Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันชาติพันธุ์โลก วันที่ 9 ส.ค. 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สำนักข่าวไทยพีบีเอส The Active และองค์กรต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรม 'สื่อศิลป์ ส่งเสียง ชีวิต สิทธิ ชนเผ่าพื้นเมือง' ส.ส.ชาติพันธุ์ ชี้ Soft power ต้องให้ความสำคัญเรื่องศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่มองแค่เป็นสินค้า เพื่อความเข้าใจวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อย่างถ่องแท้


ภาพโดย สิริญาดา ลิ้มสุวัฒน์

7 ส.ค. 2565 ที่ศาลาภิรมย์ สวนลุมพินี กทม. เมื่อเวลา 16.00 น. เนื่องในวันชาติพันธุ์โลก วันที่ 9 ส.ค. 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สำนักข่าวไทยพีบีเอส The Active และองค์กรต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรม 'สื่อศิลป์ ส่งเสียง ชีวิต สิทธิ ชนเผ่าพื้นเมือง' ตอน ดนตรีชาติพันธุ์ ที่สวนลุมฯ ตั้งแต่เวลา 16.00-19.00 น. เพื่อให้คนกรุงได้สัมผัสดนตรีและความสวยงามของชาวชาติพันธุ์ 

รูปแบบการแสดงดนตรีเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่าง วงออเคสตราสากล จากวง 'นิมมาน' และการแสดงดนตรีพื้นบ้านของชาติพันธุ์ต่างๆ

ภาพโดย สิริญาดา ลิ้มสุวัฒน์

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.ชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล และเป็นผู้ร่วมงาน มองว่า การจัดงานดนตรีในสวนวันนี้ สะท้อนความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และประเทศไทย ที่รวมอยู่ด้วยกัน 60 ชาติพันธุ์   

"การเปิดตัวดนตรีมานี้ จริงๆ เป็นเรื่องที่งดงาม เราอยากจะเห็นดนตรีชาวเล ชาวมอร์แกน พี่น้องชาวอีสานที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คนส่วย คนชอง คนภูไท จริงๆ แล้วมันคือต้นทุนทางวัฒนธรรม ถ้ารัฐอยากจะทำพวกนี้เราควรส่งเสริมอย่างยิ่ง เอาความหลากหลายทั่วประเทศ มาโชว์ให้คนกรุงเทพฯ มาแสดง มาสัมผัส มาเรียนรู้ผ่านดนตรี และวัฒนธรรม ไม่ต้องพูดว่าใครมีปัญหาอะไรก็ได้ มีความต้องการอะไรก็ได้ มาดูดนตรีด้วยกัน มันจะเชื่อมกัน ให้คนในประเทศนี้ที่รวม 60 ชาติพันธุ์ รู้จักกันมากขึ้น" มานพ กล่าว 

มานพ เชื่อว่าดนตรีทำหน้าที่เชื่อมคนถึงกันได้ เพราะดนตรีเป็นภาษาสากลอย่างหนึ่ง แต่ละคนอาจจะมีข้อจำกัด มุมมอง วิธีคิด แต่ดนตรีไม่มีข้อจำกัดสำหรับมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกคนสามารถเสพได้ 

ก่อนหน้านี้ The Active รายงานด้วยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้กล่าวถึงงานแสดงดนตรีในสวน โดยพิธา เล่าว่าเขาเคยมีโอกาสได้บรรเลงดนตรีร่วมกับชาวชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ ทำให้เขารู้สึกว่า การบรรเลงดนตรีของชาวชาติพันธุ์ คือ การเลียนเสียงธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพวกเขา 

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุด้วยว่า ดนตรีชาติพันธุ์ยังเป็น Soft Power ที่แข็งแกร่งของประเทศไทย 

“ดนตรีของพี่น้องชาติพันธุ์ เหมือนการเลียนเสียงธรรมชาติ สายลม สายน้ำ และผืนป่า ดนตรี การเต้นรำ คือ วิถีชีวิตของเขา หากเราเอาตรงนี้มาเป็นศักยภาพของประเทศ ผ่าน Indigenous Economy ให้ดนตรี เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมจะเป็น Soft Power ที่แข็งแกร่งของประเทศไทย” พิธา กล่าว 

มานพ มองเพิ่มว่า Soft power ต้องให้ความสำคัญเรื่องศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ใช่มองแค่เป็นสินค้า เข้าใจวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ของพวกเขาอย่างถ่องแท้

ส.ส.ก้าวไกล ทิ้งท้ายว่า วันนี้เขาอยากมาให้กำลังใจนักร้อง นักดนตรี จากที่ต่างๆ และตัวเขารู้สึกดีใจที่วัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์ตามชายขอบของแต่ละที่วันนี้ได้ปรากฏตัวในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และมองว่าสื่อทางวัฒนธรรมแบบนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ ความเข้าใจ และสังคมภายใต้พหุวัฒนธรรม มันมีความขัดแย้งหรืออคติที่ลดลง 

ทั้งนี้ วันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในประเทศไทย จัดมาตั้งแต่ปี 2553 โดยสภาชนเผ่าฯ และจะมาต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 10 ปี โดยในปีนี้เป็นงานวันชนเผ่าฯ มีทั้งหมด 4 วัน ตั้งแต่ 6-9 ส.ค. 2565 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net