ความบิดเบือนของการหารห้าร้อย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระบบการเลือกตั้งเป็นหัวข้อใหม่ในการศึกษารัฐศาสตร์ ความสำคัญของมันอยู่ที่การพัฒนาประชาธิปไตยกับการทำงานของระบบการเมือง เพราะเลือกไปแล้ว จะได้ตัวแทน ตัวแทนก็ไปจัดตั้งรัฐบาล อาจเป็นพรรคเดียวหรือพรรคผสม ส่วนโครงสร้างอันหนึ่งของระบบเลือกตั้ง คือ การคิดคะแนนเลือกตั้ง หัวใจของการคิดคะแนนการเลือกตั้งอยู่ที่ความเป็นสัดส่วน (proportionality) ถ้าประชาชนเขาเลือก (votes) พรรค ก. มา 5% สัดส่วนเก้าอี้ (seats) ที่พรรค ก.ได้ ก็ควรเป็น 5% ด้วย ส่วนพรรค ข. ได้ 60%  สัดส่วนเก้าอี้ก็ควรเป็น 60% หากไม่ได้จริง ๆ ก็ขอให้ใกล้เคียง เพื่อตอบได้ว่าอำนาจการเลือกตั้งและการแปลงคะแนนไปเป็นเก้าอี้เป็นเจตจำนงของประชาชนหรือใกล้เคียงก็ยังดี

วิธีเลือกตั้งที่เรากำลังจะใช้ปี 2566 (สมมติมีเลือกตั้งและสมมติยึดตามที่แปรญัตติ) เปลี่ยนไปจากปี 2562 เราเปลี่ยนมาใช้บัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเลือกปาร์ตี้ลิสต์ ปัญหาที่น่าสนใจ คือ ฝ่ายที่แปรญัตติให้หารด้วยตัวเลขห้าร้อย โดยฐานคะแนนยังเป็นคะแนนจากบัตรเลือกตั้งใบแรก (ไม่ใช่ใบที่สอง) ส่วนวิธีการแปลงคะแนนเป็นเก้าอี้ก็ยังเหมือนปี 2562 คือ แบ่งเป็นสองสเต็ป สมมติสูตรคิดปาร์ตี้ลิสต์ พรรค ก. เป็นดังนี้

สเต็ปแรก คิดเก้าอี้ส.ส.รวมของพรรค ก. ก่อน แล้วเอาไปหักเก้าอี้ส.ส.เขต ของพรรค ก. ส่วนที่เหลือจึงเป็นเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก. เขียนเป็นสมการที่หนึ่ง ได้ว่า

เก้าอี้ ส.ส.รวม พรรค ก. – เก้าอี้ส.ส.เขต พรรค ก. = เก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรค ก.

สเต็ปที่สอง คิดคะแนนต่อเก้าอี้ของพรรค ก. เขียนเป็นสมการที่สอง ได้ว่า

คะแนนเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส.หนึ่งตัว = คะแนนพรรค ก. ได้ + [คะแนนพรรคอื่นๆ ทั้งหมดที่ได้]/500

ย้ำอีกทีว่าส่วนที่ต่างจากปี 2562 คือ คราวนี้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งเลือกส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเลือกส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

สมมติตัวเลขการเลือกตั้งครั้งต่อไป เริ่มด้วยการหารร้อยก่อน ดังตาราง

คิดจากบัตรใบแรก

คิดจากบัตรใบที่สอง

 

คะแนน

%

เก้าอี้

%

 

คะแนน

%

เก้าอี้

%

พรรค ก.

800,000

40.00

250

62.50

พรรค ก.

500,000

50.00

50

50.00

พรรค ข.

600,000

30.00

120

30.00

พรรค ข.

400,000

40.00

40

40.00

พรรค ค.

400,000

20.00

20

5.00

พรรค ค.

60,000

6.00

6

6.00

พรรค ง.

200,000

10.00

10

2.50

พรรค ง.

40,000

4.00

4

4.00

รวม

2,000,000

100.00

400

100.00

รวม

1,000,000

100.00

100

100.00

จะเห็นได้ว่า ถ้าเอาร้อยหารคะแนนบัตรใบที่สอง เพื่อหาปาร์ตี้ลิสต์ จะออกมาได้เป็นสัดส่วนพอดี คือ พรรค ก. ได้คะแนนบัตรใบที่สอง 50% ก็จะได้ 50 เก้าอี้ กระบวนการแปลง vote share เป็น seat share จึงเป็นสัดส่วนที่เป๊ะเว่อร์

ทีนี้ตัวเลขเดียวกัน เปลี่ยนใหม่เอาห้าร้อยไปหาร จะได้ผลลัพธ์ดังตาราง

คิดจากบัตรใบที่หนึ่งหารด้วยห้าร้อย

 

คะแนน

%

เก้าอี้ส.ส.รวม

(ส.ส.เขต+ปาร์ตี้ลิสต์)

หักจำนวนเก้าอี้ส.ส.เขต

เหลือเป็นเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์

เดิมหารร้อยได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์

ผลต่าง

พรรค ก.

800,000

40.00

200

250

-50

50

-50

พรรค ข.

600,000

30.00

150

120

30

40

-10

พรรค ค.

400,000

20.00

100

20

80

6

+74

พรรค ง.

200,000

10.00

50

10

40

4

+36

รวม

2,000,000

100.00

500

400

100

100

 

ปรากฏว่าพอเอาห้าร้อยมาหาร เกิดความเบี่ยงเบนอย่างหนัก พรรค ก. ถ้าหารร้อยจะได้ปาร์ตี้ลิสต์  50 เก้าอี้ พอหารห้าร้อยติดลบหรือได้เท่ากับศูนย์ พรรค ข. หารร้อยได้ 40 เก้าอี้ เหลือ 30 เก้าอี้ ติดลบไป    10 เก้าอี้ พรรค ค. ควรได้ 6 เก้าอี้กลับเพิ่มเป็น 80 เก้าอี้ และพรรค ง. ควรได้ 4 เก้าอี้ กลับเพิ่มเป็น 40 เก้าอี้

การหารห้าร้อยจึงเกิดปัญหา คือ ประการแรก ไม่เป็นสัดส่วน และพรรคใหญ่เสียเปรียบ โดยจะผันแปรไปตามทั้งคะแนนรวมทั้งหมดของบัตรใบที่หนึ่งว่าจะมากหรือน้อยเท่าไหร่ ถ้ายิ่งมาก ค่าของผลต่างจะยิ่งมากตามไปด้วย ทั้งยังขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่น โดยเฉพาะคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับที่จะเป็นตัววัดความแปรปรวนทั้งภายในและภายนอก ประการที่สอง ท่านเจ้าประคุณรุนช่อง ไปสร้างบัตรเลือกตั้งให้เขาสองใบทำไม และเมื่อเขาเลือกใบที่สองแล้ว ทำไมไม่คิดสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์เฉพาะใบที่สอง อันนี้คือปัญหาใหญ่ คะแนนของบัตรใบที่สองหายไปไหน ถ้าไม่เอามาคิดแล้วให้เขาเลือกทำไม ประการที่สาม การเอาห้าร้อยมาหาร ทำให้ค่าของการแปลงคะแนนเสียงเป็นเก้าอี้มีสัดส่วนต่ำลง ในทางวิชาการเขาเรียกว่า ค่า disproportionality สูงขึ้น ซึ่งวัดง่าย ๆ โดยเอา vote share ลบ seat share ส่วนถ้าจะหาค่า disproportionality ของการเลือกตั้งทั้งหมดในแต่ละครั้งอาจใช้สูตรคำนวณ เช่น Rae Index, Loosemore-Hanby Index, Lsq (least-squares index), LD (largest-deviation Index, และวัดโดยค่า b หรือ regression coefficient ก็ได้ ประการที่สี่ การที่ประชาชนเขาเลือกปาร์ตี้ลิสต์ผ่านบัตรใบที่สองนั้น เขาต้องการให้พรรคที่เขาเลือกนั้นได้มีปาร์ตี้ลิสต์ แต่พอหารห้าร้อยกลายเป็นพรรคที่เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะเลือกได้ไป และประการที่ห้า ประการสุดท้าย เหตุผลของการหารห้าร้อยคืออะไร ฟังดูคล้ายกับจะบอกว่าส.ส.เขตกับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็มีสถานะเป็นส.ส.เหมือนกัน (all representatives are in equal) อันนั้นมันเรื่องสถานะตามกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการยกมือและสิทธิทางกฎหมายอื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหลักความเป็นสัดส่วนของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

ปัญหาของการคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ คือ หนึ่งในอีกหลายตัวอย่างของสังคมเรา ที่ทำให้คนอดคิดไม่ได้ว่าทำไมเราจึงไม่ทำอะไรตรงไปตรงมา มันมีอะไรอยู่ในนั้นนักหนา การที่คนใหญ่คนโตออกมาบอกว่าไม่รู้ ไม่เห็น น่าจะยังไม่พอ สังคมเราก็น่ากลัวเหลือเกิน เขาใหญ่มากอยู่แล้ว ยังไปสร้างวาทกรรมว่าเขาเป็น “บิ๊ก”อีก

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ทำไมหารห้าร้อยไม่ได้ https://prachatai.com/journal/2022/08/99805

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท