Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในหนังสือ “ข้ามพ้นศาสนา: จริยธรรมเพื่อคนทั้งโลก” (Beyond Religion: Ethics for a Whole world) ของทะไลลามะ แปลโดยนัยนา นาควัชระ มีประเด็นสำคัญบางอย่างที่ผมอยากเขียนถึง เริ่มจากคำนำของ ว. วชิรเมธีที่ชื่นชมทะไลลามะว่า 

“เนื้อหาสาระของพระนิพนธ์เล่มนี้เป็นพระวิสัยทัศน์เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ ที่มีทั้งความสดใหม่ และแกล้วกล้าอาจหาญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของพระองค์...” 

คำถามคือ “ความสดใหม่” วัดจากอะไร เพราะทะไลลามะกำลังเสนอวาทกรรม “ข้ามพ้นศาสนา” บนกรอบคิด “จริยธรรมโลกวิสัย” (secular ethics) แต่ประวัติศาสตร์จริยธรรมโลกวิสัยในปรัชญาตะวันตกมีมาแต่ยุคปรัชญากรีกโบราณ เช่น แนวคิดจริยธรรมแบบมนุษยนิยมที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของโสกราตีส พลาโต อาริสโตเติล เอพิคิวรัสหรือพวกสโตอิกเป็นต้น 

แต่แนวคิดจริยธรรมโลกวิสัยแบบปรัชญากรีกถูกบดบังด้วยอิทธิพลของคริสตศาสนจักรยุคกลางเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งเกิดการฟื้นศิลปวิทยาการ และการปฏิรูปศาสนาช่วงปลายยุคกลาง แนวคิดจริยธรรมมนุษยนิยมโลกวิสัยแบบกรีกจึงถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ และพัฒนามาเป็นแนวคิดจริยธรรมเสรีนิยมโลกวิสัย ที่รุ่งเรืองขึ้นในยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) นักปรัชญายุคนี้แยก “จริยธรรมโลกวิสัย” (secular ethics) ออกจาก “จริยธรรมศาสนา” (religious ethics) อย่างเป็นระบบชัดเจนยิ่งขึ้น 

จริยธรรมโลกวิสัยเน้น “ความมีเหตุผล” (rationality) และการปกป้อง “คุณค่าสากล” คือ “หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และหลักความยุติธรรมสาธารณะ, ประโยชน์ส่วนรวม, ความก้าวหน้าของมนุษยชาติที่วางอยู่บนคุณค่าสากลดังกล่าว 

ดังนั้น จริยธรรมโลกวิสัยจึงมีลักษณะเป็นกฎสากลที่ข้ามพ้นความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมธรรม ชาติ ชาติพันธุ์ เพศ สีผิวและอื่นๆ ข้อถกเถียงทางปรัชญาจริยธรรมโลกวิสัยสมัยใหม่ และประวัติศาสตร์ของการนำคุณค่าสากลดังกล่าวมาใช้ในการปฏิวัติประชาธิปไตย ทำให้เกิดการยกเลิกรัฐศาสนา, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และการแยกศาสนาจากรัฐ 

พูดอีกอย่างคือ รัฐเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่อยู่ภายใต้ “ระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมโลกวิสัย” (the liberal secular regimes) ที่ไม่อ้างการปกครองในนามพระเจ้า หรือในนามธรรมะเป็นต้นอีกแล้ว

นั่นคือผลของการเกิดขึ้นและพัฒนาการของจริยธรรมโลกวิสัย ที่ทำให้เกิดระบอบการปกครองแบบโลกวิสัย หรือรัฐโลกวิสัย (secular state) เกิดสังคมโลกวิสัย (secular society) หมายถึง สังคมที่ยึดคุณค่าสากลคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ผลประโยชน์ส่วนรวม ความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้า สิทธิในสวัสดิการต่างๆ ของพลเมือง หรือหลักความยุติธรรมสาธารณะเป็น “คุณค่าหลัก/คุณค่าแกนกลาง” (core values) ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง และหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และอื่นๆ อย่างมีความเคารพ และอดกลั้นต่อกันและกัน

ดังนั้น หากเทียบกับพัฒนาการจริยธรรมโลกวิสัยที่มีมายาวนาน ข้อเสนอของทะไลลามะจึงไม่ได้มี “ความสดใหม่” ดังที่ ว.วชิรเมธี สดุดีไว้เลย หากคิดว่าเป็นความสดใหม่ก็ย่อมเป็นการคิดจากมุมมองทางศาสนา จากจุดยืนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลทางศาสนาที่ตามความเปลี่ยนแปลงทางโลกวิสัยอย่างล่าช้าเสมอมาเท่านั้นเอง 

ข้อเสนอของทะไลลามะที่ว่า “สดใหม่” หรือ “ก้าวหน้า” (หากคิดจากบริบททางศาสนา) คือ ข้อเสนอให้ ”แยกจริยธรรมออกจากศาสนา” ดังที่เขาเขียนว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า แม้มนุษย์จะอยู่ได้โดยไม่ตองมีศาสนา แต่มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้โดยไม่มีคุณธรรมภายในใจ เพราะฉะนั้นที่ข้าพเจ้าเสนอว่าให้จริยธรรมเป็นอิสระจากศาสนา จึงเป็นหุผลที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะข้าพเจ้ามองว่าเรื่องจิตวิญญาณมีสองมิติ มิติแรกคือการมีสภาพพื้นฐานทางจิตวิญญาณที่ดี - คือมีสภาพจิตและสภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็งมีสมดุล-โดยที่ไม่ต้องพึ่งศาสนา เพราะสภาพเช่นนี้เป็นธรรมชาติที่มนุษย์มีมาแต่กำเนิดในฐานะที่เป็นสัตว์ซึ่งมีพื้นนิสัยโน้มเอียงไปในทางกรุณา โอบอ้อมอารีและใส่ใจทุกข์สุขของผู้อื่น มิติที่สองอาจเรียกได้ว่าเป็นมิติทางจิตวิญญาณที่มีศาสนาเป็นพื้นฐาน...ความแตกต่างระหว่างมิติทั้งสองเปรียบเหมือนน้ำกับน้ำชา จริยธรรมและคุณธรรมภายในใจที่ไม่มีเนื้อหาทางศาสนาคือน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่เราต้องกินดื่มทุกวัน และ จำเป็น ต่อสุขภาพและความอยู่รอดของเรา จริยธรรมและคุณธรรมในใจที่อยู่ในบริบทของศาสนาเปรียบเหมือนน้ำชา ชาที่เราดื่มมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำ แต่ก็มีอย่างอื่นผสมอยู่ด้วย ... แต่ไม่ว่าเราจะชงชาอย่างไรก็ตาม ส่วนผสมหลักจะต้องเป็นน้ำเสมอ เรามีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีชา แต่เราขาดน้ำไม่ได้ ในทำนองเดียวกันเราเกิดมาโดยที่ไม่มีศาสนามาแต่กำเนิด แต่เราไม่ได้เกิดมาโดยที่ไม่ต้องการ ความกรุณา” 

ถ้ามองจากจุดยืนทางศาสนา “ความใหม่” ของข้อเสนอข้างบนนี้ คือการยืนยันว่ารากฐานของจริยธรรม “ไม่ใช่ศาสนา” ดังที่ชาวศาสนาทั่วไปเข้าใจกันมาตลอด เพราะถูกปลูกฝังให้เชื่อกันมานานว่า “ไม่มีศาสนาก็มีจริยธรรมไม่ได้” แต่ทะไลลามะเสนอว่ารากฐานของจริยธรรมคือ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งหมายถึง ธรรมชาติด้านดีที่เรามีอยู่แล้วพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้แก่ “สภาพพื้นฐานทางจิตวิญญาณที่ดี” หรือ “ความเป็นสัตว์ที่มีพื้นนิสัยโน้มเอียงไปในทางกรุณา” จากการนิยามธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้ทะไลลามะสรุปว่า จริยธรรมโลกวิสัยวางอยู่บนสองเสาหลัก

“หลักข้อแรกคือ เราจะต้องเข้าใจและยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ และปรารถนาความสุขและไม่อยากมีทุกข์เหมือนกับคนอื่นๆ หลักข้อที่สองก็คือ เราจะต้องเข้าใจว่าโดยความเป็นจริงแล้วลักษณะเด่นของมนุษย์คือ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน...”  (ตัวเอน เน้นโดยผู้เขียน)

จะเห็นว่าการยืนยันว่า “ความเป็นมนุษย์” หรือความจริงระดับ “ธรรมชาติของมนุษย์” คือรากฐานของจริยธรรม และการยืนยันว่าจริยธรรมโลกวิสัยถูกค้ำยันด้วยสองเสาหลัก ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ เพราะแนวคิดจริยธรรมโลกวิสัยแบบสุขนิยม (hedonism) ในยุคปรัชญากรีกก็ถือว่า ธรรมชาติทางจิตวิทยาของมนุษย์คือการหลีกเลี่ยงความทุกข์และต้องการความสุขคือรากฐานของจริยธรรมแบบสุขนิยม ขณะที่นักปรัชญาสมัยใหม่อย่างเจเรมี เบนแธมและจอห์น สจ๊วต มิลล์ก็นำแนวคิดสุขนิยมมาผสมผสานกับแนวคิดเรื่องการพึ่งพากันของมนุษย์มาพัฒนาเป็นแนวคิดจริยธรรมโลกวิสัยแบบอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) ดังที่ทราบกันดีในบรรดาผู้ศึกษาจริยศาสตร์ หรือปรัชญาจริยธรรมสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม แนวคิดปรัชญาจริยธรรมและปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ไม่ได้ถือว่า รากฐานของจริยธรรมโลกวิสัยมาจากข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งอธิบายได้ในทางชีววิทยา หรือใช้ข้อมูลทางชีววิทยามาสนับสนุนเท่านั้น เช่น แนวคิดเรื่อง “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) ของจอห์น ล็อก ก็ไม่ได้ใช้ข้ออ้างทางชีววิทยา (biological arguments) มาสนับสนุน แต่ยืนยันว่าสิทธิตามธรรมชาติเป็น “คุณค่าพื้นฐาน” (basic values) หรือ “คุณค่าแกนกลาง” รองรับสัญญาประชาคมทางสังคมการเมือง หรือแนวคิดจริยธรรมโลกวิสัยแบบคานท์ (Kantian ethics) ก็ถือว่าความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่มีเสรีภาพ มีเป้าหมายหรือศักดิ์ศรีในตัวเอง คือรากฐานของจริยธรรมโลกวิสัย แนวคิดเหล่านี้ถูกตีความปรับใช้เป็นรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากลในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดโลกวิสัยแบบมาร์กซิสต์และอื่นๆ ซึ่งสาระสำคัญล้วนเป็นการแยกจริยธรรมออกจากศาสนา และแยกศาสนาจากรัฐ ถือว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล และจริยธรรมศาสนาเป็นจริยธรรมส่วนบุคคล ขณะที่จริยธรรมโลกวิสัยเป็นหลักจริยธรรมสาธารณะ หรือหลักจริยธรรมที่ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรมทางสังคม   

สาระสำคัญในงานเขียนของทะไลลามะ คือ การยอมรับจริยธรรมโลกวิสัยในฐานะเป็นจริยธรรมสากลของมนุษยชาติ และตีความคำสอนพุทธศาสนา เช่น ปัญญา กรุณา ขันติธรรมและอื่นๆ ให้มีความหมายหรือนัยสำคัญสนับสนุนจริยธรรมโลกวิสัย ไม่ใช่เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กับศาสนา แต่เป็นการเน้นความสำคัญของจริยธรรมโลกวิสัยที่รองรับความแตกต่างและหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค มีความเคารพและอดกลั้นต่อกันและกัน พร้อมกับตีความหลักคำสอนศาสนาสนับสนุนความเป็นธรรมและสันติภาพในการอยู่ร่วมกัน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำให้ศาสนาปรับตัวอย่างเคารพคุณค่าสมัยใหม่ หรือทำให้ศาสนาดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าในสังคมโลกวิสัยสมัยใหม่

เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอของทะไลลามะ เราอาจพบได้ในแนวคิดแบบเยอร์เกน ฮาเบอร์มาส เช่นว่า “เมื่อเราจะนำความเชื่อทางศาสนามาอภิปรายประเด็นสาธารณะ จะต้องแปลภาษาศาสนาให้เป็นภาษาโลกวิสัย” หรือข้อเสนอแบบจอห์น รอลส์ที่ว่า ในสังคมเสรีประชาธิปไตย จำเป็นต้องกำหนดหลักความยุติธรรมสาธารณะคือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม, หลักการกระจายโอกาสที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และหลักสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ให้เป็น “คุณค่าแกนกลาง” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อพลเมืองเสรีและเสมอภาคทั้งหลายจะนำความเชื่อทางศาสนาและปรัชญาต่างๆ มาอภิปรายสาธารณะที่มีผลต่อการบัญญัติกฎหมาย และนโยบายส่วนรวมต่างๆ จะต้องตีความหลักความเชื่อทางศาสนาและปรัชญาต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันได้ของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนา ด้วยวิธีการเช่นนี้ ย่อมทำให้ระบอบประชาธิปไตย และคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ในสังคมตะวันตกช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสังคมโลกวิสัยที่ “แยกศาสนาจากรัฐ” ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะมีชาวคริสต์หัวก้าวหน้าตีความคำสอนศาสนาของตนสนับสนุนเสรีภาพและความเสมอภาค และเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ทะไลลามะตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชน โดยยืนยันหลักจริยธรรมโลกวิสัยเป็นตัวตั้ง

แต่ในสังคมไทยกลับเต็มไปด้วย “ความย้อนแย้ง” เมื่อปราชญ์พุทธและปัญญาชนพุทธตีความพุทธศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กับยืนยัน “การไม่แยกศาสนาจากรัฐ” ซึ่งเป็นได้เพียงการโฆษณาชวนเชื่อว่า หลักพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนเท่านั้นเอง 

ทว่าในทางปฏิบัติจริงๆ กลับปกป้องระบบโครงสร้างที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย เพราะไม่ใช่ยกจริยธรรมโลกวิสัยเป็นตัวตั้ง แล้วตีความคำสอนศาสนาสนับสนุนแบบที่ทะไลลามะทำ แต่เป็นการยกหลักศาสนาสูงกว่าหลักจริยธรรมโลกวิสัย มองจริยธรรมโลกวิสัยเป็นแค่ความจริงสมมติ ไม่ใช่ความจริงสูงสุดแบบพุทธธรรม โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังโฆษณาชวนเชื่อว่าน้ำชาสำคัญกว่าน้ำ!
 

 

ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/foreign/news_173882

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net