Skip to main content
sharethis

ประชาชนในพื้นที่หวั่นเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 'ปากแบง-สานะคาม' กระทบชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมโดยรอบ น้ำอาจเอ่อท่วมที่ดินทำกิน มีรายงานผลกระทบชี้ด้วยว่า อาจเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำหิวตะกอน กัดเซาะริมตลิ่ง ด้าน กมธ.ต่างประเทศ เตรียมเรียกทุกฝ่ายชี้แจง 8 ก.ย.นี้

  

7 ก.ย. 2565 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (7 ก.ย.) มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเลย ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่ากำลังมีการเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือเขื่อนปากแบง ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนไทย-ลาว ด้านจังหวัดเชียงราย เพียง 97 กิโลเมตร (กม.) และเขื่อนสานะคาม ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเลย เพียง 1.5 กม. เนื่องจากเชื่อว่าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่งจะส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนไทย-ลาว ซึ่งใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งแดนตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เนื่องจากเขื่อนทั้ง 2 แห่งแม้จะอยู่ในเขตประเทศลาว แต่ถือว่าอยู่ประชิดเขตแดนไทยมากที่สุด

แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง (ที่มา Mymekong.org) จัดทำเมื่อ ธ.ค. 2564

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เพื่อค้นหาข้อมูลและสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่สุดชายแดนไทยก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ประเทศลาว และกลับเข้ามาชายแดนไทยอีกครั้งที่จังหวัดเลย โดยพบว่าบริเวณนี้ในช่วงฤดูแล้งมีแก่งหินขนาดใหญ่หลายแห่งโผล่ขึ้นเหนือน้ำ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงแห้งจนเป็นเสมือนเป็นเกาะขนาดเล็กติดกับผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะแก่งผาได ซึ่งมีผาหินงดงามและหาดทรายเล็กๆ ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และชาวบ้านในท้องถิ่นมักนิยมใช้พื้นที่จัดงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานประเพณีท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง จะทำให้บริเวณนี้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่จะมีน้ำท่วมตลอดทั้งปี เกาะแก่งต่างๆ ที่โผล่ในหน้าแล้งจะหายไปสิ้น เท่ากับว่าประเทศไทยได้สูญเสียพื้นที่ที่สำคัญของท้องถิ่นไปกับการสร้างเขื่อนในประเทศลาว

แก่งผาได อ.เวียงแก่ง จ.เชียงราย (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ สัมภาษณ์ ทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็น 1 ในแกนนำที่ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนปากแบง โดย ทองสุข กล่าวว่า เมื่อประมาณ พ.ย. 2562 เคยมีหนังสือแจ้งจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งมาที่หมู่บ้านว่าได้ชะลอการสร้างเขื่อนปากแบง ภายหลังจากชาวบ้านได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบผ่านเวทีประชุมรับฟังความเห็นและพื้นที่สาธารณะที่ได้ทักท้วงว่า หากมีการสร้างเขื่อนจะทำให้มีน้ำเอ่อ หรือน้ำเท้อท่วมพื้นที่เกือบพันไร่ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ทำกิน พื้นที่เกษตร และพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 

ทองสุข กล่าวว่า หากระดับสันเขื่อนเป็นไปตามที่เขาระบุเวลานั้นน้ำก็จะท่วมหมดทั้งหมู่บ้านห้วยลึก หมู่บ้านยายเหนือ หมู่บ้านยายใต้ หมู่บ้านม่วงยาย หมู่บ้านท่าข้าม ความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.ม่วงยาย และ ต.หล่ายงาว ที่ติดแม่น้ำโขง และจะท่วมเข้าเข้าไปตามที่ราบของแม่น้ำสาขาคือแม่น้ำงาว ที่มีพื้นที่นา สวนส้มโอ และมีชาวบ้านปลูกข้าวโพดติดลำน้ำ

“หากสันเขื่อนความสูง 315 เมตร จากระดับน้ำทะเล จะทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนจะสูง คาดการณ์ไว้ว่าจะสูงกว่าระดับที่น้ำท่วมใหญ่ปี 2552 ที่อยู่ประมาณระดับ 305-310 เมตร ซึ่งเพียงแค่นั้นน้ำก็ท่วมพื้นที่กว้างมากแล้ว ถ้าสร้างเขื่อนคาดว่าพื้นที่เกาะแก่งก็จะไม่เหลือให้เห็นทั้งปี สำหรับชาวบ้านแล้ว บริเวณหาดผาไดเหมือนแหล่งอาหาร มีปลาชุกชุม เอามอง (อวน) ไปใส่ มีตั้งแต่หัวตาด ล่องไปถึงผาได หากท่วมหมดแหล่งหาปลาสำคัญก็หายไป” ทองสุข กล่าว

ทองสุข กล่าวว่า เรื่องน่าห่วงเพิ่มขึ้น คือ ขยะและสารพิษต่างๆ เมื่อน้ำเอ่อ เพราะทั้งไทยและลาวใช้สารพิษยาฆ่าหญ้าในการทำเกษตรกรรม ซึ่งก็จะไหลลงน้ำโขง ถ้าน้ำไม่ไหลหรือนิ่ง ผลข้างเคียงคือเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ โรคผิวหนัง ที่ผ่านมาช่วงไหนที่มีน้ำท่วมพื้นที่ราบบริเวณลำน้ำสาขาจีมีขยะลอยมาเต็มผิวน้ำ ทุกวันนี้เวลาน้ำขึ้น เห็นขยะลอยเป็นเส้นเป็นสาย เมื่อมีเขื่อนกั้นขยะจะลอยอยู่ใกล้บ้านเรา 

อดีตผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ที่ล่าสุดเจ้าหน้าที่บริษัทกัลฟ์ (ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง) ได้มาที่หมู่บ้านเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชน เข้ามา 2 ครั้ง มาลงพื้นที่ เน้นเข้าหาเด็กและเยาวชนที่โรงเรียน 

ด้าน พรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาลตำบลม่วงยาย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านวิตกกันอยู่ ถ้าจะสร้างเขื่อนบากแปงจริง ก็ขอให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาชี้แจง ทั้งกรมทรัพยากรน้ำ บริษัทผู้รับเหมา มีบริษัทไหนบ้าง ขอให้มีชี้แจง 

“ครั้งสุดท้ายที่เข้าร่วมกับประชุมกับพวกเราชาวบ้าน เคยสอบถามตัวแทนจากรัฐบาลลาวว่า เจ้ายืนยันได้หรือไม่ว่าสร้างเขื่อนน้ำจะไม่ท่วมหมู่บ้าน แต่เขาปฏิเสธว่ายืนยันไม่ได้ เรื่องนี้ได้รับความสนใจ เพราะเป็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผมพร้อมที่จะไปประชุมที่ไหนก็ได้ เราเคยถามและขอให้ชี้แจงมาว่าปริมาณน้ำขึ้นถึงไหน ให้ยืนยันมาเลย แต่จู่ๆ จะให้เราเซ็นชื่ออย่างเดียว เราจะยอมได้อย่างไร ผมเห็นตัวอย่างจากที่เขาอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่สร้างเขื่อน สภาพชาวบ้านต้องอยู่กันลำบากมาก ได้รับความช่วยเหลือแค่ในปีแรก ตอนนี้ทำมาหากินลำบากมาก” พรสวรรค์ กล่าว

มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า เขื่อนสานะคาม จะตั้งอยู่ด้านเหนือน้ำของเขตแดนไทย-ลาว ขึ้นไปตามลำน้ำโขงในระยะไม่เกิน 5 กม. การเก็บและปล่อยน้ำของเขื่อนสานะคาม จะสร้างปัญหาผลกระทบที่สำคัญต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงเขตแดนตามธรรมชาติในแม่น้ำโขง และผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งยังไม่มีการศึกษาผลกระทบใดๆ โดยหน่วยงานของรัฐไทย 

มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง

ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนตามธรรมชาติในแม่น้ำโขง ระหว่างประเทศไทย กับลาว โดยด้านท้ายเขื่อนสานะคาม จะเกิดขึ้นตามลำน้ำโขงในระยะทางประมาณ 100 กม. จากเขต อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย ไปจนถึง อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมือง จ.หนองคาย (ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนด้านเหนือน้ำอีก 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนปากแบง, เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนไซยะบุรี, และเขื่อนปากลาย) จากรายงานบทสรุปรายงานทบทวนด้านเทคนิคเขื่อนสานะคามฉบับสุดท้าย 4 พ.ย. 2564 ซึ่งจัดทำโดยสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ชี้ว่า เขื่อนสะนะคาม จะกักตะกอนจนเกิดปรากฏการณ์ “แม่น้ำหิวตะกอน” ส่งผลต่อการกัดเซาะตลิ่งอย่างรุนแรงด้านท้ายน้ำ 

มนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ การประเมินผลกระทบสะสม จากปรากฏการณ์แม่น้ำหิวตะกอน จะเกิดคลื่นกัดเซาะด้านท้ายน้ำอย่างรุนแรงในระยะทาง 100 กม.ตามลำน้ำโขงท้ายเขื่อน และมีระยะทางไกลไปจนถึงกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตลอดช่วงเวลา 7 ปีหลังเขื่อนเปิดดำเนินการ และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำที่เป็นเขตแดนธรรมชาติในแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทยกับลาว แม้ว่ารูปทรงโดยรวม (รวมถึงเกาะแก่งต่างๆ) ของแม่นํ้าโขงสายหลัก จะไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่บริเวณก้นแม่นํ้า และตลิ่งทราย จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามลักษณะการพัดพาตะกอนที่เปลี่ยนแปลงไป

มนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งในเอกสารบทสรุปสําหรับผู้บริหารการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงระดับนํ้าด้านท้ายนํ้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังนํ้าสานะคาม ที่จัดทำโดย MRCs ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนสะนะคาม ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ระดับน้ำโขงจะขึ้นและลงสูงสุดได้มากถึง 3.50 ม.ในรอบ 24 ชั่วโมง (ชม.) หรือ 1 วัน อย่างไรก็ตาม เอ็มอาร์ซี ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขง ผลที่ได้คือที่ อ.เชียงคาน จะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงสูงสุดตั้งแต่ 12.9 เซนติเมตร (ซม.) ถึง 1.34 ซม. ภายใน 1 ชม. (หรือ 0.129 ถึง 1.34 ม.ต่อ ชม.)

“เกิดความสูญเสียมูลค่าความเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดทั้งในภาคการประมง เกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยวชุมชนและธุรกิจท่องเที่ยว ความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภคที่ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำโขง ความสูญเสียต่อการพังทลายของผนังกั้นตลิ่งแม่น้ำโขงที่ก่อสร้างไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลเขตแดนระหว่างประเทศ และผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนและเศรษฐกิจของท้องถิ่นในด้านต่างๆ ต้องดำเนินการศึกษาให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจน บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะผูกพันโดยตรงให้เกิดการสร้างเขื่อน” มนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ  (กมธ.ต่างประเทศ) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสร้างเขื่อนปากแบง และเขื่อนสานะคาม ที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนไทย ซึ่ง กมธ.ได้นัดประชุมในวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่อาคารรัฐสภา โดยเชิญตัวแทนผู้ร้องเรียนคือประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมแผนที่ทหาร และกระทรวงพลังงาน มาร่วมชี้แจง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net