แอมเนสตี้ฯ ยื่น 4,701 รายชื่อต่อ รมว.ยุติธรรม ร้องคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรม 

แอมเนสตี้ฯ ยื่น 4,701 รายชื่อต่อ รมว.ยุติธรรม ร้องคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรม ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม ระหว่างรอการปล่อยตัว และแจ้งให้เจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย 

10 ส.ค.2565 ฝ่ายสื่อสารองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่าา วันนี้ (10 ส.ค. 65) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและนักกิจกรรม นำ 4,701 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบให้กับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมี วัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับรายชื่อแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหา และคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมที่กำลังถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี และขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ  

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตามที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ทั้งยังกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด ซึ่งการรณรงค์นี้มีถึงวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

“ทางการไทยได้มีการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการชุมนุมโดยสงบ และการอภิปรายทางออนไลน์ นับแต่เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยที่มีความสงบเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ยังใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือเกี่ยวกับความมั่นคง สถาบันกษัตริย์ และความผิดด้านคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือเพื่อการปราบปราม และได้ตีความว่าการใช้สิทธิอย่างสงบเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย หรือเป็นความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ และต่อมาได้มีการดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต” 

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังระบุอีกว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อภายใต้ปฏิบัติการด่วนที่มีการรณรงค์ไปทั่วโลก เรียกร้องให้ปล่อยตัวสองนักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วง บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม และใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว โดยทั้งคู่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และได้รับการปล่อยตัววันที่ 4 สิงหาคม 2565 ทางการได้ดำเนินคดีอาญากับทั้งสองคนที่ถึงแม้จะได้รับสิทธิในการประกันตัวแล้ว แต่ผลจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 64 วันส่งผลให้ร่างการได้รับผลกระทบด้านสุขภาพซึ่งในตอนนี้ยังคงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ในขณะที่ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถึงแม้จะได้รับการประกันตัวมาก่อนหน้านี้ แต่ยังถูกกักตัวในบ้าน 24 ชั่วโมงจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในที่สาธารณะ 

“แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงยังมักถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาโดยพลการเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของพวกเขา ปัจจุบันศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดมากขึ้น เท่ากับเป็นการจำกัดอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งข้อกำหนดให้พำนักอาศัยอยู่แต่ในบ้านนานถึง 24 ชั่วโมงต่อวัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล และให้ติดกำไลอีเอ็ม 24 ชั่วโมงต่อวัน”  

“ในระหว่างปี 2565 ทางการไทยได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมเนื่องจากการเคลื่อนไหวโดยสงบ เจ้าหน้าที่ยังใช้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นกับบุคคลที่เข้าร่วมในกิจกรรม ซึ่งทางการมองว่าเป็นการแสดงความเห็นต่าง รวมทั้งคนที่เป็นเด็ก และมีการใช้มาตรการต่างๆ มากขึ้นเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ และการชุมนุมโดยสงบ และยังได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” ปิยนุชกล่าว 

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้  1. ปล่อยตัวและ/หรือยกเลิกข้อกล่าวหา และให้ยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิของตนโดยสงบ และให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรม 2. ในระหว่างรอการปล่อยตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนโดยสงบ ให้การประกันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม  3. แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท