นักวิจัยในญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างจำนวนมาก

นักวิจัยในญี่ปุ่นประมาณ 4,500 คน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างด้วยการไม่ต่อสัญญา เนื่องจากต้นสังกัดไม่ต้องการจ้างพวกเขาเป็นพนักงานประจำ เพื่อเลี่ยงกฎหมายแรงงานที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยแบบสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนที่ทำงานต่อเนื่องมา 10 ปี มีสิทธิบรรจุเป็นพนักงานประจำได้

Summary

  • นักวิจัยในญี่ปุ่นประมาณ 4,500 คน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างด้วยการไม่ต่อสัญญา เนื่องจากต้นสังกัดไม่ต้องการจ้างพวกเขาเป็นพนักงานประจำ
  • ปรากฎการณ์นี้เกิดจากการที่สถาบันวิจัยต่างๆ ต้องการเลี่ยงกฎหมายแรงงานที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยแบบสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนที่ทำงานต่อเนื่องมา 10 ปี มีสิทธิบรรจุเป็นพนักงานประจำได้
  • วิกฤตในวงการวิจัยครั้งนี้ตอกย้ำว่า สำหรับคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นการเป็นนักวิจัยอาจจะไม่ใช่อาชีพที่มีเสน่ห์น่าดึงดูดอีกต่อไปแล้ว


ที่มาภาพประกอบ: Japanexperterna.se (CC BY 2.0)

เว็บไซต์ Science ที่นำเสนอข่าวสารในวงการวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่านักวิจัยในญี่ปุ่นอาจถูกเลิกจ้างจำนวนมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิหน้า (มี.ค.-พ.ค. 2566) เนื่องจากต้นสังกัดไม่ต้องการจ้างพวกเขาเป็นพนักงานประจำ ตามกฎหมายที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยแบบสัญญาจ้างที่ทำงานต่อเนื่องมา 10 ปี มีสิทธิบรรจุเป็นพนักงานประจำได้ เนื่องจากการจ้างงานในภาควิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นมีคนทำงานชั่วคราวจำนวนมาก แต่แทนที่จะจ้างงานพวกเขาให้มั่นคง สถาบันต่างๆ อาจจะหันมาเลิกจ้างงานพวกเขาแทน

มีการมองว่าข้อพิพาทอาจก่อให้เกิดความโกลาหลในระบบการวิจัยของญี่ปุ่น "เรากำลังใกล้จะได้เห็นการเลิกจ้างนักวิจัยจำนวนมากในปีนี้" โทโมโกะ ทามูระ สมาชิกวุฒิสภาของญี่ปุ่น กล่าวระหว่างช่วงตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาเมื่อเดือน พ.ค. 2565 เกี่ยวกับประเด็นนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทามูระ เธอได้ชี้ให้เห็นว่านักวิจัย 4,500 คน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงในระยะยาวต่อการวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่น

การระดมทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 แต่นักวิจัยจำนวนมากได้รับการว่าจ้างภายใต้ 'สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน' (fixed-term contracts) ซึ่งมักจะได้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่า สวัสดิการน้อยกว่า และความมั่นคงในการทำงานน้อยกว่าพนักงานประจำ การจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนได้ทำให้สถาบันวิจัยต่างๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น—แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การว่าจ้างภายใต้สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนนี้ส่วนใหญ่มักจะได้รับการต่ออายุไปเรื่อยๆ

สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ก็ใช้นักวิจัยสัญญาจ้างฯ จำนวนมาก


SPring 8 หนึ่งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ทรงพลังที่สุดในโลกของ RIKEN | ที่มาภาพ: RIKEN

ตัวอย่างเช่น RIKEN ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีเครือข่ายและชื่อเสียงด้านการวิจัยคุณภาพสูงในสาขาที่หลากหลาย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีนักวิจัยประมาณ 400 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำที่ทำงานเกี่ยวกับฟิสิกส์และเคมี มีฐานที่วิทยาเขตหลักใกล้โตเกียว ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นกำหนดให้รัฐบาลใช้จ่ายการวิจัยเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี แต่หน่วยงานด้านบุคลากรแห่งชาติกลับไม่ต้องการให้เพิ่มจำนวนพนักงานประจำในฐานบัญชีเงินเดือนของรัฐบาล ทำให้ RIKEN ต้อองใช้การจ้างพนักงานสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำนวนมาก ปัจจุบัน RIKEN มีโปรแกรมการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สมอง การคำนวณควอนตัม และเวชศาสตร์ป้องกัน กระจายอยู่ใน 10 สาขาและวิทยาเขต รวมทั้งดำเนินการวิจัยซินโครตรอนและซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับเพตาสเกล แต่กว่า ร้อยละ 77 จากนักวิจัยทั้งหมด 2,893 คน กลับเป็นพนักงานสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน ไม่ใช่พนักงานประจำ

ตามกฎหมายแรงงานที่นำมาใช้ในปี 2556 และแก้ไขในปี 2557 จะทำให้พนักงานสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนส่วนใหญ่มีสิทธิยกระดับเป็นพนักงานประจำได้หลังจากทำงานให้กับนายจ้างคนเดียวกันเป็นเวลา 5 ปี สำหรับนักวิจัย กำหนดระยะเวลาเป็น 10 ปี ซึ่งนายจ้างจำนวนมากในญี่ปุ่นกลับเลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญาพวกเขาแทน เช่นเลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญาในปีที่ 4 หรือ 9 เพื่อไม่ให้เข้าตามองค์ประกอบของกฎหมาย

RIKEN ได้ใช้ขั้นตอนดังกล่าวในปี 2559 โดยเริ่มจำนวนปีในปี 2556 นั่นหมายความว่านักวิจัยตามสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนซึ่งทำงานให้กับ RIKEN มานานกว่า 10 ปี อาจต้องถูกเลิกจ้างในปี 2566 ในอีเมลที่ส่งถึงผู้สื่อข่าวของ Science นั้น RIKEN ระบุว่านักวิจัยสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน 203 คน จะสิ้นสุดสัญญาฉบับสุดท้ายก่อนสิ้นเดือน มี.ค. 2566 ขณะนี้สถาบันกำลังคัดกรองและคาดว่าจะมีนักวิจัยหลายคนที่ไม่ได้ต่อสัญญาจ้าง ในบรรดานักวิทยาศาสตร์กลุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการต่อสัญญานั้นมีระดับหัวหน้าทีมถึง 42 คน ซึ่งหากกลุ่มวิจัยที่พวกเขาเป็นหัวหน้าทีมถูกยุบไป ก็จะส่งผลทำให้นักวิจัยอีก 177 ตำแหน่ง ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ RIKEN หวังว่านักวิจัยที่ไม่ได้รับการต่อสัญญาเหล่านี้ "จะสามารถทำกิจกรรมวิจัยต่อในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และบริษัทเอกชนในญี่ปุ่นหรือต่างประเทศได้" แทนได้

สหภาพแรงงานเดินหน้าคัดค้าน

ทั้งนี้สหภาพแรงงานของ RIKEN ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ของโตเกียวเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 เพื่อพยายามยุติการไม่ต่อสัญญา (หรือเลิกจ้าง) นี้ด้วยการเปิดการเจรจากับสหภาพแรงงาน รวมทั้งเตรียมการที่จะฟ้องศาลแรงงาน

"การใช้นโยบายการจ้างงานที่มีผลบังคับใช้ในปี 2559 ย้อนหลังกับผู้ที่ทำงานภายใต้สัญญาเป็นเวลา 10 ปี หรือมากกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย" ยาสุยูกิ คานาอิ ประธานสหภาพแรงงาน RIKEN กล่าวและเสริมว่าสหภาพแรงงานได้ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มนักวิจัยสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนที่ทำงานมาเกือบเป็นเวลา 10 ปี นั้นมักจะไม่ได้รับการต่อสัญญา

สถาบันวิจัยอื่นๆ ก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่แห่งที่จ้างนักวิจัยแบบสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนมากเท่ากับ RIKEN 

สถาบันวิจัยบางแห่งพยายามหาวิธีรักษาพนักงานของตนไว้ เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติ (AIST) ได้เปลี่ยนสถานะนักวิจัยสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน 245 คน เป็นพนักงานประจำ นอกจากนี้ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโตโฮคุกำลังคัดกรองสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำนวน 275 คน เพื่อที่จะจ้างเป็นพนักงานประจำ ส่วนมหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งมีนักวิจัยสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำนวน 588 คน ซึ่งใกล้จะทำงานต่อเนื่องครบ 10 ปี นักวิจัยบางคนอาจถูกย้ายไปยังโครงการใหม่ 

"ปัญหาโดยทั่วไปคือการที่นักวิจัยในญี่ปุ่นมักขาดโอกาสในการเปลี่ยนงาน" เออิสุเกะ อีโนกิ หัวหน้าองค์กรที่ศึกษานโยบายวิทยาศาสตร์ที่มีฐานในโอซาก้ากล่าว 

แหล่งข่าวที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ RIKEN รายหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อระบุกับ Science ว่าสัญญาจ้างของเขากำลังจะสิ้นสุดลงและเป็นการยากมากที่จะหาตำแหน่งงานใหม่ "ถ้าผมได้งานในจีน เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ผมก็จะย้ายไป" และกล่าวเสริมว่า "วิกฤตครั้งนี้ตอกย้ำว่าสำหรับคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่น การเป็นนักวิจัยไม่ใช่อาชีพที่มีเสน่ห์น่าดึงดูดอีกต่อไปแล้ว"

ที่มา
Mass layoff looms for Japanese researchers (Dennis Normile, Science, 6 July 2022)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท