Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในบรรดาสถาบันทั้งหลายที่อยู่ในโครงสร้างของการใช้อำนาจอธิปไตยแล้ว ศาลหรือองค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นและหวังเป็นที่พึ่งมากที่สุด จนมีคำกล่าวไว้ว่าศาลคือที่พึ่งสุดท้าย(Court is the last resort) โดยมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อศาลตัดสินแล้วต้องเป็นที่ยุติและทุกฝ่ายไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามต่างก็ต้องให้การยอมรับในคำตัดสินนั้น เพราะเชื่อมั่นในความซื่อตรงและยุติธรรมบนพื้นฐานของกฎหมายที่ใช้อย่างเสมอภาคและไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นดังกล่าวได้ถูกสั่นคลอนเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น สิ่งที่ไม่เคยได้ยินก็ได้ยิน ซึ่งก็คือการเรียกร้องให้ศาลต้องยึดหลักกฎหมายและให้มีความเที่ยงธรรม จนล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาได้มีเครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนพากันไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา  เรื่อง ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ และตามมาด้วยการอภิปรายวิชาการ ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม โดยพอสรุปได้ ดังนี้

1) ศาลแต่ละศาลนั้นมีการตีความตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 ต่างกัน บางศาลพยายามขยายขอบเขตของ 112 บางศาลตีความตามเดิม ศาลที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางจะมีการตีความตรงกับกฎหมายมากกว่าศาลที่อยู่ใก้ลศูนย์กลางอย่างศาลอาญาที่ถนนรัชดา ซึ่งโดยความจริงแล้วถ้ากฎหมายมันเป็นกฎหมาย การขึ้นศาลไหน หรือขึ้นศาลในปีต่างกัน สถานการณ์ทางการเมืองต่างกัน ก็ควรจะได้รับการตัดสินที่เหมือนกัน แต่ในไทยแค่ผู้พิพากษาคนละคนการพิพากษาก็แตกต่างกัน

ผมไม่ได้ขอให้ศาลลุกขึ้นมายกเลิก 112 กลางศาล ผมแค่ขอให้เขาใช้กฎหมายปัจจุบันให้เป็นกฎหมายจริงๆ ยิ่งในเรื่องการเมืองการที่คุณโอนอ่อนไปตามคำสั่งของผู้บริหารศาลแล้วยืนยันว่านั่นคือกฎหมาย ผมว่านั่นผิด สิ่งที่เราต้องการเห็นคือเรื่องสิทธิคุณก็ดูตามวิ.อาญา การตีความ 112 คุณก็ดูตามหลักกฎหมายอาญา นั่นคือการคืนความเป็นการเมืองของคดีพวกนี้ คืนให้ฝ่ายการเมือง คืนให้ตำรวจ เป็นการบอกว่าศาลจะไม่เป็นเครื่องมือคุณนะ เราจะตีความให้ถูกกฎหมาย เราจะมอบสิทธิให้ตามรัฐธรรมนูญ (อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง – ที่มาจากไอลอว์ )

2) การที่ตุลาการใช้กฎหมายไม่ตรงกับบทบัญญัติ สามารถเกิดได้ดังนี้ 1.เป็นเพราะความไม่รู้ การตีความหรือตัดสินเช่นนั้น ผู้ตัดสินอาจไม่รู้เจตนารมณ์ ไม่รู้กฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีสิ่งที่ยังไม่รู้อื่นๆ 2.ความกลัว กลัวการถูกเลื่อน ลด ปลด ย้าย จากการตัดสินไม่เป็นไปตามแนวทางเดียวกันในแวดวงตุลาการ 3.อุดมการณ์ของสถาบันตุลาการที่กระทบต่อการตัดสินใจ ในคดีชาวบ้านทั่วไปนั้น ศาลสามารถตัดสินตามวิชาปกติ แต่พอเป็นคดีความทางการเมือง กลับมีอำนาจนำบางอย่างในแวดวงตุลาการเข้ามาครอบ อาจเพราะอุดมการณ์ของตุลาการของไทยไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย และไม่เชื่อมโยงกับประชาชน

ความป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในสังคมมีปัญหามากๆ เพราะว่าคุณไม่สัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยเลย แต่คุณไปสัมพันธ์กับระบอบอำนาจนิยม เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและความเป็นอิสระของตุลาการในสังคมไทย ผมคิดว่าต้องระวัง เป็นอิสระในที่นี้หมายความว่าเป็นอิสระแบบที่คุณไม่สัมพันธ์กับสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง สถาบันที่มาจากประชาชน (รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล – ที่มาจากไอลอว์)

3) ความเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องธรรมดา มีแต่ศาลเท่านั้นที่เป็นอิสระและควบคุมฝ่ายบริหารของประเทศได้  หากฝ่ายบริหารทำอะไรแล้วไม่เคยผิด จะส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน และเกิดผลประโยขน์ทับซ้อนตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในเมียนมาร์ แม้คำพิพากษาจะออกโดยศาล แต่สังคมโลกก็ไม่เชื่อว่านั่นคือคำสั่งที่เป็นอิสระ

ความเห็นต่างในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ หน้าที่ของศาลคือทำให้ทุกคนขัดแย้งกันภายใต้กติกา โดยศาลจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย หลักการทำงานศาลคือความยุติธรรม ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนเขาเห็นว่าที่ทำไปนั้นคือความยุติธรรม

ความขัดแย้งทั้งหลายในบ้านเมืองสามารถจะแก้ไขได้ ไม่ได้แปลว่าคนมาเห็นเหมือนกัน แต่คนเห็นต่างกันก็มีสันติภาพได้ ถ้าศาลเที่ยงธรรม (ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล – ที่มาจากไอลอว์)

แล้วจะทำอย่างไร

หลังจากที่ศาลเป็นฝ่ายที่พิจารณาผู้อื่นมามากต่อมากแล้ว ในภาวะที่ไฟกำลังลุกหรือหม้อต้มกำลังเดือด รอเวลาระเบิดจนกลายเป็นวิกฤติต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลไทยในปัจจุบันนี้ ผมเห็นว่าถึงเวลาที่ศาลไทยจะต้องพิจารณาหรือทบทวนตัวเองแล้ว

ศาลต้องมีความเชื่อมั่นและกล้ายืนหยัดต่อการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกเพราะความเป็นอิสระของตุลาการ (Judicial independence) นั้น เป็นหลักที่มีความสำคัญมากของระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ดังเช่น กรณีผู้พิพากษาเอ็ดเวิร์ดที่กล้าคัดค้านต่อพระเจ้าเจมส์ที่ 1 และที่ 2 แห่งอังกฤษ จนเป็นตำนานที่ผู้พิพากษาทั่วโลกยึดเป็นแบบอย่าง หรือดังเช่นกรณีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทยที่กล้าเสนอความเห็นคัดค้านต่อรัชกาลที่ 5 ในอดีต

ศาลต้องรู้เท่าทันโลกและกติกาของโลก มิใช่ว่าพอมีใครยกหลักสิทธิมนุษยชนหรือกติการะหว่างประเทศขึ้นมา ก็หาว่าบังอาจไปสอนกฎหมายศาล อย่าลืมว่าเราอยู่ในสังคมโลก หากโลกไม่ยอมรับระบบศาลไทยขึ้นมาแล้วจะยุ่ง

ศาลก็คือคน ย่อมมีรักโลภโกรธหลง แต่ระบบที่บรรพบุรุษได้วางไว้แล้วเป็นอย่างดี ทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย” แต่หากผู้คนหันหาที่พึ่งอื่นเป็นที่สุดท้ายแทนศาลแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่ศาลจะต้องพิจารณาตัวเอง หาไม่แล้วหากผู้อื่น เช่น รัฐสภามาเป็นผู้พิจารณาแทน ดังตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เปลี่ยนระบบศาลไปใช้ระบบลูกขุน เป็นต้น หรือประชาชนทนไม่ไหวลุกขึ้นมาเปลี่ยนเอง แล้วศาลจะมาร้องว่าถูกแทรกแซงไม่ได้  เพราะในเมื่อมีโอกาสแล้วไม่ทำเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net