบบที่ทำกันมาในคราวก่อนนั้น ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน เป็นการดันทุรังสุดสุด และทำให้พรรคใหญ่นั่นแหละเสียเปรียบ และแล้วที่เคยหวังว่าพรรคเล็กมาแล้วจะเป็นโซ่ข้อกลางของระบบการเมือง ก็ไม่จริง แถมเปลืองกล้วยอีกต่างหาก 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท