Skip to main content
sharethis
  • ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ 'จีน' ถือเป็นผู้นำของโลก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญของแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ผลิตจากจีนแทบทั้งสิ้น
  • ในปี 2564 ประมาณการกันว่า 'โพลีซิลิคอน' วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 'แผงโซลาร์เซลล์' 45% มาจาก 'ซินเจียง' ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ในจีน หมายความว่าชิ้นส่วนแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ในโลกน่าจะถูกผลิตขึ้นที่นี่ และอย่างน้อยบางส่วนก็อาจมีการใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์ด้วย
  • สหรัฐฯ และยุโรป กำลังกดดันจีนในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ มีการออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากซินเจียงยกเว้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับ


พลังงานทางเลือกแม้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมนี้ | ที่มาภาพประกอบ: Nuno Marques (Unsplash License)

"พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานแห่งเสรีภาพ" คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังของเยอรมนีกล่าวไว้ไม่นานหลังจากรัสเซียบุกยูเครนในเดือน ก.พ. 2565 มีคำเปรียบเปรยว่าเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานก็ลดลง และในขณะที่รัสเซียจำกัดการส่งออกก๊าซไปยังยุโรป พลังงานแสงอาทิตย์ก็ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาเรื่องแรงงานทาสในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับต้นทุนที่แท้จริงของ "เสรีภาพ" และการห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานบังคับ อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดช้าลง

ในปี 2564 ประมาณการกันว่า 'โพลีซิลิคอน' (Polysilicon) วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 'แผงโซลาร์เซลล์' (Photovoltaic - PV) ร้อยละ 45 มาจากซินเจียง ประเทศจีน ซึ่งถูกจับจ้องว่ามีการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และนานาชาติก็กำลังกดดันประเด็นนี้อย่างหนัก โดยเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2565 พระราชบัญญัติป้องกันแรงงานที่ถูกบังคับชาวอุยกูร์ (UFLPA) มีผลบังคับใช้ในสหรัฐฯ โดยแถลงการณ์จากฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวส่งสารที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนการใช้แรงงานทาสของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ

กฎหมายในสหรัฐฯ และมาตรการในยุโรป

การบังคับใช้กฎหมาย UFLPA เป็นความพยายามล่าสุดของสหรัฐฯ เพื่อกดดันจีนให้จัดการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับในเขตมณฑลซินเจียงทางตอนเหนือของจีน โดยกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเชื่อว่า มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ภายในแคมป์คนงานและบังคับให้ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงถือว่าสินค้าที่ส่งออกจากซินเจียงทั้งหมดมาจากการผลิตโดยแรงงานบังคับและไม่อนุญาตให้นำเข้ายกเว้นกรณีที่ผู้ส่งออกจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานบังคับ นอกเหนือจากสินค้าในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่เข้าข่ายห้ามนำเข้าภายใต้กฎหมายดังกล่าวด้วย เช่น ฝ้าย และมะเขือเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ในเดือน ก.ค. 2565 รัฐสภายุโรปมีมติที่สอดคล้องกับ UFLPA แต่รวมถึงสินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับทุกที่ในโลกนอกจากนี้เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้แรงงานบังคับของสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะสรุปว่ามีการบังคับใช้แรงงานในกลุ่มชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในภาคการเกษตรและภาคการผลิต ที่เขตปกครองตนเองของชาวอุยกูร์ มณฑลซินเจียง ประเทศจีน ในรายงานของเขายังระบุว่าในภูมิภาคซินเจียงโครงการบรรเทาความยากจนที่มีศูนย์ฝึกอบรมทักษะอาชีพ แต่มีการโยกย้ายแรงงานส่วนเกินไปทำงานอื่นๆ แม้จะได้รับค่าจ้างแต่มีหลักฐานว่าการทำงานหลายๆ อย่างนั้นเป็นการทำงานโดยไม่สมัครใจ

แอนนา คาวัซซีนี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมันกล่าวว่า "เราไม่ควรต้องบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แต่กลับมีการใช้แรงงานทาส" เธอเชื่อว่ายุโรปสามารถและควรบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ส่วนจิม วอร์มิงตัน นักวิจัยอาวุโสของ Human Rights Watch เห็นด้วยว่าไม่ควรมีบริษัทใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตามข้อตกลงคุ้มครองแรงงานอาจทำให้การเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดกว่าช้าลง ในประเทศเยอรมนี สมาคมนักนวัตกรรมตลาดพลังงาน (BNE) ได้เตือนว่าการหยุดการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศจีนจะ "ทำให้เกิดความผิดพลาด" ในเยอรมนีและยุโรป "สหภาพยุโรปไม่สามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้เพียงพอ และต้องพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมดเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ทะเยอทะยาน" SolarPower Europe องค์กรอุตสาหกรรมในบรัสเซลส์กล่าว

ส่วนที่สหรัฐฯ ภายใต้กฎหมาย UFLPA กำหนดให้ผู้ประกอบการแสดงเอกสารหลักฐานรับรองว่าสินค้านำเข้าดังกล่าวไม้ได้ผลิตหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานบังคับ ทำให้มีสินค้าแผงโซลาร์เซลล์สั่งนำเข้าจากจีนจำนวนมากที่ไม่สามารถแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่เจ้าหน้าที่ได้ถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือถูกกักสินค้าเพื่อรอตรวจสอบที่ท่าเรือเพิ่มมากขึ้น

จะกดดันเบอร์ 1 ของโลก ได้มากน้อยแค่ไหน?


จีนถือเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญของแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ผลิตจากจีนแทบทั้งสิ้น | ที่มาภาพประกอบ: Ricardo Gomez Angel (Unsplash License)

จีนถือเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ปี 2564 ยุโรปพึ่งพาจีนมากกว่าร้อยละ 80 ของการนำเข้าโพลีซิลิคอน โยฮันเนส เบิร์นรอยเตอร์ ผู้ก่อตั้งองค์กรวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ (SRI) กล่าวว่าหากไม่มีการห้ามนำเข้าจากประเด็นแรงงานบังคับ ตัวเลขนี้จะเข้าใกล้ ร้อยละ 90 ภายในปี 2567, มีการประมาณการว่าจีนผลิตแท่งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar ingots) มากกว่าร้อยละ 95 ของโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้จีนยังผลิตแผ่นเวเฟอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Wafer) ประมาณร้อยละ 99 ของโลก 

อาจจะกล่าวได้ว่า 'ซินเจียง' ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์นี้ หมายความว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ในโลกน่าจะถูกผลิตขึ้นที่นี่ และอย่างน้อยบางส่วนก็อาจมีการใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์ด้วย 

Rights Lab ของมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานใน 30 ประเทศ ที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มากที่สุด Rights Lab ประเมินว่าความเสี่ยงการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยแรงงานบังคับจากจีนของแต่ละประเทศใช้อยู่ระหว่าง ร้อยละ 27-94 

โดย Rights Lab ประเมินว่าอินเดียซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศกำลังเฟื่องฟู มีความเสี่ยงการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยแรงงานบังคับจากจีนน้อยที่สุดที่ ร้อยละ 27.1 เท่านั้น สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้มีความเสี่ยงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ ร้อยละ 43

ส่วนเยอรมนีมีความเสี่ยงถึง ร้อยละ 55.7, ฝรั่งเศส ร้อยละ 60.6, แคนาดา ร้อยละ 66.9, เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 68.6, ไทย ร้อยละ 68.7%, ไต้หวัน ร้อยละ 77.2, อิสราเอล ร้อยละ 79, สเปน ร้อยละ 83.9, ญี่ปุ่น ร้อยละ 85.1, สหราชอาณาจักร ร้อยละ 85.9, เวียดนาม ร้อยละ 86.3, เกาหลีใต้ ร้อยละ 89.1, อิตาลี ร้อยละ 92.2 และออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยแรงงานบังคับจากจีนมากที่สุดที่ ร้อยละ 94.1

การลดสัดส่วนการครองตลาดชิ้นส่วนอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ของจีนเป็นเรื่องยาก หน่วยงานเอกชนอย่าง Solar Energy UK และ SolarPower Europe ระบุว่าพวกเขาได้ทำงานเพื่อจัดตั้งโครงการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมนี้มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้แน่ใจว่า "ไม่มีแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำจากส่วนประกอบใด ๆ ที่เกิดจากแรงงานบังคับสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของยุโรปได้" โฆษกของ Solar Energy UK กล่าวว่าอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการบรรลุวัตถุประสงค์นี้

เจมส์ คอคเคนส์ จาก Rights Lab ระบุว่าแม้จะมีมาตรการใหม่ที่ใช้โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ก็เป็นปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่จะตัดสินใจว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำเข้ามานั้นมีการใช้แรงงานบังคับหรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิตมักใช้โพลีซิลิคอนจากซัพพลายเออร์หลายราย ในทำนองเดียวกัน บริษัทจีนอาจสร้างสายการผลิตที่ "ปราศจากแรงงานบังคับ" สำหรับตลาดตะวันตก ในขณะที่ยังคงขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานบังคับในที่อื่นๆ ต่อไป 

แม้จะไม่ทั่วถึง แต่ต้องเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง


การนำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาใช้ ก็ควรคำนึงถึงคนทำงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ด้วย | ที่มาภาพประกอบ: Jeremy Bezanger (Unsplash License)

เดวิด บอล จาก Uyghur Solidarity Campaign ชี้ว่าจีนสามารถปรับการผลิตของตนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากแรงงานบังคับถูกนำมาใช้มากขึ้นในตลาดภายในประเทศ แต่จะใช้แรงงานปกติในการผลิตสำหรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือและยุโรป

แม้จะมีข้อกังวลดังกล่าว แต่บอลก็ยังเชื่อมั่นว่ามาตรการใหม่นี้ [กฎหมาย UFLPA ของสหรัฐฯ และมาตรการของ EU] จะกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับซัพพลายเออร์ในจีน "มันจะช่วยยกระดับรายละเอียดของปัญหาและทำให้รัฐบาลจีนอับอาย บังคับให้ต้องอธิบายแนวทางปฏิบัติและปกป้องคนทำงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป" เขากล่าว 

ยิวเฮอร์ อิลแฮม ผู้ประสานงานโครงการแรงงานบังคับขององค์กร Worker Rights Consortium ก็แสดงการสนับสนุนด้วยเช่นกัน "ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าคำสั่งห้ามเหล่านี้ และความพยายามของพวกเขาในการยุติการสมรู้ร่วมคิด กำลังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งกำลังกดดันรัฐบาลจีนให้ยุติการใช้แรงงานบังคับที่รัฐให้การสนับสนุน" เธอกล่าว

การสนับสนุนการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากแรงงานบังคับเติบโตอย่างช้าๆ ทั่วโลก มีการหารือเกี่ยวกับกฎหมายที่คล้ายกันในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ไฮดี ฮัวตาลา รองประธานรัฐสภายุโรป เชื่อว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดกับจีนนั้น "อ่อนไหวมากขึ้น" ต่อประเด็นแรงงานบังคับ 

"แม้จะไม่ทั่วถึง แต่เราต้องเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง" รองประธานรัฐสภายุโรปกล่าว

 

ที่มา
Will the solar industry cut its ties to modern slavery? (Afiq Fitri, New Statesman, 20 July 2022)
‘Reasonable to conclude’ forced labour in China: UN expert (Al Jazeera, 18 August 2022)
ข่าวประจำสัปดาห์ (8-12ส.ค.2565) (2) กฎหมาย UFLPA ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์สหรัฐฯ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 18 สิงหาคม 2565)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net