ยูเอ็นเผยแพร่รายงาน ระบุมีหลักฐานชี้รัฐบาลเผด็จการพม่ายกระดับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าพวกเขาค้นพบหลักฐานใหม่ที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลเผด็จการพม่ายกระดับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหนักขึ้น มีเด็กและผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างมาก

แถลงการณ์วันที่ 9 ส.ค. 2565 ของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ระบุว่าในพม่ายังคงมีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยที่ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กอย่างหนักมาก หลักฐานในเรื่องนี้มาจากการรวบรวมของ "คณะกลไกสืบสวนอิสระกรณีพม่า" (IIMM) และมีการนำเสนอข้อมูลคร่าวๆ ผ่านรายงานประจำปีที่ออกมาในวันนี้

กลไกสืบสวนกรณีพม่าได้ทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ มากกว่า 3 ล้านรายการจากแหล่งข้อมูลเกือบ 200 ที่มา โดยมีการเริ่มต้นเก็บรวบรวมมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจำพวกข้อความจากการสัมภาษณ์, เอกสารพยานประกอบ, วิดีโอ, ภาพถ่าย, ภาพตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีกรณีที่กองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธก่ออาชญากรรมทางเพศหรืออาชญากรรมที่อยู่บนฐานของเรื่องเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนหรือความรุนแรงทางเพศอื่นๆ รวมถึงการก่ออาชญากรรมต่อเด็กด้วย รายงานระบุว่ามีเด็กในพม่าที่ถูกทารุณกรรม ถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร และถูกคุมขังโดยพลการ เช่นถูกคุมขังแทนที่พ่อแม่ของพวกเขา

นิโคลัส คุมเจียน หัวหน้าคณะกลไกสืบสวนอิสระกรณีพม่ากล่าวว่าอาชญากรรมต่อผู้หญิงและเด็กเป็นหนึ่งในอาชญากรรมระดับนานาชาติที่ร้ายแรงที่สุด แต่ที่ผ่านมาอาชญากรรมเหล่านี้ก็มีการรายงานถึงน้อยและมีการสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อย คุมเจียนบอกอีกว่าทีมของพวกเขามีผู้เชี่ยวชาญที่อุทิศตัวเพื่อประเด็นนี้ซึ่งจะเป็นการทำให้แน่ใจว่าจะมีการเข้าถึงเป้าหมายและการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้อาชญากรรมเหล่านี้ถูกดำเนินคดีในที่สุด

คุมเจียนกล่าวว่า ผู้ก่ออาชญากรรมเหล่านี้ควรจะต้องรู้ว่าพวกเขาไม่สามารถก่ออาชญากรรมต่อไปได้โดยยังคงลอยนวลไม่ต้องรับผิด ทีมของคุมเจียนกำลังเก็บรวบรวมและรักษาหลักฐานเพื่อที่วันหนึ่งจะได้นำตัวผู้ก่อเหตุเหล่านี้มารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

รายงานระบุอีกว่ามีหลักฐานบ่งชี้มากพอที่แสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่ที่กองทัพพม่ายึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564 เป็นต้นมา ก็มีการก่ออาชญากรรมคือการโจมตีพลเรือนรุนแรงขึ้นทั้งในแง่ขนาดและวิธีการ นอกจากนี้การก่ออาชญากรรมจากกองทัพพม่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างของเรื่องนี้คือการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 ราย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมาด้วย

รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมา 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการครบรอบ 5 ปี กรณีปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ที่ถูกส่งตัวออกนอกประเทศหรือถูกบีบให้ต้องย้ายถิ่นฐานยังคงอยู่ในค่ายผูลี้ภัยหรือยังคงต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ

คุมเจียนกล่าวว่า ในขณะที่ชาวโรฮิงญาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการกลับสู่พม่าอย่างปลอดภัยและอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องนี้ยากมากที่จะเกิดขึ้นถ้าหากไม่มีการทำให้ผู้ก่อเหตุเลวร้ายต่อโรฮิงญาต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไป รวมถึงการดำเนินคดีต่อกลุ่มคนที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญาด้วย คุมเจียนบอกอีกว่าความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญาและความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นในพม่าสะท้อนให้เห็นว่า กลไกในการทำให้เกิดความยุติธรรมและการเอาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดก่อเหตุโหดร้ายขึ้นอีกนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

คณะกลไกสืบสวนอิสระประเด็นพม่าได้เผยแพร่รายงานในเรื่องนี้โดยได้รับความยินยอมจากแหล่งข้อมูลของพวกเขาให้สามารถเผยแพร่หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีได้ ซึ่งข้อมูลหลักฐานเหล่านี้จะช่วยเกื้อหนุนต่อกระบวนการยุติธรรมในระดับนานาชาติ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้กำลังดำเนินอยู่ที่ศาลยุติรรมระหว่างประเทศ (ICJ) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

"คณะกลไกสืบสวนอิสระกรณีพม่า"  เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2561 เพื่อเก็บรวบรวมและวิเคราะห์หลักฐานของอาชญากรรมร้ายแรงระดับนานาชาติและการละเมิดกฎหมายนานาชาติอื่นๆ ที่เกิดในพม่านับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เป้าหมายก็เพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมและการนำตัวผู้เกี่ยวข้องมารับผิดชอบต่ออาชญากรรมของพวกเขาด้วยการเก็บรักษาและจัดเรียบเรียงหลักฐาน รวมถึงเตรียมสำนวนคดีเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดีในอนาคตต่อผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ในศาลระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท