Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกายกฟ้อง "สุชาณี" อดีตนักข่าววอย์ทีวีถูก "ธรรมเกษตร" ฟ้องกรณีทวีตรายงานข่าวศาลสั่งบริษัทจ่ายค่าชดเชยให้แรงงานพม่ากรณีไม่จ่ายค่าแรงว่าเป็นการใช้ "แรงงานทาส" ศาลยกเหตุเป็นการรายงานข้อเท็จจริงไปโดยสุจริตที่ประชาชนย่อมทำได้

9 ส.ค. 2565 วอยซ์ทีวีรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดลพบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง สุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าว วอยซ์ ทีวี แผนกข่าวต่างประเทศ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีรีทวีตแจ้งข่าวแรงงานเมียนมา 14 คนในฟาร์มไก่ธรรมเกษตร โดยมี กมลวรรณ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลพบุรี เป็นผู้อ่านคำพิพากษา

คดีนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 14 ก.ย. 2561 สุชาณี ได้รีทวีตแจ้งข่าวคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่ส่งผลให้ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คน เป็นจำนวน 1.7 ล้านบาทเศษ และในข้อความดังกล่าวมีคำว่า "กรณีใช้แรงงานทาส" บริษัทจึงแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจท้องที่แต่ตำรวจมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง บริษัทจึงดำเนินการฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีเองในเวลาต่อมา

แม้ว่าในศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ในชั้นอุทธรณ์ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าข้อความดังกล่าวเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3)

วอยซ์ทีวีรายงานอีกว่า ศาลฎีกา มีความเห็นว่า ข่าวที่เผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวี ที่ระบุว่า 'กสม. มีมติยืนยันการสอบสวนฟาร์มไก่ในลพบุรี' และจำเลยเป็นผู้เขียน หมายถึงโจทก์ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานในประเด็นการไม่จ่ายค่าแรงงานตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า การที่จำเลย โพสต์ข้อความ เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยได้รับ การโพสต์ข้อความจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีอคติ หรือนำเสนอข่าวเพื่อให้มีอำนาจเหนือโจทก์ จุดมุ่งหวังเพื่อที่จะขายข่าวเอาประโยชน์ใส่ตน และนายจ้าง จึงฟังไม่ได้ว่า เป็นการกระทำโดยทุจริตตามที่โจทก์ตีความ

ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลย เป็นสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานโดยตรง และในฐานะประชาชน ย่อมมีสิทธิตรวจสอบ วิพากวิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ติชม โจทก์ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ เป็นไปตามข้อยกเว้นของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องมานั้นชอบแล้วและศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

วอยซ์ทีวีรายงานอีกว่า สุชาณี แสดงความรู้สึกดีใจที่คดีสิ้นสุดและขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรม และเห็นใจการทำงานของสื่อที่ต้องมีหน้าที่รายงานประเด็นที่เป็นความสนใจของสาธารณะ อีกทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนที่ถูกเอาเปรียบที่ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคมไม่ได้รับความสนใจนัก สื่อจึงต้องพูดเรื่องนี้ และสำหรับเธอแล้วแรงงานพม่าก็เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคมมากนัก ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สาธารณชนควรได้รับรู้ และยืนยันว่า สื่อคือสื่อ สื่อต้องนำเสนอเรื่องที่เป็นสาธารณะ

คดีของสุชาณีเป็น 1 ในอย่างน้อย 38 คดีที่มีการรายงานว่าบริษัทธรรมเกษตรได้ใช้ข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 323 และ 328 รวมถึงการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมาดำเนินคดีกับบรรดาผู้สื่อข่าวและนักสิทธิมนุษยชนที่ออกมาพูดถึงปัญหาการใช้แรงงานของบริษัทไปจนถึงการแสดงออกถึงการสนับสนุนผู้ที่ถูกบริษัทดำเนินคดีด้วย เช่นในกรณีของธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ขององค์ฟอร์ตี้ฟายไรท์

ความจริงที่ต้องพูดถึง : คดีหมิ่นประมาท 6 ปี 2.6 หมื่นคดี คนที่ตรวจสอบรัฐ-บริษัท ถูกฟ้องปิดปากก็มาก

เมื่อปี 2564 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างพอร์ตี้ฟายไรท์เคยออกรายงานจากการติดตามการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกในไทยในลักษณะที่ถูกเรียกว่า “การฟ้องปิดปาก” (Strategic Lawsuit Against Public Participation - SLAPP) พบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี แค่ในช่วงปี 2558-2563 มีจำนวนคดีมากถึง 26,085 คดีและในปี 2563 มีคดีมากกว่าปี 2558 ถึง 1,730 คดี แต่คดีเหล่านี้ถ้าหากเป็นกรณีวิจารณ์หรือนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุว่าถึงคดีลักษณะนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในที่สุดแต่ก็สร้างภาระให้แก่ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องต่อสู้คดี แม้ว่าประเทศไทยจะออกกฎหมายมาเพื่อป้องกันการการฟ้องปิดปากอย่างเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 และ 165/2 ที่ให้จำเลยยื่นเอกสารหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือร้องเรียนให้ศาลพิจารณาได้ว่าเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือไม่ รวมถึงยังมีกลไกที่ให้อัยการพิจารณาข้อเท็จจริงของคดีได้ว่าจะสั่งฟ้องเป็นคดีต่อศาลหรือไม่ แต่เมื่อมีกรณีเกิดขึ้นกลไกเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาใช้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net