Skip to main content
sharethis

จากเวทีการประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 65 ที่ผ่านมา วงเสวนาการถอดบทเรียนจัดการยา-เวชภัณฑ์ จากโควิด-19 ออกแบบเชิงระบบรับมือโรคใหม่ในอนาคต เสนอให้มีกองทุนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อจัดซื้อวัคซีนหรือบริจาค เพราะเอกชนสามารถเข้าถึงผู้ผลิตหรือมีคอนเนคชั่นในต่างประเทศที่ดีกว่า

6 ส.ค. 2565 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่าจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการสุขภาพอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลและรักษาผู้ป่วย การตรวจและรักษาแล้วสามารถไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาที่โรงพยาบาล และยังสามารถได้รับคำแนะนำด้านยาจากเภสัชกรที่ร้านยาได้อย่างมีคุณภาพ การส่งยาทางไปรษณีย์ ฯลฯ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ซึ่งด้านหนึ่งทำให้เห็นภาพของการเร่งสร้างองค์ความรู้ใหม่จากการวิจัยและพัฒนา การอนุมัติการใช้ยา/วัคซีนใหม่ในภาวะฉุกเฉิน การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาและวัคซีนจากต่างประเทศ ตลอดจนการนำยาสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 กรณีที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคู่ขนานไปด้วย โดยเฉพาะการจัดสรรยาและวัคซีนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพที่ปรากฏทำให้เห็นถึงระบบการจัดการ การบริหารยาและวัคซีนที่นำมาใช้สำหรับการรับมือโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

กลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดการบริหารยาในภาวะฉุกเฉินได้ดี นั่นคืองานวิจัยที่ทันต่อสถานการณ์ และการออกแบบภาพอนาคตเพื่อประเมินทางออกที่ดีที่สุด จนส่งผลให้เกิดการวางแผนจัดการในระดับนโยบาย เพื่อนำข้อมูลที่ดีที่สุด ไปตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ ทำให้เกิดการให้บริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งการบริหารจัดการเรื่องการใช้ยา วัคซีน หรือการสำรองยา นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงประเด็นยาในสถานการณ์ฉุกเฉิน บนเวทีการประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่าเรื่องการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ ในสภาวะฉุกเฉิน ถ้าเป็นในระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้นโยบาย 3 ขา โดยขาแรก เป็นเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขาที่สอง เน้นความมั่นคงทางสุขภาพ และขาที่สาม เป็นเรื่องของสุขภาวะชีวิตที่ยั่งยืน แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริง ประเทศส่วนใหญ่มักต้องช่วยเหลือประชาชนของตนเองก่อน จนดูเหมือนเป็นการเอาตัวรอดกัน 

อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการวิจัยในเรื่องวัตถุดิบ เพื่อนำมาผลิตวัคซีนและยาในประเทศไทย จำเป็นต้องมองเลยไปว่า เมื่อผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว วัคซีนที่เหลือจะบริหารจัดการอย่างไร หรือโรงงานผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อไม่ต้องทำการผลิตแล้วจะทำอย่างไร ผมเองเคยต่อสู้ในเรื่องนี้เมื่อปี 2007 กรณีการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนที่ตำบลทับกวาง จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นการขยายเฟส 3 เพื่อการผลิตวัคซีน มีการลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งต้องประเมินว่าคุ้มหรือไม่ 

ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเสริมว่า องค์การเภสัชกรรมมีวิสัยทัศน์ในเรื่องความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ คือ ต้องมียาเพียงพอ ต้องมีเสรีภาพในการใช้ยา ต้องสามารถเข้าถึงยาได้ และมีความสามารถในการเบิกจ่าย เหตุผลดังกล่าวจึงต้องมีการสำรองยาไว้ แต่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประสบปัญหา เพราะทั่วโลกมีการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะวัตถุดิบในการผลิตยาหรือวัคซีน หากมีการระบาดครั้งหน้าขึ้นมาอีก ต้องนำบทเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์และถอดออกมาเพื่อเป็นแผนรับมือร่วมกัน ซึ่งต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ประชาชน และเอกชน 

“อย่างไรก็ตาม การพึ่งพายาจากภายนอกเพื่อสำรองไว้ อาจไม่ใช่ทางออกเดียวที่มี เพราะประเทศไทยต้องมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้วย หากพัฒนาวัคซีนได้เอง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า จะช่วยลดงบประมาณในการจัดหายาจากต่างประเทศได้ ซึ่งในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ที่นำเข้ามา เป็นยาสำเร็จรูปอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องสังเคราะห์ยาเองเผื่อไว้ด้วย” 

ภญ.ศิริกุล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 องค์การเภสัชกรรมมีการสำรองยาไว้ประมาณ 20 รายการ อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และเวชภัณฑ์หลายรายการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาที่ถูกแต่มีคุณภาพ ซึ่งบทเรียนต่างๆ ในครั้งนี้ เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนในระยะยาว ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยา หากมีการระบาดใหญ่ มีผลกระทบในวงกว้าง รัฐบาลสามารถประกาศมาตรการซีแอลได้ทันที ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้สามารถตรวจสอบสิทธิบัตรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หากผู้ป่วยติดเชื้อแล้วมีอาการไม่รุนแรง กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดการได้ดีและเหมาะสม ทั้งในเรื่องการกระจายยาและเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลนในทุกกองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เริ่มมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น หากงบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพยังแยกกันจ่ายในการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ เชื่อว่าน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นจึงได้มีการหารือกันในทุกกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในการจัดรวมศูนย์การเบิกจ่าย โดยนำหน่วยงานเบิกจ่ายมารวมกัน เพื่อลดความซับซ้อนในเรื่องมาตรการและกลไกทางการเงิน 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เรื่องการสื่อสารกับประชาชนซึ่งมีปัญหาในช่วงแรก เพราะแต่ละหน่วยงานดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างทำ มีเบอร์สายด่วนที่หลากหลายมาก และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่มากกว่าข้อมูลจากระบบอัตโนมัติ ดังนั้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 สปสช. จึงตัดสินใจใช้เบอร์สายด่วนเพียงเบอร์เดียวคือ 1330 โดยรับอาสาสมัครจำนวน 200 คน มารับโทรศัพท์ โดยสามารถทำงานที่บ้านได้ ช่วยทำให้ประชาชนได้รับบริการยาและเวชภัณฑ์ที่เร็วขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 

“เรื่องการจัดส่งยา เมื่อถึงจุดวิกฤต ต้องอาศัยภาคประชาชนมาช่วย โดยสร้างความร่วมมือกับมูลนิธิต่างๆ เพราะทำงานเร็ว และมีการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย กรณีน้ำท่วม ไฟไหม้เขาชำนาญอยู่แล้ว สปสช. จึงตัดสินใจดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยให้มูลนิธิจัดส่งยาให้ผู้ป่วย ซึ่งช่วยได้มากและมีความรวดเร็ว นอกจากนี้ยังร่วมกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดหาไรเดอร์เพื่อส่งยาให้กับผู้ป่วย ทำให้เห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤต ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย คือการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน เนื่องจากทำให้สามารถดำเนินการในบางเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว” นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ กลไกในการแก้ปัญหามีหลายเรื่อง เช่น ต้องมีการร่างระเบียบเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องการจองวัคซีน การนำกฎหมายมาใช้ในการจัดหาวัคซีน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องประสานกับองค์กรต่างๆ เพื่อวางแนวปฎิบัติที่ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน โดยเริ่มจากกลไกการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อให้มีอำนาจในการออกประกาศ และอนุมัติเงินที่จะนำไปใช้จองวัคซีน รวมถึงมีการตั้งอนุกรรมการที่จะเข้าไปดูแลเรื่องวัคซีน และทำหน้าที่พิจารณาประเด็นต่างๆ อาทิ วัคซีนแต่ละประเภทมีคุณสมบัติดีอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วจะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง รวมถึงเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว จะต้องเว้นระยะเวลาห่างกันเท่าไหร่ เพื่อฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ฯลฯ 

“อย่างไรก็ตาม ผมอยากเสนอให้มีกองทุนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อจัดซื้อวัคซีน หรือบริจาค เพราะเอกชนสามารถเข้าถึงผู้ผลิต หรือมีคอนเนคชั่นในต่างประเทศที่ดีกว่า รวมถึงเมื่อเกิดภาวะวิกฤต ภาครัฐสามารถใช้พระราชบัญญัติยาในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถจัดซื้อได้ทันที” นพ.โสภณ กล่าว

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ยาทั้งประเทศ เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 70% ผลิตเองในประเทศ 30% มูลค่ารวมประมาณสองแสนกว่าล้านบาท ขณะที่องค์การเภสัชกรรมผลิตยาขายให้กับโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ประมาณ 65% ในจำนวนนี้ 25% ขายให้โรงพยาบาลเอกชน และ 15% ขายให้กับร้านขายยา เมื่อเกิดภาวะวิกฤต ปัญหาคือไม่สามารถนำเข้ายาได้ ทุกประเทศมีความต้องการยา ดังนั้นจึงควรมีการจัดสรรแบ่งปันกันใหม่ ซึ่งอาจทำเป็นรูปแบบของคลังยากลางของประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมีการกระจายส่วนแบ่งการผลิตและกำหนดราคายาเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด เพราะต่อไปยาพวกนี้ก็จะเป็นยาสำรองของประเทศ จึงเห็นได้ว่าในภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมา ควรต้องมีการบริหารจัดการยาที่ดี เพื่อให้มียาที่จำเป็นพร้อมใช้ และสามารถกระจายให้ประชาชนใช้ได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net