Skip to main content
sharethis

ย้อนไปเมื่อ 2563 หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมือง และการเรียกร้องประชาธิปไตย คือ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านแถลงการณ์ ‘10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ในกิจกรรม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ’ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. ภายหลังรู้จักกันในชื่อปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ เพราะนี่เป็นข้อเสนอที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด เมื่อพูดถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ จากประชาชน 

 

และวันที่ 10 ส.ค. 2565 ถือเป็นวาระครบรอบ 2 ปีของ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ประชาไท ชวนมาย้อนดูว่า ผ่านมา 2 ปี ข้อเรียกร้องเหล่านี้ปัจจุบันเดินหน้า-ถอยหลังไปทางไหน และเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบการเมืองหลังจากนั้นอย่างไร

'รุ้ง' ปนัสยา อ่านแถลงการณ์ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อ 10 ส.ค. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่านมา 2 ปี 10 ข้อเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘ดันทะลุฝ้า’ เป็นยังไง 

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า ผ่านมา 2 ปี เราสามารถจำแนกความคืบหน้าของข้อเรียกร้อง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 'ยังไม่มีความคืบหน้า' 'มีความคืบหน้า' และ 'ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้'

ข้อ 1-3, ข้อ 5-9 'ยังไม่มีความคืบหน้า'

ข้อ 1 ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร  

ข้อ 2 ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

ข้อ 3 ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

ข้อ 5 ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

ข้อ 6 ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

ข้อ 7 ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ข้อ 8 ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

ข้อ 9 สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ข้อ 2 ไม่คืบหน้าไม่พอ ยังถอยหลังลงคลอง

ข้อ 2 เป็นข้อเดียวที่นอกจากไม่คืบหน้าแล้ว ยังขยับถอยหลัง เนื่องจากทางการไทยมีการ ดำเนินคดีโดยใช้มาตรา 112 กับประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะหลัง 19 พ.ย. 2563 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงจะใช้กฎหมายทุกมาตราทุกฉบับ รวมมาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ แม้ว่าก่อนหน้านั้น 15 มิ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ เองออกมาพูดว่า “อยากบอกคนไทยว่า วันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้”

รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยสถิติการใช้ ม.112 ดำเนินคดีกับประชาชนตั้งแต่เมื่อ 24 พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 5 ส.ค. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 208 คน ใน 225 คดี ขณะที่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากที่สุดคือ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำนวน 23 คดี  

ข้อ 4 คือข้อเดียวที่มีความคืบหน้า 

ข้อ 4 ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อเรียกร้องที่ 4 เป็นข้อเดียวที่ “มีความคืบหน้า” โดยจากการตรวจสอบผู้สื่อข่าวพบว่างบประมาณเฉพาะรายจ่ายทางตรง เช่น ส่วนราชการในพระองค์ งบดูแลรักษาความปลอดภัยและการบิน การก่อสร้างในเขตพระราชฐาน รวมถึงการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันฯ ฯลฯ เท่าที่นับได้ มีจำนวนลดลง โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 จำนวน 16,923 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงบประมาณรายจ่าย ปี 2565 อยู่ที่ 20,931 ล้านบาท หรือลดลง 4,008 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 20,653 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 19,685 ล้านบาท 

นอกจากนี้ เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นด้วยว่า งบฯ ส่วนราชการในพระองค์ ในคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ 2566 (กมธ.งบฯ) มีความก้าวหน้าขึ้น 3 เรื่อง คือ 1.มีแจกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้ กมธ.งบฯ แม้เพียง 3 หน้าที่เป็นข้อมูลใหม่ 2. มีวิดีทัศน์ความยาว 5 นาที เพื่อให้ข้อมูลและแจกจายรายละเอียด รวมถึงจำนวนบุคลากรในแต่ละสำนัก และ 3. มีการมอบหมายเลขานุการคณะรัฐมนตรีมาเป็นตัวแทนชี้แจงงบประมาณและตอบคำถาม กมธ.

ข้อ 10 เป็นข้อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้

ถ้อยความข้อเรียกร้องข้อที่ 10 ของแนวร่วมฯ คือ ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ จนกว่าจะมีการทำรัฐประหารอีกครั้ง

ไม่หยุดแค่อ่าน แต่มีจดหมายถึง ร.10-ยื่นถึงมือรัฐสภา

นอกจากการอ่านแถลงการณ์เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ยังไม่หยุดแค่เท่านี้ แต่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้นำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไปยื่นต่อรัชกาลที่ 10 ผ่านทางองคมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรรมาธิการการเมือง สภาผู้แทนราษฎร

เริ่มจาก 26 ส.ค. 2563 รุ้ง ‘ปนัสยา’ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อยื่น 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ต่อคณะกรรมาธิการการเมือง (กมธ.การเมือง) ผ่าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.ก้าวไกล และเป็นประธาน กมธ.การเมือง เพื่อขอให้ช่วยผลักดันตามข้อเรียกร้องไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. และเพื่อให้เรื่องนี้เป็นสาธารณะในการพูดคุยทั้งในรัฐบาลและทุกภาคส่วน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นสถาบันแรกที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ และต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลทำตาม 10 ข้อเรียกร้องนี้ 

'รุ้ง' ปนัสยา นำข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ไปยื่นให้กรรมาธิการการเมือง สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 26 ส.ค. 2565

ต่อมา ใน #ม็อบ19กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร เมื่อ 2563 โดยการชุมนุมเริ่มจากภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ก่อนปักหลักที่สนามหลวง เป็นเวลา 1 คืน 

ในช่วงระหว่างนั้น ‘รุ้ง’ ปนัสยา อ่านจดหมายจากประชาชนถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) โดยมีสาระสำคัญคือความจำเป็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ก่อนที่เช้าวันต่อมาจะมีการฝังหมุดคณะราษฎรที่ 2 ที่สนามหลวง และรุ้ง ไปเป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อประธานองคมนตรี โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เป็นผู้รับข้อเรียกร้องจากตัวแทนประชาชน โดยรับปากว่าจะยื่นไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามขั้นตอน

นอกจากนี้ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปราศรัยครบรอบ 1 ปี ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 3 ส.ค. 2564 โดยอานนท์ กล่าวทบทวนว่า 1 ปีขบวนการเคลื่อนไหว ประชาชนตกผลึกร่วมกันคือหลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย 

ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวนั้น อานนท์ ยืนยันว่า ขบวนสามารถพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์พร้อมกับการไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้โดยยึดหลักสันติวิธีในทางสากล

อานนท์ กล่าวในการทบทวน 1 ปีการเคลื่อนไหวด้วยว่า พวกเขาต้องการปกป้องและแก้ไขระบอบการปกครองให้มันดีขึ้น พร้อมเตือนกลุ่มที่ต้องการให้ประเทศไทยกลับไปเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขนั้น อย่าคิดหรือทำ เพราะเมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ของระบอบดังกล่าวแล้ว ยังมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งมีทางเลือกที่ 3 คือ สาธารณรัฐ ด้วย เมื่อพูดก็ต้องพูดให้หมด สมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีคนเลือกแน่นอน ส่วน ข้อที่สอง คนอยากปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้อยู่เหนือการเมือง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกันนั้นก็มี แต่อย่าลืมว่า ก็มีคนที่ต้องการปกครองแบบคนเท่าเทียมกันทุกคน เลือกตั้งโดยตรง ไม่มีเทวดา มีรัฐสวัสดิการ ทุกคนเป็นเจ้าของหรือสาธารณรัฐ มันก็มีเช่นกัน ดังนั้น อย่าบังคับให้พวกเราเลือกข้อ 1 ข้อ 2 หรือ 3 เพราะถ้ามันถึงที่สุด เราทุกคนจะลงประชามติ ว่าจะเลือกข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3

อานนท์ นำภา ปราศรัยบนรถเครื่องเสียง เมื่อ 3 ส.ค. 2564

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สู่การวินิจฉัย “ล้มล้างการปกครองฯ”

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถานบันกษัตริย์ ที่รุ้ง เคยกล่าวไว้ เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ภายหลังเมื่อ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1

อนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

สำหรับคดีนี้มีณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า อานนท์ นำภา ภาณุพงษ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้ปราศรัย และอ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันในงาน ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ ซึ่งเมื่อ 10 พ.ย. 2564 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ

'ไมค์' ภาณุพงษ์ จาดนอก นักกิจกรรม ขณะปราศรัยบนเวที 'ธรรมศาสตร์จะไม่ทน'

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน มีการตั้งกลุ่ม เครือข่าย และมีการจุดประกายให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้การความแตกแยก เป็นการทำลายหลักการภราดรภาพ นำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในเวทีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 มีเจตนาซ่อนเร้นการล้มล้างการปกครองฯ ไม่ใช่การปฏิรูป 

“ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ถูกร้อง เช่น การยกเลิกมาตรา 6 การห้ามฟ้องร้องกษัตริย์ การยกเลิกการรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่กระทบสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา พฤติกรรมและเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป" ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ตุลาการเสียงส่วนน้อย มองไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ‘ขณะเกิดเหตุ’

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยหนึ่งเดียว คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม มีประเด็นที่มองต่างจากตุลาการเสียงข้างมาก โดยเขาเห็นว่าการกระทำของนักกิจกรรมทั้ง 3 ราย ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง ‘ขณะที่เกิดเหตุเท่านั้น’ แต่หากข้อเรียกร้องสำเร็จก็จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้  

เหตุที่อุดม มองว่ายังไม่ได้เป็นการล้มล้างขณะเกิดเหตุ เนื่องจากไม่ปรากฏชัดว่า มีกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภาที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ม.112 ตามข้อเรียกร้อง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงประการอื่นว่าจะมีการกระทำอื่นๆ ที่ทำให้สำเร็จอย่างฉับพลันทันทีในขณะนั้นโดยอำนาจที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ 

"ข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่พอฟังได้ว่าการกระทำขณะเกิดเหตุเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง" อุดม ระบุในความเห็นส่วนตน

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของบีบีซีไทย มองว่าความเห็นในส่วนอื่นๆ ของอุดม เหมือนกับตุลาการเสียงข้างมากคนอื่นที่มองว่าข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นถือเป็นการจาบจ้วงและละเมิดต่อสถาบันฯ ตลอดจนขัดต่อระบอบการปกครองปัจจุบันของไทย 

นอกจากนี้ อุดม เห็นตรงกันกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากด้วยว่า ในประเด็นที่ไม่ให้มีการกระทำลักษณะเดียวกับที่เรียกร้องอีกต่อไป เนื่องจากหากมีการกระทำเช่นนี้อีกอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่กระบวนการล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1

คำวินิฉัย ‘ไม่สมเหตุสมผล’ 

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูสถาบัน ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง และมีคำสั่งไม่ให้กระทำในอนาคตนั้น ได้มีประชาชน นักวิชาการ และนักรัฐศาสตร์ ร่วมให้ความเห็นอย่างแพร่หลาย 

ปนัสยา แถลงหน้าศาลรัฐธรรมนูญในวันที่มีการวินิจฉัย เมื่อ 10 พ.ย. 2564 เวลา 16.00 น. ว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และการยกเลิก ม.112 ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง แต่เป็นธำรงความมั่นคงและทำให้สถาบันฯ เจริญวิวัฒน์สถาพรอย่างที่ควรจะเป็น
 

ปนัสยา กล่าวปราศรัยที่หน้าศาล รธน. เมื่อ 10 พ.ย. 2564

ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า แถลงข้อความวิจารณ์เห็นแย้งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่สมเหตุสมผลหลายประการ ยกตัวอย่างข้อเรียกร้อง ข้อ 1 และ 2 ว่าด้วยการยกเลิก ม. 6 ของรัฐธรรมนูญ และ ม.112 ที่ศาลอ้างว่าจะทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องจนส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ และบ่อนทำลายการปกครองนั้น เป็นเรื่องผิดข้อเท็จจริง กลับกัน การแก้ไขต่างหากจะทำให้สถาบันกษัตริย์มีความน่าเคารพมากยิ่งขึ้น และไม่ทำให้สถานะของกษัตริย์เปลี่ยนไป

"หลายท่อนหลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ อ้างเรื่องการแก้ 112 แล้วมาเชื่อมโยงว่าจะนำมาไปสู่การบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเป็นการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เห็นว่าเชื่อมโยงไปไกลเกินกว่าเหตุมาก การเชื่อมโยงในการวินิจฉัยต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ใกล้ชิดกัน ไม่ใช่ไกลกันราวเด็ดดอกฟ้าสะเทือนถึงดวงดาวแบบนี้ 

“การเอาข้อเรียกร้องบางข้อจาก 10 ข้อมาแล้วบอกว่าล้มล้าง ประเด็นคือนี่เป็นเพียงข้อเรียกร้อง นี่เป็นเพียงข้อเสนอ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นจริงเสมอไป เรามีข้อเสนออีกร้อยแปดพันประการที่ไม่ไดรับการตอบสนองจากสภา นี่คือข้อเสนอ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะบุกก่อการยึดอำนาจแล้วปฏิวัติ คือผู้มีอำนาจจะทำตามข้อเสนอหรือไม่ทำก็ได้ แต่ไม่ใช่อย่างที่ศาลเอามาปะติดปะต่อและหาว่าล้มล้างแบบนี้" ปิยบุตร กล่าว 

ปิยบุตร ยังวิจารณ์การกล่าวอ้างของศาลฯ อีกหลายข้อว่าไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างการกล่าวอ้างว่ามาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เป็นประเพณีปกครองที่ยึดถือกันมายาวนาน ก็พบว่าไม่ได้ระบุในรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับแรก หรือในกรณีข้อเรียกร้องห้ามกษัตริย์ให้ความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ก็ไม่เกี่ยวกับประเพณีการปกครอง และการที่จะให้ความเห็นได้ ควรต้องกระทำผ่านรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความเป็น ‘กลาง’ ทางการเมือง

'ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง'

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 10 พ.ย. 2564 ว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อของแนวร่วมฯ สามารถถกเถียงกันได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งยังอยู่ในกรอบการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก "ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง"

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่อ 2564

วรเจตน์ ยังกล่าวด้วยว่าปัญหาของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ การไม่ระบุว่าอะไรคือองค์ประกอบสำคัญของ 'ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อเป็นการล้มล้างการปกครองจริงหรือไม่ ส่งผลให้เกิดความคลุมเครือและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในวันข้างหน้า 

"คำวินิจฉัยนี้จะกลายเป็นเครื่องมือต่อไป ผลของคำวินิจฉัยนี้จะเป็นตัวเปิดที่ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกซึ่งเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทำได้ยากขึ้น เท่ากับต่อไปเราก็จะแสดงความเห็นหรือพูดอะไรไม่ได้เหรอ เพราะเราจะไม่มีทางรู้ได้ว่าแค่ไหนที่เรียกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง"

"ในทัศนะของผม เมื่อผมดูจากวัตถุแห่งคดีเฉพาะผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนนี้จากการที่เขาพูดที่ลานพญานาคและข้อเสนอ ผมคิดว่ายังไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขาอาจจะมีการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ แต่การเปลี่ยนไม่ใช่การล้มล้าง เขาไม่ได้บอกให้เปลี่ยนประเทศไทยจากราชอาณาจักรเป็น Republic (สาธารณรัฐ) ไม่มีและอันนี้เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา" วรเจตน์ ระบุ

ทั้งนี้ วรเจตน์ ยังเน้นอีกประเด็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการยืนยันความเปลี่ยนแปลงในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลังการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งทำให้มีความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ผลคือพื้นที่ประชาธิปไตยหดแคบลง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขยายตัวมากขึ้น

“อันนี้อาจพูดง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยก็จะเรียวแคบลง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็จะขยายมากขึ้น แม้จะเป็นความเห็นของผม แต่มันพิสูจน์ได้จากตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกดคนที่ไม่เห็นด้วยไว้แล้วบอกให้เขาไม่ส่งเสียงเลย เขาต้องการให้พื้นที่ฝั่งประชาธิปไตยขยับกลับมาให้ได้ดุลยภาพกัน ปัญหาคือแค่ไหนเป็นดุลยภาพ ตอนนี้ผมคิดว่ามองต่างกันเลย” อาจารย์นิติศาสตร์ ทิ้งท้าย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ประชาธิปไตยจะหดแคบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะขยายพื้นที่

ทั้งนี้ นักวิชาการอื่นๆ ยังวิจารณ์การวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอีกหลายประเด็น เช่น การไม่เปิดโอกาสให้จำเลยชี้แจงหรือโต้แย้งระหว่างการไต่สวน หรือการนำเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 10 ส.ค. 2563 มาพิจารณา ซึ่งผิดหลักการพระบวนการการพิจารณาคดี ตลอดจนข้อถกเถียงว่าศาล รธน.ไม่มีอำนาจสั่งให้ยกเลิก หรือห้ามการกระทำ ในอนาคต

ผ่านมา 2 ปี แม้ยังไม่สำเร็จ แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 ส.ค.) สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศนัดหมายชุมนุม ‘10สิงหาประชาธิปไตยต้องไปต่อ’ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นวัน เวลา และสถานที่เดียวกับการอ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

แม้ว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อ จะแทบไม่มีความคืบหน้า แต่สำหรับ ‘รุ้ง’ ปนัสยา ผู้อ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เธอโพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก “Panusaya Sithijirawattanakul” วันที่ 9 ส.ค.65 ระบุถึงการชุมนุมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และการชุมนุม ‘#10สิงหาประชาธิปไตยต้องไปต่อ’ แม้ว่าข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อจะยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่เมื่อความคิดถูกเผยแพร่แล้ว นั่นหมายความว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยทุกๆ วัน

“ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ยังจำความรู้สึกของวันที่ 10 สิงหา 63 ได้อยู่เลย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถึงวันนี้ 3 ข้อ หรือ 10 ข้อนั้นยังไม่สำเร็จ แต่มันจะเป็นอะไรไปล่ะ เพราะพวกเรากำลังต่อสู้ในทุกๆ วัน ทุกๆ รูปแบบเท่าที่ใครจะทำได้ ในเมื่อความคิดนั้นถูกเผยแพร่ไปเรื่อย ๆ ก็แปลว่ามันกำลังเปลี่ยนไปในทุก ๆ วันไม่ใช่หรือ”

“มันเกิดขึ้นแล้วค่ะ และมันกำลังจะเปลี่ยนไป ใครจะหยุดสู้ล่ะถ้าเรายังไม่ชนะ ตอนนี้กำลังคาดหวังถึงวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค. 2565) บรรยากาศแบบนี้ในธรรมศาสตร์ เราอยากให้มันเกิดขึ้นทุกๆ ปี และเราเชื่อว่ามันจะมีคนที่มาสานต่อเรื่อยๆ” ข้อความในโพสต์จากเพจของ ‘รุ้ง’ ปนัสยา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net