Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัด "ยืน หยุด ทรราช" เป็นสัปดาห์ที่ 20 เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังทางการเมือง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลยังคงไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคน อาทิ เอกชัย หงส์กังวาน ที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เป็นครั้งที่ 5 และ 7 นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัว จากกรณีทำสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่รุนแรง

11 ก.ย. 2565 เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ก.ย. 2565 เวลา 17.00-18.12 น. กลุ่ม ‘We, The People’ จัดกิจกรรม "ยืน หยุด ทรราช" เชียงใหม่ เป็นสัปดาห์ที่ 20 บริเวณลานท่าแพ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังทางการเมือง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานว่า ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เอกชัย หงส์กังวาน ที่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นครั้งที่ 5 ในคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยศาลฎีกาได้มีคำสั่งลงวันที่ 3 ก.ย. 2565 ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกาคำพิพากษา เนื่องจากศาลเห็นว่า “เหตุที่อ้างตามคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกาและพฤติการณ์แห่งคดียังไม่เห็นสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

แม้ทนายความจะได้พยายามชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาฎีกาอาจใช้เวลานานกว่าโทษจำคุกของเอกชัยที่เหลือเพียง 6 เดือน ซึ่งจะทำให้เอกชัยต้องอยู่ในเรือนจำเกินกว่าโทษตามกฎหมายก็ตาม

เช่นเดียวกับ 7 นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ป่าน - กตัญญู หมื่นคำเรือง, คิม - ทศมา สมจิตร์, เจมส์ - ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี, คาริม - จิตริน พลาก้านตง, ทู - กฤษณะ มาตย์วิเศษ, อาทิตย์ - ทวี เที่ยงวิเศษ และชาติชาย ไพรลิน ที่ถูกฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 และยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งหมดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้ง 7  และศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 6 ก.ย. 2565 โดยมีคำสั่งระบุว่าให้เตรียมพยาน รวมทั้งให้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดและบุคคลที่ศาลอาจตั้งให้เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยมาด้วย ในนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ทนายความได้เสนอหลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว เป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท พร้อมทั้งระบุว่า หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขประกอบการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยหรือเห็นสมควรให้ตั้งผู้กำกับดูแล จำเลยทั้งเจ็ดยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามเกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆ ที่มีลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา, ห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล, ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้มารายงานตัวต่อศาลตามเวลาที่กำหนด, ติดอุปกรณ์ติดตามตัว (EM) รวมทั้งยินยอมให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีศาลเคยไม่อนุญาต จำเลยที่ 3 – 9 เพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกฎ ทั้งใช้ความรุนแรง และทำให้เกิดภยันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุสมควร โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 – 6 เคยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้มาก่อนแล้ว จึงเชื่อว่าหากปล่อยจำเลยที่ 3 – 9 ไป อาจจะไปก่อภยันตรายอื่นได้อีก ในชั้นนี้ แม้จำเลยทั้งหมดดังกล่าว จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ EM

แต่ก็ยังตั้งเงื่อนไขในการที่จะออกจากเคหสถาน เพียงช่วงเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ชั้นต้น ซึ่งยังไม่เพียงพอให้ศาลเชื่อว่า จำเลยทั้งหมดจะไม่ก่ออันตรายอื่นอีก โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 (อาทิตย์ ทวี) และ 7 (ป่าน กตัญญู) ได้เสนอบุคคลที่ไม่น่าจะสามารถกำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้ดีเพียงพอ ในชั้นนี้จึงยังถือว่าการร้องขอของจำเลยที่ 3 – 9 ยังไม่มีเหตุผลพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง

โดยเจ้าหน้าที่ศาลไม่เปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำสั่งดังกล่าว

ผลของคำสั่ง ทำให้สมาชิกทะลุฟ้าทั้ง 7 คน จะยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2565

 

ภาพบรรยากาศกิจกรรม "ยืน หยุด ทรราช"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net