สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ก.ค.-5 ส.ค. 2565

รมว.แรงงาน สั่งรุกสถานประกอบการ เตรียมความพร้อมจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2566

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามนโยบายรัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ โดยได้มอบหมายกรมการจัดหางานเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 โดยกำหนดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2566 ไว้ จำนวน 1,200 คน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปี 2565 ที่กำหนดไว้ 1,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 20% โดยขณะนี้ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการภาคเอกชน จำนวน 196 แห่ง ที่เคยมีการให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการส่งเสริมจ้างงานคนพิการฯ ในปี 2565 ถึง 1,499 คน เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ ในปี 2566” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีสุชาติ ลงพื้นที่เชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา35 ประเภท จ้างเหมาบริการ โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 กรมฯมีการประชาสัมพันธ์โครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมฯ และหารือร่วมกับผู้แทนจากบริษัท ชัยรัชการ จำกัด และกลุ่มบริษัทในเครือสหวิริยา ซึ่งต่างเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับคนพิการ โดยกลุ่มบริษัท สหวิริยาฯ ร่วมจ้างงานคนพิการ จำนวน 26 คน และกลุ่มบริษัท ชัยรัชการ จ้างงานคนพิการ จำนวน 9 คน นอกจากนี้ยังต้องขอบคุณสถานประกอบการภาคเอกชนทั้ง 196 แห่ง ที่ช่วยเหลือสังคมโดยให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมมาโดยตลอด ซึ่งภาคเอกชน 5 ลำดับแรกที่มีการจ้างงานผู้พิการมากที่สุด ได้แก่ 1.บมจ. ธนาคารกสิกรไทย 2. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ 3.บมจ.แคล - คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) 4.บริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด และ 5.บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยผู้พิการที่ยังมีศักยภาพในการทำงานกลุ่มนี้จะเข้าทำงานในหน่วยบริการสาธารณะ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียน ในตำแหน่งพนักงานธุรการทั่วไป พนักงานทำความสะอาด คนสวน เป็นต้น

ที่มา: สยามรัฐ, 8/5/2565

ไตรมาส 2/2565 จากประกาศรับสมัครงาน 159,112 ตำแหน่งงาน “ไม่ระบุวุฒิขั้นต่ำ” มีประกาศหามากสุด

ข้อมูลจาก “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” โดยคณะนักวิจัยทีดีอาร์ไอ ที่มีเป้าหมาย “วิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานของนายจ้าง” โครงการดังกล่าวนี้ได้ทำการศึกษาผ่านหัวข้อ “การจ้างแรงงานผ่านการรับสมัครงานทางออนไลน์” ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติในการติดตามการประกาศรับสมัครงานของนายจ้างจาก 14 เว็บไซต์หางานในไทย ที่ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 2.เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ 3.เว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค

ทั้งนี้ผลการติดตามพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 นี้ มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 159,112 ตำแหน่งงาน โดยเมื่อ จำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ก็พบข้อมูลดังนี้… วุฒิ ม.3 จำนวน 10,934 ตำแหน่งงาน (6.9%), วุฒิ ม.6 จำนวน 14,326 ตำแหน่งงาน (9.0%), วุฒิ ปวช. จำนวน 11,593 ตำแหน่งงาน (7.3%), วุฒิ ปวส. จำนวน 8,742 ตำแหน่งงาน (5.5%), วุฒิปริญญาตรี จำนวน 54,281 ตำแหน่งงาน (34.1%), วุฒิสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 864 ตำแหน่งงาน (0.5%) ขณะที่ไม่ระบุวุฒิขั้นต่ำมี 58,372 ตำแหน่งงาน (36.7%) โดย “ไม่ระบุวุฒิขั้นต่ำ” มี “ประกาศหามากสุด” ที่รองลงมาคือประกาศรับวุฒิปริญญาตรี

นอกจากนั้น โครงการติดตามวิเคราะห์โดยคณะนักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังพบว่า… เมื่อ จำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาค จากที่มีการระบุในประกาศรับสมัครงานนั้น กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประกาศรับสมัครงานมากที่สุด นั่นคืออยู่ที่ 88,743 ตำแหน่งงาน (55.8%) ส่วนที่รอง ๆ ลงมาก็คือ… ไม่ระบุภูมิภาค 54,932 ตำแหน่งงาน (34.5%), ภาคใต้ 3,542 ตำแหน่งงาน (2.2%), ภาคตะวันออก 3,503 ตำแหน่งงาน (2.2%), ภาคกลาง 3,194 ตำแหน่งงาน (2.0%), ภาคเหนือ 2,930 ตำแหน่งงาน (1.8%), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,584 ตำแหน่งงาน (1.0%), ภาคตะวันตก 684 ตำแหน่งงาน (0.4%)

ส่วนการ จำแนกแบ่งตามกลุ่มอาชีพ นั้นพบว่า… บัญชี การเงิน มีการลงประกาศรับสมัครงานมากที่สุด อยู่ที่ 27,002 ตำแหน่งงาน (17.0%) รองลงมาได้แก่… ช่างเทคนิค 25,038 ตำแหน่งงาน (15.7%), การตลาด 24,839 ตำแหน่งงาน (15.6%), ไม่สามารถระบุได้ 16,483 ตำแหน่งงาน (10.4%), จัดซื้อจัดจ้าง 14,934 ตำแหน่งงาน (9.4%), วิศวกร 12,894 ตำแหน่งงาน (8.1%), ฝ่ายบุคคล 8,734 ตำแหน่งงาน (5.5%), พนักงานขาย 8,304 ตำแหน่งงาน (5.2%), งานไอที 6,083 ตำแหน่งงาน (3.8%), งานอื่น ๆ 3,894 ตำแหน่งงาน (2.4%) และ แม่บ้าน มี 2,813 ตำแหน่งงาน (1.8%)

สำหรับกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่มีการลงประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์ อาชีพอื่น ๆ ที่ก็มีความต้องการจากทางนายจ้างเช่นกัน มีอาทิ… พนักงานคิดเงิน 2,097 ตำแหน่งงาน (1.3%), นักออกแบบกราฟิก 1,902 ตำแหน่งงาน (1.2%), คนขับรถ 1,894 ตำแหน่งงาน (1.2%), ครู-ครูสอนพิเศษ 1,092 ตำแหน่งงาน (0.7%), นักแปล-ล่าม 784 ตำแหน่งงาน (0.5%) และ อาชีพสถาปนิก อยู่ที่325 ตำแหน่งงาน (0.2%) …ทั้งนี้ อาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ทางโครงการได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ AI มาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และจำแนกความต้องการกลุ่มอาชีพในประกาศรับสมัครงานในช่วงดังกล่าว

ที่มา: เดลินิวส์, 5/8/2565

รพ.มงกุฎวัฒนะ ส่งคืนสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง-ประกันสังคม มากกว่า 2 แสนราย อ้างลดภาระ

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความประกาศส่งคืนสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 70,000 คน สิทธิ ประกันสังคม 60,000 คน และลดจำนวนรับการส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากหน่วยต่างๆ 150,000 คน โดย ระบุว่าเนื่องจากผู้ใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะมีจำนวนมากจนเกิดความแออัด ถึงแม้ รพ.มงกุฎวัฒนะจะมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อีกมากกว่า 30,000 ตารางเมตร แต่จะเปิดให้บริการได้ในปลายปี พ.ศ.2566 ดังนั้น รพ.มงกุฎวัฒนะจะลดความแออัดของผู้ใช้บริการดังนี้

1. รพ.มงกุฎวัฒนะจะส่งคืนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิกับ รพ.มงกุฎวัฒนะทั้งหมด โดยจะส่งคืนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 70,000 คน

2. รพ.มงกุฎวัฒนะจะลดจำนวนรับการส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากหน่วยต่างๆ ของ สปสช. ลงกึ่งหนึ่ง จาก 300,000 คนคงเหลือ 150,000 คน

3. รพ.มงกุฎวัฒนะจะลดจำนวนผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมลงกึ่งหนึ่งจาก 120,000 คน คงเหลือ 60,000 คน

ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหาความแออัดใน รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นภาระแก่ รพ.มงกุฎวัฒนะเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และประกันสังคม ติดต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อขอย้าย รพ.ได้ตั้งแต่บัดนี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/8/2565

โรงแรมโอดขาดแคลนแรงงานหนัก-ราคาห้องพักยังคงต่ำกว่าก่อนยุคโควิด-19 ระบาด แม้ธุรกิจโรงแรมจะเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนก.ค. 2565 จัดทำโดยสมาคมฯและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผู้ประกอบการที่พักแรมตอบแบบสำรวจ 118 แห่ง ระหว่างวันที่ 17-25 ก.ค. 2565 พบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนก.ค. 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 45% จากเดือนมิ.ย. 2565 ซึ่งมี 38% ตามที่รัฐบาลได้ยกเลิกการลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป และขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย อีก 1.5 ล้านสิทธิ์ใหม่ ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการเข้าพักในเดือนส.ค. 2565 ไว้ที่ 42%

“ลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทย แต่มีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรม ที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั้งนี้ หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่ เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมา คือยุโรปตะวันตก”

อย่างไรก็ตาม โรงแรมส่วนใหญ่ราว 68% ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยกระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เกือบทุกแผนก เช่น แม่บ้าน พนักงานต้อนรับ พนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว เด็กเสิร์ฟ และช่างเทคนิค แม้ส่วนหนึ่งจะพอหาคนทดแทนได้ แต่ยังขาดทักษะ โดยเฉพาะด้านการ ให้บริการและภาษา

ส่วนประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง พบว่าโรงแรม 67% ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนอีก 33% มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้ หากมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่ามีโรงแรม 74% ได้รับผล กระทบ โดยโรงแรมระดับ 1-3 ดาว จะได้รับผลกระทบมากกว่าโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ทั้งนี้ 16% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก เพราะลูกจ้างมากกว่า 50% ของโรงแรมกลุ่มนี้ต้องได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรมน้อยกว่า 4 ดาว

“โรงแรมส่วนใหญ่ยังถูกกดดันจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเกือบทุกแผนก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ยังไม่กลับมาเปิดตามปกติ”

นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ธุรกิจโรงแรมจะเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ แต่ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวที่ยังเข้ามาไม่มากนัก และกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอทำให้ปรับราคาได้ยาก อย่างไรก็ดี ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันถือว่าปรับดีขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน

ส่วนค่าใช้จ่ายในโรงแรมเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มโรงแรม โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในกลุ่มน้อยกว่า 5 ดาว ณ เดือนก.ค. 2565 ยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ขณะที่กลุ่ม 5 ดาวขึ้นไปยังเฉลี่ยใกล้เคียงเดิมหรือมากกว่า

สำหรับภาพรวมรายได้ เดือนก.ค. 2565 ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 แต่ส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้นหลังมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือนก.ค. 2565 สะท้อนจากโรงแรมที่มีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% มีสัดส่วนลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงเดิมที่ 32% โดยรายได้ของกลุ่มโรงแรม 4-5 ดาว ฟื้นตัวได้ดีกว่า

ที่มา: ข่าวสด, 4/8/2565

ก.แรงงาน แจงมาตรการสกัดคนไทยลักลอบไปทำงานเกาหลี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสถานการณ์คนไทยถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง (คนไทยขอเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ประมาณ 10,000 คน ถูกปฏิเสธแล้ว 5,000 คน) ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีด่านตรวจคนหางานทั่วประเทศถึง 25 ด่าน และขณะนี้ได้สั่งการกรมการจัดหางานตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างเข้มงวดใน 2 ด่านที่คนหางานมักเดินทางผ่านด่านไปทำงาน คือด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมือง

ในปี 2565 มีการระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศแล้วจำนวน 328 คน และย้ำเตือนให้ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

โดยปัจจุบันได้มีการขยายผลจับกุม ดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 112 ราย เป็นการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 158 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 12,758,210 บาท พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังและเข้มงวดกับการดำเนินการใน 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการด้านการป้องกัน มาตรการด้านการปราบปราม และมาตรการด้านรณรงค์ประชาสัมพันธ์

นายสุชาติกล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าใจพี่น้องแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อเจรจาขอโควตางานเกษตรตามฤดูกาลกับเมืองต่าง ๆ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้พี่น้องคนไทย

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงร่าง MOU ให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ขอให้คนหางานทุกคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการลักลอบเข้าประเทศเพื่อทำงานอย่างไม่ถูกต้องของคนเพียงบางส่วน นอกจากทำให้คนไทยทั้งหมดเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในการท่องเที่ยวหรือทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงจนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ด้วย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างยิ่ง และได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการใน 3 มาตรการเรื่อยมา ได้แก่

1.มาตรการด้านการป้องกัน โดยจัดอบรม/สร้างความเข้าใจกับคนหางานผู้ถูกระงับการเดินทาง ผู้นำชุมชน บุคคล/นิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการไปทำงานต่างประเทศ และตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทจัดหางานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางาน

2.มาตรการด้านการปราบปราม ตรวจสอบ ติดตามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

3.มาตรการด้านประชาสัมพันธ์ โดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และทั่วถึง เพื่อให้คนหางานและผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อควรระวังก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

ทั้งนี้ การไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมีด้วยกัน 5 วิธีคือ

1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง

2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง

3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ

4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ

5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางานก่อนเดินทางทุกครั้ง และต้องเดินทางออกไปทำงานโดยผ่านด่านตรวจคนหางานที่ประจำอยู่ ณ ท่าอากาศยาน

“การไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ และทำให้ทำงานในต่างประเทศได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหลบซ่อน” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีติดตามข่าวสารจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ doe.go.th/overseas เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี EPS โทร 0-2245-6716, 0-2245-9429

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/8/2565

เผยสถานการณ์ตึงเครียดยังไม่กระทบแรงงานไทยในไต้หวัน

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการดูลแรงงานไทย หลังเกิดสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศสหรัฐอเมริกา จากการเยือนเกาะไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ จนกองทัพจีนได้ประกาศปฏิบัติการทางทหารอย่างมีเป้าหมาย ด้วยการซ้อมรบโดยใช้กระสุนจริงในบริเวณน่านน้ำและน่านฟ้า บริเวณช่องแคบไต้หวัน วันที่ 4-7 ส.ค.นี้ กระทรวงแรงงานได้สอบถามไปยังอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานประจำสำนักงานแรงงานไทเป และเกาสง แล้ว ได้รับรายงานว่าสถานการณ์ทุกอย่างในเกาะไต้หวันยังเป็นปกติ โดยทางการไต้หวันได้เตือนพลเรือนให้งดเว้นการนำเรือออกจากชายฝั่งเท่านั้น ส่วนแรงงานไทยนั้นทำงานและพักอาศัยในพื้นที่โรงงาน จึงคาดการว่าการซ้อมรบจะไม่กระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 3/8/2565

คนทำงานผ่านแพลตฟอร์มหางานพาร์ทไทม์ร้านอาหาร ร้อง กมธ.แรงงาน ถูกเอาเปรียบค่าแรงไม่คุ้มค่า

นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน รับหนังสือจาก นางสาวพิมดารา ศิริสลุง ผู้ใช้แรงงานพาร์ทไทม์ เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบ คุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมกับแรงงานพาร์ทไทม์ และแรงงานแพลตฟอร์ม เนื่องจากประชาชนผู้เสียภาษีได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูงเกินกว่ารายได้ประจำ จึงต้องหางานพาร์ทไทม์เสริมนอกเหนือเวลางานประจำ จึงสมัครทำงานพาร์ทไทม์ผ่านแพลตฟอร์มที่ประกาศจ้างงานในแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า TEMP แต่กลับพบข้อเท็จจริงว่าให้ทำงานหนักจนเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว เช่น การทำงานบางแห่ง อยู่ในอิริยาบถที่ฝืนธรรมชาติเป็นเวลานาน ค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับความคุ้มค่าและระยะเวลาที่เสียไป เกิดอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อปวดเมื่อยจนไม่สามารถไปทำงานในวันถัดไปได้ จึงขอให้คณะกรรมาธิการเข้ามาตรวจสอบให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานผ่านแพลตฟอร์มซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทยที่กำลังประสบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยการจ้างงานไม่เป็นธรรมจึงต้องการให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกรณีศึกษาและให้เกิดการแก้ไขด้วยความเป็นธรรม

ด้านนายสุเทพ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า คณะกรรมาธิการมีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยระบบการจ้างงานในทุกระดับ ปัญหาดังกล่าวอาจต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมทันสมัย ทันต่อสถานการณ์โลก โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานต่อไป

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, 3/8/2565

สั่งขยายนักเรียนเข้าสู่ระบบทวิภาคีจากปัจจุบัน 15% เพิ่มเป็น 50% ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) เพื่อสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา และขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) พร้อมมอบโล่ขอบคุณการสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาให้แก่ อ.กรอ.อศ. 39 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ, สภาหอการค้าไทย, ผู้บริหารสถานประกอบการ และ ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม

นางสาวตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนในฐานะประธาน อ.กรอ.อศ. ชื่นชมและขอบคุณผู้ประกอบการ ทั้ง 39 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ร่วมกันนำนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญและกำหนดให้อาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และภาคเอกชนถือเป็นพลังหลักสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ

“ที่ผ่านมาดิฉันได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะทั้งของรัฐและภาคเอกชนทุกแห่ง ขยายความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี กับทางภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเป้าหมายต้องการให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีไม่น้อยกว่า 50% จากปัจจุบันที่จัดอยู่ประมาณ 15%”

“การสนับสนุนจากภาคเอกชนที่ต่อเนื่องมาหลายปี ได้ปรากฎผลเกิดสิ่งดีๆ ที่เป็นความสำเร็จต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลายอุตสาหกรรม จึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชนสนับสนุนด้านอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้น และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ดิฉันมารับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนา และการต่อยอดความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาให้ก้าวล้ำทันสมัย ได้บุคลาการมืออาชีพที่ตรงกับความต้องการ ที่ปัจจุบันยังมีช่องว่างกฎ ระเบียบต่างๆอยู่ ซึ่งการหารือในวันนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ตรงตามเป้าหมาย และปลดล็อกในประเด็นต่างๆ ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ในวันนี้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ได้เสนอให้มีการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีที่ยืดหยุ่น มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาสามารถเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภายใน 4 ปี โดยที่วิชาการและกิจกรรมไม่ลดลง ซึ่งเด็กจะมีอายุ 18 ปี สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ ซึ่งขณะนี้เมื่อเด็กเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะมีอายุ 17 ปี ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากอายุไม่ถึงติดกฎหมายแรงงาน เป็นต้น

ที่มา: คมชัดลึก, 3/8/2565

อว. เดินหน้ายกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดเผยว่า จากวิกฤติต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านสังคม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นและผลักดันนโยบายเพื่อเป้าหมายการเป็นไทยแลนด์ 4.0

ประกอบด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันเกิดมาจากระบบการศึกษากับการฝึกอบรมด้านเทคนิควิชาชีพ รวมถึงระบบการฝึกอบรม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคตและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาโครงการ “การยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (Lift Skill Thai Labor Force Project)” โดยใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณสองปี แบ่งการดำเนินการออกเป็นสามระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในอนาคต (Demand Analysis) ระยะที่ 2 แผนงานการพัฒนาความสามารถหรือการพัฒนาหลักสูตร (Capability Development Program/Curriculum และ ระยะที่ 3 การดำเนินการและการถอดบทเรียน (Execution and Lesson Learn) โดยมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของเมอร์เซอร์ และความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาแผนงานให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการส่งเสริมระบบการศึกษาขั้นสูงและการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในอนาคต

คุณจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงสุด ของบริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยเมอร์เซอร์ได้วิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curver ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและมีแนวโน้มการเติบโตในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าตามนโยบายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัลอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและชีวเคมี อุตสาหกรรมยานยนตร์แห่งอนาคต เป็นต้น โดยเมอร์เซอร์ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมโดยตรงผ่านการสัมภาษณ์ผู้บริหารและตัวแทนบริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น จำนวน 67 บริษัท จาก 5 อุตสาหกรรม พบว่านอกเหนือจากทักษะทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และวิทยาศาสตร์ข้อมูลแรงงานปัจจุบันในประเทศไทยยังขาดทักษะทางสังคม (Soft Skill) เช่น กรอบความคิดแบบเน้นการเติบโต (Growth Mindset) และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) สิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจในการคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่เน้นดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน

ระยะที่สองของโครงการนี้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกในระยะแรกเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นโครงการนำร่องการพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักศึกษา และการผลิตกำลังแรงงานได้ตรงกับความต้องการทักษะของบริษัทภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

ระยะที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของโครงการ กระทรวงกาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะติดตามการดำเนินการของโครงการเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการสามารถก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการอุดมศึกษา โดยการสร้างเส้นทางอาชีพที่มั่นคงสำหรับบัณฑิตใหม่ในระดับปริญญาตรีเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง

ด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า

“ระบบการศึกษาของประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลและเทคโนโลยี เพราะหลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศยังไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและของประเทศในอนาคต ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ Lift Skill Thai Labor Force คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ หรือปรับหลักสูตรเดิม

ที่มีอยู่แล้ว ให้ตอบสนองความต้องการ เพื่อช่วยยกระดับทักษะแรงงานไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต”

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/8/2565

ปลดล็อคแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติทำงานได้ ยื่น Name List ผ่านทางระบบออนไลน์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 กระทรวงแรงงานจึงเสนอต่อ ครม.และมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 ให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มี “สถานะไม่ถูกต้อง” ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566 และเมื่อได้รับอนุญาตทำงานและตรวจลงตราถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดยขออนุญาตให้อยู่และทำงาน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 2567 และครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 2568 โดยที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะต้องทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ครม.มีมติเห็นชอบ โดยเริ่มดำเนินการลงทะเบียนและยื่นบัญชีรายชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 ทางเว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานสัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้

1. นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th เพื่อขอรับชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน

2. ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวซึ่งเห็นภาพใบหน้าชัดเจน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th และชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท จากนั้นธนาคารจะออกใบเสร็จรับเงินให้นายจ้าง ระยะเวลาดำเนินการ 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ส.ค. 2565

3. นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4 ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. - 15 ต.ค. 2565 (60 วัน) โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินคู่กัน เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย

4. คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม

กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน ซึ่งต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566

5. นายจ้างนำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. 2565 - 13 ก.พ. 2566

ทั้งนี้ คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตรา VISA ภายใน 13 ก.พ. 2566 โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 2567 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 2568

สงสัยสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือ โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: แนวหน้า, 2/8/2565

ยูโอบี ประเทศไทย จ้างงานเพิ่ม 1,000 อัตรา ลุยขยายงานหลังปิดดีลซื้อ “ซิตี้กรุ๊ป”

นางสาวศศิวิมล อารยวัฒนาพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรัพยากรบุคคล ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยการจัดงาน Open House ตั้งแต่วันนี้ ถึง 27 สิงหาคม 2565 เพื่อเปิดรับบุคลากรรวม 1,000 อัตรา สำหรับนักศึกษาจบใหม่และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการธนาคารทุกระดับ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจธนาคารภายหลังการประกาศเข้าซื้อกิจการธุรกิจกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Consumer Banking Business) จากซิตี้กรุ๊ป เมื่อต้นปี

ซึ่งการเปิดรับบุคลากรเพิ่มในครั้งนี้เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ทีมงานในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ผู้บริหารระดับกลาง ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยอัตราที่รับเพิ่มร้อยละ 40 เป็นตำแหน่งผู้จัดการความสัมพันธ์ ร้อยละ 20 เป็นตำแหน่งพนักงานสาขา และร้อยละ 40 เป็นตำแหน่งในแผนกสนับสนุน

จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทยอยู่ที่ 610,000 คน ในไตรมาสแรกของปี 2565 โดยพบว่าการว่างงานในกลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาสูงยังคงสูงอยู่ โดยผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ยังว่างงานคิดเป็นร้อยละ 3.1 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด หรือ 225,000 คน

“ในขณะที่เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ยูโอบีขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว เราหวังว่าการเปิดรับบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อมาร่วมทีมกับเราจะไม่เพียงแต่สนับสนุนการขยายธุรกิจที่กำลังเติบโตของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยด้วย เรายินดีต้อนรับผู้ที่กำลังหางานทุกท่านเข้าร่วมงาน Open House ของธนาคาร ที่มีตำแหน่งว่างสำหรับพนักงานใหม่ 1,000 อัตรารออยู่” นางสาวศศิวิมลกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/8/2565

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระดมผู้เชี่ยวชาญเร่งจัดทำมาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปที่เจนนิวา มีโอกาสพบกับคนไทยที่เปิดค่ายมวยสอนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่สนใจฝึกศิลปะมวยไทย ซึ่งผู้ครูผู้สอนจะต้องมีทั้งความรู้และทักษะฝีมือ และเป็นอาชีพที่น่าสนใจ เพราะรายได้สูง

นอกจากนี้ในประเทศไทยเองกลุ่มสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านมวยไทย ให้ความสำคัญและต้องการรักษามาตรฐานมวยไทยด้วย จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเดินหน้าทำมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย เพื่อใช้เป็นหลักฐานการันตี ในการประกอบอาชีพ และผลักดันให้เกิดการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อีกทั้งเพื่อรักษาเอกลักษณ์มวยไทยให้มีมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้ฝึกสอนมวยไทย โดยมีผู้ประกอบอาชีพ และผู้เกี่ยวข้องกับมวยไทย มาร่วมเป็นคณะทำงานกำหนดมาตรฐานดังกล่าว

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ฝึกสอนมวยไทยมีมาตรฐานจริง ๆ เรามุ่งมั่นให้ความสำคัญกับมาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ครูฝึกสอนมวยไทย ที่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงาน ถือได้ว่ามีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้มวยไทย เป็น Soft Power สู่เวทีโลก และพัฒนามวยไทยให้สามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อไป

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า การจัดทำประชาพิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ร่างการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน และร่างคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความเห็นชอบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

โดยในวันนี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบไปด้วย คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ อาทิ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานอนุกรรมการ นายเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผศ จินตนา เทียมทิพร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบกิจการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน ณ โรงแรม เดอะ พาลาสโซ กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น

ข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน เช่น กำหนดระดับความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน ทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ต่ออาชีพ เป็นต้น และได้ร่างคุณสมบัติผู้เข้ารับการทดสอบ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 เบื้องต้นคือ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี มีประสบการณ์การทำงาน การปฏิบัติงาน หรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับการฝึกสอนมวยไทย ไม่น้อยกว่า 2 ปี

โดยมีใบรับรองการทำงานหรือประกอบอาชีพในสถานประกอบกิจการหรือสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือฝึกอบรมในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการฝึกสอนมวยไทย ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง โดยได้รับใบรับรองหรือวุฒิบัตรการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่จัดฝึกอบรมหรือหน่วยงานการศึกษาหรือสมาคมวิชาชีพ หรือ จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่าในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ซึ่งคาดว่ามาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย จะแล้วเสร็จภายในเดือน ตุลาคม 2565

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/8/2565

ก.แรงงาน เทรนเยาวชนชายแดนใต้ พัฒนาทักษะช่างเชื่อมป้อนตลาดงานซาอุฯ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงนามความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการจัดหาแรงงานเพื่อไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สามารถสร้างความตื่นตัวแก่เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนนับถือศาสนาอิสลาม กพร.ซึ่งมีความพร้อมด้านหลักสูตรฝึกอบรม สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การฝึกอบรม จึงขานรับนโยบาย และข้อสั่งการของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ให้กับเยาวชนและแรงงานทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) ได้แก่ สพร. 23 ปัตตานี สพร 24 ยะลา และ สพร. 25 นราธิวาส ดำเนินการฝึกอบรมทักษะด้านช่าง เน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนิสัยอุตสาหกรรม ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 2 – 6 เดือน โดยฝึกอบรมในหน่วยฝึกและฝากฝึกงานในสถานประกอบกิจการเพื่อฝึกปฏิบัติงานจริง ในปี 2564 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดำเนินการฝึก สาขาช่างเชื่อมไปแล้ว 151 คน และปี 2565 ฝึกช่างเชื่อมไปแล้ว 197 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565)

นายประทีป กล่าวว่า เยาวชนและแรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้ความสนใจเข้าฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ฝึกจบแล้วจะหางานทำในพื้นที่ และมีบางส่วนสนใจไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ผ่านการฝึกช่างเชื่อม อีกทั้งในขณะนี้ กพร.ได้ประชาสัมพันธ์ความต้องการรับแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ ในตำแหน่งช่างเชื่อม จึงได้รับรายงานจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่ามีเยาวชนสนใจจะไปทำงานต่างประเทศ โดยลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหางาน (กกจ.) แล้ว อาทิ สพร.23 ปัตตานี เปิดฝึกอบรมช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ ระยะเวลาฝึก 4 เดือน ฝากฝึกในสถานประกอบกิจการอีก 2 เดือน หลังจากนี้จะติดตามและประสานงานกับ กกจ.ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อไปทำงานต่างประเทศอีกครั้ง

นายวารินทร์ สองเมือง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 ปัตตานี กล่าวว่า การสานสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสของแรงงานใน 3 จังหวัด เนื่องจากมีขนบธรรมเนียม ศาสนาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน แรงงานสามารถปรับตัวได้ง่าย ปัจจุบัน สพร.23 ปัตตานี กำลังฝึกทักษะด้านช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือให้เยาวชนที่สนใจไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ จำนวน 3 คน โดยมีนายอาสมาน ลาเตะ ครูฝึกฝีมือแรงงาน ช.3 เป็นผู้ฝึกสอน และได้ฝึกทักษะด้านเชื่อมทิกเพิ่มเติมให้อีกด้วย เพื่อให้มีทักษะสูงขึ้นและพร้อมที่จะไปทำงานที่ซาอุฯ และเมื่อฝึกจบแล้วจะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อทดสอบว่าฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ จะได้มีใบการันตีความสามารถและใช้ประกอบการเข้าทำงานด้วย ทั้งนี้ ยังมีศิษย์เก่าแจ้งความประสงค์และลงทะเบียนไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เพิ่มเติมอีก 3 คน

นายมูฮัมหมัด อิสมิง อายุ 21 ปี และ นายอะหมัด ดือราแม อายุ 25 ปี ผู้ผ่านการฝึกสาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ เล่าว่า มีความสนใจเกี่ยวกับงานเชื่อมไฟฟ้าจึงสมัครเข้ารับการฝึกอบรมที่สพร.23 ปัตตานี และได้ทราบข่าวการรับสมัครแรงงานไทย ไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศซาอุฯ ในตำแหน่งช่างเชื่อม จึงสนใจจะไปหาประสบการณ์ ครอบครัวก็สนับสนุน อีกทั้งตนเองและเพื่อนนับถือศาสนาอิสลาม วิถีการใช้ชีวิต การกินอยู่ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมก็คล้ายคลึงกัน จึงคิดว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก แตกต่างจากการไปทำงานในประเทศอื่น ที่ต้องเรียนรู้ภาษาและการดำเนินชีวิตที่ยากลำบากกว่า และที่สำคัญก็อยากมีสักครั้งที่จะได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจย์ที่เมืองมักกะฮ์ด้วย จึงได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดปัตตานี และระหว่างรอเรียกตัวจึงเข้ามาฝึกทักษะด้านเชื่อมทิกเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เมื่อแจ้งความประสงค์กับสำนักงานจัดหางาน หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th และสามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ที่หน่วยงานของ กพร.ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: มติชนออนไลน์, 31/7/2565

ก.แรงงาน เทรนทักษะแรงงานป้อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ตั้งเป้า 5,000 คน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติเริ่มเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ประกาศผ่อนปรนมาตรการด้านการท่องเที่ยว ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ ส่งผลให้สถานประกอบกิจการ เช่น กิจการด้านการโรงแรม ที่พักอาศัย ร้านอาหาร ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานที่สนใจทำงานในธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ให้มีความพร้อมในการทำงาน ซึ่งในปี 2565 ดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานด้านการท่องเที่ยวไปแล้ว จำนวน 4,400 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 2565) หลักสูตรที่จัดฝึกอบรมนั้น มีทั้งด้านการเพิ่มทักษะฝีมือในสาขาอาชีพเฉพาะ อาทิ บาริสต้ามืออาชีพ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (หัตถบำบัด) นอกจากนี้ยังฝึกอบรมด้านภาษาให้แก่แรงงานที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวอีกด้วย เพื่อทบทวนทักษะให้มีความมั่นใจในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หลังจากที่ไม่ได้ใช้ทักษะด้านภาษามาเป็นเวลานาน

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า การฝึกทักษะให้แก่แรงงานเพื่อป้อนตลาดด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกรมที่มียุทธศาสตร์จังหวัดส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมประชาสัมพันธ์ความต้องการรับแรงงานเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ให้แรงงานได้รับทราบด้วย ซึ่งอาจมีแรงงงานต้องการไปทำงานในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพราะจะทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้นด้วย เช่น แรงงานในภาคอีสาน ต้องการไปทำงานในภาคใต้ หรือภาคเหนือ เป็นต้น ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ แรงงานที่มีทักษะด้านนวดไทย หรือนวดสปา มักจะไปทำงานในจังหวัดภาคใต้เป็นส่วนมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสนใจนวดไทยและนวดสปา มักใช้บริการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีรายได้ดี เฉลี่ยถึงเดือนละ 20,000-30,000 บาท อีกทั้งผู้ประกอบการด้านนวด-สปา มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านนวดเข้ามาทำงานอีกเป็นจำนวนมาก ค่าจ้างพนักงานจึงสูงขึ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะในด้านดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้แรงงานมีทักษะฝีมือ ก้าวสู่การมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง สุดท้ายคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนั่นคือการประเมินถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

คุณลำไย จินดา (จิน) อายุ 45 ปี เจ้าของร้านจินดานวดเพื่อสุขภาพ เล่าว่า เป็นคนจังหวัดขอนแก่น เคยมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ชอบทะเลและธรรมชาติ และมองเห็นช่องทางประกอบอาชีพ จึงเลือกใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะภูเก็ต โดยเริ่มต้นสมัครเป็นผู้ช่วยนวดแผนไทยตามร้านทั่วไป ช่วงวันหยุดและมีเวลาว่างก็จะหาความรู้เพิ่มเติม จึงสนใจเข้าอบรมนวดแผนไทย และสมัครเข้าฝึกอบรมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ผ่านการอบรมหลายหลักสูตร เช่น นวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ เทคนิคการนวดไทย การนวดหน้าเพื่อความงาม การนวดเพื่อปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย เป็นต้น ทำให้ตนได้รับความรู้ มีทักษะและเทคนิคการนวด และผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขานวดไทย ระดับ 1 แล้ว ซึ่งความรู้ในแต่ละหลักสูตรสามารถนำมาใช้ในการให้การบริการแก่ลูกค้าได้ดีมาก สร้างความประทับใจ ทำให้มีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/7/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท