Skip to main content
sharethis

วิวาทะนายกฯ 8 ปี ระหว่าง มีชัย 61 กับ มีชัย 65 คนหนึ่งบอกนับรวมก่อน รธน.60 อีกคนบอกเริ่มนับตั้งแต่รธน.ใช้บังคับ รวมทั้งโลกออนไลน์เปิดเอกสารความเห็นในปี 61 นั้นมีการรับรองบันทึกการประชุมด้วย ขณะที่ศาล รธน. ยังยืนยันไม่ได้ว่า เอกสารมีชัยเป็นของจริงหรือของปลอม

 

7 ก.ย.2565 กรณีข้อถกเถียงวาระนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4  นั้น ล่าสุดสื่อหลายสำนัก เช่น ผู้จัดการออนไลน์ ข่าวสดออนไลน์ และเนชัน รายงานข่าวตรงกันว่า ปรากฏเอกสารในโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่เอกสารการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โดยหนึ่งสือชี้แจงดังกล่าวมีประเด็นหนึ่งคือการพิจารณา รัฐธรรมนูญ 60 ในส่วนบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า

“ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม”

ในหนังสือคำชี้แจงดังกล่าว มีชัย ระบุว่า ผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เม.ย. 2560

และโดยผลดังกล่าว บทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เม.ย.เป็นต้นไป

ขณะที่ย้อนกลับไปที่บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2561 มีชัย ประธาน กรธ. ในขณะนั้นกลับให้ความเห็นต่อ มาตรา 264 ว่า การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี

นอกจากนี้  มีชัยได้ระบุถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกรที่ 7 ก.ย. 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของตนเองนั้น เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 ก.ย 2561 แต่สื่อหลายสำนักเช่น ผู้จัดการออนไลน์ มติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า โลกออนไลน์ยังมีการแชร์เอกสารบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย. 2561 ออกมาเช่นกัน โดยระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุม ระบุ คณะกรรมการมีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 ส.ค. 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย. 2561 ซึ่งเท่ากับว่าที่ประชุมได้รับการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 500 แล้ว และไม่ตรงกับสิ่งที่ มีชัย ทำเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการเผยแพร่คำชี้แจงของ มีชัย ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ นั้น เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และบุญเสริม นาคสาร รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวก่อนที่วันพรุ่งนี้ (8 ก.ย. 65) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนัดประชุมวาระพิเศษพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็นจริง แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นของจริงหรือของปลอม อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มาที่ไป เพราะเห็นพร้อมกันกับสื่อมวลชน อย่างไรก็ตามประธานศาลรัฐธรรมนูญมีความกังวล เนื่องจากเอกสารที่รั่วไหลเกี่ยวข้องกับเอกสารในสำนวนคดี และกระทบกับผู้ให้ความเห็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net