Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีคนเชื่อว่าการที่ทักษิณสั่งให้วันหยุดราชการ 31 ธันวาคม 2546 เป็นวันทำงาน ก็เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองให้เสียภาษีน้อยลง  เรื่องนี้ความจริงเป็นอย่างไร เรามาทำความจริงให้ปรากฏ และเรื่องนี้เกี่ยวกับราคาประเมินราชการอีกด้วย

ในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน: ‘สนธิ’ จี้เช็กบิล ‘อุ๋ย’ เอี่ยวที่ดินรัชดาฯ” ที่เผยแพร่เมื่อ 23 มิถุนายน 2550 นายสนธิ ลิ้มทองกุลกล่าวว่า “รัฐบาลเขาตั้งอัตราค่าธรรมเนียมการโอนที่เขาต้องการส่งเสริมการซื้อที่ดิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เขาขยายระยะเวลามาจนถึงปลายปี 2546 แล้วก็ที่ดินผืนนี้ ถ้าโอนภายในปี 2546 ก็จะเสียภาษีแค่ 722,000 บาท ถ้าโอน 47 เสีย 2 เปอร์เซ็นต์ เสีย 15 ล้านบาท เห็นไหม กับแค่ 13-14 ล้านบาท อั๊วก็ไม่ยอมเสีย วิธีลื้อไม่ยอมเสียลื้อทำยังไง ก็ให้ผัวลื้อ ประกาศว่าวันพุธที่ 31 ธันวาคม. . . บอกว่าไม่ใช่วันหยุด เป็นวันทำงาน ดูมันสิ เห็นหรือยัง เพื่อให้กรมที่ดินทำงาน อีจะได้โอนที่ดินให้คุณหญิงพจมาน โอนในวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เห็นหรือยังพ่อแม่พี่น้อง ที่ดินที่ควรจะซื้อในราคากลางก็ไม่ยอมจ่าย ภาษีเล็กๆ น้อยๆ 10 กว่าล้าน ก็ไม่ยอมจ่าย” <1>

หลังจากนายสนธิซึ่งถือเป็น “สารตั้งต้นสร้างความขัดแย้ง” กล่าวเช่นนี้ ก็ลือไปต่างๆ นานา ประหนึ่งว่าเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ในที่นี้ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาเป็นกรณีศึกษา

1. การกำหนดให้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันทำงานทั้งที่เป็นวันหยุดสิ้นปีนั้น เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 <2> กำหนดไว้ก่อนวันประมูลเมื่อ 16 ธันวาคม 2546 <3> ตามที่แสดงไว้ในคำพิพากษาของคดีนี้ การกำหนดให้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันทำงาน จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องการประมูลเลย ไม่ใช่การเตรียมเพื่อหวังเอื้อประโยชน์ใครเลย

2. เหตุผลของการกำหนดให้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันทำงานก็เพราะวันดังกล่าวเป็นวันพุธ หากหยุดวันที่ 1 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี ก็จะทำให้วันศุกร์ที่ 2 มกราคม 2547 เป็นวันทำงาน ทำให้ประชาชนไม่ได้หยุดยาว รัฐบาลทักษิณจึง “คิดใหม่ ทำใหม่” ด้วยการเลื่อนวันหยุดราชการ 31 ธันวาคม มาหยุดในวันที่ 2 มกราคม 2547 แทน เพื่อหยุดยาว 4 วัน (พฤหัสบดีที่ 1- อาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2547) การเลื่อนวันหยุดนี้จึงไม่ได้หวังเอื้อประโยชน์ต่อการโอนที่ดินแปลงนี้ตามที่ถูกกล่าวหาเลย

3. อย่างไรก็ตามการเลื่อนวันหยุดเพื่อประสิทธิภาพการทำงานนี้ถือว่าเป็นการเน้นการ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” เพื่อประเทศชาติมากกว่าการเพิ่มวันหยุดเพื่อข้าราชการ และกรณีนี้ต่างกับในสมัยรัฐบาลประยุทธ์โดยจะเห็นได้ว่าในวันศุกร์ที่ 2 มกราคม 2557 นั้น รัฐบาลประยุทธ์สั่งให้เป็นวันหยุดเพื่อให้หยุดยาว 5 วันต่อเนื่องโดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว <4> นี่เป็นการคิดแบบข้าราชการโดยแท้

4. ที่สำคัญที่สุดก็คือที่ดินแปลงนี้ได้รับการชำระเงินครบถ้วนก่อนวันโอน และได้โอนเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 <5> ดังนั้นจึงพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า การเลื่อนวันหยุดราชการ (31 ธันวาคม) ดังกล่าว ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่กรณีการโอนที่ดินรัชดาฯ เลย

5. อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2546 นั้นเป็นวันครบรอบราคาประเมินราชการหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งประกาศใช้ทุก 4 ปี โดยรอบในขณะนั้นคือปี 2543-2546 ดังนั้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 จึงต้องประกาศใช้ราคาประเมินใหม่ และที่ผ่านมาทางราชการก็เคยให้ทำงานในวันโอนวันสุดท้ายก่อนวันกำหนดเส้นตายเสมอเพื่อเลี่ยงที่จะเสียภาษีตามอัตราใหม่  เช่น กรณีการจะเริ่มประกาศใช้ราคาประเมินทางราชการรอบใหม่ พ.ศ.2551-2554 ก็ให้กำหนดโอนโดยใช้ราคาประเมินเดิมที่เสียภาษีน้อยกว่าได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เช่นกัน หรือกรณีเปลี่ยนราคาประเมินจาก 1 มกราคม เป็น 1 กรกฎาคม 2555 ทางราชการก็  “พร้อมรับมือคลื่นมหาชน เปิด (บริการโอน ณ สำนักงานที่ดิน) ถึงมิดไนต์ยันเช้า” ได้เช่นกัน และกรมที่ดินเปิดให้บริการถึงวันสุดท้าย วันเสาร์ 30 มิถุนายน 2555 <6> การโอนจนถึงวันสุดท้ายเกินเวลาราชการ จึงเป็นสิ่งปกติที่ดำเนินการมาหลายครั้ง

6. ลองคิดดูในมุมกลับบ้าง นายสนธิกล่าวไว้ตามข้อ 1 ว่า “ถ้าโอนภายในปี 2546 ก็จะเสียภาษีแค่ 722,000 บาท ถ้าโอน 47 เสีย 2 เปอร์เซ็นต์ เสีย 15 ล้านบาท เห็นไหม กับแค่ 13-14 ล้านบาท” การซื้อที่ดินเป็นเงินถึง 770 ล้านบาท จะไปห่วงประหยัดเงิน 13-14 ล้านทำไม เพราะอาจทำให้เกิดข้อครหาได้ไม่คุ้มเสียใช่หรือไม่  การกล่าวหาทักษิณในกรณีนี้จึงถือว่าเลื่อนลอย

7. ยิ่งกว่านั้นการที่ทักษิณซื้อที่ดินในนามภริยาและได้ปรึกษาส่วนราชการต่างๆ แล้วว่าสามารถกระทำได้ น่าจะมองในแง่ตรงกันข้ามบ้างว่านี่เป็นการแสดงออกถึงความโปร่งใส แทนที่จะ “แอบซื้อ” แบบนักการเมืองหรือข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่จำนวนมาก ที่ให้ผู้อื่นถือครองแทน เป็นต้น  อย่างไรก็ตามคดีนี้เป็น “คดีการเมือง” ซึ่งคงต้องอาศัยนักกฎหมายในการชำระกันต่อไปในอนาคต

8. และสุดท้ายคุณหญิงพจมานยังได้รับเงิน 772 ล้านบาทคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปีอีกด้วย <7> ยิ่งกว่านั้นท่านยังได้เรียกร้องค่าออกแบบอีก 39 ล้านบาท เพราะครอบครัวชินวัตรตั้งใจจะนำที่ดินแปลงนี้ไปสร้างที่อยู่อาศัยของครอบครัว

อนึ่งการเขียนเรื่องที่อ่อนไหวนี้อาจเป็นผลเสียกับผู้เขียนเอง แต่ผู้เขียนเห็นว่าสังคมควรรู้ความจริง และตั้งใจทำความจริงให้ปรากฏ และผู้เขียนก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับใครเลย


อ้างอิง
<1> โปรดดู https://mgronline.com/onlinesection/detail/9500000072910
<2> โปรดค้นมติคณะรัฐมนตรี 25 พฤศจิกายน 2546 เรื่องการหยุดวันที่ 2 มกราคม 2547 ได้ที่ https://bit.ly/3zEkSnt
<3> อ่านคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาได้ที่นี่ https://bit.ly/3JD18VM
<4> โปรดค้นมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2557 เรื่องการหยุดวันที่ 2 มกราคม 2558 ได้ที่ https://bit.ly/3A48n5V
<5> รายละเอียดปรากฏอยู่ในคำพิพากษาตามข้อ <3> เช่นกัน
<6> โปรดดูได้ที่ “คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ใกล้ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทักษิณโกง?” https://bit.ly/1LBDFlb โดย Link ที่แสดงชำรุดไปแล้ว
<7> โปรดดูข่าว ศาลสั่ง “คุณหญิงอ้อ” คืนที่ดินรัชดาให้รัฐ https://www.komchadluek.net/news/74258

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net