Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เผยได้เข้าร้องเรียนต่อ กมธ.แรงงาน กรณีแรงงานกัมพูชาถูกนายจ้างหักเงินเดือนจ่ายส่วยให้ตำรวจในพื้นที่ จ.ระยอง มากว่า 3 ปี ขณะที่นายจ้างชี้แจงว่าหักเป็นค่ารักษาพยาบาล  ด้านเครือข่ายฯ โต้แรงงานมีประกันสังคมใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเก็บเพิ่ม พร้อมกับเรียกร้องให้ พนง.ตรวจแรงงานตรวจสอบสภาพการจ้างและเรียกพยานหลักฐานจากนายจ้างย้อนหลังเพิ่มเติม อัดก.แรงงาน เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนปล่อยให้นายจ้างและ ตร.รีดไถแรงงานได้ 

7 ส.ค. 2565 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีการเข้าช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดสิทธิในกรณีล่าสุด โดยระบุว่าเครือข่ายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาถูกเลิกจ้างจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในจังหวัดระยองโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยแรงงานให้ข้อมูลกับเครือข่ายว่า ฯบริษัทดังกล่าวนี้ได้หักเงินแรงงานเป็นค่าตำรวจมากว่า 3 ปีแล้ว และเมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่านายจ้างมีการหักเงินในรายการที่กฎหมายไม่อนุญาตที่ระบุ “ค่าตำรวจ”เป็นเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2565 จริง เครือข่ายฯจึงดำเนินการให้มีการสอบสวนในเรื่องนี้และได้ยื่นหนังสือขอให้กรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร์ตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้เนื่องจากหวั่นว่าจะมีการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เพื่อให้มีการยุติการสอบสวนในกรณีดังกล่าว

ล่าสุดซึ่งวันที่ 3 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมการธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร์ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อเร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยมีผู้แทนเครือข่ายฯ  เจ้าหน้าที่ตำรวจภาค 2 ตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองร่วมให้ข้อมูลต่อ กมธ.ในครั้งนี้ด้วย

บรรยากาศในการประชุมครั้งนี้ เริ่มด้วยนายจ้างได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กรณีที่นายจ้างอ้างว่ารายการหักเงินที่ระบุในสลิปเงินเดือนให้แรงงานข้ามชาติเป็น “ค่าตำรวจ”นั้นแท้จริงแล้วหักเป็น “ค่ารักษาพยาบาล” และได้อ้างว่าทำความเข้าใจกับแรงงานจนเข้าใจตรงกันแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในห้องประชุมในครั้งนี้ด้วยนั้นก็รีบตอบรับคำชี้แจงของนายจ้างทันทีว่าเมื่อนายจ้างและลูกจ้างเข้าใจต้องตรงกันแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ติดใจอะไร และจากการตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความผิดตามที่ร้องเรียน  อย่างไรก็ดีหากพบว่ามีการกระทำความผิดก็จะต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดทันที

นอกจากนี้ในการเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการในครั้งนี้ฯ ตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการหักเงินจากรายการดังกล่าวจริงเป็นระยะเวลา 10 เดือน และได้สั่งให้นายจ้างคืนเงินในรายการ “ค่าตำรวจ” ที่นายจ้างหักไปให้กับแรงงานข้ามชาติจำนวน 64 คน 
 
ขณะที่นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ  กล่าวแย้งต่อคำชี้แจงของทุกฝ่ายว่าคำชี้แจงจากฝ่ายนายจ้างนั้นไม่สมเหตุสมผลและไม่สามารถรับได้ เนื่องจากแรงงานเข้าระบบประกันสังคมที่สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้อยู่แล้วนายจ้างจึงไม่มีเหตุที่จะต้องหักเงินเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลกับแรงงานและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมรับความจริงว่ามีเจ้าหน้าตำรวจเรียกรับสินบนกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติจริงและขอให้เร่งตรวจสอบแก้ไขปัญหาโดยเร็ว  ไม่ควรด่วนยอมรับตามคำชี้แจงของนายจ้าง พร้อมกับเรียกร้องให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบสภาพการจ้างและเรียกพยานหลักฐานจากนายจ้างย้อนหลังเพิ่มเติมเพราะเชื่อว่ามีการหักเงินที่ผิดกฎหมายกับแรงงานข้ามชาติมากกว่า 3,000 บาทต่อคน เนื่องจากพบหลักฐานสลิปเงินเดือนที่แรงงานถูกหักค่าตำรวจเป็นเงิน 300-500 บาท ต่อเดือนมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2565 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกหักไปเพียงเดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 10 เดือนตามที่พนักงานตรวจแรงงานฯอ้างว่าตรวจสอบพบเท่านั้น

ด้านนายสุเทพกล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่าทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานพร้อมชี้ว่าการละเมิดสิทธิแรงงานเป็นตัวชี้วัดสำคัญของประเทศไทยที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือต่อนานาชาติและนัดหมายให้ทุกฝ่ายเข้าชี้แจงความคืบหน้าในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ย. 2565 นี้

น.ส.คอรีเยาะ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติอยากให้กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานที่มีพยานและหลักฐานที่ชัดเจน นอกจากนี้การชี้แจงของนายจ้างและเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นกรรมาธิการก็ไม่มีส่วนไหนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับแรงงานแม้แต่นิดเดียวนอกจากนี้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระทรวงแรงงานในการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และยังสะท้อนถึงการละเลยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ช่องว่างที่เกิดขึ้นแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกับแรงงานต่อไป ตนจึงอยากฝากให้ประชาชนช่วยกันจับตาการทำงานของกรรมาธิการในครั้งนี้ว่ากลไกของรัฐสภาจะเป็นที่พึ่งให้กับแรงงานข้ามชาติได้หรือไม่ เหมือนกับที่คุณสุเทพได้กล่าวไว้ในการประชุมว่าแม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติก็ต้องได้รับสิทธิและความเท่าเทียมเหมือนกับแรงงานไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net