องค์กรภาคประชาสังคม ขอ ‘นอร์เวย์’ เป็นตัวกลาง ค้านควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ 

เครือข่ายภาคประชาชนขอสถานทูตนอร์เวย์ เป็นตัวกลางยับยั้งกิจการควบรวม ทรู-ดีแทค หวั่นหากดีลนี้สำเร็จคนไทยเสียเปรียบ ผู้บริโภคแบกรับค่าบริการที่สูงขึ้น ด้านทูตนอร์เวย์ รับส่งเรื่องรัฐบาล และบริษัทเทเลนอร์ พิจารณาต่อไป

 

10 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วันนี้ (10 ส.ค.) กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร พร้อมด้วยสภาองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค สภาผู้แทนราษฏร ยื่นหนังสือต่อ ชาร์ชติ เริดสมูเอิน เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย เพื่อเป็นสื่อกลางนำเสียงของผู้บริโภคชาวไทยที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” วันนี้คณะกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดประชุมพิจารณาการควบรวม 

ปวริศา อินทรีย์ ตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่าการควบกิจการของทั้ง 2 บริษัทจะส่งผลให้บริการค่าบริการสามารถเพิ่มขึ้นถึง 200% หากดีลครั้งนี้สำเร็จ ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพของสัญญาณและการบริการเท่าเดิม ถือเป็นการตัดช่องทางเลือกบริโภคของคนไทย จากเดิมที่มี 3 บริษัทเหลือแค่ 2 บริษัท จะนำไปสู่การผูกขาดราคาและบริการ เกิดการแข่งขันน้อย ขณะเดียวกัน ยังไม่มีประเทศไหนที่กระทำลักษณะนี้มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ควบรวมธุรกิจสื่อสารเพียง 2 ค่าย ทั้งนี้ การควบรวมบริษัททรู และดีแทค จะทำให้เหลือการแข่งขันแค่ 2 ค่ายใหญ่ เพราะจะเกิดการแทรกแซง คุกคาม ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

จึงขอเรียกร้องไปยังบอร์ด กสทช.ให้แสดงบทบาทการทำหน้าที่ ต้องยึดประชาชนเป็นหลักเพราะตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่จะอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ และจะขัดต่อ พ.ร.บ.โทรคมนาคม มาตรา 21 ที่กำหนดเรื่องการแข่งขันทางการค้ากิจการโทรคมนาคมต้องอยู่ภายใต้การบังคับของคณะกรรมการกำหนดมาตรการและลักษณะการประกอบกิจการฯห้ามไม่ให้มีการผูกขาดหรือจำกัด ลดการแข่งขัน

ขณะที่ศรัณย์ ทีมสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย เผยว่า วันนี้มาสังเกตการณ์ เพราะเรื่องนี้คณะกรรมาธิการได้ติดตามรู้และเห็นตรงกันว่าการควบรวมเป็นการผูกขาดจำกัดสิทธิการบริโภคของประชาชน ที่ผ่านมาเคยเรียกตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กสทช.ไปชี้แจง ก็ไม่ได้คำตอบชัดว่าจะมีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างไรหากเกิดการควบรวม ซึ่งกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขระเบียบ กลทช.ที่เดิมกำหนดไว้ว่า การควบรวมโทรคมนาคมจะต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. แต่ต่อมาปี 2561 ได้แก้ไขเป็นเพียงแค่ “ให้บริษัทมาแจ้งให้ กสทช.ทราบเท่านั้น” 

หลังจากตัวแทนภาคประชาชนขึ้นยื่นหนังสือ ชาร์ชติ เริดสมูเอิน กล่าวว่าได้รับรู้ถึงความเดือดร้อน และสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงจะนำเอาแถลงการณ์ของภาคประชาชนในครั้งนี้ส่งต่อไปยังรัฐบาลนอร์เวย์ และบริษัทเทเลนอร์ เพื่อให้พิจารณาทบทวนต่อไป

ชาร์ชติ เริดสมูเอิน เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ รับหนังสือจากศรัณย์ ทีมสุวรรณ์ ส.ส.เพื่อไทย

เครือข่ายยังเชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อผ่าน change.org/truedtac เพื่อสนับสนุนแคมเปญคัดค้านการควบรวม

ล่าสุด จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวเมื่อ 10 ส.ค. 2565 เวลา 14.15 น. พบว่า มีประชาชนไปลงชื่อแล้วทั้งสิ้น 13,997 คน 

รายละเอียดแถลงการณ์

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน มีความกังวลอย่างยิ่งในข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ดังนี้

1. ข้อเสนอในการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทฯ ขัดต่อ พ.ร.บ.โทรคมนาคม มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า

การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการ ประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูดขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้ 

  1. การอุดหนุนการบริการ 
  2. การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน 
  3. การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม 
  4. พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน
  5. การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

2. การควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มาหชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะทำให้ผู้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลง เหลือผู้ให้บริการฯ หลักเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการ การกำหนดราคา และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและแข่งขันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยและนานาประเทศ ให้ความสำคัญในโลกยุคใหม่

โดยปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย (20%) TRUE อยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย (34%) และ AIS อยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย (46%)

จะเห็นได้ว่าหากการควบรวมเกิดขึ้น จะทำให้มีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย และจะทำให้บริษัทที่ควบรวมแล้ว มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้สามารถชี้นำตลาดได้ ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพของการให้บริการ

3. ทางกลุ่มฯ มีความกังวลเพิ่มเติมในเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทเอกชน หรือรัฐ

หากผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมมีจำนวนน้อยลง ก็จะทำให้การแทรกแซง คุกคาม จำกัด และปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ ในการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของนักกิจกรรมและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต 

บริษัทเอกชนเองก็มีความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งในเสาหลักที่สองได้เน้นย้ำว่า บุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) 

ทางกลุ่มฯ ทราบดีว่า บริษัทเทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เป็นบริษัทที่ทำให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทเทเลนอร์ ให้ความเห็นไว้ว่า การสื่อสารโทรคมนาคมนั้น มีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนสื่อสารความคิด และเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว การรักษาจุดยืนในเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ยากขึ้น หากเกิดการควบรวมกับบริษัทภายในประเทศ ที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการรักษาความเป็นส่วนตัว ไม่เท่ากับมาตรฐานของบริษัทเทเลนอร์ 

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้เทเลนอร์ ยุติข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องรัฐบาลนอร์เวย์ พิจารณาว่า ข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ก่อนหน้านี้มีผู้เปิดแคมเปญ “รณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC” บนแพลตฟอร์ม change.org/TrueDtac มีผู้เข้าร่วมลงชื่อมากกว่า 13,000 รายชื่อ และยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงชื่อได้เพิ่มเติมเพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านดังกล่าว 

โดยข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากจะมีการลงมติชี้ขาดในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท