Skip to main content
sharethis

อังคณา นีละไพจิตร ขึ้นให้การกับศาลหลังอุทธรณ์ให้ศาลมีคำสั่งให้ดีเอสไอคุ้มครองในฐานะพยานในคดีทนายสมชาย นีละไพจิตรต่อไป หลังดีเอสไอยุติการคุ้มครองไป ครอบครัวร่วมยืนยันยังถูกคุกคามอยู่ยังต้องอยู่อย่างหวาดระแวง  

เมื่อวานนี้(1ส.ค.65) ที่ศาลอาญา รัชดา อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ พร้อมทนายความเดินทางเข้ารับฟังการไต่สวนคำร้องอุทธรณ์ในกรณีที่อังคณาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้คณะกรรมคุ้มครองพยานกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาคุ้มครองเธอในฐานะพยานคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตรต่อไป หลังจากที่คณะกรรมการฯ เคยมีมติให้การคุ้มครองพยานอังคณาสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อังคณาได้เบิกความต่อศาลถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับการคุ้มครองพยานในคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตรต่อไปว่า เนื่องจากคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่สามารถสืบสวนเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้ และเนื่องจากแนวทางการสอบสวนพบว่าผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ผู้เสียหายและพยานยังคงมีความไม่ปลอดภัย และต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงและระมัดระวังมาโดยตลอด และแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้งดการสอบสวนคดีสมชาย นีละไพจิตร แต่กรมฯก็ได้แจ้งต่อสาธารณะและครอบครัวว่าไม่ได้ยุติคดี โดยหากมีพยานหลักฐานใหม่ก็จะสามารถดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้นับแต่สมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับสูญหาย อังคณาได้ถูกการคุกคามอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งรูปแบบการคุกคามมีหลายรูปแบบทั้งการกระทำและการคุกคามทางสื่อออนไลน์

นอกจากนี้บุตรสาวของอังคณายังได้ขึ้นเป็นการพยานในการไต่สวนในครั้งนี้ด้วยโดยยืนยันว่า อังคณาเป็นกำลังหลักของครอบครัวที่ยืนหยัดต่อสู้ในการตามหาความยุติธรรมให้กับพ่อ คือทนายสมชายอยู่ ซึ่งทุกวันนี้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีความเป็นห่วงแม่อย่างมาก จึงต้องสลับกันเดินทางเป็นเพื่อนและดูแลความปลอดภัยให้กับอังคณา ก่อนหน้านี้ในระหว่างการพิจารณาคดีของทนายสมชายก็ได้มีคนนำกระดูกสัตว์ใหญ่ และทรายมาวางไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งเป็นการข่มขู่คุกคามเชิงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้น บุตรสาวอังคณายังได้เล่าถึงการถูกข่มขู่คุกคามทางด้านโลกออนไลน์ที่ได้สร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจและสร้างความหวาดระแวงให้กับครอบครัวเพิ่มเติม เช่นบางความคิดเห็นข่มขู่ว่า “ระวังจะหายเหมือนสามี” ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาที่มารดาได้รับการคุ้มครองจากดีเอสไอทำให้ครอบครัวรู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ดังนั้นจึงอยากจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดีเอสไอคุ้มครองมารดาในฐานะพยานในคดีทนายสมชายต่อไป

“เนื่องจากคดีสมชาย นีละไพจิตร เป็นคดีการบังคับสูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม และนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อมั่นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีศักยภาพเพียงพอในการคลี่คลายคดีนี้ ส่วนตัวในฐานะผู้เสียหายและพยานได้ถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงหวังว่าศาลจะให้ความยุติธรรม โดยกลับมติของคณะกรรมการคุ้มครองพยาน เชื่อว่าคดีนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการคุ้มครองผู้เสียหายและพยานในคดีอาญา โดยเฉพาะคดีการบังคับสูญหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

ด้านทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวว่า เราคาดหวังว่าการตัดสินคดีครั้งนี้ของศาลจะเป็นบรรทัดฐานเรื่องการคุ้มครองพยานในกับประชาชนที่ต้องเป็นพยานในคดีอาญาคนอื่นๆ เพราะคดีในลักษณะดังกล่าวนี้พยานคนอื่นๆ ไม่ค่อยได้ยื่นอุทธรณ์ ทั้งนี้สิ่งที่เราพยายามใช้ในการต่อสู้คือกระบวนการในการพิจาณาในการต่ออายุการคุ้มครองพยานของคณะกรรมการคุ้มครองพยานของดีเอสไอนั้นเป็นมติที่ออกมาจากการประชุมแค่ฝ่ายเดียว เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าในการพิจารณานั้นคณะกรรมการได้นำข้อโต้แย้งหรือคำชี้แจงของผู้เสียหายเข้าไปพิจารณาด้วยหรือไม่ และไม่ได้มีตรวจสอบว่าความเป็นอยู่ในปัจจุบันของพยานนั้นเป็นอย่างไร อย่างกรณีล่าสุดที่คุณอังคณาโดนคุกคามด้วยการปากรรไกรใส่หน้าบ้านก็ไม่ได้เข้าไปติดตามว่าผู้ที่ก่อเหตุเป็นใครและทำไปด้วยจุดประสงค์อะไร แต่ก็กลับมีความเห็นออกมาเพียงฝ่ายเดียวว่าจะไม่คุ้มครองพยานให้กับคุณอังคณาทั้งๆที่ยังมีการข่มขู่คุกคามคุณอังคณาและครอบครัวอยู่

“การตัดสินของศาลในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานการคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านความปลอดภัยในคดีอาญาโดยเฉพาะประชาชนที่ลุกขึ้นมาทำงานด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยการตัดสินคดีในครั้งนี้ของศาลก็จะทำให้หน่วยงานรัฐได้กลับไปทบทวนการทำหน้าที่หรือการออกคำสั่งของตนเองควรจะทำให้รอบคอบและเป็นการปกป้องคุ้มครองประชาชนอย่างแท้จริงจึงอยากให้ทุกคนติดตามคดีนี้ร่วมกัน โดยในวันที่  13 ก.ย. 65 ที่จะถึงนี้ศาลจะนัดไต่สวนอีกครั้งในเวลา 09.00 ​น.”

อังครายื่นอุทธรณ์ในครั้งนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องโดยให้อังคณาอุทธรณ์การคุ้มครองพยานโดยการกลับไปหารือกับกรมสวนคดีพิเศษ หากตกลงกันไม่ได้จึงจะนำมาสู่การไต่สวนต่อไป โดยในการไต่สวนในศาลได้ย้ำว่าหากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ต้องยื่นให้กับพยานทราบก่อนในรูปแบบของเอกสารหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยต้องส่งล่วงหน้าก่อนการไต่สวนครั้งต่อไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน

ต่อมาเมื่อ9 มิ.ย.ที่ผ่านมาอังคณาได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการคุ้มครองพยานฯ ที่มีขึ้น โดยได้ชี้แจง 7 เหตุผลที่เรียกร้องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาคุ้มครองพยานกับอังคณาต่อไป โดยหนึ่งในเจ็ดข้อที่น่าสนใจ คือกรณีความรุนแรงและการคุกคามที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 65 มีผู้ก่อเหตุใช้กรรไกรยาว 9 นิ้ว ขว้างเข้าใส่ประตูบ้านพักของอังคณา ที่ถึงแม้พนักงานสอบสวนของ สน.บางยี่เรือ จะจับตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยให้การรับสารภาพ แต่พนักงานสอบสวนกลับมิได้มีการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และสืบสวนสอบสวนจนทราบแรงจูงใจที่ก่อเหตุของบุคคลดังกล่าว

อังคณายังได้ระบุในหนังสือที่ส่งถึงอธิบดีดีเอสไออีกด้วยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองพยานเป็นการตัดสินใจโดยไม่ได้พิจารณาข้อมูล และปัญหาต่างๆอย่างรอบด้าน เช่นปัญหาการลอยนวลพ้นผิดในคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นกับคุณอังคณาอย่างต่อเนื่องตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติด้านต่าง ๆ ที่มีถึงรัฐบาลไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา และไม่เปิดโอกาสให้คุณอังคณาได้ชี้แจงและอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะผู้เสียหายหรือพยานคดีแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net