Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงต่อสื่อ 3 ประเด็น ได้แก่

  • กสม. เผยกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ เป็นการแทรกแซงเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ แนะ สตช.-อัยการใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความจำเป็น และผลกระทบต่อประชาชน
  • กสม. ชี้ ศบค.ยังไม่ยกเลิกข้อกำหนดฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ซึ่งละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชน ตามข้อเสนอแนะ-เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสั่งการ
  • กสม. เผยกรณีสำนักงานขนส่งไม่อนุญาตให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวทำใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ แม้จะมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

1 ก.ย. 2565 ทีมสื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานวันนี้ (1 ก.ย.) วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 31/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้ 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กสม. เผย ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุมโดยสงบ เป็นการแทรกแซงเสรีภาพ แนะ สตช.-อัยการใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความจำเป็น และผลกระทบต่อ ปชช.

เมื่อ ก.พ. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง 2 กรณี ได้แก่ (1) กรณี “กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย” เข้ายื่นหนังสือถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร เพื่อร้องเรียนถึงการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 และ (2) กรณีประชาชนกลุ่ม “คณะอุบลปลดแอก” และแนวร่วม จัดชุมนุมคาร์ม็อบในชื่อกิจกรรม “Carmob #4 ซิ่ง ไล่ เสี่ย(หนู)” รอบบริเวณตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยประชาชนผู้ร้องทั้ง 2 กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี (ผู้ถูกร้อง) ดำเนินคดีในฐานความผิดร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 และข้อกล่าวหาตามกฎหมายอื่นอีกหลายประการ โดยผู้ร้องเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมีหน้าที่ในการงดเว้นไม่เข้าไปแทรกแซงการใช้เสรีภาพของประชาชนโดยไม่ชอบและปราศจากเหตุอันควร อย่างไรก็ดี แม้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจะสามารถถูกจำกัดลงได้ ตามที่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจ เช่น มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือ ความปลอดภัยสาธารณะ แต่การจำกัดเสรีภาพนั้นจะต้องเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่นหนังสือต่อ UN ยกเลิก ม.112 เมื่อ 10 ธ.ค. 2563

จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลักษณะของการชุมนุมและพฤติการณ์ของผู้เข้าร่วมการชุมนุมในทั้งสองเหตุการณ์ในภาพรวมเป็นไปโดยสงบ และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการทำกิจกรรม โดยไม่ได้รวมกลุ่มอย่างเบียดเสียด ประกอบกับสถานที่จัดการชุมนุมทั้งสองเหตุการณ์เป็นการจัดงานกลางแจ้งในที่โล่งกว้าง อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีข้อมูลหลักฐานที่สนับสนุนในทางใดเลยว่าการชุมนุมในทั้งสองเหตุการณ์นั้นได้ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังประชาชนกลุ่มอื่น ๆ พฤติการณ์ที่ปรากฏนี้จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการชุมนุมดังกล่าวแทบไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคไปในวงกว้างได้ อันจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้เป็นฐานความผิดในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

กสม. เห็นว่า การใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีดังกล่าวของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ มุ่งแต่ที่จะใช้บังคับกฎหมายโดยไม่ได้สนใจต่อผลกระทบที่เป็นการสร้างภาระอันเกิดต่อผู้ชุมนุมในหลายด้าน กสม. จึงเห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายได้กระทำการอันเป็นการแทรกแซงต่อการใช้เสรีภาพของผู้ร้องทั้งสองจนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเคารพและประกันเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ สรุปได้ดังนี้

1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน

1.1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตรวจสอบ กำกับ และควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลพินิจที่เกินไปกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายและปราศจากเหตุผลอันสมควรในการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และต้องทบทวนแนวทางการใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีในฐานความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นของการดำเนินคดี รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งนี้ ต้องมีข้อสั่งการไปยังสถานีตำรวจในทุกท้องที่ทั่วประเทศเพื่อให้มีการดำเนินการตามแนวทางการดำเนินคดีที่ได้ทบทวนไปแล้วอย่างเคร่งครัดด้วย

1.2) ให้สำนักงานอัยการสูงสุดต้องเน้นย้ำไปยังสำนักงานอัยการทุกแห่งทั่วประเทศให้ระมัดระวังการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดีและสั่งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินคดีในความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยการใช้ดุลพินิจควรคำนึงถึงความจำเป็นของการดำเนินคดี รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งหากเห็นว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ และความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่เกิดจากกิจกรรมมีเพียงเล็กน้อย พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีก็ควรใช้ดุลพินิจในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือหากเห็นว่าสังคมโดยรวมจะไม่ได้รับประโยชน์หากมีการดำเนินคดีไปถึงชั้นศาล ก็ควรเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดให้สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

2.1) คณะรัฐมนตรีในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ความเห็นชอบต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรทบทวนความจำเป็นของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรเร่งพิจารณาให้มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว ทั้งนี้ ในการพิจารณาดังกล่าวควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

2.2) หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่เพียงพอในการนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีควรริเริ่มจัดทำกฎหมายฉบับใหม่หรือแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นต้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภัยพิบัติทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นได้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของสภาพปัญหาและสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดทำหรือแก้ไขกฎหมายทุกขั้นตอนนั้น จะต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านด้วย

ศบค.ยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 27 ซึ่งละเมิดเสรีภาพสื่อ ตามข้อเสนอแนะ-เตรียมชง ครม.สั่งการ

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ขอให้ตรวจสอบการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 และข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ข้อ 1 ซึ่งระบุมาตรการมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) และการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต่อมา กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 มีมติว่า การบังคับใช้ข้อกำหนด ฯ
ทั้งสองฉบับดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้มีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้ยกเลิกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) เฉพาะส่วนในข้อ 11 (ส่วนข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 31) ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ให้ยกเลิกแล้ว) และในระหว่างที่ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้ ศปก.ศบค. ชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยให้พิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว

ล่าสุด กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ได้รับทราบผลการติดตามการดำเนินงานของ ศปก.ศบค. ตามข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าว ซึ่ง ศปก.ศบค. มีหนังสือ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2565 แจ้งว่า สืบเนื่องจากได้มีการออกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 31) ยกเลิกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) แล้ว โดยที่ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ข้อ 1 เป็นบทบัญญัติที่มีถ้อยคำและเนื้อหาสาระเช่นเดียวกันกับข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 เมื่อข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ถูกยกเลิกจึงเป็นการยกเลิกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 โดยปริยาย ตามหลักกฎหมายใหม่ที่มีเนื้อหาสาระหรือบทบัญญัติเดียวกันยกเลิกกฎหมายเก่า จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 ซึ่งสิ้นผลไปแล้วอีก

อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า แม้ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 จะมีเนื้อหาสาระเป็นอย่างเดียวกันกับข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ข้อ 1 แต่ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 มีผลบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร และผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548) ในขณะที่ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ข้อ 1 มีผลบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อ 2 ของข้อกำหนดดังกล่าวกำหนดให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้มีหน้าที่ตรวจสอบที่มาของข้อความหรือข่าวสารที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ข้อ 1 เพื่อระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเห็นว่า ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญบางประการต่างจากข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 ย่อมไม่มีผลเป็นการยกเลิกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 โดยปริยายตามที่ ศปก.ศบค. กล่าวอ้าง อันเป็นกรณีที่ ศปก.ศบค. ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนี้แล้ว กสม. จึงมีมติให้จัดทำรายงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ ศปก.ศบค. ยกเลิกข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 ต่อไป

สำหรับข้อเสนอแนะที่ให้ ศปก.ศบค. ชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กสม. ได้รับแจ้งว่า ที่ผ่านมา ศปก.ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อแล้ว รวมทั้งได้พิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมภายใต้ข้อเสนอแนะฝ่ายสาธารณสุขและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมาโดยตลอด จึงเห็นควรยุติการติดตามผลดำเนินการ ในประเด็นข้อเสนอแนะของการประชาสัมพันธ์ข้อมูล     

สำนักงานขนส่งไม่อนุญาตให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวทำใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ แม้จะมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่สามารถขับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติได้อย่างคนปกติทั่วไป และได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลจากสำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี โดยอาศัยใบอนุญาตดังกล่าวในการประกอบอาชีพเสริมขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน (Grab Driver) มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ต่อมาได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้ร้องจึงไปติดต่อขอทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครหลายแห่ง และสำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องเป็นผู้พิการ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม.พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 กำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความพิการจะกระทำไม่ได้ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้รับรองความเท่าเทียมกันและการห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมการขนส่งทางบก (ผู้ถูกร้อง) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องไปติดต่อสำนักงานขนส่งหลายแห่งเพื่อขอทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ แต่ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าผู้ร้องเป็นผู้พิการทำให้ไม่สามารถทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะได้ ทั้งที่การทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะมีหลักการพื้นฐานเดียวกันกับการทำใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 ซึ่งผู้ร้องเองก็เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 และได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ตลอดมา

และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขเรื่องความพิการที่เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกใช้เป็นสาเหตุในการปฏิเสธไม่ให้ผู้ร้องทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะนั้น จะพบว่าตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 (4) ระบุว่า “ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นว่า ไม่สามารถขับรถได้” ซึ่งผู้ถูกร้องได้ให้คำอธิบายไว้ในการชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีที่นายทะเบียนจะต้องพิจารณาความพิการทางกายภาพที่มองเห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตมีสภาพความพิการอย่างไร เช่น ตาบอด แขนขาด ขาขาด เป็นต้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีของผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและสามารถขับรถยนต์ได้ตามปกติดังเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไปโดยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์มาตั้งแต่ปี 2548 ผู้ร้องจึงน่าจะเป็นผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องปฏิเสธไม่ให้ผู้ร้องทำใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้พิการจึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ในชั้นนี้จึงเห็นว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า เพื่อให้การออกใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะกรณีของผู้ร้อง เป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความชัดเจนและสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีลักษณะเดียวกับผู้ร้องได้ จึงได้สั่งการให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ข้อ 8 (2) (ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนพิจารณาสภาพร่างกายและจิตใจ ประวัติการขับรถ และความเหมาะสม ในการขับรถของผู้ขอรับใบอนุญาต) ทั้งนี้ ได้สั่งการเป็นการภายในให้นายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ประสานผู้ร้องเพื่อมายื่นคำขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะแล้ว อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่านายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ยังไม่ได้เรียกผู้ร้องเข้าไปพบเพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของกรมการขนส่งฯ แต่อย่างใด ทำให้ปัญหาของผู้ร้องยังไม่ได้รับแก้ไข

ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมการขนส่งทางบก โดยขอให้เร่งรัดให้ผู้ร้องได้เข้ารับการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ และให้กำชับนายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ข้อ 8 (2) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การออกใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความชัดเจน และสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้ร้อง ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net