รัฐบาลพลัดถิ่น NUG ประกาศเตือนธุรกิจต่างชาติ อย่าทำมาหากินกับเผด็จการทหาร

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) ออกคำเตือนให้บริษัทจีนและสิงคโปร์ที่ลงทุนกับเผด็จการทหาร 8 แห่งยุติการดำเนินงานทันที ในช่วงเดียวกัน กองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ทำการโจมตีโรงไฟฟ้าในแคว้นมะเกว่ และบุกสำนักงานของ Mytel บริษัทโทรคมนาคมของเผด็จการทหาร กรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติโครงการซอติก้าของ ปตท.สผ. รั่วไหล ยังไม่พบความเชื่อมโยงกับการโจมตีของ NUG

 

9 ส.ค. 2565 สำหรับคำเตือนนี้ สำนักข่าว 'มิซซิมา' รายงานเมื่อ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย 8 บริษัทที่ถูกพูดถึง เป็นบริษัทของสิงคโปร์ 5 แห่ง บริษัทร่วมทุนกับสิงคโปร์ 2 แห่ง และบริษัทของจีน 1 แห่ง บริษัทเหล่านี้ NUG ระบุว่าแต่ละแห่งมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลล่าร์ อย่างไรก็ตาม NUG แถลงครั้งนี้เพื่อส่งคำเตือนไปยังบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนแห่งพม่าด้วย

คณะกรรมการผู้แทนรัฐสภา (CRPH) ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติพลัดถิ่น เคยประกาศให้การลงทุนหลังการรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 64 ทั้งหมดเป็นโมฆะ ประกาศนี้ได้รับการสนับสนุนจาก NUG เมื่อ 21 ก.ค. 2564 ระบุว่าจะไม่ยอมรับการลงทุนใดๆ ภายใต้องค์กรในการควบคุมของเผด็จการทหาร ต่อมาเมื่อ 30 ส.ค. 2564 CRPH ได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งระบุว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่ลงทุนกับเผด็จการทหารทั้งหมด

สำนักข่าว 'อิรวดี' รายงานเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัทโซลาร์เซลล์ของสิงคโปร์ 6 แห่ง (ทั้งที่เป็นเจ้าของและร่วมทุน) ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของเผด็จการทหารให้ผลิตและขายไฟฟ้าในย่างกุ้ง มะเกว มัณฑะเลย์ และพะโค ประกอบด้วย บริษัท Myanmar Satoketayar, Myanmar Kyeeonkyeewa, Myanmar Kindar, Myanmar Sedawgyi, Myanmar Shwekyin และ Yangon Thermal Power

อีกบริษัทหนึ่งของสิงคโปร์ ได้แก่ บริษัท SIM จำกัด ได้รับอนุมัติให้พัฒนาท่าเรือและที่เก็บสินค้าเพื่อบริการแก่ผู้ขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง ขณะที่บริษัท Best Garment Myanmar เป็นบริษัทสัญชาติจีนที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตโรงงานในย่างกุ้ง โดยมุ่งผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

คำเตือนของ NUG ถูกประกาศออกมา 3 วัน หลังจากที่เจ้าหน้าที่และหัวหน้าวิศวกรถูกควบคุมตัวโดยกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ขณะทำการบุกโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่เมืองจอ เขตกั่นก้อ แคว้นมะเกว ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารและบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

ในอีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Myanmar Nows รายงานว่ากองกำลัง PDF และพันธมิตรได้บุกสำนักงานแห่งหนึ่งของ Mytel ในเมืองโมนยวา แคว้นสะกาย เพื่อยึดอุปกรณ์และเอกสาร โดยไม่ได้ทำร้ายพนักงาน 10 ที่กำลังทำงานอยู่ ทหารของ PDF ระบุว่าพวกเขาเลือกเป้าหมายดังกล่าวเพราะหากโจมตีสำนักงานใหญ่อาจถูกดักซุ่มโจมตีได้

บริษัท Mytel เป็น 1 ใน 4 บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ในพม่า หุ้นร้อยละ 28 ของบริษัทเป็นของกองทัพ ในแถลงการณ์ PDF ได้ประกาศคำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้บริการของ Mytel และระบุว่าจะ "กวาดล้าง" ท่อน้ำเลี้ยงที่สนับสนุนเผด็จการทหารทั้งหมดให้สิ้นซาก

ก่อนหน้านี้ การคว่ำบาตรของประชาชนส่งผลให้กำไรของ Mytel ลดลงกว่า 25 ล้านดอลล่าร์ในช่วง 3 เดือนแรกหลังการรัฐประหาร หอคอยสัญญาณโทรศัพท์ถูกโจมตีโดยกลุ่มจรยุทธ์หลายแห่ง เมื่อ พ.ย. ปีที่แล้ว เธนอ่องผู้บริหารบริษัทและอดีตทหาร ถูกยิงเสียชีวิต ณ บริเวณใกล้ที่พักในนครย่างกุ้ง

ท่อส่งก๊าซ ปตท.สผ. รั่วไหล ยังไม่พบความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการ NUG

ในช่วงเดียวกับที่มีการประกาศคำเตือนของ NUG สำนักข่าวในพม่าหลายแห่งรายงานว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-พม่าของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เกิดรอยรั่วขึ้นที่ อ.เยบยู จ.ทวาย ในแคว้นตะนาวศรี จากรายงานของแหล่งข่าวในท้องถิ่นระบุว่าได้ยินเสียงระเบิดขึ้น ขณะที่แหล่งข่าวท้องถิ่นบางแห่งระบุว่าท่อก๊าซถูกวางระเบิดจากบุคคลไม่ทราบกลุ่ม

ในเอกสารแถลงของ ปตท.สผ. ระบุว่าการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบร่องรอยจากการระเบิดหรือเพลิงไหม้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุ และเร่งเข้าพื้นที่เพื่อซ่อมแซม เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ ปตท.สผ. ได้ปิดวาล์วของท่อก๊าซ และหยุดการส่งก๊าซจากโครงการซอติก้ามายังประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย

ไทยพีบีเอสรายงานว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ระเบิดที่บริเวณทิศใต้ ห่างจากบ้านมิจ้องล่อง ประมาณ 2 ไมล์ ตรวจสอบที่เกิดหลุมลึก 18 ฟุต กว้าง 10 ฟุต ท่อก๊าซที่วางไว้เป็นหลุมกว้าง 5 นิ้ว ส่งผลให้ไม่สามารถส่งก๊าซมายังสถานีของ ปตท. ที่ชายแดนบ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตามปกติได้ จนต้องมีการปรับแรงดันที่สถานีและกระทบกับปริมาณก๊าซที่ส่งไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าราชบุรี

ไทยพีบีเอสรายงานอีกว่า ก่อนเกิดการรั่วไหลของท่อก๊าซ คืนวันที่ 30 ก.ค.2565 ทหารพม่านำกำลังเข้าโจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อย LPDF (Local People Defense Force) ที่ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านมิจ้องล่อง จ.ทวาย แคว้นตะนาวศรี ประเทศเมียนมา พร้อมตรวจยึดอาวุธสงครามได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการโจมตีท่อก๊าซจากฝ่ายใดหรือไม่ และยังไม่พบความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการของ NUG

สำนักข่าวอิรวดีรายงานแหล่งข้อมูลของท้องถิ่นระบุว่าบริเวณท่อก๊าซดังกล่าวมีหน่วยทหารราบเบาที่ 285 ของเผด็จการทหารพม่าคอยคุ้มกันอยู่ตลอดแนว โฆษกของกลุ่มป้องกันกั่นปอก (Kanpauk Defense Force) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านในท้องถิ่น ระบุว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของท่อก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ทั้งนี้ แหล่งข่าวในท้องถิ่นระบุว่าการระเบิดเกิดขึ้นในช่วงตี 3 ของวันจันทร์

โครงการซอติก้าเป็นการนำส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเมาะตะมะ และถูกพัฒนาขึ้นร่วมกันระหว่าง ปตท.สผ. กับบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งรัฐบาลพม่าเป็นเจ้าของ โครงการนี้มีการลงนามการผลิตร่วมกันใน พ.ศ. 2546 และมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติใน พ.ศ. 2550 ภายใต้สัญญาดังกล่าว ก๊าซร้อยละ 70 จะถูกส่งมาผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ขณะที่ร้อยละ 30 ถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในพม่า

นอกจากโครงการซอติก้า ปตท.สผ. ยังมีโครงการลงทุนก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ในพม่าด้วย

ตามรายงานเมื่อ มี.ค. 65ปตท.สผ. คาดว่าได้เป็นผู้ดำเนินงานของโครงการก๊าซยาดานาในพม่าเรียบร้อยแล้วเมื่อ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากบริษัท TotalEnergies ของฝรั่งเศสถอนตัวออกไป โครงการยาดานาปัจจุบันผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่วันละ 770 ล้านคิวบิกฟุตต่อวัน ในจำนวนนี้ 220 ล้านคิวบิกฟุตนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในพม่า นับเป็นร้อยละ 50 ของตามต้องการของประเทศ อีก 550 ล้านคิวบิกฟุตถูกใช้ในโรงไฟฟ้า 12 แห่งในประเทศไทย เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับคนไทย 11 ล้านคนในภาคตะวันตกและภาคกลาง นับเป็นความต้องการร้อยละ 11 ของประเทศ

หลังการถอนตัวของบริษัท TotalEnergies จากความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ปตท.สผ. ระบุว่าบริษัทจะถือหุ้น 37.1% บริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ถือหุ้น 21.8% ขณะที่บริษัทย่อยของเชฟรอนจะถือหุ้น 41.1% ก่อนการถอนตัวบริษัท TotalEnergie ถือหุ้นประมาณ 31% ของโครงการ

แหล่งก๊าซยาดานาเป็นหนึ่งในหลายโครงการก๊าซธรรมชาติที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า เป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเนปีดอ และสร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

อย่างไรก็ตาม​ เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ปตท.สผ. ได้ยุติการลงทุนในโครงการเยตากุน และโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งเยตากุนในพม่า สัดส่วนการลงทุนทั้งหมดร้อยละ 19.31 ของ ปตท.สผ. ในโครงการเยตากุน จะถูกถ่ายโอนให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ในโครงการโดยไม่คิดมูลค่า

การยุติการลงทุนดังกล่าว ปตท.สผ. ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารจัดการโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท หลังจากนั้นไม่นาน เอเนออส โฮลดิงส์ (ENEOS Holdings) เอกชนยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจพลังงานจากญี่ปุ่น ก็ประกาศถอนตัวจากโครงการเช่นกัน ระบุว่าเป็นผลมาจากสถานการณ์แวดล้อม ปัญหาทางสังคม และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หลังพบว่าปริมาณการผลิตก๊าซของโครงการลดลงต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

 

แปลและเรียบเรียงจาก: 

หมายเหตุ - มีการปรับแก้พาดหัวจากรัฐบาลเงา NUG เป็น รัฐบาลพลัดถิ่น NUG เมื่อ 9 ส.ค. 2565 เวลา 16.22 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท