ผลพวงการเยือนของ 'เพโลซี' และแนวโน้มความตึงเครียดจีน-ไต้หวัน

Brain Hioe ผู้สื่อข่าวชาวไต้หวันผู้ก่อตั้งสื่อนิวบลูม เขียนบทวิเคราะห์ใน The Diplomat กรณีแนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวัน และรัฐบาลจีนปักกิ่งซ้อมรบทันควัน สะท้อนความพยายามปิดล้อมไต้หวัน ขณะที่ภาพลักษณ์ของเพโลซีและพรรคเดโมแครตที่แข็งข้อต่อจีน ก็นับเป็นการเรียกคะแนนก่อนเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พบประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน เมื่อ 4 ส.ค. 65 (ที่มา: Flickr/Simon Liu/Office of the President)

ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการผู้ก่อตั้งสื่อนิวบลูมจากไต้หวัน "Brian Hioe" ระบุว่า การเดินทางเยือนสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นที่จับตามองของสื่ออย่างมาก โดยมีการพูดถึงและอภิปรายในสื่อหลายแห่ง มีบางส่วนที่ถึงขั้นตั้งคำถามว่ามันจะส่งผลทำให้เกิดวิกฤตคาบสมุทรไต้หวันครั้งที่ 4 หรือไม่

ข้อถกเถียงช่วงก่อนการเดินทางเยือน

การเดินทางเยือนครั้งนี้เกิดจากการเลื่อนเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะแผนการเดิมของเธอคือการเดินทางเยือนในเดือนเมษายนปีนี้ แต่ที่เลื่อนเพราะเพโลซีติด COVID-19 นอกจากนี้ถ้าหากเธอเดินทางเยือนในช่วงเวลาหลังเกิดสงครามยูเครนไม่นานก็อาจจะทำให้ถูกตีความโดยโยงไปถึงเรื่องนี้ได้

ในช่วงก่อนที่เพโลซีจะเดินทางมาเยือนไต้หวันนั้น มีการคัดค้านจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เขาอ้างการประเมินจากกองทัพว่าการเดินทางเยือนไต้หวันไม่ใช่ความคิดที่ดี ไบเดนพูดถึงเรื่องนี้ไม่นานนักก่อนหน้าที่จะมีการหารือกับผู้นำจีน สีจิ้นผิง ซึ่งถือเป็นการหารือครั้งที่ 5 แล้วนับตั้งแต่ที่ไบเดนเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทางด้านเพโลซีนั้นเธอบอกว่าเรื่องที่รัฐบาลไบเดนเป็นห่วงนั้นหลักๆ แล้วคือเรื่องความปลอดภัยถ้าหากมีคนรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับกำหนดการเดินทางของเธอ มากกว่าจะกังวลว่าการเยือนของเธอจะเป็นการสื่อนัยในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง

มีรายงานระบุว่ากองทัพสหรัฐฯ ได้เตรียมการรับมือกับความเป็นไปได้ที่เพโลซีจะตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวัน ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันเองดูจะเก็บเงียบในเรื่องนี้ในช่วงก่อนการเดินทางเยือนและอ้างว่าไม่รู้เรื่องที่ว่าเพโลซีจะมาเยือนประเทศของพวกเขา

มีข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นคือ สำหรับจีนแล้วพวกเขามองว่าการเดินทางเยือนของเพโลซีว่าเป็น "การยั่วยุ" มากน้อยแค่ไหน จากการที่คนในระดับประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เคยมาเยือนไต้หวันก็เมื่อนานมาแล้วคือในปี 2540 และข้อถกเถียงในอีกแง่หนึ่งคือจีนจะมองเรื่องพิธีสารของการใช้เครื่องบินรบเพื่อคุ้มกันเครื่องบินโดยสารของเพโลซีว่าเป็น "การยั่วยุ" ด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพยายามใช้การข่าวในการสร้างความสับสน เช่น ไชน่าไทม์ ซึ่งเป็นสื่อในไต้หวันที่สนับสนุนการรวมชาติกับจีนรายงานข่าวอ้างว่าทางการไต้หวันเคยพยายามยกเลิกการเชิญชวนเพโลซี แต่เพโลซีปฏิเสธการยกเลิกและยืนยันที่จะเดินทางเยือนไต้หวันให้ได้ แต่ Hioe ก็บอกว่ามีความน่าสงสัยความน่าเชื่อถือของรายงานนี้ จากการที่เจ้าของสื่อคือไช่อิงเม็ง (Tsai Eng-meng) มหาเศรษฐีธุรกิจอาหาร ผู้ที่สนับสนุนการรวมชาติกับจีน นอกจากนี้สื่อไชน่าไทม์ยังต้องขออนุญาตจากสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนซึ่งเป็นหน่วยงานของทางการจีนทุกครั้งก่อนที่จะเผยแพร่บทความ รวมถึงเป็นสื่อที่ได้รับทุนจากทางการจีนด้วย

อย่างไรก็ตามรายงานข่าวดังกล่าวนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่าไต้หวันมีอำนาจมากพอในการปฏิเสธการมาเยือนของเพโลซีได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าไต้หวันจะมีการประเมินไปในทางเดียวกับไบเดนก็ตาม ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเดินทางเยือนของเพโลซีในครั้งนี้ยังใกล้เคียงกับแผนการเดินทางเยือนของ ไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสมัยรัฐบาลทรัมป์ มีการประเมินว่าการเยือนของปอมเปโอเป็นการเรียกคะแนนเสียงก่อนการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2567 อีกทั้งปอมเปโอกับนักการเมืองพรรครีพับลิกันรายอื่นๆ ก็สนับสนุนการเดินทางเยือนของเพโลซี รวมถึง นิวต์ กิงกริช อดีตประธานสภาฯ ที่เคยไปเยือนในปี 2540 ด้วย

ใจความของการเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซีในครั้งนี้คืออะไร

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พบประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน เมื่อ 4 ส.ค. 65 (ที่มา: Flickr/Simon Liu/Office of the President)

มีการประเมินว่าสาเหตุที่เพโลซีเยือนไต้หวันก็เพราะเธอต้องการสร้างมรดกทางการเมืองให้กับตัวเอง ในการทำให้พรรคเดโมแครตดูมีภาพลักษณ์ว่าแสดงการแข็งข้อต่อจีน เป็นการเรียกคะแนนในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ทันทีที่เครื่องบินของเพโลซีแตะพื้นประเทศไต้หวัน สื่อวอชิงตันโพสต์ก็นำเสนอบทความที่เขียนโดยเพโลซีเองระบุว่าสาเหตุที่เธอเดินทางเยือนไต้หวันนั้นก็เพราะว่า "ในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) มีการเพิ่มระดับการรุกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ตัวแทนสภาคองเกรสของพวกเราเดินทางเยือนในครั้งนี้จะถูกมองว่าเป็นการส่งข้อความอย่างชัดเจนว่าอเมริกาจะยืนหยัดเคียงข้างไต้หวัน ผู้ถือเป็นมิตรทางประชาธิปไตยของพวกเรา ในช่วงที่พวกเขาต้องปกป้องตัวเองและเสรีภาพของตัวเอง"

นอกจากนี้สื่อตะวันตกยังพยายามทำการคาดเดาไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินทางเยือนของเธอ มีการประเมินว่าเพโลซีจะใช้เวลากี่วันอยู่ในไต้หวันและจะพบปะกับผู้นำไช่อิงเหวินด้วยหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งในที่สุดแล้วเธอก็ได้พบปะกับไช่อิงเหวิน มีการใช้โวหารทางการเมืองในการพูดคุยกับไช่อิงเหวินในแบบที่เธอใช้ในบทความที่ลงวอชิงตันโพสต์ ที่เน้นพูดเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ และพูดเรื่องประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีการขายเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไต้หวันอย่างกฎหมาย CHIPS ด้วย แต่ Hioe ก็มองว่าเรื่องนี้แปลก เพราะบางครั้งก็มีการมองกฎหมาย CHIPS ของสหรัฐฯ ว่าเป็นมาตรการที่ต้องการให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาวัสดุชิพคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่าเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวัน

เพโลซีมักจะกล่าวเน้นย้ำว่าการเดินทางเยือนในครั้งนี้เป็นการมุ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความยึดมั่นในการช่วยเหลือไต้หวันอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยกเรื่อง "นโยบายจีนหนึ่งเดียว" ที่หมายถึงนโยบายที่จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนขึ้นมาพูดเลยแม้แต่น้อย หลังการพบปะกับนักการเมือง เพโลซีก็เดินทางต่อไปยังแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ TSMC และพบปะกับประธานบริษัท มาร์ค หลิว โดยเก๋อเฉียนหมิง (Ker Chien-ming) วิป ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไต้หวัน พรรค DPP เข้าร่วมด้วย

ในช่วงบ่าย เพโลซีได้เดินทางไปเยือนสถานที่อีกแห่งหนึ่งก่อนออกจากไต้หวันคือที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติจิงเหม่ย ซึ่งในอดีตเคยเป็นเรือนจำที่ใช้ขังนักโทษการเมืองในช่วงยุค "ความน่าสะพรึงสีขาว" (White Terror) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งในยุคนั้นทำการปราบปราม สังหารหมู่ และจำคุก ประชาชนจนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชไต้หวันในเวลาต่อมา

ที่พิพิธภัณฑ์จิงเหม่ย เพโลซีได้พบปะกับอดีตผู้นำนักศึกษาชาวอุยกูร์ วูเอ๋อไคซี (Wu’er Kaixi) ที่เคยประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งในปัจจุบันอาศัยอยู่ในไต้หวัน กับหลัมวิงคี (Lam Wing-Kee) เจ้าของร้านหนังสือชาวฮ่องกงซึ่งเป็นคนขายหนังสือของคอสเวย์เบย์คนเดียวที่ยังไม่ถูกจับกุมโดยรัฐบาล และ เอ็นจีโอแรงงานของไต้หวัน ลีหมิงเจ๋อ (Lee Ming-Che) ผู้ที่เคยถูกรัฐบาลจีนคุมขังเป็นเวลา 5 ปีด้วยข้อหา "พยายามบ่อนทำลายอำนาจรัฐ" หลังจากที่เขาเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ต่อมาเพโลซีก็เดินทางออกจากไต้หวันช่วงเวลาประมาณบ่าย 4 โมง 45 นาที กระทรวงต่างประเทศได้ประกาศเรื่องการเดินทางกลับไม่นานนักก่อนที่จะมีการออกเดินทางจริง

ไต้หวันมองเรื่องการเยือนของเพโลซีอย่างไร

Hioe ระบุว่าถึงแม้การเดินทางเยือนของเพโลซีจะไม่ได้รับความสนใจมากในนักในแง่ของการถกเถียงอภิปรายในหน้าสื่อ จนกระทั่ง 48 ชั่วโมงก่อนที่เธอจะเดินทางมาถึง ถึงขั้นมีเรื่องตลกในอินเทอร์เน็ตว่าชาวไต้หวันเข้าใจผิดว่า "เพโลซี" เป็นชื่อของพายุไต้ฝุ่นที่กำลังจะพัดเข้าประเทศมากกว่าจะคิดว่าเป็นชื่อของนักการเมืองอเมริกัน แต่เอาจริงๆ แล้วชาวไต้หวันก็มีความตระหนักรู้ดีว่าการมาเยือนของเพโลซีเป็นการมาเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำระดับสูงจากสหรัฐฯ

มีผู้คนในไต้หวันราว 200 คนที่รวมตัวกันต้อนรับเพโลซีที่สนามบิน การโดยสารเครื่องบินของเพโลซีมีคนคอยติดตามข้อมูลการบินจากเว็บไซต์ Flightradar24 มากกว่า 700,000 ราย โดยจำนวนผู้รับชมจำนวนมากเป็นชาวไต้หวัน ซึ่งการติดตามการบินเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไวรัลในโซเชียลมีเดียไต้หวัน

เพโลซีเดินทางถึงไต้หวันที่สนามบินจงซาน แต่ก็มีเหตุขู่วางระเบิดสนามบินนานาชาติเถาหยวน เพราะว่ามีการเข้าใจผิดว่าเพโลซีจะมาลงสนามบินนี้ที่เป็นสนามบินศูนย์กลางที่ใหญ่กว่า ขณะเดียวกันกองทัพไต้หวันก็เตรียมความพร้อมโดยการวางกำลังปืนต่อต้านอากาศยานที่สนามบินเพื่อเตรียมรับมือกับการโจมตีของโดรนหรือขีปนาวุธที่อาจจะพยายามสกัดกั้นเครื่องบิน แต่การบินลงจอดก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย

นอกจากกลุ่มที่ต้อนรับที่สนามบินแล้วในไต้หวันยังมีคนอีกหลายร้อยคนที่มาชุมนุมให้การต้อนรับเพโลซีที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอทในย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงไทเป พวกเขาพากันส่งเสียงเชียร์และหวังว่าจะได้เห็นรถขบวนของเพโลซี

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสนับสนุนการรวมชาติกับจีนที่มาชุมนุมในเชิงต่อต้าน อย่างพรรคอนุรักษ์นิยมจัดอย่างพรรค New Party และพรรคส่งเสริมการรวมชาติจีน ที่รู้จักกันดีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมจีน มีอดีตสมาชิกแก๊งอาชญากรรมและมือสังหารทางการเมืองที่ชื่อ "ไวท์วูล์ฟ" จางอันลอ (Chang An-lo) นั่งคอยอยู่กับพรรคพวกของเขาที่ด้านในโรงแรมแกรนด์ไฮแอทอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งในตอนนั้นเขาน่าจะกำลังรอเพโลซีอยู่ แต่ต่อมาก็พบว่าเขาออกมาอยู่ข้างนอกโรงแรมแล้วพูดปราศรัยในเชิงต่อต้านสหรัฐฯ มีการใช้กำลังตำรวจ 2,000 นายในการอารักขาเพโลซีที่สนามบินและที่โรงแรม

การที่พรรคอนุรักษ์นิยมจัดแสดงตัวต่อต้านเพโลซีอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการที่แกนนำจีนคณะชาติ หรือพรรคก๊กมินตั๋งคนปัจจุบันคือ อิริก ชู พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้พรรคดูเป็นพรรคที่สนับสนุนอเมริกันแทนที่จะเป็นพรรคที่สนับสนุนจีน แต่กลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยมจัดที่แสดงออกในเชิงต่อต้านอเมริกันอย่างชัดเจนโดยใช้โวหารอ้างว่าสหรัฐฯ พยายามลากไต้หวันเข้าสู่ความขัดแย้ง

จีนโต้ตอบอย่างไรบ้าง

ในช่วงระหว่างที่เพโลซีจะเดินทางเยือนนั้นมีความกลัวเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้น หลังจากที่เว็บไซต์ของรัฐบาลไต้หวันไม่สามารถใช้การได้หลังจากถูกโจมตีทางไซเบอร์ ตามร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีกระจายอยู่ทุกที่ในไต้หวันและตามสถานีรถไฟของไต้หวันก็มีข้อความต่อต้านเพโลซีปรากฏขึ้นโดยระบุว่าเธอเป็น "พวกกระหายสงคราม" เนื่องจากระบบควบคุมป้ายเหล่านี้ถูกแฮ็ก ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแฮ็กในครั้งนี้มาจากผู้ก่อการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากผู้ดูแลเนื้อหาของเว็บไซต์ต่างๆ เปิดเผยว่ามีการใช้บ็อตหรือโปรแกรมอัตโนมัติที่แสร้งตัวเป็นผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นในกระดานข่าวที่ผู้คนนิยมใช้ในไต้หวันคือ PTT

อีกวิธีการหนึ่งที่จีนใช้คือการกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวัน จากการที่ก่อนหน้านี้เคยมีการแบนการนำเข้าปลาเก๋า, สับปะรด และน้อยหน่า อยู่ก่อนแล้ว จีนก็ประกาศแบนผลิตภัณฑ์อาหารของไต้หวันเพิ่มขึ้นอีก 100 รายการ หลังจากที่เพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันแล้วก็มีการสร้างแบนผลิตภัณฑ์บางอย่างเพิ่มอีกเช่นทรายและผลไม้จำพวกซิตรัส

ที่สำคัญที่สุดคือจีนได้ประกาศจะซ้อมรบโดยใช้กระสุนจริงหลังจากที่เพโลซีเดินทางถึงไต้หวันไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่จีนทำการซ้อมรบแบบที่บอกไว้ในช่วงวันที่ 4-7 ส.ค. ที่ผ่านมารอบชายฝั่งของไต้หวัน แต่การซ้อมรบก็เริ่มซาลงบ้างในช่วงวันที่ 7 ส.ค. อย่างไรก็ตาม สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ก็มองว่าความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันหลังจากการมาเยือนของเพโลซียังคงดำเนินต่อไป

ในมุมมองของ Hioe แล้วการที่จีนขู่ไต้หวันด้วยการใช้เครื่องบินรบบินล้ำน่านฟ้าของไต้หวันนั้นเป็นพฤติกรรมที่จีนมักจะทำมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าการใช้กระสุนจริงในการซ้อมรบจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงกระทำในพื้นที่ๆ เคยเกิดวิกฤตคาบสมุทรไต้หวันครั้งที่ 3 มาก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่อธิปไตยทางน้ำของไต้หวัน

นับตั้งแต่ที่จีนประกาศจะซ้อมรบ กระทรวงกลาโหมไต้หวันก็ประกาศว่าจะมีมาตรการตามความเหมาะสมในการปกป้องอธิปไตยของไต้หวัน พร้อมกับจะคอยจับตาเฝ้าระวังการกระทำของจีน มีการเตือนไม่ให้เรือหาปลาของไต้หวันออกไปในพื้นที่ๆ มีการซ้อมรบโดยจีน นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมไต้หวันยังต้องคอยแก้ข่าวข้อมูลบิดเบือนในเรื่องที่อ้างว่าจีนใช้ขีปนาวุธโจมตี ซึ่งเป็นข่าวบิดเบือนที่แพร่กระจายตามโซเชียลมีเดียภาษาอังกฤษ

Hioe มองว่าการซ้อมรบในครั้งนี้ของจีนเป็นความพยายามปิดกั้นไต้หวันและมียังคงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยกระดับสถานการณ์เกิดขึ้น

โกะคิงกี (Koh King Kee) ประธานของศูนย์ Centre for New Inclusive Asia ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองที่อยู่ในมาเลเซียวิเคราะห์ว่า ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการให้เกิดสงคราม ฝ่ายสหรัฐฯ เองก็เผชิญกับปัญหาจากสงครามยูเครนมากพออยู่แล้ว และการที่จีนทำการซ้อมรบรอบไต้หวันนั้นเป็นการพยายามกดดันไต้หวัน จีนพยายามทำให้วิธีการกดดันเช่นนี้ "กลายเป็นเรื่องปกติ" มากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นไปได้ว่าจะเตรียมพร้อมเพื่อที่จะปรับยุทธศาสตร์ให้กลายเป็นการรบจริงได้ทุกเมื่อถ้าหากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

เรียบเรียงจาก

Pelosi’s Taiwan Visit: The Substance and the Aftermath, Brian Hioe, The Diplomat, 4 August 2022

Chinese military winds down Taiwan exercises but tensions remain high in wake of Nancy Pelosi’s visit, SCMP, 07 August 2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

อุบัติการณ์ 28 กุมภาพันธ์, Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท