Skip to main content
sharethis
  • กมธ.งบฯ ปี 66 มีมติปรับลดงบหน่วยงานลงกว่า 7,600 ล้านบาท กลาโหม ลดสูงสุด 2.7 พันล้าน ตามด้วย อปท.และศึกษาธิการ พร้อมตั้งข้อสังเกตการจัดทำงบของรัฐบาลยังไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
  • ไม่ปรับลดงบฯ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทยและส่วนราชการในพระองค์
  • ส.ส.อุบลฯ เพื่อไทย หวั่น 'ประยุทธ์' ถลุงงบเอื้อเหล่าทัพพรรคร่วมรัฐบาล ตีเช็คเปล่าให้ใช้จัดงบฯ

10 ส.ค.2565 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย รายงานว่า บัญญัติ เจตนจันทร์ โฆษกคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงผลการพิจารณาว่า เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) กมธ.ได้พิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย โดยได้มีการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นรายมาตรา และพิจารณารับรองบันทึกการประชุม และรายงานของ กมธ. ทั้งนี้ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้มีมติปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ลงตั้งแต่มาตรา 7 ถึงมาตรา 37 จำนวนกว่า 7,600 ล้านบาท หน่วยงานที่ถูกปรับลดมากที่สุด 3 อันดับ คือ  1. กระทรวงกลาโหม ลดลง 2,778,134,500 บาท 2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ลดลง 742,208,000 บาท และ 3. กระทรวงศึกษาธิการ ลดลง 737,486,100 บาท

บัญญัติ กล่าวว่าคณะกรรมาธิการฯ เสนอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยใช้งบประมาณที่ปรับลดจำนวนดังกล่าวมาเพิ่มงบประมาณจำนวน 10 รายการ ดังนี้ 1. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 500,000,000 บาท 2. เงินอุดหนุนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของสถานีอนามัยถ่ายโอน  (องค์การบริหารส่วนจังหวัด 49 แห่ง) จำนวน 1,840,550,000 บาท 3.เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,359,853,000 บาท 4.กรมการข้าว โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2566 จำนวน 1,256,000,000 บาท 5.กรมการข้าว โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 1,021,656,000 บาท

บัญญัติ กล่าวว่า 6. สำนักงานอัยการสูงสุด เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน  230,000,000 บาท 7.สำนักงานศาลยุติธรรม เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน  จำนวน 192,284,300 บาท 8.สำนักงาน ป.ป.ช. เงินอุดหนุนผลผลิตการดำเนินการป้องกันปราบปรามการทุจริต จำนวน 154,123,100 บาท 9.สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง เงินอุดหนุนแผนงานบุคลากร จำนวน 81,577,400 บาท และ 10. ค่าใช้จ่ายพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศอ.บต.จำนวน 8,200,000 บาท

ขณะที่หน่วยงานที่ไม่ปรับลดงบประมาณคือ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทยและส่วนราชการในพระองค์

 

โฆษก กมธ. ระบุว่า จากการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กมธ.ได่มีข้อสังเกตในภาพรวมว่า การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลยังไม่สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ มีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่จากการขออนุมัติงบประมาณของรัฐบาลในปีนี้ กลับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพียง 85,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่การใช้จ่ายภาครัฐต้องเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและต้องการงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น กมธ.จึงมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรหามาตรการเพิ่มรายได้ให้รัฐ อาทิ การเพิ่มจำนวนคนที่เข้าสู่ระบบภาษีรายได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดก็บภาษีที่ดิน และภาษีมรดก นอกจากนี้ รัฐบาลควรหามาตรการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างงบประมาณในระยะยาว ผ่านการลดสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในแต่ละปีให้เหลือเท่าที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม กมธ.จะนำรายงานการพิจารณาเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาในการพิจารณางบประมาณวาระ 2 และ 3 ที่คาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 17 -19 ส.ค.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 143 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร

ส.ส.อุบลฯ เพื่อไทย หวั่น 'ประยุทธ์' ถลุงงบเอื้อเหล่าทัพพรรคร่วมรัฐบาล ตีเช็คเปล่าให้ใช้จัดงบฯ

ขณะที่ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การจัดสรรงบประมาณปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าเป็นการจัดทำงบประมาณแบบเห็นแก่ตัว หลายงบประมาณที่จัดสรรมาไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะงบกระจุก ไปอยู่ในส่วนของกองทัพ งบเพื่อความมั่นคงและงบเอื้อพรรคการเมือง ร่วมรัฐบาลมากกว่าแก้ปัญหาให้ประชาชนและฟื้นฟูประเทศหลังโควิด น่าประหลาดใจว่า ปีนี้ พลเอกประยุทธ์ ตั้งงบกลางปี 2566 ไว้ที่ 590,470 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.5% ของงบประมาณรวมทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโครงสร้างงบประมาณ ทั้งนี้เมื่อนำตัวเลขงบกลาง ตลอดอายุของรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" มารวมกัน จะพบว่ามีการตั้งงบ ก้อนนี้เอาไว้สูงถึง 2,311,262.4 ล้านบาทการตั้งงบกลางของรัฐบาล ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างต่อเนื่อง ว่าเป็น การตีเช็คเปล่า ให้พลเอกประยุทธ์เพราะไม่ปรากฏ รายละเอียด ของโครงการ แต่มีเฉพาะหัวข้อกับวงเงินเท่านั้น ไม่มีโอกาสตรวจสอบและ กลั่นกรองการใช้จ่ายเงินงบประมาณก่อน

ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า การตั้งงบกลางไว้สูงถึงขนาดนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงค์ชัดเจนว่าจะนำเงินที่มาจากภาษีของประชาชนไปหาประโยชน์ทางการเมืองและเอื้อกับพวกพ้อง ไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ไม่เคยมาชี้แจงต่อรัฐสภาว่า มีการนำงบประมาณกลางไปทำอะไรบ้าง เกิดประโยชน์อะไร

“พลเอกประยุทธ์ใช้งบประมาณโดยไม่สนใจพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมามีการใช้งบกลางไปซื้รถถังให้กองทัพ อ้างเป็นเรื่องฉุกเฉินทั้งๆที่สามารถนำ ไปใส่ไว้ ในงบประมาณของกระทรวงกลาโหมได้ ยังไม่นับการนำเงินงบกลาง 20,000 ล้าน ไปแก้ภัยแล้งแต่ประชาชนไม่มีน้ำทำนา เมื่อร้องขอน้ำทำนารัฐบาล ก็อ้างให้รอฝนตก แล้วงบ 20,000 หายไปไหน นอกจากนี้ใน ช่วงที่จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาน้ำท่วมสูงจากอุทกภัย บ้านเรือน ประชาชนเสียหาย ชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัย รัฐบาลกลับไม่นำงบกลางมาช่วย ต้องขอบริจาคผ่านทีวี กว่าผู้เดือดร้อนจะได้รับเงิน ต้องรอข้ามปี  ดังนั้นงบประมาณกลางกว่า 590,000 ล้านบาท ที่ให้อำนาจพลเอก ประยุทธ์ใช้จ่าย ชัดเจนว่ามีไว้เพื่อกองทัพกับพวกพ้อง ไม่ได้มีไว้ แก้ปัญหาให้ประชาชนแต่อย่างใด” กิตติ์ธัญญา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net