Skip to main content
sharethis

สมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เหตุคุกคามนักเคลื่อนไหวองค์กรภาคประชาสังคมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีบีบบังคับไม่ให้เป็นวิทยากรเสวนาเวทีสาธารณะ

 

5 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Civil Society Assembly For Peace – CAP' ของสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) โพสต์แจ้งข่าวเรื่อง การคุกคามนักเคลื่อนไหวองค์กรภาคประชาสังคมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีบีบบังคับไม่ให้เป็นวิทยากรเสวนาเวทีสาธารณะ

โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ทาง CAP ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เรื่องการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ให้พูดในเวทีสาธารณะและไม่สามารถจัดกิจกรรมในพื้นที่ได้ 

เพจระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีจาก มูฮำหมัด อาลาดี เด็งนิ ประธาน CAP และฮาซัน ยามาดีบุ เลขาธิการ CAP ถูกสั่งห้ามจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี กรณีไม่ให้ขึ้นเวทีเสวนาสาธารณะ ที่จะมีการจัดขึ้นในวันที่ 4 ส.ค. 2565 บ้านช่องแมว ตำบล ละหาร อำเภอ สายบุรี จังหวัด ปัตตานี ซึ่งจัดโดยกลุ่มเยาวชน (PERSATUAN PEMUDA LAHAN)  และทาง CAP ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการชี้แจ้งเหตุผลและการใช้อำนาจตามข้อกฎหมายใดที่ไม่ให้นักเคลื่อนไหวองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นพูดบนเวทีสาธารณะด้วยลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

สำหรับเวทีเสวนาเกี่ยวกับประเด็นการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ โดยทางผู้จัดได้มีการเชิญวิทยากรให้มาเป็นผู้เสวนาบรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้การเชิญ มูฮำหมัด อาลาดี เด็งนิ ประธาน CAP และ ฮาซัน ยามาดีบุ เลขาธิการ CAP  เพราะบุคคลทั้งสองคนเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับคนในพื้นที่มาโดยตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา กับความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่หลาย ๆ องค์กรและนักวิชาการมองว่าการใช้แนวทางแบบสันติ การใช้พื้นที่สาธารณะ(กลาง) เพื่อการสื่อสารที่ดีและให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบการมีสวนร่วมจากทุกภาคส่วน

ดังนั้น มูฮำหมัด อาลาดี เด็งนิ และฮาซัน ยามาดีบุ จะถูกเชิญให้ไปพูดในงานเสวนาสาธารณะมาโดยตลอด จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองหรืออ้างว่าบุคคลทั้งสองคนนี้เป็นผู้ที่ปลุกระดมให้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ และนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมซึ่งเป็นการกล่าวอ้างมาโดยตลอด จึงทำให้เวลามีการจัดกิจกรรมของกลุ่มต่างๆที่ได้มีการเชิญหรือขึ้นแบนเนอร์รูปภาพทั้งสองคนนี้ก็จะถูกทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงโทรไปสอบถามถึงเรื่องการจัดงานดังกล่าวกับผู้จัดงาน ว่าทำไมต้องเชิญบุคคลทั้งสองนี้มาด้วยขอเปลี่ยนแปลงได้ไหมไปเป็นคนอื่นแทน หรือมีในลักษณะไม่อนุญาตห้ามจัดกิจกรรมทั้งหมดเลยถ้ายังคงที่จะให้บุคคลทั้งสองขึ้นพูด ซึ่งก็ทำให้ส่งผลกับกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมที่เตรียมตัวแล้วต้องยกเลิกไปโดยไม่ทราบถึงเหตุผลที่ดี และบางกิจกรรมก็พยายามยืนยันที่จะจัดต่อไป แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงขออย่าให้พูดในบางประเด็นเช่น โรงไฟฟ้าจะนะ,โรงโม่หินลาเมาะ ศรีสาคร และอื่นๆเป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเป็นการคุกคามลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างเห็นได้ชัด และในการที่จะพูดสื่อสารและแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ การแสดงถึงจุดยืนถึงความเป็นตัวตนในรูปแบบเชิงอัตลักษณ์ ภาษา และการสร้างความรักให้ตระหนักถึงคุณค่าในการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ถูกปิดกั้นไม่ให้มีการพูดและให้ประชาชาชนได้รับรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง การกระทำลักษณะของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในห้วงสองสามเดือนที่ผ่านมาเท่านั้น และไม่ใช่แค่กับสองคนนี้ แต่เป็นการปฎิบัติที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาโดยตลอด เพราะแว่นการมองของฝ่ายความมั่นคงถือว่ารูปแบบนี้ยังสามารถใช้ได้ผลแม้ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่เป็นการยกกล่าวอ้างถึงความมั่นคง ยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในสังคม โดยมีกฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับมารองรับกับคำกล่าวอ้างเหล่านั้นเพื่อความชอบธรรมในการปฎิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

'Civil Society Assembly For Peace – CAP'  ระบุตอนท้ายด้วยว่า ปัจจุบันการพูดคุยสันติภาพมีแนวโน้มที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นสามารถที่จะคลี่คล้ายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้บ้าง แต่กลับกันในพื้นที่ความตึงเครียดยังคงเหมือนเดิมหรืออาจจะถอยไปหลังมากขึ้นจากการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็น การปะทะวิสามัญ การปิดล้อมตรวจค้น การเก็บดีเอ็นเอ การคุกคามนักกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ยังคงมีเหมือนเดิมและเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต   

หนังสือร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิฯ

วันที่ 2 สิงหาคม 2565

เรื่อง การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ให้พูดในเวทีสาธารณะและไม่สามารถจัดกิจกรรมในพื้นที่ได้

เรียน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)

เนื่องด้วยทางกลุ่มเยาวชน(PERSATUAN PEMUDA LAHAN) ณ บ้านชองแมว ตำบล ละหาร อำเภอ สายบุรี จังหวัด ปัตตานี จะมีการจัดกิจกรรม Lahan Camp ขึ้นภายในวันที่  4 สิงหาคม 2565 เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการทำงานช่วยเหลือด้านสังคม จึงได้มีการเชิญวิทยากรให้มาพูดในงานครั้งนี้ ประกอบด้วย นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ และนายฮาซัน ยามาดีบุ ซึ่งบุคคลทั้งสองคนเป็นคนทำงานภาคประชาสังคมในด้านการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การศึกษา กฏหมาย และกระบวนการสันติภาพ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีมาโดยตลอด เพราะมองว่าแนวทางสันติวิธีคือทางออกในการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้  

 แต่เหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อทางเจ้าหน้าที่ทั้งสามฝ่ายในพื้นที่ดังกล่าวได้รับทราบถึงการที่จะจัดกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน lahan camp ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ให้ทางเยาวชนที่จะจัดงานเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเพื่อทำการชี้แจงเกี่ยวกับการจัดงาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งไปว่าถ้าจะมีการจัดกิจกรรมต่อไป

1 ขอให้ยกเลิกการเชิญวิทยากรคนดังกล่าว สืบเนื่องเจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าสองคนนี้เป็นบุคคลที่พูดในลักษณะปลุกระดม ยั่วยุ ทัศนคติในด้านแง่ลบ

2 ถ้ายังมีการจัดกิจกรรมต่อไปอีกโดยมีวิทยากรดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มเยาวชนดังกล่าว

3 อนุญาตให้จัดกิจกรรมดังกล่าวได้แต่ต้องเปลี่ยนแปลงวิทยากรที่จะสานเสวนา

4 มิติทางด้านความมั่นคงที่มองว่าบุคคลสองคนนี้เป็นบุคคลที่พูดสวนทางกับความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นนำไปสู่ความขัดแย้งได้

ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวมิใช่ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแล้วจำนวน3ครั้ง เมื่อเดือน กรกฏาคม ที่ผ่านมา ประกอบด้วย ณ บ้านพิเทน ทุ่งยางแดง, ศรีสาคร(Teratak Camp), หาดสายบุรี(ศิกษ์เก่าโรงเรียนดารุณศาสตร์) เป็นกรณีเหตุการณ์ที่เหมือนกันคือเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นวิทยากรผู้เสวนาในงาน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆของเจ้าหน้ารัฐต่อพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมายาวนาน

ซึ่งทางกลุ่มนักกิจกรรมปกป้องสิทธิเล็งเห็นว่ากรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ดำเนินการปิดไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมและไม่ให้บุคคลดังกล่าวพูดได้ในที่สาธารณะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอภาพกันในกฏหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่าง ในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายภาพหรือสุขภาพสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

ดังนั้น จึงขอให้ทางคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ได้ดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำชี้แจงและคำอธิบายกับกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ มิใช่ใช้อำนาจที่มีอยู่มาบังคับไม่ให้ประชาชนได้พูด จำกัดสิทธิต่างๆ ได้

 

ลงชื่อ

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมผู้ร้องเรียน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net