นิธิ เอียวศรีวงศ์: สังข์ทองใจดำ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สักเดือนสองเดือนมาแล้ว ใครสักคนเขียนลงในเฟซบุ๊กของตนว่า เขาเกลียด “สังข์ทอง” มาตั้งแต่สมัยที่ถูกบังคับให้อ่านในโรงเรียนแล้ว เขารับไม่ได้เลยที่สังข์ทองหนีนางยักษ์พันธุรัตไป ท่ามกลางความโศกเศร้าศัลยาดูรของนางยักษ์จนอกแตกตาย

“ยักษ์แล้วยังไง?” เขาถาม “เขาเลี้ยงมึงมาแต่อ้อนแต่ออก ดีกับมึงทุกอย่าง ทำไมจะเป็นแม่มึงไม่ได้”

ผมขอสารภาพว่าอ่านแล้วตกใจครับ ไม่ใช่ตกใจที่เขาคิดอย่างนั้น แต่ตกใจว่าทำไมกูถึงโง่นัก ก็ถูกบังคับอ่านมาในโรงเรียนเหมือนกัน ทำไมกูไม่เคยคิดอย่างนี้เลยวะ

ที่ผมสงสัยต่อไปด้วยก็คือ เด็กไทยส่วนใหญ่ก็คงเหมือนผม คือตายด้านต่อ “นิทาน” เสียจนไม่นึกถึงแง่มุมอื่นที่นิทานต้องการจะสื่อ เพราะนิทานทั้งหลายทั่วโลกล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเล่าเรื่องที่ไม่ได้เล่า (เท่าที่จำปฏิกิริยาของเพื่อนในชั้นเรียนมัธยมได้ ซ้ำเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์ยังนำเอาบทรำพันของนางพันธุรัตมาให้อ่านอีกที ถือเป็นบทรำพันที่มีวรรณศิลป์สูงมากมาแต่โบราณ เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็ได้แต่อ่านเฉยๆ ไม่มีใครยกมือขึ้นถามอาจารย์ว่า นี่คือความใจร้ายอย่างที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะสามารถใจร้ายต่อคนอื่นได้ แล้วมันจะสะเทือนใจไปในทางไพเราะได้อย่างไรคะ)

ผมยังมีข้ออ้างไว้แก้ตัวอีกอย่างหนึ่ง ในโรงเรียนของคณะนักบวชฝรั่งเศสสมัยที่ผมเรียนมัธยม วิชา “ไทยๆ” ทั้งหลาย (ประวัติศาสตร์, วรรณคดี, หน้าที่พลเมือง, ไวยากรณ์ไทย ฯลฯ) ซึ่งไม่อาจเชื่อมโยงกับวิชาความรู้ที่เป็นสากลได้ (วิทยาศาสตร์, ภูมิศาสตร์, พีชคณิต, คณิตศาสตร์, พระคัมภีร์-ซึ่งถูกเรียกว่าศีลธรรม, ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส) ไม่เคยได้รับความสำคัญจากโรงเรียน สอนเพื่อให้เต็มตามหลักสูตรของกระทรวงเท่านั้น

ดังนั้น ก็ไม่น่าประหลาดอะไรนะครับที่ เราเบื่อ “สังข์ทอง” ทั้งเล่มเลย

(ขออนุญาตออกนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ความพยายามจะยกสถานะเอาความรู้ “ไทยๆ” ไปเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ “สากล” คือภารกิจหลักอันหนึ่งของชนชั้นนำไทยมาแต่เริ่มยอมรับความรู้ฝรั่ง ในแง่นี้ วารสาร JSS มีบทบาทอย่างสูงและเป็นไปตามอุดมคติของชนชั้นนำไทยด้วย เพราะฝรั่งที่เข้ามาร่วมเขียนบทความ ส่วนใหญ่รับราชการและเงินเดือนที่สูงกว่าปรกติของรัฐบาลไทย ดังนั้น ทัศนะต่อความรู้แบบ “ไทยๆ” จึงเป็นไปในเชิงยกย่อง และการยกย่องที่สำคัญคือเอาไปเทียบกับความรู้เรื่องเดียวกันของฝรั่ง, จีน,อินเดีย ฯลฯ ซึ่งล้วนได้เลื่อนสถานะไปอยู่ในความรู้ “สากล” ไปหมดแล้ว ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าบทความเหล่านั้นด้อยคุณค่าทางวิชาการนะครับ

แต่ผมคิดว่าการยกสถานะความรู้ “ไทยๆ” ให้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ “สากล” ได้สนิทแนบแน่นจริงเป็นฝีมืออเมริกันครับ เพราะหลังสงครามอเมริกันมีทั้งเงิน, กำลังคน และอำนาจที่จะสถาปนาความรู้ “สากล” ที่อเมริกันใช้ประโยชน์ได้ทั่วโลก อะไรคือ “ภูมิภาค” ที่เป็นแกนกลางของ “ภูมิภาคศึกษา” ทั้งหลาย อเมริกันเป็นผู้ขีดขึ้นครับ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรมของอเมริกันเอง ความรู้ “ไทยๆ” เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคศึกษา และช่วยยืนยัน, แย้ง หรือเป็นข้อยกเว้นให้แก่ทฤษฎีที่เป็น “สากล” อีกด้วย)

อย่างไรก็ตาม กลับมาสู่เรื่องความใจร้ายของสังข์ทองต่อนางพันธุรัต อันที่จริงถ้าดูจากตัวบท ความใจร้ายนี้ไม่ปรากฏออกมาให้เห็นได้ชัดเจนในทันทีหรอกครับ มีบทที่ยาวพอสมควรพรรณนาความรักความผูกพันระหว่างกันของนางพันธุรัตในฐานะแม่ และพระสังข์ในฐานะลูกผู้รู้สำนึกพระคุณอย่างเต็มเปี่ยม

แต่ในความรักความผูกพันต่อกันอย่างลึกซึ้งนั้น มันมีม่านแห่งความไม่ไว้วางใจกันซึ่งไม่มีฝ่ายใดสามารถปลดมันลงได้ เมื่อสังข์ทองอธิบายว่า เป็นห่วงมารดาจริงซึ่งจะตกระกำลำบากอย่างไรก็ไม่ทราบ จึงอยากไปเสาะหา ได้พบ (และได้อุปถัมภ์) แล้ว ก็จะกลับมาหานางพันธุรัต มิได้คิดจะหลบหนีไปไหน แต่ที่ไม่ได้บอกกล่าวร่ำลากันให้เป็นกิจจะลักษณะ ก็เพราะเกรงว่านางพันธุรัตจะไม่อนุญาตให้ไป นางพันธุรัตจึงอ้อนวอนว่าให้ลงจากยอดเขามาหานางที่กำลังรออยู่เบื้องล่างนี้ก่อนออกเดินทางไปเถิด

“อย่านึกแหนงแคลงเลยว่าเป็นยักษ์

มาเถิดลูกรักอย่าเกรงขาม

ถึงจะอยู่จะไปก็ให้งาม

เจ้าผู้ทรามรักร่วมชีวา”

สังข์ทองกลับออกตัวว่า

“ลูกนี้เหนื่อยยากลำบากกาย

จะนั่งเล่นให้สบายบนนี้ก่อน

ตะวันเที่ยงอยู่ยังกำลังร้อน

พอให้แดดอ่อนอ่อนจะลงไป”

แค่นี้ก็ชัดแล้วว่า บทรำพันความรักความผูกพันระหว่างกันนั้นมีความแหนงใจเคลือบอยู่หนาตึบพอสมควร

ในแง่นี้ทำให้ผมอดชื่นชมคุณคนที่เขียนในเฟซบุ๊กว่าเกลียดความใจร้ายของสังข์ทองไม่ได้ เพราะเด็กไทยคนอื่นๆ (รวมทั้งผมด้วย) อ่านสังข์ทองตอนนี้แล้ว กลับไปจำนนต่อบทรำพันความรักระหว่างแม่ลูก ทั้งๆ ที่ผู้แต่งบทละครแทรกความแหนงใจระหว่างกันไว้อย่างแนบเนียนแต่ชัดเจนและชวนติดตามถึงเพียงนั้น (อย่างที่บทละครดีๆ มักทำได้เช่นนี้)

ก็น่าประหลาดนะครับ เราถูกสอนให้ยกย่ององค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องสังข์ทองเป็นมหากวีพระองค์หนึ่งของชาติ แต่เอาเข้าจริง คนไทยอ่านท่านไม่ออก

ที่อ่านไม่ออกก็เพราะเราสอน “วรรณกรรม-วรรณคดี” กันแค่ศัพท์และพล็อต ที่จริงแล้วแจกพจนานุกรมหรือให้ดีกว่านี้ “คู่มือ” แก่นักเรียนก็พอแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาเปิดชั้นเรียนด้วยซ้ำ ผมคิดว่าชั้นเรียนวรรณกรรม-วรรณคดี ควรเป็นชั้นที่นักเรียนแต่ละคนจะถูกฝึกให้อ่านตัวบทได้หลายชั้นเชิง และเวลาเกือบทั้งหมดในชั้นเรียนย่อมสิ้นไปกับการสนับสนุนและโต้แย้งกันระหว่างความหมายหลากชั้นหลายเชิง ที่นักเรียนแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มมีต่อตัวบท ชั้นเรียนจะไม่เสียเวลากับการค้นหาคำตอบที่ “ถูกต้อง” เพียงหนึ่งเดียว ความสามารถที่จะมองเห็นความหมายของปรากฏการณ์ทุกชนิดได้หลากหลายทั้งนัยะและชั้นเชิงต่างหาก คือเป้าหมายแท้จริงของการศึกษา (ส่วนการท่องจำคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริหารการศึกษาไป)

ชั้นเรียนวรรณกรรม-วรรณคดีจะเป็นชั้นเรียนที่สนุกออกรสแก่ทุกคนด้วย

ถ้าอ่านตาม “นัยยะ” ที่ผู้เขียนแฝงไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ความแหนงใจระหว่างกันเกิดขึ้นจากอะไร ท่านก็บอกไว้จะจะแล้วนะครับ โดยที่เราอาจอ่านไม่เห็น “อย่านึกแหนงแคลงเลยว่าเป็นยักษ์”

ยักษ์คืออะไร ตอบง่ายๆ คือสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์อีกประเภทหนึ่ง มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง พูดภาษาปัจจุบันคือต่างกันทางวัฒนธรรมจนสุดกู่ วรรณกรรมโบราณจำนวนมากจัดให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม, สถานภาพทางสังคมและศาสนา, ชาติพันธุ์และภาษา ฯลฯ กลายเป็นความแตกต่างทางชีววิทยา คือกลายเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือยักษ์และลิงในรามเกียรติ์

ครูคนหนึ่งของผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยา เคยบอกผมว่า คนวรรณะสูงชาวอินเดียรู้สึกต่อการร่วมเพศกับคนวรรณะต่ำเหมือนไปมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ เรื่องนี้อาจไม่จริง เพราะผมได้อ่านข่าวว่าในบางชุมชนของอินเดีย นอกจากพวกดาลิตจะถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบแล้ว ผู้หญิงดาลิตยังถูกชนชั้น “ทวิชาติ” ข่มขืนโดยไม่ผิดกฎหมายเสียด้วย พวก “อทิวสี” หรือชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่อารยันในรัฐพิหาร นอกจากถูกแย่งยึดที่ดินไปฟรีๆ แล้ว ลูกเมียของเขายังถูกข่มขืนฟรีๆ อีกด้วย แต่ที่ครูกล่าว คงมีความหมายเชิงทฤษฎีว่า คนในวรรณะต่ำเป็นสัตว์อีกสปีชีส์หนึ่ง ซึ่งมนุษย์ไม่พึงเสพเสวนาด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่มีการพูดถึงอมนุษย์ทั้งหลายในวรรณกรรมไทย (ซึ่งรับขนบบางส่วนมาจากวรรณกรรมอินเดีย) อย่าลืมลองนึกดูด้วยว่า เขากำลังหมายถึงคนที่อยู่ในสถาพภาพที่ต่างจากพระเอกนางเอกหรือไม่ พูดง่ายๆ คือไพร่ทาสทั่วไปนั่นเอง

นางพันธุรัตอาจเป็นหญิงม่ายที่พอมีอันจะกินบ้าง แต่ก็คือไพร่ ซึ่งไม่อาจเป็น “แม่” ของเจ้าสังข์ทองซึ่งเป็นลูกกษัตริย์ได้ (ซ้ำมีสำนึกความเป็นลูกกษัตริย์ของตนอย่างแหลมคมเสียด้วย) และด้วยเหตุดังนั้น ทั้ง สุวรรณสังข์ชาดก และ บทละครเรื่องสังข์ทอง จึงต้อง “ฆ่า” นางพันธุรัตทางวรรณกรรมเสีย เพราะหาทางออกอย่างอื่นที่ไม่ทำให้สังคมพังสลายลงไม่ได้ เช่น ยอมรับความเท่าเทียมของมนุษย์ระหว่างไพร่และเจ้า เป็นต้น

ดังนั้น ความใจดำของสังข์ทองในบทนั้น อาจไม่ใช่ความใจดำของบุคคล แต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีทางเลือกในสังคมที่คนไม่เท่ากัน คนไม่เท่ากันในสังคมแบบนั้น ไม่ใช่ทัศนะที่อาจเปลี่ยนได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นรากฐานให้แก่ระเบียบทางสังคมทั้งหมด นับตั้งแต่ใครควรได้อะไร และใครไม่ควรได้อะไร ไปจนถึงใครควรทำอะไรแก่ใคร ฯลฯ คนเลิกเชื่อว่าคนไม่เท่ากันเมื่อไร ระเบียบสังคมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบปกครอง, อำนาจ, มารยาท, มาตรฐาน ฯลฯ ของสังคมนั้นก็พังทลายลงมาทั้งหมด

อย่างที่คนกระทรวงมหาดไทยชอบพูดล่ะครับ นิ้วมือคนยังไม่เท่ากันเลย และต่างมีหน้าที่เฉพาะของแต่ละนิ้ว เพื่อทำงานร่วมกันอย่างได้ผล จนสังคมดำเนินไปได้อย่างสงบสุขและรุ่งเรือง

ที่เหลือไว้ไม่ได้พูดก็คือ นิ้วมือมึงเท่ากันเมื่อไร แค่จะคีบก๋วยเตี๋ยวกินมึงยังทำไม่ได้เลย นี่แหละครับ ไม่มีมหาดไทยเสียอย่างเดียว เมืองไทยจะเป็นเมืองไทยต่อไปได้อย่างไร

ผมเข้าใจว่า การที่ “ผู้ใหญ่” (สำนวนไทยนี้ไม่ได้หมายถึงมีอายุเฉยๆ แต่ต้องมีอำนาจรวมอยู่ด้วยเสมอ) คัดค้านเด็กๆ ในเวลานี้ว่าคนไม่เท่ากัน จึงไม่ใช่การเถียงกันในเชิงปรัชญาสังคม แต่เป็นความพยายามจะรักษาระเบียบสังคมแบบไทยเอาไว้ให้คงเดิมต่างหาก ถ้าคนเท่ากัน สังคมก็จะเป็นมิคสัญญี เพราะหาระเบียบอะไรไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างหาประโยชน์ใส่ตัวตามกำลังที่ตัวมีอยู่ จลาจลไปทั้งแผ่นดิน

คนไทยไม่เคยมีจินตนาการถึงสังคมที่คนเท่าเทียมกันเลยนะครับ ไม่ว่าจะในวรรณกรรมหรือในประวัติศาสตร์ คนเท่ากันในอัคคัญสูตรของพุทธศาสนาไทย คือสังคมที่คนหาทางเอาเปรียบกัน เช่น แทนที่จะออกไปเก็บข้าวมากินทุกวัน ก็เก็บใส่ยุ้งฉางของตนไว้ให้เต็ม (พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รวบรวมทรัพย์สาธารณะมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว) คนที่ไม่ได้ทำอย่างนั้น ก็ใช้วิธีขโมยข้าวจากยุ้งฉางคนอื่น เกิดอาชญากรรมต่างๆ ตามมามากมาย ในที่สุดพระโพธิสัตว์ก็ต้องลงมากำเนิดเป็นพญาสมมติราช เพื่อทำหน้าที่พระราชา

โดยสรุปก็คือ สังข์ทองจะเป็นคนใจร้ายหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่ในสังคมช่วงชั้นหรือสังคมที่คนต้องไม่เท่ากัน สังข์ทองไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากปล่อยให้นางพันธุรัตอกแตกตายต่อหน้า เพื่อปลดเปลื้องความสับสนในเรื่อง “บุญคุณ” ที่คนต่ำกว่าไม่ควรกระทำให้แก่คนสูงกว่า

เช่นเดียวกับสังคมไทยเวลานี้ บุคคลแต่ละคน เช่น ผู้พิพากษา, อัยการ, ตำรวจ, พัสดี อาจไม่ใช่คนใจร้าย แต่ระบบคนไม่เท่ากันต่างหากที่ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือก นอกจากเดินไปบนเส้นทางเดียวกับสังข์ทอง

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_579593

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท