Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“จุดเกิดอุบัติเหตุคือตรงแยกหน้าชลประทาน ยอมรับว่าเกิดจากตัวเอง ตอนนั้นผมเข้ามาขับใหม่ๆ เป็นช่วงที่งานค่อนข้างดี ก็เลยวิ่งหนัก เพราะไม่แน่ใจว่าวันอื่นจะเป็นยังไง วันนั้นจำได้ว่าเข้านอนตีสี่ ตื่นเจ็ดโมง ทำให้สภาพร่างกายมันไม่พร้อม” หนุ่ม ไรเดอร์วัย 30 ต้นๆ เล่าเหตุการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนของตน เมื่อปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ซึ่งแพลตฟอร์มส่งอาหารเพิ่งมาเปิดบริการที่จังหวัดอุบลราชธานี  

เราสังเกตเห็นว่าดวงตาทั้งสองของเขาแดงก่ำอย่างเห็นได้ชัด จึงทักว่าตาแดงๆ เมื่อคืนไม่ได้นอนหรือเปล่า “อ๋อ คงเป็นเพราะถูกลมมาก หมวกกันน๊อคผมไม่มีที่กันลม พอดีมันแตกมาพักใหญ่แล้ว ว่าจะซื้อใหม่ยังไม่ได้ซื้อ” เขาตอบพร้อมหัวเราะเบาๆ และเพิ่มเติมว่า “อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนผมทำงานก่อสร้าง ทำงานเชื่อมเหล็ก มันแดงมานานแล้ว เพื่อนทักบ่อยๆ ว่าตาแดง”

เขาเล่าเหตุการณ์อุบัติเหตุต่อว่า “วันนั้นผมนอน 3-4 ชั่วโมง การตัดสินใจมันไม่ได้ วันนั้นเข้าไฟแดง ตรงนั้นห้ามยูเทิร์น [เลี้ยวขวากลับรถตรงเสาไฟจราจร] แต่ถ้าไม่กลับตรงนี้ จะต้องไปไฟแดงหน้าอีกไกล ตอนนั้นข้างหน้าเป็นรถเก๋ง ผมเห็นเขาตีไฟเลี้ยวขวา ผมจะเข้าขวามือ แต่ไม่มีช่อง ก็เลยแซงขึ้นซ้าย แล้วตีวงเลี้ยวขวา แต่จู่ๆ เขาไม่เลี้ยว อาจจะเห็นป้ายห้ามเลี้ยว เลยเปลี่ยนใจไปตรง เลยโครม ยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิด ดีว่าเขาไม่เอาเรื่อง ..มีแผลที่เท้า ไม่หนักมากแค่เลือดตก แต่ต้องหยุดงานไปเป็นอาทิตย์”  

หนุ่มยังบอกอีกว่าปกติทำงานวันละประมาณ 15 ชั่วโมง ออกจากบ้านสายๆ กลับเข้าบ้านประมาณเที่ยงคืน สัปดาห์หนึ่งทำงาน 6 วัน เราถามว่าทำไมต้องทำงานหนักขนาดนั้น เขาบอกว่าช่วยนั้นรายได้ดี ถึงวันละ 1,000 กว่าบาท เมื่อมีโอกาสต้องรีบทำเงินไว้ก่อน เพราะประสบการณ์สอนว่างานแบบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน 

เรื่องราวสั้นๆ ของหนุ่ม สะท้อนปัญหาร่วมของแรงงานงานไทย นับตั้งแต่การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  และเป็นงานที่ไม่มั่นคง กระทั่งมาทำงานเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร ที่ยังเผชิญโจทย์เดิมอีกคือเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และความไม่มั่นคง

หากโฟกัสเรื่องอุบัติเหตุ จะเห็นว่าปัจจัยที่นำไปสู่อุบัติเหตุของหนุ่มมีหลายประการ นับตั้งแต่การพักผ่อนน้อย การโหมงานหนัก การเร่งรีบขับขี่ และการฝ่าฝืนกฎจราจร  

ในทำนองเดียวกับเรื่องราวของหนุ่ม การสนทนากับไรเดอร์จำนวนหนึ่ง ทำให้พบว่าอุบัติเหตุไรเดอร์เกิดจากหลายปัจจัย ปัจจัยต่างๆ เกี่ยวข้องกัน และเกี่ยวข้องกับการทำงานภายใต้แพลตฟอร์ม โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม[2] ประกอบกับบทเรียนจากการศึกษาอุบัติเหตุผู้ขับขี่ยานพาหนะภายใต้การจ้างงานแบบกิ๊ก (Gig Work) ในต่างประเทศ[3] ทำให้เรามีข้อสรุปเบื้องต้นว่า  การเกิดอุบัติเหตุของไรเดอร์เกิดจากปัจจัยเสี่ยง 4 ประการ

ประการแรก ความกดดันในการทำงาน: ไรเดอร์ต้องทำงานแข่งกับเวลา รีบส่งอาหารให้ลูกค้า ความล่าช้าจะทำให้ลูกค้าให้คะแนนประเมินต่ำ กระทบต่อโอกาสได้รับงานในครั้งต่อไป การรีบจบงานแต่ละครั้ง หมายถึงโอกาสมีงานใหม่เข้ามา  โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนสั่งอาหารจำนวนมาก แพลตฟอร์มมีระบบจูงใจหรือโบนัสอินเซนทีฟให้ทำรอบมากขึ้น เมื่อทำได้ตามเป้าจะได้เงินรางวัล บางแพลตฟอร์มมีงานซ้อนหรือที่เรียกว่างานแบช  คือมีออเดอร์เข้ามาทีเดียวสองงาน ต้องส่งอาหารให้ลูกค้าทั้งสองราย ต้องเร่งรีบ แต่ได้ค่ารอบไม่เต็มจำนวน (ออเดอร์ที่สองได้ค่ารอบครึ่งเดียว)      

ประการที่สอง การถูกเบี่ยงเบนจากการขับขี่: ไรเดอร์ทำงานโดยรับคำสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน การไปรับ-ไปส่งอาหารต้องคอยชำเลืองมอง GPS บางครั้งเกิดปัญหาระหว่างการทำงานต้องติดต่อกับแพลตฟอร์ม หรือสอบถามข้อมูลลูกค้า บางคนจึงขับขี่ไปด้วยใช้สมาร์ทโฟนไปด้วย บางแพลตฟอร์มต้องแข่งขันกันกดรับงาน ทำให้บางคนคอยชำเลืองมองโทรศัพท์ระหว่างขับขี่ และเร่งกดรับงานโดยไม่ยอมเสียเวลาจอดรถ   

ประการที่สาม ความเหนื่อยล้า: ไรเดอร์ส่วนใหญ่ทำงานวันละมากกว่า 8 ชั่วโมง ผู้ขับขี่จำนวนมากทำงานวันละ 10 ชั่วโมง และจำนวนหนึ่งทำวันละ 12-15 ชั่วโมง จริงอยู่ว่าไรเดอร์ไม่ได้ขับขี่ตลอดเวลา แต่ด้วยเหตุที่ได้ค่าตอบแทนจากการทำงานเป็นรายชิ้น เพื่อให้มีรายได้ตามเป้า จึงต้องคอยตระเวนรับงาน การตรากตรำบนท้องถนน ในสภาพอากาศร้อนจัด บางครั้งฝนฟ้ากระหน่ำ การไม่มีที่พักที่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีเวลารับประทานอาหารหรือเวลาพักที่แน่นอน ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และผลกระทบต่อสุขภาพ และสุขภาพจิต  

ประการสุดท้าย การเลือกที่จะเสี่ยง: แม้รู้ว่าเสี่ยงแต่ไรเดอร์หลายคนยอมเสี่ยง เช่น ออกมาวิ่งยามฝนตก หรือยามค่ำคืน เพราะคนไม่อยากออกจากบ้านจึงสั่งอาหารกันเยอะ บางคนเลือกรับงานระยะทางไกล เพราะคิดว่าได้ค่ารอบสูงขึ้น แต่บ่อยครั้งการขับระยะไกล ในพื้นที่ไม่คุ้นเคยนำมาสู่อุบัติเหตุ และที่สำคัญคือการเสี่ยงฝ่าฝืนกฎจราจร แม้ทราบดีว่าทำเช่นนี้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง แต่บางคนยอมเสี่ยงด้วยเหตุว่า ต้องการทำเวลาให้ดีที่สุด บางคนเหนื่อยล้าเกินกว่าจะขับไกลออกไปอีก บางคนกล่าวว่าค่าน้ำมันแพงสวนทางกับค่ารอบที่ลดลง ทำอะไรที่ประหยัดน้ำมันได้ก็ทำ บางคนบอกว่าเป็นการ “เอาคืน” เพราะสังคมไม่แม้แต่มองเห็นตัวตนของพวกเขา จึงมีไรเดอร์บางคนขับรถย้อนศร ผ่าสัญญาณไฟจราจร ขับเร็วเกินควร แม้กระทั่งขับขี่บนฟุตบาท  

ถามว่าปัจจัยเสี่ยงทั้ง 4 ประการเกิดจากอะไร เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงของลักษณะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายใต้ปัจจัยแต่ละด้าน จะเห็นว่ามีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน การควบคุมการทำงานของแพลตฟอร์มผ่านแอปพลิเคชั่น และความสัมพันธ์ในการจ้างงาน ที่แพลตฟอร์มไม่ได้เข้ามารับรู้ ป้องกัน แก้ไขปัญหาต่างๆ ในการทำงาน แต่โยนภาระทั้งหมดไปให้ไรเดอร์ สภาพการณ์ทั้งหมดนี้นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยง และท้ายที่สุดนำไปสู่อุบัติเหตุ กลายเป็นความสูญเสียต่อไรเดอร์ ครอบครัว คนใช้รถใช้ถนน และสังคมโดยรวม

การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยการเพ่งโทษว่าเกิดจากปัญหาส่วนบุคคลของไรเดอร์ หรือการคิดค้นกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ประกอบอาชีพนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่การแก้ไขที่ต้นเหตุน่าจะเป็นการถอดชนวนปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่สังคมควรจะหาทางออกร่วมกัน.   

 

อ้างอิง 

[1] พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง โครงการวิจัยนี้อยู่ภายใต้ “โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ” สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นหัวหน้าชุดโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ความเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน สถาบันฯ และ สสส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

[2] ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 เราสัมภาษณ์ไรเดอร์ที่จังหวัดอุบลราชธานี 7 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และกรุงเทพฯและปริมณฑล 2 ราย

[3] Christie, N and Ward, H. (2019) The health and safety risks for people who drive for work in the gig economy. Journal of Transport & Health. 13, 115-127.

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net