Skip to main content
sharethis
  • กรมอุตุฯ เตือนหลายจังหวัด ฝนตกหนักถึงหนักมาก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก 
  • ระยองน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว
  • สสน. เผยวานนี้ปทุมธานีฝนตกหนักสุดในประเทศ 157 มม. ทีมงานก้าวไกล ระบุปทุมธานี 'ซอยบุญคุ้ม - ชุมชนพูลผลนิเวศน์' น้ำยังคงสูง ส่วน กทม. พหลโยธิน50-52 น้ำยังคงท่วมขัง

9 ก.ย.2565 สถานการณ์ฝนตกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยนั้น วันนี้ (9 ก.ย.) เวลา 23.00 น.  ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2565)"

ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมา, ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้: จังหวัดระนอง และพังงา

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ระยองน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว

จากเหตุการณ์น้ำท่วมระยองในหลายวันที่ผ่านมา Dot easterners รายงานว่า เวลา 16.50 ของวันที่ 9 ก.ย. ทาง 'สนง.ปภ.ระยอง' ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) 
ในพื้นที่จังหวัดระยอง ทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่  1.อำเภอเมืองระยอง 2.อำเภอเมืองแกลง  3.อำเภอวังจันทร์  4.อำเภอบ้านค่าย 

พื้นที่ อ.แกลง จ.ระยอง ยังคงเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบที่สุดจากน้ำป่าเพราะฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เมื่อช่วงวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดระดับน้ำลดลงไปเล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีน้ำท่วมสูงอยู่

ประธานชุมชนโพธิ์ทอง ซึ่งบริเวณแยกโพธิทอง ต.ทางเกวียน อ.แกลง ถูกตั้งเป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย "น้ำท่วม" ระบุว่า "ปัจจุบันมีบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเดือดร้อนราว 1,000 หลังคาเรือน ซึ่งถ้าหากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เพิ่มเติม ก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลาระหว่าง 3 วันถึง 1 สัปดาห์ ที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ" 

ส่วนในอำเภออื่น ๆ เช่น อำเภอเมืองระยอง ซึ่งถูกน้ำป่าหลากเข้าท่วมอย่างฉับพลันเมื่อ 2 วันก่อนพบว่า น้ำแห้งลงเข้าสู่สภาวะปกติแล้วในหลาย ๆ พื้นที่ 

มีการตั้งข้อสังเกตจาก @the eastern citizen center ECC ระบุว่า ปัญหาในครั้งนี้เกิดจาก 'ผังเมืองระยอง' ซึ่งกำหนดให้พื้นที่อุตสาหกรรมถมพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่รับน้ำ, การสร้างบ้านจัดสรรต่าง ๆ ซึ่งขวางทางน้ำ รวมทั้งการขุดเขาธุรกิจขายดินลูกรัง  เป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อเกิดฝนตก น้ำป่า จะทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หน้าดินพังทลาย สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากพื้นที่รับน้ำที่จะชะลอความเร็วของน้ำก่อนที่จะไหลลงทะเลได้หายไป 

ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า  ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก  และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักในภาคตะวันออกได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

(ที่มา : TNN, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และไทยโพสต์)

สสน. เผยวานนี้ปทุมธานีฝนตกหนักสุดในประเทศ 157 มม.

สำนักข่าวไทย รายงานว่า สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากร (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวว่า เมื่อวานนี้  หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีฝนตกหนัก พื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ จังหวัดปทุมธานี ตรวจวัดที่สถานีประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี ซึ่งมีปริมาณมากถึง 157 มิลลิเมตร อันดับ 2 คือ จังหวัดร้อยเอ็ด 148.60 มิลลิเมตร อันดับ 3 คือ จังหวัดหนองบัวลำภู 135 มิลลิเมตร อันดับ 4 คือ ที่สถานีคลองเปรมประชากร หลักหก จังหวัดปทุมธานี 134.60 มิลลิเมตร และอันดับ 5 คือ จังหวัดตราด 118.50 มิลลิเมตร

การที่เมื่อวานนี้มีฝนตกลงมาในจังหวัดปทุมธานี เป็นปริมาณมาก ตามรายงานตรวจวัดปริมาณฝนที่สถานีประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ 157 มิลลิเมตร สถานีคลองเปรมประชากร หลักหก 134.60 มิลลิเมตร รวมถึงที่สถานีฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต 81.20 เมตรทำให้น้ำระบายได้ช้าจึงท่วมขังหลายพื้นที่ ตลอดจนระดับน้ำทั้งในคลองเปรมประชากรและคลองรังสิตประยูรศักดิ์สูงขึ้นจนเกินระดับวิกฤติ

สำหรับพื้นที่ กทม. หลายพื้นที่มีฝนตกลงมามากเช่นกัน ดังที่สถานีจุดวัดศูนย์ราชการ-ถ. แจ้งวัฒนะ ตรวจวัดได้ 85.50 มิลลิเมตร สถานีดินแดง 80 มิลลิเมตร ส่วนสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย. ในพื้นที่ กทม. ระบบเรดาร์คอมโพสิทตรวจพบปริมาณฝนสูงสุดอยู่ในช่วง 50-150 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขน ลาดกระบัง พญาไท ดินแดง และห้วยขวาง และลาดกระบัง ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองสายหลักฝั่งตะวันออกของ กทม. ขึ้นสูงเกินระดับวิกฤติ โดยยังมีหลายจุดที่ยังคงระดับวิกฤติในเวลา 07.00 น. ของวันนี้ได้แก่ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองพระยาสุเรนทร์ และคลองแสนแสบ (ฝั่งนอกปตร.คลองแสนแสบ-ถ.ประชาร่วมใจ) ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์

ทีมงานก้าวไกล ระบุปทุมธานี 'ซอยบุญคุ้ม - ชุมชนพูลผลนิเวศน์' น้ำยังคงสูง

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เชตวัน เตือประโคน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี ว่า ตนพร้อมทีมงาน ปั่นจักรยานไปเยือนพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายๆ ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองคูคต และเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยจุดที่ได้รับผลกระทบหนักซึ่งขณะนี้ยังคงน้ำท่วมสูงคือชุมชนตลอดสองข้างทางซอยบุญคุ้ม รวมถึงชุมชนพูลผลนิเวศน์ที่พบว่ามีประชาชนเริ่มขนข้าวของออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่นแล้ว 

เชตวัน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขต ต.คูคต โดยเฉพาะเส้นซอยบุญคุ้มนั้น นอกจากได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตลอด 2-3 วันที่ผ่านมาแล้ว ยังมีน้ำที่เอ่อล้นจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไหลผ่านซอยรังสิต - นครนายกซอยต่างๆ ซึ่งเป็นเขตเทศบาลนครรังสิต เข้ามาในพื้นที่ของ ต.คูคต ด้วย โดยที่มาผ่านมาได้เดินทางไปสำรวจในหลายชุมชน อาทิ ชุมชนเกษมทรัพย์ซึ่งยังคงสูบน้ำออกจากชุมชนทางคล้ายชุมชนลงคลองสองตลอดเวลา แต่ทว่าน้ำจากในซอยบบุญคุ้มที่ยังสูงอยู่ก็ยังคงเข้าชุมชนตลอดเวลา 

"อีกชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักมากคือชุมชนพูลผลนิเวศน์ ซึ่งน้ำมาเร็วมากและขณะนี้ท่วมมา 2 วันแล้ว น้ำสูงสุดบางจุดกว่า 50 เซ็นติเมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ สำหรับการมาสำรวจพื้นที่น้ำท่วมครั้งนี้ ผมตั้งใจที่จะใช้การเดินทางโดยปั่นจักรยาน เพราะเป็นพาหนะที่สะดวกที่สุด ปั่นไปจุดไหนก็ได้ ตรงไหนลึกก็เดินจูงไป เพราะถ้าเป็นรถยนต์หรือจักรยานยนต์ อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากสาเหตุทำให้เกิดคลื่นน้ำกระเพื่อมเข้าชุมชน ทั้งนี้ ได้รับการติดต่อจากบางคนในแต่ละชุมชนว่า เริ่มมีปัญหาเรื่องน้ำกัดเท้าแล้ว จึงนำยามามอบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย" เชตวัน กล่าว  

ขณะที่ กรุงเทพฯ น้ำยังคงท่วมขังในพื้นที่ชุนชนโรงหนังเก่ากรุงสยาม (ระหว่างซอยพหลโยธิน50-52) จากการสอบถามประชนชนในพื้นที่บางคนระบุว่า น้ำท่วมขังมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net