Skip to main content
sharethis

กรณีทายาทสุลต่านซูลูฟ้องร้องจนศาลในลักเซมเบิร์กยึดทรัพย์บริษัทย่อยของปิโตรนาส เรื่องนี้เชื่อมโยงกับคดีที่ทายาทสุลต่านฟ้องร้องอ้างกรรมสิทธิเหนือพื้นที่รัฐซาบาห์ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสัญญาที่ทำไว้กับอังกฤษในสมัยอาณานิคมเป็นการปล่อยเช่า ไม่ใช่การถ่ายโอนอำนาจอธิปไตย 

สุลต่าน Jamalul Kiram II สุลต่านองค์สุดท้ายของซูลู กับข้าหลวงฟิลิปปินส์ William Howard Taft ที่โจโล เกาะซูลู ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2444 (ที่มา: Wikipedia)

แต่เรื่องนี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์อย่างไร ทำไมฟิลิปปินส์ถึงมามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ประชาชนในรัฐซาบาห์ต้องเผชิญกับอะไรบ้างและคิดอย่างไรกับข้อพิพาทนี้ และทิศทางของข้อพิพาทนี้จะดำเนินไปในทิศทางใดในช่วงที่มาเลเซียกำลังเผชิญความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศตัวเอง

ในช่วงที่ประเทศมาเลเซียกำลังเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมือง ทั้งจากการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้ว 3 รัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สภาพทางการเมืองมีความเปราะบาง มีกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นอื้อฉาวใหญ่ๆ ที่ถูกพูดถึงอย่างกรณี 1MDB และการเลือกตั้งทั่วไปก็กำลังคืบคลานเข้ามา แต่ถึงแม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะชวนให้ชาวมาเลเซียเน้นสนใจเรื่องราวในประเทศของตัวเอง แต่พวกเขาก็กลับต้องเผชิญกับเรื่องน่าปวดหัวเรื่องใหม่ที่มาจากทายาทสุลต่านในตอนใต้ของฟิลิปปินส์หลังจากที่ระบอบสุลต่านสิ้นสุดไปนานแล้ว

เรื่องที่ว่านี้คือการที่ทายาทสุลต่านแห่งซูลูอ้างอิงสัญญาที่เคยลงนามร่วมกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษเมื่อ 144 ปีที่แล้ว ในการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อให้มีการชดเชยเรื่องที่ดินในซาบาห์ซึ่งทายาทสุลต่านเหล่านี้อ้างว่าเป็นที่ดินของบรรพบุรุษของพวกเขาที่ปล่อยให้บริษัทของอังกฤษเช่าก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในแถบนั้น และในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลอนุญาโตตุลาการของฝรั่งเศสได้ตัดสินว่าประเทศมาเลเซียต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทสุลต่านเป็นเงิน 14,900 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากมาเลเซียรับช่วงต่อสัญญาข้อตกลงเช่าที่ดินดังกล่าวหลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ

การฟ้องร้องที่ว่านี้นำมาซึ่งการยึดทรัพย์บริษัทสาขาย่อยของปิโตรนาส ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยที่กลุ่มทายาทอดีตสุลต่านบอกว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเคยเป็นผู้ปล่อยให้บริษัทพาณิชย์ของอังกฤษเช่าที่มาก่อนในปี พ.ศ. 2421 

พื้นที่อาณาเขตทางตะวันออกของซาบาห์ที่กลายเป็นข้อพิพาทนี้เดิมทีเคยอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรสุลต่านแห่งบรูไนเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการมอบพื้นที่นี้ให้กับอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลูในปี พ.ศ. 2201 เพื่อตอบแทนที่พวกเขาช่วยเหลือผู้ปกครองบรูไนในการกำราบกบฏ

พอถึงปี 2421 สุลต่านแห่งซูลู คือ โมฮัมหมัด จามาลัล อลัม ได้ปล่อยให้พื้นที่ซาบาห์ซึ่งในตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า "บอร์เนียวเหนือ" ให้กับบริษัทบอร์เนียวเหนือของอังกฤษโดยแลกเปลี่ยนกับการได้รับเช่ารายปี หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บริษัทบอร์เนียวเหนือชาร์เตอร์อังกฤษ (ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของบริษัทบอร์เนียวเหนืออังกฤษ) ได้ยกเลิกการดำเนินการในพื้นที่ทำให้บอร์เนียวเหนือกลายมาเป็นพื้นที่อาณานิคมของอังกฤษนับจากเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา ก่อนที่ต่อมาพื้นที่แห่งนี้จะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียในปี พ.ศ. 2506

ขณะเดียวกันนอกเหนือจากพื้นที่บอร์เนียวเหนือแล้ว สุลต่านแห่งซูลูในตอนนั้นก็เคยเป็นผู้ปกครองหมู่เกาะซูลูด้วยซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และทายาทของสุลต่านแห่งซูลูก็อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ เรื่องนี้ทำให้ประเทศพิลิปปินส์เองก็เข้ามามีส่วนกับข้อพิพาทด้วย โดยที่พวกเขาอ้างว่าสนธิสัญญาในปี พ.ศ. 2421 เป็นสัญญาเรื่องการปล่อยเช่าไม่ใช่สัญญาที่ทำให้เกิดการถ่ายโอนอธิปไตยไปให้กับอีกฝ่าย ทำให้ในปี พ.ศ. 2505 ฟิลิปปินส์ได้อ้างสิทธิอย่างเป็นทางการว่าพวกเขามีอธิปไตยเหนือพื้นที่อาณาเขตแห่งนี้ ข้อพิพาทนี้ยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซียมาจนถึงปัจจุบัน

ปิโตรนาสสาขาย่อยโดนยึดทรัพย์ อ้างสัญญาของสุลต่านในอดีตเมื่อ 144 ปีที่แล้ว, 14 ก.ค. 65

สำหรับมาเลเซีย พวกเขาต้องรับเอาพันธกรณีจากสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2421 มาปฏิบัติตามด้วยในตอนที่ก่อนตั้งประเทศ ทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทสุลต่าน 5,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่พวกเขาก็หยุดจ่ายเงินก้อนนี้ให้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา หลังจากที่มีการก่อเหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นทายาทของสุลต่านแห่งซูลู ชื่อ จามาลัล คิรัม ที่ 3 การสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มนี้กับกองกำลังความมั่นคงของมาเลเซียเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 60 ราย หลังจากเกิดเหตุรัฐบาลมาเลเซียก็หยุดจ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มทายาทสุลต่าน แต่พอถึงปี พ.ศ. 2560 กลุ่มทายาทสุลต่านก็ทำการฟ้องร้องในเรื่องที่มาเลเซียไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย

หนึ่งวันหลังจากที่มีการยึดทรัพย์ปิโตรนาส รัฐบาลมาเลเซียก็สามารถเข้าถึงคำสั่งระงับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะเป็นการละเมิดอธิปไตยของมาเลเซีย อย่างไรก็ตามทนายความฝ่ายโจทก์เคยอ้างว่ากฎหมายนี้ยังสามารถบังคับใช้ได้ภายนอกประเทศฝรั่งเศส โจทก์ขู่ว่าพวกเขาจะฟ้องให้มีการยึดทรัพย์สินของรัฐบาลมาเลเซียทั่วโลก ตราบใดที่ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยพวกเขาก็จะเพิ่มปริมาณมูลค่าสินทรัพย์ที่จะสั่งยึดมากขึ้นเรื่อยๆ ร้อยละ 10 ตามจำนวนปีที่มาเลเซียไม่จ่ายค่าชดเชยให้

การยึดทรัพย์ทำให้มาเลเซียไม่พอใจ และส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในของพวกเขาเองที่กำลังเปราะบางอยู่แล้ว ทำให้แต่ละฝักฝ่ายทางการเมืองพากันชี้นิ้วโทษกัน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ กล่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าเขาจะต่อต้านคำตัดสินของศาล หลังจากที่มีการยึดทรัพย์ครั้งใหม่ ซาบรีก็บอกว่ารัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อที่จะปกป้องทรัพย์สินของบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลมาเลเซียรวมถึงปิโตรนาส

แต่กลุ่มคนที่ถูกลากเข้ามาเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในครั้งนี้ก็หนีไม่พ้นกลุ่มประชาชนในรัฐซาบาห์เอง ซึ่งเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของมาเลเซีย จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่าซาบาห์เป็นรัฐในมาเลเซียที่มีสถิติความยากจนสัมบูรณ์สูงสุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 25.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.5 ในปี พ.ศ. 2562 ซาบาห์เป็นรัฐที่มีทรัพยากรน้ำมันอยู่มากแต่กลับมีการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนน้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ในทางตะวันตกของมาเลเซียที่มีการพัฒนามากกว่า เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ชาวซาบาห์ไม่พอใจมานานแล้ว และเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเรียกร้องอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ปิโตรนาสจะทำให้ชาวซาบาห์ยิ่งรู้สึกถูกทำให้เป็นชายขอบมากยิ่งขึ้นไปอีก เจมส์ ชิน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย กล่าวว่าชาวซาบาห์ส่วนใหญ่รู้สึกว่ารัฐบาลมาเลเซียพลาดท่าในเรื่องนี้แล้วพวกเขาก็โกรธในเรื่องที่ว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับซาบาห์ยังหาข้อยุติไม่ได้สักที

นอกจากนี้ชินยังกล่าวอ้างถึงโครงการที่เรียกว่า "โครงการไอซี" มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลมาเลเซียดำเนินโครงการลับนี้ในช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1990s โดยมีแผนการเพิ่มจำนวนชาวมุสลิมในรัฐซาบาห์ให้มากขึ้นเพื่อให้รัฐบาลกลางของมาเลเซียซึ่งเป็นรัฐที่มีอิทธิพลของศาสนาอิสลามสามารถใช้อำนาจครอบงำรัฐซาบาห์ได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้พวกเขาอาศัยการให้สัญชาติมาเลเซียแก่ชาวมุสลิมที่ไม่ได้เกิดในซาบาห์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวมุสลิมโมโรทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ชินกล่าวกว่าสำหรับชาวซาบาห์ส่วนมากแล้ว เรื่องอื้อฉาวอย่างกรณีโครงการไอซีนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกรณีข้อพิพาทที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้

ซัม ยูซา นักข่าวภูมิภาคมาเลเซียบอร์เนียว-ฟิลิปปินส์ใต้ของสื่ออัลอานทีวีตั้งข้อสังเกตว่า ชาวซาบาห์มีความกระตือรือร้นมากในเรื่องข้อพิพาทนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องของพื้นที่อธิปไตยของประเทศ พวกเขาเชื่อว่าการดำรงชีวิตของพวกเขากำลังถูกคุกคามโดยอำนาจอิทธิพลที่เหลือล้นจากคนที่ไม่ใช่พลเมืองในพื้นที่เป็นอำนาจที่พยายามจะหาผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มีจำกัด

สำหรับฟิลิปปินส์นั้นคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ที่ปิโตรนาสถูกยึดทรัพย์ มันจะทำให้ฟิลิปปินส์รู้สึกฮึกเหิมขึ้นหรือไม่ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไม่นานมานี้ ทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ระบุทางทวิตเตอร์ในเชิงยั่วโมโหรัฐบาลมาเลเซียด้วยการอ้างว่าฟิลิปปินส์มีอธิปไตยเหนือรัฐซาบาห์

มีการวิเคราะห์ในอีกแง่มุมหนึ่่งว่า การที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดก่อนหน้านี้ที่นำโดย รอดริโก ดูเตอร์เต พยายามอ้างสิทธิเหนือเขตแดนซาบาห์สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาต้องการเบี่ยงเบนความสนใจจากการถูกวิจารณ์ว่ามีการโอนอ่อนผ่อนตามให้จีนในกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ เรื่องนี้อาจจะยิ่งทำให้รัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ พยายามอ้างสิทธิเหนือซาบาห์ต่อไปด้วย

แต่ชินก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เขามองว่ามาร์กอส จูเนียร์ คงอยากเก็บเรื่องนี้ใส่ลิ้นชักไว้มากกว่า เขาจะไม่ถึงขั้นยกเลิกคำกล่าวอ้างสิทธิเหนืออาณาเขต แต่ก็จะไม่พยายามผลักดันอะไรในเรื่องนี้ด้วย

นอกเหนือจากเรื่องที่รัฐซาบาห์มีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมากแล้ว สิ่งที่ทำให้ซาบาห์มีความอ่อนไหวต่อทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์คือเรื่องที่มันมีความสำคัญต่อความมั่นคงของภูมิภาค สื่อดิพโพลแมตเคยวิเคราะห์ว่าการที่ซาบาห์มีพรมแดนหลวมๆ ติดกับทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งมีความไม่มั่นคงทางการเมืองอยู่ทำให้ซาบาห์กลายเป็นเป้าหมายหลักๆ ของกลุ่มก่อการร้ายข้ามพรมแดนในการปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัวหรือการลักลอบข้ามพรมแดน เหตุการณ์ที่มีกลุ่มติดอาวุธก่อเหตุโจมตีเมื่อปี 2556 ยังคงเป็นสิ่งที่หลอกหลอนซาบาห์มาจนถึงทุกวันนี้ มีนักวิเคราะห์มองว่ามาเลเซียควรจะเตรียมรับมือความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธอีกครั้ง

ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็อาจจะกลายเป็นแค่สิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนในรัฐซาบาห์ผู้ที่เผชิญกับการถูกทำให้เป็นชายขอบโดยมาเลเซียอยู่แล้ว สำหรับประชาคมอาเซียนในตอนนี้ก็มีประเด็นร้อนรุมเร้าอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพม่า และเรื่องการแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ พวกเขาคงไม่อยากให้เกิดความตีงเครียดระหว่างสองประเทศที่ร่วมก่อตั้งประชาคมอาเซียนอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์กลายเป็นประเด็นร้อนเพิ่มขึ้นมาอีกในตอนนี้

เรียบเรียงจาก

Sulu Heirs’ Seizure of Petronas Assets Another Headache for Malaysia, The Diplomat, 29-07-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/North_Borneo_Chartered_Company
https://en.wikipedia.org/wiki/North_Borneo_dispute

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net