Skip to main content
sharethis

ชาวชิลีลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยคะแนนเสียงคัดค้านร้อยละ 62 ต่อคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 38 ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญก้าวหน้าที่จะมาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ตกค้างมาจากยุคสมัยเผด็จการ เนื้อหาของฉบับใหม่มีการให้สวัสดิการประชาชนและรองรับสิทธิความเป็นธรรมในสังคมด้านต่างๆ แต่ทำไมชาวชิลีส่วนใหญ่ถึงยังโหวตคัดค้าน? นักวิเคราะห์มองเรื่องนี้อย่างไร?

ประชาชนชิลีรวมตัวกันรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ่ายเมื่อ 1 ก.ย.2565 โดย Janitoalevic

หลังจากที่รัฐบาลชิลีมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาเป็นเวลา 1 ปี รวมถึงมีกระบวนการเจรจาหารือเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง แต่ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมามีประชาชนถึงร้อยละ 62 ที่โหวตคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เรื่องนี้ยังกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลทางการเมืองต่อประธานาธิบดีคนรุ่นใหม่อย่าง กาเบรียล บอริก ผู้ที่ออกตัวสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ด้วย บอริกกล่าวถึงเรื่องนี้ในทำนองว่าเขาเคารพในเสียงของประชาชนชาวชิลีและมองว่าชาวชิลีได้แสดงให้เห็นอยู่สองเรื่องคือ "พวกเขารักและให้คุณค่ากับประชาธิปไตย และเรื่องที่สองคือ ประชาชนชาวชิลีไม่พึงพอใจต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้" บอริกกล่าวว่า จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นอีก แล้วเขาก็จะใช้ความล้มเหลวในครั้งนี้เป็นบทเรียน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้าที่มาจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายซึ่งนำโดยบอริก มีหลายมาตราที่มีเนื้อหาเป็นการขยายเพิ่มเติมในเรื่องสิทธิความเป็นธรรมทางสังคมอย่างมาก มีการเพิ่มมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม และทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อโครงการสวัสดิการต่างๆ รวมถึงทำให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องเพศสภาพ และจัดสรรที่นั่งในสภาไว้ให้กับตัวแทนที่เป็นชนพื้นเมืองในชิลี

มีการตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่ในพื้นที่จังหวัดที่เป็นสายก้าวหน้าซึ่งเคยสนับสนุนบอริกอย่างท่วมท้นในเดือน ธ.ค. 2564 ก็ลงคะแนนเสียงคัดค้านร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแทนที่รัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกมาตั้งแต่สมัยเผด็จการ ออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้ที่เคยปกครองชิลีในช่วงระหว่างปี 2516-2533 ซึ่งจะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีการสะท้อนผลประโยชน์ของสังคมและชุมชนมากขึ้นแทนที่รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

เรื่องนี้ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเพราะก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. 2563 เคยมีการสำรวจพบว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงชาวชิลีมากกว่าร้อยละ 78 สนับสนุนให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ นอกจากนี้การเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังเกิดขึ้นในช่วงหลังจากเกิดการประท้วงใหญ่ในปี 2562 ที่มีผู้คน 3 ล้านคนร่วมประท้วงเพราะไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจจากปัญหาเรื่องปากท้องและการเข้าถึงปัจจัยต่างๆ ทำให้ส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการระบุถึงการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีฝ่ายขวาในชิลีที่วิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผลักประเทศให้ดู "ซ้ายเกินไป" หรือวิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความทะเยอทะยานมากเกินไปและยากที่จะนำมาออกเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพได้

แต่ก็มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ผู้คนลงคะแนนเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่เพราะพวกเขาต่อต้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่เพราะพวกเขาต่อต้านกระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่า ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีที่มาจากผู้แทนฯ 154 รายที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาล

ผู้ที่วิเคราะห์สาเหตุในเรื่องนี้คือ เคนเนท บังเกอร์ นักวิเคราะห์การเมืองและหัวหน้าฝ่ายผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการสำรวจโพลจากองค์กร "โปลิติโค เทค โกลบอล" บังเกอร์กล่าวว่า มีชาวชิลีบางส่วนที่รู้สึกว่าผู้แทนในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของสังคมชิลี ซึ่งผู้แทนส่วนใหญ่มาจากฝั่งการเมืองฝ่ายซ้ายเยอะ และถึงแม้ว่าจะมีโควตาให้กับชนพื้นเมืองเข้าร่วมเป็นตัวแทนตามสัดส่วนของขนาดประชากร แต่ก็ไม่มีตัวแทนของกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีแนวคิดเอียงไปในทางอนุรักษ์นิยมมากกว่า

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าการที่รัฐธรรมนูญเลี้ยวซ้ายของชิลีแพ้ประชามติในครั้งนี้ยังน่าจะมาจากปัจจัยอื่นๆ อย่างภาพลักษณ์ของตัวผู้แทนเองที่บางคนมีการประพฤติมิชอบ มีการให้ข้อมูลที่ผิดจากฝ่ายต่อต้าน และความพยายามจากฝ่ายเอียงขวาในการทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญล่าช้า จนกลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อกระบวนการร่าง

บังเกอร์วิเคราะห์ว่า สภาพอารมณ์ของคนในสังคมชิลีตอนนี้ก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจรับ-ไม่รับร่างฯ มากกว่าที่จะมีการพิจารณาที่ตัวเนื้อหาด้วยเช่นกัน ในช่วงที่มีการทำประชามติสังคมชิลีกำลังอยู่ในสภาพที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 28 ปี ค่าเงินเปโซต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และมีอัตราอาชญากรรมความรุนแรงสูงขึ้นในประเทศ และคะแนนนิยมของบอริกก็ลดลงเหลือร้อยละ 38 บังเกอร์มองว่าสภาพอารมณ์ของคนในสังคมตอนนี้ "มีความรู้สึกว่าทุกอย่างกำลังผิดพลาด" ทำให้การลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเสมือน "การโหวตเพื่อลงโทษ" ความผิดพลาดของบอริก มากกว่าจะเป็นเพราะไม่ชอบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญใหม่

กาเบรียล เนเกรตโต ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาทอลิกสังฆราชแห่งชิลี (PUC) กล่าวว่าถึงแม้ผู้ลงคะแนนเสียงในชิลีจำนวนมากจะเห็นด้วยกับเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการคุ้มครองสิทธิเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิทางเลือกในการทำแท้ง การมีตัวแทนชนกลุ่มน้อยในการจ้างงานและในการเมือง แต่วิกฤตเศรษฐกิจน่าจะเป็นตัวส่งผลกระทบเบี่ยงเบนความสนใจของบอริกออกจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

เนเกรตโตบอกว่าบอริกยังเหลือเวลาอีกมากในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีตามวาระ ขึ้นอยู่กับว่าเขากับรัฐบาลจะเน้นใช้พลังไปกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในประเทศ เนเกรตโตมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากรัฐบาลบอริกจะประสบความสำเร็จได้อาจจะต้องเขียนมาตราที่เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาใหม่โดยอาจจะใช้ข้อดีที่มีอยู่จากของเดิมและเติมไอเดียใหม่ๆ เข้าไปด้วย

ส.ว. ฝ่ายซ้ายกลางในชิลี ซิเมนา รินคอน เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เขากล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ในช่วงที่มีการรายงานผลประชามติว่า "พวกเรามีพื้นที่ที่จะสร้างการตกลงร่วมกันที่ดีกว่านี้"

โฮเซ ฟรานซิสโก เวียคาวา นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชิลีกล่าวว่า บอริกต้องรวบรวมทีมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความหลากหลายมากกว่านี้ โดยรวมถึงกลุ่มคนที่มีบทบาททางการเมือง กลุ่มผู้นำทางความคิด และรัฐสภาสมัยปัจจุบันในการหามติร่วมกันเพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถัดจากนี้เดินหน้าไปได้

"เรื่องนี้ไปไกลมากกว่ารัฐบาล แล้วงานนี้มันก็กินเวลามากพอหรืออาจจะมากกว่าการบริหารประเทศเสียอีก ... เพื่อที่จะนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ หมายความว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการ มีการรับฟังความคิดเห็นของคนที่ปฏิเสธโดยชอบธรรมต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้" ฟรานซิสโกกล่าว

อัลจาซีร่าระบุว่าอีกเรื่องหนึ่งที่บอริกต้องทำคือสื่อสารให้ชัดเจนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายต่อต้านอ้างใช้ข่าวปลอมหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดในการทำลายความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ เช่นอ้างเกินจริงว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้น้ำขวดผิดกฎหมาย อนุญาตให้ทำแท้งได้แม้กระทั่งท้อง 9 เดือน หรืออ้างว่ารัฐจะมายึดทรัพย์สินของคนเป็นเจ้าของบ้านได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด

อัลจาซีราระบุอีกว่าในขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าต่อต้านเพราะเชื่อข่าวปลอมหรือข้อมูลผิดๆ จนตื่นตระหนกไปเอง แต่ก็มีคนบางส่วนที่ถูกข่มเหงรังแกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขโมยแหล่งน้ำของพวกเขาไปใช้ในการเกษตรจนเกิดการขาดแคลนน้ำ และเมื่อต่อต้านก็ถูกเผาบ้านเพื่อข่มขวัญ คนเหล่านี้รวมถึงนักกิจกรรมที่ต้องการปกป้องสิทธิเกี่ยวกับเรื่องน้ำมีความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าที่จะปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้อย่างจริงจัง

 

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net