อนาคตของร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณ วันนี้ (5 ส.ค.) เราคงพอที่จะมองออกว่าอนาคตของร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในรัฐสภาในวาระที่ 2 คงไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดระยะเวลา 180 วัน นับแต่เริ่มการพิจารณาในวันแรก โดยจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะเหลือการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพียงอีกครั้งเดียวคือวันที่ 10 สิงหาคมนี้เท่านั้น อีกทั้งยังมีกฎหมายอื่นยังค้างพิจารณาอยู่อีกฉบับหนึ่งอยู่อีกด้วย

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ในมาตรา 132 (1) บัญญัติไว้ว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131 (คือร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง กับร่างที่เสนอโดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนที่มีอยู่ในสภาผู้แทนฯ )

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

ก็ต้องนำร่างที่ ครม.เสนอเข้ามาโดยคำเสนอแนะของ กกต.ไปใช้ แต่ก็ต้องทำตามขั้นตอนตามมาตรา 132 (2) อยู่ดี คือ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดําเนินการต่อไป ซึ่งในที่นี้ก็คือส่งไปให้ กกต.เท่านั้น ไม่ใช่ส่งไปให้ศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญตามที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “หรือ”

แล้วมาตรา132 (3) ยังบัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าวในการนี้ ให้รัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดําเนินการต่อไป

ซึ่งผลผลของการส่งไปให้ กกต.นี้ก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะเป็นร่างของ กกต.เอง

จะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม

คำตอบก็คือ ได้แน่นอน เพราะมาตรา 148 บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 (...ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้)

(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

(2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้าในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดําเนินการต่อไปตามมาตรา 81

สรุปก็คือ ร่าง พ.ร.ป.ฯ นี้ก็คงออกมาใช้ตามที่ ครม.เสนอโดยเทคนิควิธีที่ให้กฎหมายพิจารณาไม่ทัน 180 วัน ถามว่าทำได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่หากถามว่าเหมาะสมหรือสมควรไหม คำตอบก็คือไม่เหมาะสมและไม่สมควร เพราะสิ่งดีๆที่พิจารณามาในชั้นกรรมาธิการก็จะเสียเปล่า เสียทั้งเวลาและงบประมาณที่ใช้ไป เสียต่อพัฒนาการประชาธิปไตยที่ทำให้ผู้คนเบื่อหน่ายเอือมระอา เพราะเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและตัวสมาชิกตลอดจนผู้มีอำนาจในรัฐบาลเท่านั้น 

ที่สำคัญที่สุดคือไม่เห็นหัวประชาชนอยู่ในสายตาเลยแม้แต่นิดเดียว

ผมมีภาคภูมิใจว่าเคยเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภาที่ทรงเกียรติ แต่บัดนี้ผมมีความอับอายเป็นอย่างยิ่งที่เพื่อนสมาชิกฯ ได้กระทำในสิ่งที่ไม่อยู่ในฐานะที่เรียกตนเองได้ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท