Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมระดับ รมต.ต่างประเทศ อาเซียน แถลงประณามเผด็จการทหารพม่า หลังประหาร 4 นักโทษการเมือง และขาดความคืบหน้าต่อการดำเนินตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อคลี่คลายวิกฤตในประเทศเมียนมา

 

9 ส.ค. 2565 สำนักข่าวสัญชาติพม่าอย่าง 'อิรวดี' รายงานเมื่อ 6 ส.ค. 2565 อ้างอิงรายงานจากเอเอฟพี เผยว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ อาเซียน มีการกล่าวประณามเผด็จการทหารพม่า เรื่องการขาดความคืบหน้าในการแก้ไขวิกฤตการเมือง โดยมีมติเรียกร้องให้เผด็จการทหารพม่ามีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียนภายในปีนี้ (2565)

ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ระหว่าง 30 ก.ค.-6 ส.ค. 2565 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก 'ប្រាក់ សុខុន - Prak Sokhonn')

พม่าเดินทางเข้าสู่วิกฤตการเมืองหลัง พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ปัจจุบัน สถานการณ์ในพม่ายังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี เปิดเผยรายงานระบุว่า นับตั้งแต่ ก.พ. 2564 จนถึงวันที่ 8 ส.ค. 2565 มีประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารเสียชีวิตจากฝีมือทางการพม่า อย่างน้อย 2,167 ราย และมีผู้ถูกจับกุม ตัดสินโทษ และถูกคุมขังด้วยข้อหาทางการเมือง อย่างน้อย 15,064 ราย

สิ่งที่ทำให้ชาติสมาชิกบางประเทศของอาเซียนไม่พอใจอย่างมาก คือ พม่าพยายามตีตัวออกห่างจากประชาคม รวมถึงเรื่องการประหารนักกิจกรรมการเมือง 4 ราย เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง 2 ใน 4 เป็นนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศพม่า อย่าง จ่อมินยู หรือโกจิมมี นักกิจกรรมจากยุค 1988 หรือ พ.ศ. 2531 และเพียวเซยาต่อ อดีต ส.ส.พรรค NLD 

ย้อนไปเมื่อปี เม.ย. 2564 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เคยเป็นแนวหน้าในการพยายามหาข้อยุติความขัดแย้งภายในพม่า แต่ก็ยังไร้ผลมาจนถึงทุกวันนี้ อาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการพบปะประชุมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา โดยในแถลงการณ์ระบุว่า พวกเขา "รู้สึกผิดหวังอย่างมากจากการขาดความคืบหน้าและการที่รัฐบาลพม่าขาดความยึดมั่นในพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน 5 ข้อของอาเซียน"

ฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน ประกอบด้วย 

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2.การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สื่ออิระวดี ระบุว่า แถลงการณ์ของกลุ่มประเทศอาเซียนนี้เสมือนเป็นคำเตือนต่อเผด็จการทหารพม่าอยู่กลายๆ โดยมีการอ้างถึงมาตรา 20 ของกฎบัตรอาเซียนว่าอาจจะมีการดำเนินการต่อทางการพม่าในข้อหา "ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง" หลังจากที่มีการประชุมอีกครั้งในปีนี้ เดิมทีแล้วการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าวนี้จะต้องผ่านฉันทามติของกลุ่มประเทศสมาชิกก่อน แต่ว่ามาตรา 20 ก็อนุญาตให้มีการข้ามขั้นตอนการขอฉันทามติของกลุ่มได้

หลังจากที่มีการออกแถลงการณ์ของอาเซียน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเผด็จการทหารพม่า ออกมาระบุว่า เขา ‘ปฏิเสธ’ ไม่ยอมรับคำแถลงการณ์ของอาเซียน ในเรื่องการขาดความคืบหน้าในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งเคยมีการตกลงกันไว้ในการประชุมผู้นำสูงสุง สมัยพิเศษของอาเซียน เมื่อ เม.ย. 2564 

“อาเซียนจะสามารถธำรงความเป็นเอกภาพ และความเป็นศูนย์กลางในระยะยาวได้ ก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดให้ความเคารพในอธิปไตย และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ ในการประชุมอาเซียน ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งล่าสุด วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศ แห่งสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม และช่วงที่มีการพบปะระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา พม่าก็ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียนเมื่อปี 2564 ผู้นำประเทศอาเซียนก็มีการแบนไม่เชิญมินอ่องหล่ายผู้นำเผด็จการทหารพม่าเข้าร่วมประชุม

กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนยังได้ประณามการประหารชีวิต 4 นักโทษการเมือง เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 ก.ค.) มาเลเซียเป็นประเทศที่นำการเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการหนักขึ้นต่อกองทัพพม่า โดยระบุว่าพม่ามีโอกาสถูกระงับสถานภาพความเป็นสมาชิกภาพของกลุ่มได้ หากยังไม่มีความคืบหน้าต่อการดำเนินการฉันทามติของอาเซียน ก่อนที่จะถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณ พ.ย. 2565

นานมาแล้วที่อาเซียนถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีเขี้ยวเล็บอะไรและดีแต่พูด แต่ก็ดูเหมือนว่ากลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ต่างกดดันเผด็จการพม่าหนักขึ้น เพื่อยุติวิกฤตการเมืองในพม่า

ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุอีกว่าทูตพิเศษจากอาเซียนที่จะเข้าไปเยือนพม่านั้นจะต้องได้รับอนุญาตให้เข้าพบกับ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง (กับความขัดแย้งในพม่า) ทั้งหมด" โดยเป็นการสื่อถึงเรื่องที่เผด็จการทหารพม่าตัดสินใจห้ามไม่ให้มีการเข้าพบอองซานซูจีที่ถูกคุมขังอยู่ ซึ่งในตอนนี้อองซานซูจีถูกตัดสินดำเนินคดีหลายข้อหาจนทำให้เธอมีโอกาสถูกสั่งจำคุกรวมแล้ว 150 ปี

โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงเล็งเห็นถึงปัญหาที่อาเซียนกำลังต้องเผชิญเกี่ยวกับพม่า ขณะเดียวกัน ก็กล่าวเน้นย้ำว่า "สถานการณ์ในพม่าต้องการปฏิบัติการที่หนักแน่นและห้าวหาญกว่านี้" บอร์เรลล์ บอกอีกว่า "เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนว่าเผด็จการทหารพม่าไม่ยอมรับฟัง" และพูดถึงการประหารชีวิตล่าสุดว่าเป็น "การยุยงอย่างเห็นได้ชัด"

 

เรียบเรียงจาก

ASEAN condemns lack of Myanmar peace progress, The Irrawaddy, 06-08-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net