สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3-9 ก.ย. 2565

ดัชนีค้าปลีก ส.ค.2565 ไม่กระเตื้อง หวั่นปัญหาแรงงาน-สินค้าราคาสูง

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ เดือนสิงหาคมทรงตัวเท่ากับดัชนีเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกเพราะผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มดอกเบี้ยที่จะดีดตัวเพิ่มขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศปรับเพิ่มขึ้น 5-8% ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่ยังคงต้องใช้เวลา และผู้ประกอบการยังมีความกังวลอย่างต่อเนื่องต่อต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มู้ดในการจับจ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “แม้ว่าผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติ แต่จากผลการสำรวจรอบนี้ของเราพบว่ายอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) ลดลง ขณะที่ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-MoM) เดือนสิงหาคมปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต เกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคจึงมุ่งเน้นซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น ลดการบริโภคฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วนเพื่อการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ โดยนำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมา พร้อมเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” รวมทั้ง “ไทยเที่ยวไทย” ไว้อย่างต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “การปรับขึ้นราคาสินค้า และความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ” ของผู้ประกอบการที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-26 สิงหาคม 2565 ดังนี้

1. การปรับขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า

• 26% จะไม่ปรับราคาสินค้าแล้ว

• 40% จะปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5%

• 17% จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 5-10%

• 5% จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 11-15%

• 12% จะปรับราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 15%

2. ปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ

• 70% เงินเฟ้อที่สูงผลักดันราคาสินค้าสูงขึ้น

• 9% แนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

• 7% การขาดแคลนแรงงาน

• 7% นักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าที่คาด

• 7% การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

“ความกังวลหลักของผู้ประกอบการ คือ การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และปัญหาการขาดแคลนแรงงานตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นราว 1-3% โดยภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 13 ล้านคน บวกกับการที่แรงงานในระบบหายไปจากการจ้างงานถึง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงเพื่อจูงใจและทดแทนแรงงานในระบบ ส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลงเฉลี่ย 4-5 %”

สรุปภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ยังคงน่ากังวลถึงสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่มา ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าก๊าซ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก อีกด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและแรงงานที่ขาดแคลน ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ภาครัฐต้องลำดับความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน ด้านผู้บริโภคก็มุ่งเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบการภาครัฐก็ต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มจากการจ้างงาน โดยทดลองประกาศใช้แรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เริ่มจากธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน เพื่อให้เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เติมเต็มแรงงานที่ขาดหายไปในระบบ” นายฉัตรชัยกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/9/2565

ผู้ประกันตน ม.33-39 อายุ 50 ปีขึ้นไป วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ถึง 31 ธ.ค. 2565

9 ก.ย. 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมจึงจัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้การคุ้มครองดูแลผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของประเทศในลักษณะของการป้องกันมากกว่าการรักษา

พร้อมดำเนินการจัดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเดิมในปี 2565 นี้ ได้เปิดให้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้น อย่างไรก็ตามเพื่อดูแลผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวแนะนำให้ผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ว่าควรติดต่อนัดหมายการฉีดวัคซีนกับสถานพยาบาลของท่าน ก่อนเข้ารับบริการ กรณีสถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ท่านสามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมโทรศัพท์ 0-2956-2500-10 ผู้ประกันตนสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเว้นระยะห่าง

แต่หากมีโรคประจำตัวหรือมีประวัติการแพ้วัคซีน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับบริการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทร.สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/9/2565

ก.แรงงาน เตือนระวังนายหน้าตุ๋นคนไทย ไปทำงานที่เกาหลีใต้ อ้างเซ็น MOU ถูก กม.

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานได้รับการประสานจากฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารรัฐเกาหลี ว่า มีบริษัทเอกชนมีพฤติการณ์โฆษณาชวนเชื่อ หลอกคนหางานว่า สามารถพาไปทำงานเกาหลีได้ อ้างว่าได้ทำบันทึกความเข้าใจ MOU กับหน่วยงานภาคเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลี ทำให้สามารถจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังแอบอ้างถึงฝ่ายแรงงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ในการรับรองเอกสารสัญญาจ้างเพื่อนำมาใช้ประกอบในการขออนุญาตเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

นายสุชาติ ระบุว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญอย่างมาก พร้อมย้ำเตือนให้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลคนหางาน และตรวจสอบดำเนินคดีผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานอย่างถึงที่สุด ขอย้ำเตือนว่าการจัดส่งคนหางานไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมอบหมายให้กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดหาและจัดส่งคนหางานไปทำงานเท่านั้น หากภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งจะต้องได้ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศเสียก่อน ดังนั้นขอให้คนหางานตรวจสอบบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตฯ กับกรมการจัดหางานก่อนหลงเชื่อ

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รมว.แรงงาน เน้นย้ำกรมการจัดหางานให้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทาง และตรวจสอบสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เมื่อมีการโพสต์ข้อความชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยปีงบประมาณ2565 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 113 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 164 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 13,029,610 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน2565) กรมการจัดหางานขอเตือนว่าผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ผู้สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบe-Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์02-245-6763 และ 02-245-6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด2และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: แนวหน้า, 9/9/2565

รมว.แรงงาน เยี่ยมคนงานเก็บผลไม้ป่าดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานไทยในฟินแลนด์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการเก็บผลไม้ป่าของคนงานไทยและมอบอาหารแห้งเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่แรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ณ เมืองแตโวรา (Tervola) ประเทศฟินแลนด์

สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางมาเก็บผลไม้ป่านั้น เป็นช่วงฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการทำนาและเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยนับแสนบาท การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กระทรวงการต่างประเทศ ในนาม "ทีมประเทศไทย" ซึ่งนำทีมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำทีมบุคลากรแต่ละหน่วยงานมาให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่แรงงานไทย เนื่องจากอาชีพเก็บผลไม้ป่าบางครั้งต้องมีโรคจากการถูกยุง เห็บ แมลงในป่ากัด แรงงานจึงต้องได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุข มีหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

นายสุชาติ กล่าวว่า ท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่มาทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละคนเป็นเสาหลักของครอบครัวตั้งใจมาทำงานหาเงินส่งกลับเลี้ยงครอบครัวที่ประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีรายได้ส่งกลับเพื่อพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก ในวันนี้ท่านจึงมอบหมายให้ผมและคณะได้เดินทางมาเยี่ยมแรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์ เพื่อต้องการพบปะพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ เนื่องจากแรงงานไทยเหล่านี้ต้องจากบ้านมาทำงานในต่างแดน จึงต้องได้รับการดูแลเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิทั้งด้านประกันสุขภาพหากเจ็บป่วยก็จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ที่บูรณาการความร่วมมือในการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้ความรู้แก่แรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในครั้งนี้ ในปี 2564 และ ปี 2565 กระทรวงแรงงานได้มีการจัดส่งแรงงานไทยมาทำงานในฟินแลนด์จำนวน รวมทั้งสิ้น 7,902 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร คนเก็บผลไม้ป่า คนงานในฟาร์ม คนทำสวน รองลงมาเป็นกุ๊ก พ่อครัวอาหารไทย ซึ่งในแต่ละปีแรงงานเหล่านี้สามารถสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 8/9/2565

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ร้องขอความเป็นธรรม กมธ.กม. สภาฯ หลังถูกกลุ่มอันธพาลทำร้ายกลางงานคาร์ม็อบ

7 ก.ย. 2565 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือจากสหภาพแรงงาน และภาคีเครือข่ายแรงงานนักกิจกรรมทางสังคม เพื่อเรียกร้องให้จับกุมอันธพาล และผู้สั่งการกลุ่มบุคคลคนที่ทำร้ายแรงงาน 28 ส.ค. 2565

โดยนายสนธยา วงษ์ศรีแก้ว ตัวแทนสหภาพแรงงานฯ กล่าวว่า กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2565 เพื่อรณรงค์ปัญหาต่างๆ ของแรงงาน โดยเฉพาะเกี่ยวกับการขอให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานสัมพันธ์ รวมถึงประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยระหว่างเคลื่อนขบวน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตาม และสั่งให้ปลดป้ายที่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และเมื่อมาถึงอ่างศิลา มีกลุ่มชายฉกรรจ์ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน พร้อมอาวุธครบมือ เช่น ไม้เบสบอล ไม้หน้าสาม มุ่งเข้ามาทำร้ายร่างกาย และทรัพย์สิน ของกลุ่มแรงงานที่ร่วมกิจกรรม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อุกอาจในเวลากลางวันต่อหน้าสื่อมวลชน และสาธารณชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงทรัพย์สินได้รับความเสียหาย โดยระหว่างเกิดเหตุตำรวจไม่ได้ช่วยเหลือดูแล

ที่มา: แนวหน้า, 7/9/2565

เอกชนมึนตึ้บ แรงงานศักยภาพสูงหายาก บีโอไอ-อว.เร่งหลักสูตรช่วยเอกชน

นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด เปิดภายถึงภาพรวมธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PHA รายแรกของไทย ว่า ฟรุตต้าเริ่มต้นธุรกิจจากการผลิตเครื่องดื่มประเภทน้ำผัก ผลไม้ และมีกากและเศษที่เหลือจากผลไม้ที่ผ่านกระบวนการผลิตในโรงงาน จึงได้คิดค้นสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาใช้เลี้ยงแบคทีเรีย เพื่อเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATES) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพชนิด PHA อาทิ ถุง ขวด หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น และจะขยายการลงทุนไปสู่กำลังการผลิตที่ 1,100 ล้านชิ้น โดยปี 2566 บริษัทจะลงทุนอีก 600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตถึง 1,500 ล้านชิ้น

“ปัจจุบันบริษัทใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นส่วนใหญ่จึงไม่กังวลต่อกรณีที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศ แต่สิ่งที่กังวลคือแรงงานศักยภาพสูง เพราะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่บริษัทใช้ และความรู้เครื่องจักร ที่ผ่านมามักเจอปัญหาเครื่องจักรเสีย หรือชำรุด เพราะพนักงานไม่ชำนาญ จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือผลิตบุคลากรป้อนโดยเร็ว” นายรักชัยกล่าว

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าว ปัจจุบันบีโอไอกำลังทำงานร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาหลักสูตรผลิตแรงงานศักยภาพสูงเพื่อรองรับความต้องการของภาคเอกชน สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ กิจการกลุ่มบีซีจี อีโคโนมี ซึ่งปัจจุบันบีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ สถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี 2558 – มิถุนายน 2565 รวม 3,320 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 752,691 ล้านบาท คาดว่าเกิดการลงทุนจริงแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/9/2565

แรงงานไทย ถูกทารุณเรียกค่าไถ่ที่ฟิลิปปินส์

แรงงานไทยเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ หลังถูกหลอกไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หลอกคนไทยด้วยกันลงทุนบิทคอยที่ฟิลิปปินส์ เมื่อหลอกเหยื่อไม่ได้ก็ทารุณใช้ไฟช็อตเพื่อเรียกค่าไถ่จากญาติ

วันที่ 5 ก.ย. 2565 แรงงานไทยประมาณ 10 คน ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี หลังตกถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศฟิลิปปินส์

กลุ่มผู้เสียหายเล่าว่า พบว่า ก่อนหน้านี้ได้สมัครงานทางออนไลน์ตามประกาศที่ระบุว่า รับสมัครแอดมินตอบแชทลูกค้ารายได้ดี และกินอยู่ฟรี โดยต้องทำงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ หลังเดินทางไปทำงานพบว่า ไม่ได้เป็นงานตามที่แจ้ง

แต่มีกลุ่มนายหน้าคนไทยและแก๊งชาวจีนบังคับให้ทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นต์เตอร์ สมัครไลน์และอินสตาแกรมไปหลอกคนไทยด้วยกันให้ลงทุนซื้อขายบิทคอยน์

ซึ่งหลายคนก็ไม่อยากทำแต่ไม่มีทางเลือก และบางคนก็หาหลอกเหยื่อไม่ได้ ทำให้กลุ่มนายหน้าไม่พอใจทำร้ายทารุณและเรียกค่าไถ่จากญาติเป็นเงินประมาณ 1 แสนบาท

โดยจะใช้การโทรศัพท์ไปหาญาติที่เมืองไทย จากนั้นจะพูดคุยเรียกค่าไถ่ หากญาติพูดในทำนองว่าไม่มีเงิน ก็จะถูกใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย เพื่อให้มีเสียงร้องโอดโอยให้ญาติได้ยินเพื่อให้ยอมจ่ายเงิน เรียกค่าไถ่ให้

ผู้เสียหายอีกกลุ่มยังเล่าว่า ขณะที่ถูกแก๊งคนจีนกักขังถูกบังคับใส่กุญแจมือตลอดเวลา เวลาจะเข้าห้องน้ำก็ต้องไปด้วยกัน ต้องอดข้าว 7 วัน ได้กินแต่น้ำก๊อก และยังบังคับให้แก้ผ้าถ่ายคลิป เรียกค่าไถ่ 100,000 บาท

จนเมื่อ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ถูกแก๊งคนจีนในฟิลิปปินส์ บอกว่า ให้กินอาหารเย็นเป็นมื้อสุดท้าย ทำให้ร้องไห้คิดว่าต้องตายในวันนี้แล้ว จากนั้นช่วงค่ำถูกพาขึ้นรถตู้ใส่กุญแจมือคล้องกับขาเก้าอี้ด้านล่างเบาะที่นั่ง

โดยนั่งรถไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนถูกผลักลงจากรถปล่อยทิ้งบนภูเขาแห่งหนึ่ง จึงเดินไปเรื่อยๆกว่า 6 ชั่วโมงกระทั่งพบชาวบ้านให้น้ำดื่มและพาไปพบตำรวจ ก่อนประสานสถานฑูตและมูลนิธิปวีณาฯช่วยเหลือกลับไทยมาได้เมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสาน พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เข้าสอบปากคำผู้เสียหาย คัดกรองเหยื่อว่าเข้าข่ายขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และประสานหน่วยงานต่างๆเข้าช่วยเหลือ

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ และตำรวจพบว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งขอรับความช่วยเหลือกรณีคนไทยถูกหลอกไปทำงานในต่างประเทศ และถูกทำทารุณจำนวนมาก ทั้งในเมียนมา กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะใช้คำเชิญชวนสมัครงานออนไลน์

อ้างว่า ต้องการคนบุคลิกดี ทำงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับในสถานบันเทิง โรงแรม หรือคาสิโน หรือแอดมินเพจ มีเงินเดือนสูง พร้อมที่พัก อาหารและสวัสดิการดี จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้ประสงค์ไปทำงานในต่างประเทศระมัดระวัง

ที่มา: PPTVHD36, 5/9/2565

ไทยบินเจรจาฟินแลนด์ ขยายตลาดแรงงานเกษตรกรรม+เพิ่มสวัสดิการ

6 ก.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าเยี่ยมคารวะ นางตูล่า ฮาไตเนน (Mrs.Tuula Haatainen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานแห่งกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานสาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ Alekanterinkatu 4 กรุงเฮลชิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยมีนางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ร่วมด้วย เพื่อหารือประเด็นการผลักดันให้การเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ของแรงงานไทยถูกต้องตามหลักมาตรฐานการจ้างงานสากล ผลักดันให้แรงงานไทยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ รวมทั้งผลักดันให้นายจ้างทั้งในประเทศไทยและฟินแลนด์จัดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ อันพึงมีพึงได้ให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

โดยการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานแห่งกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานสาธารณรัฐฟินแลนด์ครั้งนี้ นายสุชาติเดินทางร่วมประชุมพร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ

นายสุชาติกล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณรัฐบาลฟินแลนด์ที่ดูแลแรงงานไทยเป็นอย่างดี และในวันนี้เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือ ซึ่งสิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องการให้รัฐบาลฟินแลนด์ช่วยผลักดันให้การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ตั้งแต่ฤดูกาล 2023 เป็นต้นไป เป็นการจัดส่งในรูปแบบการจ้างแรงงานตามฤดูกาล (seasonal workers) ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์ตามมา มีสัญญาจ้างงานกับนายจ้างทั้งนายจ้างในไทยและฟินแลนด์ก่อนการเดินทาง

นับเป็นการขยายตลาดแรงงานภาคเกษตรกรรม เพราะแรงงานตามฤดูกาล ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตร ซึ่งสามารถขยายไปได้มากกว่าแค่เก็บผลไม้ป่า แรงงานไทยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายการจ้างงานของฟินแลนด์ นายจ้างจัดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ อย่างเหมาะสม และเป็นไปตามกรอบกฎหมายให้กับแรงงานไทย

แรงงานไทยได้รับการดูแลเรื่องมาตรการสาธารณสุขที่รัฐบาลฟินแลนด์ประกาศ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ให้ผู้ประสานงานของบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์เป็นนิติบุคคล

นายสุชาติยังขอให้ทั้ง 2 ประเทศร่วมกันดำเนินการให้มีการจัดสรรโควตานำแรงงานเข้าไปเก็บผลไม้ป่า ให้แก่นายจ้างในประเทศไทย นายจ้างฟินแลนด์ที่ต้องการนำแรงงานไทยเข้าไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ รวมทั้งขอรับทราบความต้องการการจ้างแรงงานฝีมือ (skilled workers) ในฟินแลนด์ กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างชาติ ค่าแรง และสภาพการจ้างงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประกาศรับสมัครแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานในฟินแลนด์ในแต่ละปี

รวมถึงการดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ ทั้งขอให้ทั้งสองประเทศประสานความร่วมมือในการผลักดันให้การจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าถูกต้องตามหลักมาตรฐานการจ้างงานสากล และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ

นางตูล่า ฮาไตเนน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานแห่งกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานสาธารณรัฐฟินแลนด์ กล่าวว่า ในนามรัฐบาลฟินแลนด์ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยและคณะที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะกระชับความร่วมมือด้านแรงงานในวันนี้ แรงงานไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟินแลนด์ เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานไทยเดินทางมาทำงานเก็บผลไม้ป่าเป็นจำนวนมาก ส่วนประเด็นข้อหารือต่าง ๆ ในวันนี้จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการและแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/9/2565

ไอแอลโอ ประชุมระดมสมอง หาแนวทางแก้ปัญหาการจ้างงานในกลุ่มเยาวชน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization)หรือ ไอแอลโอจัดงานประชุมเรื่อง “การจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย : แนวโน้มตลาดแรงงาน ผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 นโยบายแรงงาน และการสนับสนุนเยาวชนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางในประเทศไทย” (Youth employment in Thailand: Labour market trends, COVID-19 impact, policy considerations and targeted support towards youth for a human-centred recovery in Thailand) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โอเทล โดยงานดังกล่าวเป็นโอกาสสำหรับไอแอลโอในการเปิดตัวรายงานแนวโน้ม ลักษณะ และผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ต่อเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (NEET)ในประเทศไทยรวมทั้งเป็นโอกาสที่หน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนองค์การนายจ้างและลูกจ้าง และเยาวชนจะได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจ้างงานเยาวชนรวมถึงการพิจารณานโยบาย และโอกาสในการให้การสนับสนุนเยาวชนในการทำงานที่มีคุณค่า

นางสาวจิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการอาวุโสประจำประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวของไอแอลโอ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเยาวชนว่างงาน เพื่อนำเสนอแนวคิดด้านการส่งเสริมการจ้างงานในเยาวชน โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางวางนโยบายในการส่งเสริมการจ้างงานเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนกลุ่ม NEET ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทยให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“จากรายงานพบว่าเยาวชนกลุ่ม NEET (อายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1.27 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2554 เป็น 1.48 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 นอกจากนั้นเยาวชนชายมีสัดส่วนของผู้ที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี พ.ศ. 2561/2562 เป็นร้อยละ 2.6 ในปี พ.ศ. 2563 ส่วนเยาวชนหญิง ในปี พ.ศ. 2561/2562 และในปี พ.ศ. 2563 มีสัดส่วนของผู้ที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 เป็นร้อยละ 2.5“

นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวเปิดงานพร้อมพูดถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อแรงงานเยาวชน ซึ่งรองปลัดกระทรวงแรงงานได้เน้นย้ำว่าปัญหาการว่างงานของแรงงานเยาวชนเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข ผ่านการส่งเสริมการจ้างงานเยาวชน การปรับระบบแนะแนวด้านอาชีพในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาทักษะเยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ด้านนายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้กล่าวว่าสถานการณ์โควิด- 19ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของเยาวชนมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมตลอดจนเยาวชนเองจะต้องร่วมกันบรรเทาและฟื้นฟูสถานการณ์ เพื่อให้เยาวชนไทยเรามีโอกาสเติบโตและเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมั่นคงมากขึ้น นอกจากนั้นทางมูลนิธิสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีโครงการ Futuremakers by Standard Chartered initiative ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างโอกาสให้เยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนที่รายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาโอกาสในการทำงาน และมีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ

ซึ่งทางมูลนิธิสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเข้ามาเป็นพันธมิตรกับไอแอลโอผ่านการสนับสนุนโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต-การส่งเสริมความสามารถในการมีงานทำของเยาวชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Futuremakers by Standard Chartered initiative การเตรียมความพร้อมให้เยาวชนหญิงและเยาวชนชายมีทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนไตรภาคีจะได้ร่วมรับฟังผลการศึกษาเรื่องแนวโน้ม ลักษณะ และผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด – 19 ต่อเยาวชนกลุ่ม NEET และร่วมกันหาแนวทางเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาทักษะของเยาวชนกลุ่มนี้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการกำหนดนโยบายและการกระตุ้นการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนให้เยาวชนกลุ่ม NEET กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยได้รับการจ้างงานที่มีประสิทธิผล และเป็นงานที่มีคุณค่าต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/9/2565

ให้สิทธินายจ้าง-ลูกจ้าง รักษาโรคอุบัติใหม่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเปิดงานวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคม ครบ 32 ปี ระบุว่า ในภาวะการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ ทั้ง โควิด-19, ฝีดาษลิง รวมทั้งไข้หวัดมะเขือเทศ ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่หลายคนกังวลการติดเชื้อ

ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความมั่นใจกับแรงงานทุกคนว่า สถานการณ์โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดพร้อมให้การดูแลทุกชีวิต นำเข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิจนหายป่วย ขอให้แรงงานไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทอดทิ้ง ยังสามารถใช้สิทธิรักษาได้ตามปกติ โดยใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้มอบนโยบายปี 2566 ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับลูกจ้างและนายจ้าง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพแรงงาน และป้องกันโรคเชิงรุก เช่น การปรับปรุงรายการตรวจสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้น, พัฒนาระบบสารสนเทศดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้แรงงานเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกมากขึ้น

ที่มา: สนามข่าว 7 สี, 5/9/2565

เครือข่ายแรงงานฯ NT กังขาผลศึกษาดีลควบรวม บุกร้องอธิการบดีจุฬาฯ

4 ก.ย. 2565 นายพิราม เกษมวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ยื่นหนังสือถึงอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอให้ขอให้พิจารณาตรวจสอบการให้บริการศึกษาวิจัยของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยมี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้แทนรับหนังสือ

นายพิราม กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏว่า สำนักงาน กสทช. จ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศูนย์บริการวิชาการฯ) ทำการศึกษาวิเคราะห์การควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท ต่อมาได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาบางส่วน ซึ่งปรากฏว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพและมาตรฐานของงานวิชาการชิ้นดังกล่าวจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ในประเด็น 1. อำนาจการพิจารณาตามกฎหมายของ กสทช. ซึ่งศูนย์บริการวิชาการฯ มีความเห็นว่า กสทช. ซึ่งแม้จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาตการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมในครั้งนี้ ทำได้เพียงการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะมาใช้บังคับได้เท่านั้น

อีกทั้ง ผลการศึกษายังระบุอีกว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 เป็นการออกกฎหมายลำดับรองโดยไม่มีฐานอำนาจตามกฎหมายแม่บท อำนาจการพิจารณาการควบรวมจึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ความเห็นดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ที่สอน หรือมีผลงานวิจัยในเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและยังขัดแย้งต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ที่ระบุชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม อีกทั้ง คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็ได้เคยยืนยันแล้วว่าการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งขึ้น

2. วิเคราะห์ผลกระทบจากการควบรวมธุรกิจความเห็นของศูนย์บริการวิชาการฯ ไม่มีการแสดงบทวิเคราะห์ หรือความเห็นถึงผลกระทบในด้านที่จะเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด แต่มีลักษณะที่โอนเอียงไปในทิศทางที่เห็นด้วยกับการควบรวมโดยยกประโยชน์ต่างๆ เช่น การรวมธุรกิจทำให้เกิด Economies of scale, การเข้าถึงสัญญาณเครือข่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น, ซึ่งล้วนแล้วเป็นประโยชน์ของผู้ให้บริการ และมองข้ามผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดความสงสัยว่างานวิจัยดังกล่าวต้องการให้เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของ กสทช. ผู้ว่าจ้าง ตลอดจนผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้หากประสบความสำเร็จหรือไม่

กลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท NT มีความกังวลใจอย่างยิ่งถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น การที่ออกงานวิจัยหรือรายงานทางวิชาการในนามของมหาวิทยาลัยที่มีผลผูกพันต่อมหาวิทยาลัย ตลอดจนภาพพจน์ของคณาจารย์ท่านอื่นๆ จึงควรดำเนินการโดยความรอบครอบ เป็นกลางตรงตามหลักวิชาการเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการด้วยกัน อยากให้ผู้มีอำนาจตรวจสอบขั้นตอนการรับงาน ขั้นตอนการทำงานวิจัย ว่าโปร่งใส เป็นไปตามหลักวิชาการ การทำวิจัย ด้วยใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม และผลงานที่มีคุณภาพไร้ข้อกังขาหรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงอันดีงามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/9/2565

สภาอุตฯ ขอนแก่นเผยผู้ประกอบการพร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาทต่อวันเริ่ม 1 ต.ค.นี้

วันที่ 3 ก.ย.2565 เวลา 09.00 น.ที่สำนักงานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น นายทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งขอนแก่น ปรับขึ้นจากเดิมวันละ 325 บาท เป็น 340 บาท คิดเป็นการปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 4.6 ยังคงจัดอยู่ในเกณฑ์การประเมินที่ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดคือการปรับขึ้นที่ร้อยละ 5-8

ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวนี้นั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ และแรงงานรับจ้างรายวัน จะได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกวันละ15 บาทหรือได้รับเงินเดือนที่ปรับขึ้นอีกเดือนละ 450 บาท ซึ่งในฐานะนายจ้างแม้จะต้องรับภาวะค่าต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้ามองถึงสัดส่วนเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นถือว่าเหมาะสมและสามารถทีจะช่วยเหลือใช้แรงงานได้อย่างมาก

“ขอนแก่น มีโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งหมดกว่า 4,000 แห่ง มีผู้ใช้แรงงานรวมกว่า 100,000 คน ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในจำนวนนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งสิ้นรวมกว่า 900 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนในประเทศและกลุ่มทุนท้องถิ่น รวมไปถึงโรงงานจากต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่แต่สัดส่วนทุนท้องที่ยังคงมีมากกวากลุ่มทุนรายใหญ่จากต่างชาติ ดังนั้นถามว่ากระทบมั้ยในการปรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เราก็ต้องมองใน 2 มุม คือลูกจ้างที่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น น้ำมันแพง,ไข่แพง,หมูแพง,สินค้าในการอุปโภคและบริโภคต่างๆแพงขึ้น การได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยบรรเทาได้บ้าง ขณะที่นายจ้างเองก็ต้องเห็นใจที่ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่กลไกในการขับเคลื่อนภาพรวมทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐที่กำหนดออกมา ทุกฝ่ายก็ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน”นายทวีสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ นายทวีสันต์ กล่าวต่อว่า ขอนแก่นเวลานี้แรงงานทักษะและแรงงานฝีมือได้รับค่าแรงมากว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด ขณะที่กลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างก็มีการคิดค่าใช้จ่ายเป็นตารางเมตร ด้านแรงงานในระบบก็ได้รับเงินเดือนที่มากว่าค่าแรงขึ้นต่ำ ส่วนกลุ่มราชการหรือลูกจ้างของรัฐก็มีค่าจ้างที่มากอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ต้องหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิตหรือประหยัดค่าใช้จ่าย หรือการนำแรงงานต่างชาติตามข้อตกลงเข้ามาทำงานทดแทนแรงงานไทย ในกลุ่มผู้ประกอบการบางประเภท

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออก,แหอวน,รองเท้า,เครื่องหนัง หรือสินค้าแปรรูป รวมไปถึงการพูดคุยกันในการนำนวัตกรรมหรือระบบเทคโนโลยีต่างๆหรือเอไอ เข้ามาทดแทนในการผลิตหรือทดแทนในส่วนที่สำคัญ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องมองถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ด้วยการพิจารณาทบทวนเรื่องต้นทุนที่แพงขึ้นและมีการผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า,ค่าน้ำมัน หรือสิทธิทางด้านภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการด้วย

ที่มา: สยามรัฐ, 3/9/2565

ต่อเวลาศูนย์ CI 4 จังหวัด ดึงแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เตรียมเสนอ ครม.ขยายระยะเวลาให้บริการศูนย์ CI ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง ชลบุรี ถึง 13 ก.พ. 66 และเห็นชอบการแก้ไขประกาศกระทรวงแรงงาน ให้แรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

วันที่ 2 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) และการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

นายสุชาติกล่าวว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาขยายเวลาการเปิดศูนย์ CI หากมีมติเห็นชอบจะเปิดให้บริการศูนย์ CI อีกครั้งในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี เพื่อดำเนินการเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แก่แรงงานเมียนมาที่มีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับเดิม

รวมถึงทางการเมียนมาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แรงงานเมียนมาที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่มีเอกสารประจำตัว

ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย จะมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงแรงงาน โดยมีสาระสำคัญ เป็นการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตามจำนวน 4 กลุ่ม

ประกอบด้วย กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จะได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักยาว (Long-Term Resident Visa: LTR) และได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรคราวละไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เห็นชอบให้เปิดศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 ถึง 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีแรงงานเมียนมาใช้บริการ ณ ศูนย์ CI ทั้ง 5 ศูนย์ (จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี) รวมกันประมาณ 400,000 คน

สำหรับการพิจารณาครั้งนี้เป็นไปตามที่ทางการเมียนมาได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทางการไทย ร้องขอให้กรมการจัดหางานพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์ CI ถึง 2 ครั้ง เนื่องจากทางการเมียนมาคาดการณ์ว่ายังคงเหลือแรงงานที่จะต้องเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) จำนวนประมาณ 250,000-300,000 คน

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ให้ความสำคัญกับการจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ของแรงงานเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด และนายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการมากที่สุดในกลุ่มแรงงาน 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา)

โดยถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จำเป็นต้องวางแนวทาง ให้แรงงานเมียนมามีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักร กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลา และสามารถทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุม คบต.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานของทั้ง 4 ศูนย์ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี ให้สามารถดำเนินการได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 3/9/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท