‘โรม’ ชี้ปัญหา ส.ต.ท.หญิง สะท้อน คุณสมบัติ ส.ว.แล้ว - คำนูณ หนุนแก้ ม.272 แจงไม่จำเป็นต้องคงไว้

‘โรม’ ชี้ กรณี “ส.ต.ท.หญิง” ก็สะท้อนคุณสมบัติ ส.ว.แล้ว ขอ ส.ว.ปลดล็อกอำนจตัวเองคืนอำนาจเลือกนายกฯ ให้ประชาชน ส่วน ส.ว.คำนูณ หนุนแก้ ม.272 ด้วยแต่เป็นเพราะแผนปฏิรูปเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่เหลือเหตุผลให้คงอำนาจเลือกนายกฯ ที่เคยขอจากประชาชนอีกแล้ว

6 ก.ย.2565 6 ก.ย.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น และสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ สมชัย ศรีสุทธิยากรและคณะเสนอ

สมชัย-บุญส่ง ย้ำต้องแก้ ม.272 ตัดสิทธิ ส.ว.เลือกนายกฯ ให้ประชาชนได้กำหนดอนาคตตัวเอง

รังสิมันต์เริ่มจากการอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เพิ่มสิทธิและเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ ได้แก่

- คำนิยาม “สิทธิเสรีภาพ” ให้หมายรวมถึงที่ประเทศไทยได้มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

- เพิ่มเติมข้อความว่าการประกันตัวว่าต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีหากไม่ใช่กรณีที่โทษร้ายแรงจะต้องมีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น

- การระบุรายละเอียดของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมว่าต้องสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง พิจารณาโดยเปิดเผย ให้โอกาสจำเลยในการสู้คดีอย่างเพียงพอ ผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นธรรม

- เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ที่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม เสรีภาพเหล่านี้จะถูกจำกัดมิได้

- สิทธิชุมชน ให้การทำโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านโดยประชาชนและชุมชนได้มีส่วนร่วม

- เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะจำกัดได้ก็ด้วยกฎหมายเฉพาะเรื่องการชุมนุมสาธารณะ หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเท่านั้น

- เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมืองให้การจัดตั้งไม่ยุ่งยากซับซ้อน การเข้าร่วมเป็นสมาชิกไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมาหาเรื่องยุบพรรคไม่ได้ถ้าไม่ใช่กรณีล้มล้างการปกครองเท่านั้น

“สิทธิและเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้ อันที่จริงแล้วบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ก็ควรจะเพียงพอแล้วที่จะเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็อย่างที่เราเห็นกันว่าศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นบิดเบือนกฎหมายที่มีอยู่ไปขนาดไหน ผมเชื่อว่าหากเราปฏิรูปให้องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหลายมีความยึดโยงกับประชาชนได้ การจะใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเลย” รังสิมันต์กล่าวเสริม

รังสิมันต์ กล่าวถึงประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่าตามร่างที่ยื่นเสนอเข้ามาโดยภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 64,151 คน เนื้อหาไม่มีอะไรซับซ้อนให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คน มีวาระ 5 ปี ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่ง ส.ว. ชุดนี้ทั้งหมด ยกเว้นประธานสภาที่งดออกเสียงตามมารยาท ก็ใช้อำนาจนี้ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจหลังยุคคณะรัฐประหารต่อไป ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา

“ส.ว. 250 คน คสช. จิ้มมาเองล้วนๆ มีทั้งแก๊ง ตท.12 เพื่อนประยุทธ์ 21 คน แก๊ง ตท.6 เพื่อนประวิตร 5 คน รวมไปถึงแก๊งเพื่อนพ้องน้องพี่ศิษย์เก่า สนช., สปช., สปท. และอีกสารพัดคณะที่เคยร่วมงานกับ คสช. เป็นจำนวนถึง 157 คน (ตามข้อมูล iLaw) อย่าได้ปฏิเสธเลยว่า ส.ว. ชุดนี้คือมรดกตกทอดที่เกิดมาจากความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งของคณะรัฐประหาร”

บางท่านอาจแย้งว่า ส.ว. ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแล้วยังไง? ถึงจะมีที่มาจาก คสช. เลือก แต่ ส.ว. ชุดนี้ก็ประกอบด้วยคุณวุฒิ คือมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่างๆ และมีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปประเทศ ก็ขอเชิญท่านเหล่านั้นไปดูกรณีสดๆ ร้อนๆ เรื่อง “สิบตำรวจโทหญิง” ที่มีข่าวว่าเอาข้าราชการทหารมาเป็นทหารรับใช้และกระทำทารุณกรรมต่างๆ นานา รวมถึงไปฝากชื่อเป็นบัญชีผีใน กอ.รมน. เพื่อกินเงินพิเศษโดยไม่ได้ไปลงพื้นที่จริง ซึ่งก็ปรากฏต่อมาว่า ส.ต.ท. คนนี้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอดีต สนช. ท่านหนึ่ง และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการของ สนช. ด้วย อดีต สนช. ที่เป็นข่าวนั้น รวมถึงคนที่แต่งตั้ง ส.ต.ท. คนนี้เป็นตำแหน่งต่างๆ ปัจจุบันก็มาอยู่ใน 250 ส.ว. ชุดนี้ด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ มาดูผลงานการคัดสรรของ ส.ว. อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่เคยบอกว่าอยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ไม่อยากอยู่ต่อแม้แต่วันเดียว แต่มาวันนี้ก็ยังจะดันทุรังเอาอดีต กรธ. ที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้มาเป็นทนายสู้คดีว่าตัวเองยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี นี่มันพฤติกรรมของคนที่เหลิงอำนาจ กระหายอำนาจชัดๆ ตอนที่ยกร่างเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะกลัวศัตรูทางการเมืองจะอยู่ยาว แต่พอถึงคราวของตัวเองกลับพยายามแถสุดกำลังให้ได้อยู่ชั่วนาตาปี

“เพราะฉะนั้น ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วเพื่อนสมาชิกทุกท่าน โดยเฉพาะ ส.ว. จะได้เริ่มก้าวแรกของการยุติระบบอันบิดเบี้ยวนี้ ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ 3 รอบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เดือนมิถุนายน 2564 และเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไม่เคยได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึงเกณฑ์ที่จะผ่านได้เลย มาวันนี้ทั้งพวกผมในสภาและประชาชนข้างนอกขอถามมโนธรรมสำนึกจากพวกท่านอีกสักครั้ง พวกท่านอาจทำผิดมาเยอะ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเยอะไปกว่านี้ พวกท่านเลือกได้ที่จะไม่ตกนรกขุมที่ลึกกว่านี้ไปด้วยกันกับ พล.อ.ประยุทธ์”

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องขอร้องต่อเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะ ส.ว. มันพอได้หรือยังที่พวกท่านจะยอมปลดล็อกอำนาจตรงนี้ ให้นายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชนได้จริงๆ เสียที ผมรู้พวกท่านหวงอำนาจ ผมรู้ว่าอยากเก็บอำนาจนี้ไว้ แต่อำนาจนี้มันไม่ใช่ของท่าน มันเป็นของประชาชน คืนให้พวกเขาเถิดครับ พอได้แล้ว” รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย

“คำนูณ” หนุนแก้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจนี้แล้ว

นอกจากฝ่ายค้านแล้วยังมีเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่สมชัย ศรีสุทธิยากร และคณะนำเสนอ จากทางฝั่ง ส.ว.ด้วย

คำนูญ สิทธิสมาน กล่าวว่าส่วนตัวเขาเห็นด้วยและจะลงมติเห็นชอบ เพราะเหตุผลที่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้นั้นมาจากคำตอบของประชาชนต่อคำถามพ่วงในการออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 ส.ค.2559 ที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ แล้วที่ผ่านมาก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมาหลายด้านและมีแผนการปฏิรูประเทศออกมาและยังมีฉบับปรับปรุงออกมาด้วย การปฏิรูปประเทศก็จะมีกระบวนการที่ให้ ส.ว.ที่ตั้งขึ้นมาชุดแรกนี้มีอำนาจพิเศษมากกว่า ส.ว.ทุกชุดที่ผ่านมาในอดีตและที่จะมีขึ้นใหม่หลังจากนี้ คืออำนาจที่มาตามมาตรา 270 271 และมาตรา 272

คำนูณอธิบายว่ามาตรา 270 ได้ให้ ส.ว.มีหน้าที่เร่งรัดติดตามและเสนอแนะต่อการปฏิรูปประเทศโดยกำหนดให้ ครม.เข้ามารายงานต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน และกระบวนการร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ได้มาแล้ว 13 ฉบับแต่ยังมีที่ค้างพิจารณาอยู่ 3 ฉบับ ส่วนมาตรา 271 ที่ยังไม่เคยมีการใช้

“มาตรา 272 ผมเข้าใจว่าก็เป็นเพราะต้องการมอบภารกิจให้ ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะกิจ เฉพาะกาลแล้วให้เขาติดตามให้เขาเสนอแนะให้เขาเร่งรัด ให้เขาเป็นเสมือนองครักษ์การปฏิรูปประะเทศทำไมไม่ให้เขาร่วมเลือกผู้นำที่จะมาปฏิรูปด้วยซึ่งสอดคล้องกับคำถามพ่วง”

คำนูณกล่าวต่อว่า เขาและ ส.ว.คืนอื่นๆ ก็ซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่นี้แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็มีญัตตินี้เข้ามา เขาก็เห็นว่าเมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วการปฏิรูปประเทศมีความคืบหน้าก็ไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผลเสียที่สมาชิกในสภาวิจารณ์กันมาจะมีเหตุผลในการคงมาตรา 272 นี้ไว้หรือไม่ ซึ่งในเวลานั้นก็มี ส.ว. 56 คนซึ่งรวมตัวเขาด้วยได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขตัดมาตรา 272 ออกแต่ก็ยังมีเสียงไม่เพียงพอ ในตอนนั้นไม่ใช่แค่มีเสียง ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 เท่านั้น แต่ในภาพรวมทั้งหมดก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ ประเด็นนี้จึงขึ้นอยู่กับ ส.ส. ด้วยเช่นกัน

จากนั้นคำนูณได้กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมาว่าแผนการปฏิรูปประเทศจะสิ้นสุดลงแล้วในปี 2565  ไม่มีแผนปฏิรูปประเทศชุดต่อไปและจะไม่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่งตั้งขึ้นมาใหม่หลังจากชุดเดิมที่หมดวาระมาตั้งแต่ 14 ส.ค.2565 แล้ว นอกจากนั้นการรายงานผลในรอบ ส.ค.-ต.ค.2565 จะเป็นฉบับสุดท้ายและรายงานในรอบปี 2565 จะเป็นฉบับสุดท้ายที่สรุปภาพรวมของการปฏิรูปประเทศตลอด 5 ปีที่ผ่านมาและจะเสร็จในเดือนเมษายน 2566 อีกทั้งผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติออกมาอีกว่าให้ยกเลิกกฎระเบียบกลไก มติ ครม. ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้วย แม้ตัวเขาเองจะไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินี้ แต่เขาก็ตั้งถามต่อการคงอยู่ของอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 272 ด้วยเช่นกัน

“แต่เมื่อรับทราบมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเหลือแค่เพียงขั้นตอนเดียวคือเป็นมติ ครม.เพื่อสั่งการต่อไป แล้วต้องเข้ามาสู่การประชุมพิจารณายกเลิกอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 272 จะให้ผมมีความเห็นเป็นอื่นไปได้อย่างไร ในเมื่อจะเชื่อมโยงไปยังคำถามพ่วงที่ให้อำนาจพวกผม 250 คนตากหน้าเข้าไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีก็เพราะให้เหตุผลว่าให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง แต่มาบัดนี้การปฏิรูปประเทศเสมือนจะรูดม่านปิดการแสดงลงแล้วจะเหลือเหตุผลให้มาตรการพิเศษให้ ส.ว.เข้าไปร่วมเลือกคืออะไรบ้าง”

คำนูณกล่าวว่าเหตุผลที่ใช้ขออนุญาตประชาชนเพื่อให้ ส.ว.ชุดแรกเข้าร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในตอนนี้ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่แล้ว แม้ว่าการปฏิรูปประเทศจะไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วยก็ตามแต่ก็เป็นภารกิจตามปกติที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามาก็ต้องทำไปตามปกติและงานประจำของสภาพัฒน์ ส่วนสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ที่กำหนดระยะเวลาไว้ 5ปีก็จะสิ้นสุดในปี 2566

“ในเมื่อฐานแห่งคำถามประชามติที่ขออนุญาตพี่น้องประชาชนเพียงเฉพาะกิจเฉพาะกาลเพียงชั่วคราวเท่า 5 ปี ของอายุวุฒิสภาชุดกระผมนี้มันกำลังจะหมดไปก่อนกำหนดอายุวุฒิสภาชุดแรก 5 ปีนี้ เหลืออยู่อีกปีเศษๆ กระผมจึงเห็นว่า ผมเห็นชอบที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ตามร่างที่ท่านสมชัย ศรสุทธิยากรแล้วก็พี่น้องประชาชนเสนอมา”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท