Skip to main content
sharethis

‘นลธวัช มะชัย’ จากลานยิ้มการละคร แสดงศิลปะการแสดงสดหน้าสถานทูตพม่า รำลึกครบรอบ 34 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย ‘8888’ สะท้อนความ 'มือถือสากปากถือศีล' ของเผด็จการทหารที่ไหว้พระ แต่หันปืนยิงประชาชน ย้ำจุดยืนการนิ่งเฉยไม่ใช่คำตอบ หากต้องการหลุดจากเผด็จการอำนาจนิยม

 

8 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (8 ส.ค.) นลธวัช มะชัย ศิลปินจากกลุ่มลานยิ้มการละคร แสดงศิลปะการแสดงสด (Performance Arts) บริเวณหน้าสถานทูนเมียนมา ประจำประเทศไทย ถนนสาทร เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. เพื่อรำลึกเหตุการณ์ประชาชนและนักศึกษาพม่าออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ปี 1988 หรือ พ.ศ. 2531 ทำให้เหตุการณ์วันนี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ “8888” หรือ ‘เชดเลโล’ (แปด 4 ตัว)    

การแสดงของนลธวัช มะชัย ศิลปินจากกลุ่มลานยิ้มการละคร

นลธวัช มะชัย ศิลปินจากกลุ่มลานยิ้มการละคร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวผ่านโทรศัพท์ เผยถึงที่มาที่ไปของการแสดงครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยวันที่ 8 เดือน 8 ค.ศ. 1988 ถือเป็นวันครบรอบ 34 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 1988 หรือ 8888 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์พม่า 

ปกติทุกปี ประชาชนพม่าจะออกมารวมกลุ่ม เพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้ล่วงลับ แต่สำหรับปีนี้น่าเศร้ากว่าทุกปี เนื่องจากเมื่อต้นปี 2564 มีการรัฐประหารโดยกองทัพพม่า จนปัจจุบันชาวพม่ายังอยู่กับความไม่สงบ และความรุนแรง

นลธวัช มองว่า การทำรัฐประหารของพม่า มันพาประเทศพม่าย้อนถอยหลังกลับไป เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเผด็จการทั้งไทย และพม่า ต่างเลวร้ายเหมือนกันแม้ว่าจะมีความต่างด้านแนวคิดบ้าง เขาจึงมีความคิดที่อยากจะทำงานศิลปะการแสดงสดในครบรอบ 8888 ขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยทั้ง 2 ประเทศ ทั้งไทย และพม่า กับผู้คน กับสังคม กับประชาชน

เผด็จการ-มือถือสาก ปากถือศีล

นลธวัช กล่าวถึงเบื้องหลังแนวคิดการแสดงว่า เขาเลือกใช้วัสดุการแสดงศิลปะ หรือ Material Object ด้วยกัน 2 ชิ้น คือ สบง และโสร่ง เครื่องแต่งกายพื้นบ้านของชาวพม่า 

นลธวัช ระบุต่อว่า เหตุที่เขาใช้ 2 องค์ประกอบนี้ เพราะคนจะมีภาพคุ้นชินว่าเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในชีวิตประจำวันจะเห็นผู้นำเผด็จการเหล่านี้เดินทางไปไหว้พระตามวัดต่างๆ แต่อีกทางก็หันปากกระบอกปืนมายิงใส่คน หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์ และหมกมุ่นอยู่กับการเป็นศาสนิกชน ซึ่งก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า “พุทธศาสนาไม่ได้ทำให้คุณมีสามัญสำนึก ที่จะไม่ฆ่าเพื่อนมนุษย์เลยเหรอ” 

นลธวัช กล่าวต่อถึงวิธีการแสดงว่า คนที่ได้เห็นงานแสดงคงคิดว่ามัน “แรง” เพราะการเอา ‘สบง’ มาคลุมหัว มันเป็นเรื่องผิดผี และผิดกาละเทศะ แต่เบื้องหลังแนวคิดนี้คือ เราถูกใช้ศาสนา ถูกใช้ความเชื่อ ถูกใช้ศีลธรรมอันดีงามทั้งไทยและพม่ามาคลุมหัวเราอยู่ และมันเป็นสีเหลือง เวลาที่เขาแสดงศิลปะโดยใช้สบงคลุมหัว ก็จะเห็นเป็นสีเหลืองเด่นชัด เห็นความจริงที่ปรากฏตรงหน้าจางๆ เลือนลาง เห็นผู้คนที่เดินผ่านไป-มาลางๆ แต่สิ่งเดียวที่เห็นชัดคือ ‘สีเหลือง’ ที่มาปะทะหน้าของเขา โดยเขาระบุต่อว่าสีเหลืองในอีกความหมาย มันคือสีแห่งสัญลักษณ์ของผู้อำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงของไทย จากนั้น เอาโสร่ง นุ่งโสร่ง มันมีหน้าที่ใช้เอนกประสงค์ของประชาชนที่ต่ำต้อย ประชาชน ไพร่พล ก็เลยกลายมาเป็นงานชิ้นนี้ 

ไม่ยึดติดกับเส้นเขตแดน-ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรง

ศิลปินจากลานยิ้มการละคร มองต่อว่า เขาไม่เห็นด้วยกับกระแสสังคมบางส่วนที่อาจมองว่าไทยไม่ควรเข้าไปยุ่งกับกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน เขาไม่สามารถมองเห็นเพื่อนมนุษย์ตายไปต่อหน้า แล้วสามารถอยู่นิ่งเฉยได้

"ทุกวันนี้เรากำลังคุยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ประเทศมันมีขอบเขต มันมีชายแดนเกิดขึ้น ขีดเส้นเมื่อไร คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นคนกลุ่มอื่น ตายได้ เราไม่ต้องไปยุ่ง อันนี้ผมไม่เห็นด้วย เราเลยรู้สึกว่ามันคือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือต่อให้เกิดในยูเครน หรือเกิดอีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อนมนุษย์ด้วยกันและสิ่งที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกัน เราจะปล่อยหรือนิ่งเฉยให้เขาฆ่าคนได้โดยอ้างความชอบธรรมเหรอ และให้การนิ่งเฉยของเรา เขาก็อ้างการนิ่งเฉยของเราเพื่อฆ่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเราแค่ไม่ยอมให้เขาเอาความนิ่งเฉยของเราไปเป็นข้ออ้างในการฆ่าคนอื่นเท่านั้นเอง"

"ผมไม่สนใจครับจะด่าจะว่าอะไร ไปยุ่งเรื่องของเขาทำไม จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีเขตแดนเรื่องของประเทศ เราเห็นเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์มีเลือดเนื้อแบบเรา” นลธวัช ระบุ

สำหรับรายงานสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี เผยว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึงเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 มีประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารเสียชีวิตจากฝีมือทางการพม่า อย่างน้อย 2,167 ราย และมีผู้ถูกจับกุม ตัดสินโทษ และถูกคุมขังด้วยข้อหาทางการเมือง อย่างน้อย 15,064 ราย

การแสดงศิลปะแสดงสดที่สกายวอล์ค ปทุมวัน เมื่อ 7 ส.ค. 2565 เวลา 20.00 น.

พร้อมกันนี้ นลธวัช อยากเรียกร้องให้ประชาชนออกมาพูดอะไรบางอย่างมากกว่าอยู่อย่างนิ่งเฉย เพราะยิ่งเราอยู่เฉยมากเท่าไร ประชาชนก็ยิ่งตกอยู่ในวังวนของเผด็จการทหาร 

“จริงๆ แล้วผมเรียกร้องด้วยซ้ำ เรียกร้องให้คนที่นิ่งเฉยอยู่ต้องพูดอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้ หรือเปลี่ยนแปลงโลกนี้สักที เราก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยม หรือเผด็จการนิยมแบบนี้ตลอดๆ ไป ถ้าเรายังให้คุณค่ากับการแบ่งอาณาเขตว่านี่เรื่องของฉัน เธออย่ามายุ่ง นั่นเรื่องของเธอฉันจะไม่ยุ่ง” ศิลปินจากลานยิ้มการละคร ระบุ

แม้เสียงของประชาชนในภูมิภาคนี้จะแผ่วเบา จนไม่อาจสั่นคลอนผู้มีอำนาจ แต่สำหรับศิลปินจากไทยคนนี้ เขายังเชื่อว่ามีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเสมอ ซึ่งจะไม่ใช่แค่ในพม่า หรือไทย แต่อาจจะเป็นทั้งภูมิภาค แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่เขาเชื่อว่าการส่งต่อไปสู่อนาคต มันต้องเริ่มตั้งแต่จากปัจจุบัน 

“ผมก็ไม่เชื่อด้วยว่าพลังภาคประชาสังคมจะไม่มีพลัง ผมเชื่อว่ามันมีพลัง แต่มันคงจุดไหนของมัน และมันก็เป็นบทเรียนเลยว่าอะไรที่ยังไม่เป็นพลัง หรือพลังมันยังน้อย เราจะเดินต่อไป ผมคิดว่าตรงนั้นคือโฟกัสของเรามากกว่า การที่จะแบบน้อยเนื้อต่ำใจว่ามันไม่มีพลัง ผมหมดหวังแล้ว สำหรับผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ยังมีหวังอยู่” นลธวัช มะชัย กล่าว  

ท้ายสุด นลธวัช มะชัย ทิ้งท้ายเป็นกำลังใจฝากไปยังประชาชนชาวพม่าที่เสียสละชีวิตเพื่อต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย  

“ผมขอให้กำลังใจการต่อสู้ของคนพม่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า ในขณะเดียวกัน ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต และผู้กล้าทุกคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ จนต้องเสียอนาคตทั้งหมดไป หรือเปลี่ยนชีวิต หรือไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

“แต่ในขณะเดียวกัน เรายังมีความหวังว่าในประเทศพม่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และบทเรียนทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ 8888 ที่ยังคงกองทัพพม่าเอาไว้ เราคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้ เมื่อชนะ บทเรียน 34 ปีที่ผ่านมาจะนำไปสู่คำตอบการออกแบบอนาคตที่ดีกว่า” ศิลปินจากลานยิ้มการละคร ทิ้งท้าย

ชาวพม่าทำกิจกรรมรำลึก '8888' ในนครย่างกุ้ง

สื่อโปรเกรสซีฟวอยซ์ (Progressive Voice) รายงานวันนี้ (8 ส.ค.) บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ เผยภาพให้เห็นว่า มีเยาวชนพม่าถือร่มสีดำ บนผ้าใบเขียนเป็นตัวเลขภาษาพม่าว่า ၈, ၈, ၈, ၈ หรือ 8888 เพื่อระลึกถึงวันครบรอบ 34 ปี เหตุการณ์ 8888 

เยาวชนพม่าทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ '8888' ในนครย่างกุ้ง เมื่อ 8 ส.ค. 2565 (ที่มา: ทวิตเตอร์ Progressive Voice)

นอกจากนี้ โปรเกรสซีฟวอยซ์ รายงานต่อว่า มีประชาชนหลายภูมิภาคในประเทศพม่าออกมาร่วมชุมนุมบนถนน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 8888 ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะต้องเผชิญการปราบปรามจากกองทัพพม่าอย่างรุนแรงก็ตาม 

สำหรับเหตุการณ์ 8888 เป็นการประท้วงต่อเนื่องของประชาชนพม่าหลายแสนคนระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ย. 2531 เพื่อต่อต้านการปกครองโดยพรรคโครงการสังคมนิยม (BSPP) ของนายพลเนวิน ประธานาธิบดีในขณะนั้น โดยชนวนเหตุของความไม่พอใจมาจากการบริหารประเทศอันล้มเหลว ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อที่แก้ไม่ตก ความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และการกดขี่จากรัฐบาลทหาร 

แม้ว่าสุดท้าย การประท้วงจะยุติลงเมื่อ 18 ก.ย.ในปีเดียวกัน หลังการทำรัฐประหารของนายพล ซอหม่อง และคณะทหาร ที่ชื่อ "สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ" (SLORC) แต่ตลอดช่วงที่มีการประท้วงของประชาชน ราว 7 เดือน กองทัพพม่าได้ใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของประชาชน ซึ่งรายงานจากฮิวแมนไรท์วอต์ช ระบุด้วยว่า กองทัพพม่าใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่ประชาชน จนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 3,000 คน ตามข้อมูลของสำนักข่าวสัญชาติอังกฤษ 'บีบีซี' ขณะที่ตัวเลขทางการพม่า เผยว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 350 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net