เรียนรู้ 2 ทศวรรษ โฮมสคูลในไทย กับวังวนปัญหาที่ไม่รู้จบ EP2

เรียนรู้ 2 ทศวรรษ โฮมสคูลในประเทศไทย กับวังวนปัญหาที่ไม่รู้จบ EP2 คุยกับ ‘ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ’ รองเลขาฯ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายบ้านเรียน (Home School) ย้ำโฮมสคูลไม่มีสูตรสำเร็จ  โฮมสคูลจะไม่ค่อยเกิดในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย เสนอ สพฐ.แก้ปัญหาเชิงระบบโดยเร็ว แก้ไขกฎกระทรวงและกลไกในโครงสร้างสำนักงานที่รับผิดชอบเรื่องโฮมสคูลให้มีประสิทธิภาพ รัฐควรกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการด้วยหน่วยงานที่มีความพร้อมใหม่ เพื่อช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนครอบครัวโฮมสคูลและละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็กบ้านเรียน ซึ่งจะเป็นการร่วมแก้ไขปัญหาในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโฮมสคูลในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ นอกจากจะเป็นผู้ปกครองเด็กโฮมสคูลรุ่นแรกๆ ของไทยแล้ว ปัจจุบันยังเป็นรองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายบ้านเรียน (Home School)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะที่เป็นรองเลขาฯ สมาคมการศึกษาทางเลือกไทย มองว่า การศึกษารูปแบบโฮมสคูลในไทยนั้นมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับการจัดโฮมสคูลของประเทศต่างๆ ที่เขาจัดกันมานานแล้ว?

จริงๆ แล้ว โฮมสคูลไม่มีสูตรสำเร็จ โฮมสคูลจะไม่ค่อยเกิดในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีความก้าวหน้าในการบัญญัติกฎหมายการศึกษา เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร จากการศึกษาจุดแข็งของโฮมสคูลตรงกันทั้งเด็กไทยและต่างชาติ คือ การรักษาธรรมชาติในการเรียนรู้ได้จากภายในตนเองเชื่อมต่อความรู้ในโลก ธรรมชาติ ได้จากกลไกการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง นี่เป็นจุดแข็งที่สุดของการเรียนรู้ของมนุษย์ทุกคนแล้ว จุดอ่อนของแต่ละประเทศที่มีกฎหมายโฮมสคูล คือ การกำกับดูแลโดยรัฐที่ขาดความเข้าใจ ประเทศที่เป็นเสรีนิยมผสมเผด็จการมาก่อน ก็จะมีปัญหาคล้ายๆ ประเทศไทย เช่น สเปน มีข่าวกลุ่มพ่อแม่โฮมสคูลได้รวมตัวออกมาประท้วงภาครัฐ บางประเทศไม่มีกฎหมายแต่ทำโฮมสคูลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน กรีซ เนเธอร์แลนด์  อย่างประเทศเยอรมัน เขาจะให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทำโฮมสคูล  หันมาที่ประเทศไทยเรา ก่อนหน้านั้น เคยมีนักวิชาการญี่ปุ่นมาศึกษาโฮมสคูลในไทยนะคะ พม่าก็เคยเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมานาน มีกลุ่มโฮมสคูลเล็กๆ ขับเคลื่อนตัวเองอยู่ จริงๆ เมื่อเทียบแล้วกฎหมายประเทศไทยนับว่าทันสมัยในโลกการศึกษา แต่มันมีปัญหากลไกในระบบโครงสร้างรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ

เมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คุณมีโอกาสเข้าร่วมประชุมที่เชียงใหม่ พอจะสรุปได้มั้ยว่า มุมมอง แนวคิด และรูปแบบการทำงานของเขตการศึกษาฯ นั้นเป็นอย่างไรบ้าง? มันสอดคล้องและเอื้อต่อการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาทางเลือก การจัดการศึกษาในรูปแบบครอบครัว และศูนย์การเรียน หรือไม่อย่างไร?

เรารู้มานานแล้วค่ะว่า สพฐ.เคยพยายามทำให้เชียงใหม่เป็นโมเดลเรื่องโฮมสคูล แต่ สพฐ.ตั้งต้นกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาด พยายามทำให้โฮมสคูลเชียงใหม่ถูกจับวางในกรอบการศึกษารูปแบบในระบบ ดังนั้น การเชื่อมร้อยการศึกษาโฮมสคูลตามแนวปฏิบัติสอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยได้ทำงานวิจัยกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จนเกิดข้อเสนอเป็นการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  โดยโฮมสคูลเป็นการศึกษาแบบหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่ปลดล็อค โครงสร้างเวลาเรียน การจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากฐานกิจกรรม การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นองค์รวม การวัดและประเมินผลตามตัวชี้วัดที่ครอบครัวปรับใช้ให้เหมาะสมกับการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กซึ่งมีความถนัดที่และความสนใจที่แตกต่างกัน แต่พอมาดูแนวปฏิบัติที่ถูกต้องจึงไม่ถูกจัดวางที่เชียงใหม่ โฮมสคูลรุ่นเก่าที่เชียงใหม่ ซึ่งใช้หลักเกณฑ์ฯนี้จะถูกมองว่าแปลกแยก

ดิฉันต้องขอบคุณน้องๆ รุ่นใหม่มากๆ ที่ช่วยกันศึกษาสิทธิตามกฎหมายและรักษาสิทธิของครอบครัวในการเริ่มจัดโฮมสคูล ตามแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติในการส่งเสริมสนับสนุนให้การเรียนเกิดขึ้นบนวิถีชีวิตจริงของครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเด็กๆ เป็นตัวตั้ง ทำได้จริงทั้งเอกสารและการปฏิบัติ ตั้งแต่แผนการศึกษาจนถึงการยืนยันสิทธิในการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง

การประชุมที่เชียงใหม่ที่ผ่านมา เราตกลงกันเฉพาะเรื่องระยะเวลาที่ทางภาครัฐจะสนับสนุนให้เด็กๆ ได้รับสิทธิในการเรียนโฮมสคูลได้ตามเป้าหมายการเลือกเรียนสอดคล้องกับสถานการณ์จริง ไม่ถูกการกำหนดกรอบเวลามาตัดสิทธิเด็กหรือทำให้เด็กที่จะเลือกเรียนโฮมสคูลหลุดจากระบบการศึกษาไปเพียงเพื่อรอความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่กำหนดระบบการทำงานไม่สอดคล้องกับการเข้าเรียนโฮมสคูลของเด็กๆ รูปแบบต่างๆ นัดหมายครั้งต่อไปจึงสำคัญมาก คือ เรื่องแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดโฮมสคูลได้ตามบริบทครอบครัวและศักยภาพของเด็กๆ เป็นตัวตั้ง เป็นประกาศที่ทำให้โฮมสคูลออกแบบแผนการศึกษาได้หลากหลายตามบริบทของแต่ละครอบครัวและผู้เรียน จัดกระบวนการเรียนรู้และประเมินตามสภาพจริง สอดคล้องกับวุฒิการศึกษาที่เป็นเอกสารการจบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง

อยากให้ช่วยอธิบายขยายความเรื่องการจัดทำแผน ของการศึกษาบ้านเรียน หรือโฮมสคูล นี้ ว่าผู้เรียนและผู้จัดการบ้านเรียนสามารถเลือกได้ทั้งในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ หรือแบบ 8 สาระ ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละเขตก็ยังเหมือนพยายามจะบีบให้จัดทำแผนแบบ 8 สาระ โดยอ้างว่าจะเป็นรูปแบบเดียวกัน สามารถวัดผลประเมินผลได้ง่าย? รวมไปถึงการวัดผลประเมินผลของผู้เรียนบ้านเรียน ซึ่งยังมีหลายเขต ยังคงใช้รูปแบบการสอบวัดผลกันอยู่ คุณมีความเห็นอย่างไรบ้าง?

ดิฉันไม่ขอพูดถึงการจัดทำแผนแบบ 8 สาระ เพราะสิ่งนี้ คือความเจ็บปวดของพ่อแม่โฮมสคูล เราถูกบังคับกันมามากจากการเขียนอย่างทำอย่าง ด้วยการใช้คำพูดว่า “ต้องเขียนแผนแบบนี้เท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาต” การเขียนเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่ทำเป็นเรื่องง่ายมาก ก๊อปๆ มาวาง แปะๆ เข้าไป ก็ทำได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย คือ การเขียนแผนแบบให้ยกชั้นเรียนในโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน จัดตารางสอนเป็นรายวิชาๆ การพยายามบีบจำนวนชั่วโมงเรียนของเด็กโฮมสคูลให้เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียน และที่สุดการทำเอกสารแบบนี้จะล็อคไปเข้าทางการสอบด้วยข้อสอบที่เจ้าหน้าที่ทำงานกับระบบโรงเรียน และทำใบ ปพ.แบบเดิมๆ ซึ่งการอธิบายว่าทำไปเถอะ ซึ่งนี่เป็นการแสดงความไม่รู้ไม่มีความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ เรื่องการจัดการศึกษาบนฐานการดำเนินวิถีชีวิต การใช้ทรัพยากรครอบครัว ชุมชนและสังคมเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้ตามความพร้อมของผู้เรียนและจังหวะเวลาที่เหมาะสม การใช้สถานการณ์จริงในชีวิตเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและมีความสุขเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

สิ่งที่เจ้าหน้าที่พยายามบังคับให้ครอบครัวทำแผนตามที่เจ้าหน้าที่ไม่มีองค์ความรู้ ในมุมของเรา คือ เจ้าหน้าที่พยายามบังคับให้ครอบครัวทำเอกสารที่เป็นเท็จเพื่อในที่สุดเจ้าหน้าที่จะออกใบ ปพ.ที่เป็นเท็จไม่ตรงกับกระบวนการเรียนรู้จริงของเด็กบ้านเรียน ซึ่งการกระทำแบบนี้  ทำให้พวกเราหลายคนต้องยอมจำนนจากความไม่รู้กฎหมายแต่อ้างคำเท็จว่าเป็นการทำตามกฎหมายมาหลายพื้นที่

แล้วเรื่องการวัดและประเมินผล ที่ผ่านมา ระหว่างสพฐ และบ้านเรียน มันขัดแย้งและไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง?

เรื่องการวัดและประเมินผล หากครอบครัวที่มาเรียนรู้ศึกษาวิธีการเขียนแผนการศึกษาจากเครือข่ายบ้านเรียน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เราจะมี Keywords ในแผน คือ เน้นการประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) และเป็นการประเมินผลเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) ดังนั้น ก่อนการจะมีการนัดหมายประเมินผล ครอบครัวโฮมสคูลจะต้องมีโอกาสหารือกับเจ้าหน้าที่ในการกำหนดเกณฑ์และวิธีการประเมินผลที่เหมาะสมกับบริบทครอบครัวและวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ก่อนที่จะให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออกหนังสือแจ้งวันที่ให้ไปประเมินผลโดยขาดการสำรวจความพร้อม และกำหนดวิธีการนำข้อสอบมาวัดผลเด็กบ้านเรียน ซึ่งผิดหลักวิชาการเพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่คิดว่าการนำข้อสอบมาสอบ คือการวัดมาตรฐาน ซึ่งเป็นหลักการที่เหมาะสมกับครูที่ออกข้อสอบมาประเมินเด็กหลายคนในชั้นเรียนเดียวกันตามที่ครูสอน  เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่เคยสอนเด็กเอง ไม่เคยประเมินผลตามสภาพจริง และไม่เข้าใจว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการประเมินตามสภาพจริงนั้นน่าเชื่อถือและมีความเที่ยงตรงกับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กโฮมสคูลมากกว่าการประเมินโดยการสุ่มสอบจากข้อสอบที่เด็กไม่ได้เรียน

ดังนั้น แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และวิธีการวัดและประเมินผล เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่การศึกษาภาครัฐที่คุ้นชินกับการศึกษาในระบบโรงเรียน และควรทำความเข้าใจกับครอบครัวโฮมสคูลก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่กำกับดูแลด้วยเกณฑ์และวิธีการที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจและยืนยันสิทธิการจัดทำแผนให้คงความเป็นเอกลักษณ์ครอบครัวและแสดงอัตลักษณ์ตัวตนการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เด็ก ๆ แบบรายบุคคล มีการประเมินผลสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จริงของเด็กๆ  และได้รับวุฒิการศึกษาตามที่ครอบครัวร่วมออกแบบได้เอง เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของครอบครัวโฮมสคูล

ที่ผ่านมา สิ่งที่ศึกษานิเทศก์ และเจ้าหน้าที่เขตการศึกษา มักจะอ้างว่า เป็นห่วง กังวล กลัวผู้เรียนจะเจอปัญหา ไม่สามารถนำหลักฐานไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้นั้น ในฐานะที่คุณสามารถจัดการศึกษาโฮมสคูลให้กับลูกชาย จนประสบความสำเร็จกลายเป็นนักการศึกษา มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ?

ประเด็นแรก คือ แนวปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ รับรองแผนการศึกษาตามการออกแบบของผู้จัดการศึกษา โดยมีวิธีการลงผลการเรียนใน ใบ ปพ. 1/ฉ. ทุกระดับชั้นได้ตามที่ผู้จัดการศึกษาเห็นว่าเหมาะสม รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

ประเด็นนี้ ลูกชายของดิฉันได้ตอบเจ้าหน้าที่ที่เชียงใหม่ในคำถามเดียวกันนี้ว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ ควรจะอธิบายแนวทางการรับรองใบปพ.ตามกฎหมาย แทนการใช้ความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัวมาอธิบายกับผู้เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ซึ่งเราได้เสริมว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำที่ผ่านมาเป็นไวรัลในทางไม่สร้างสรรค์ในสังคม ควรปรับแก้ไขพฤติกรรมการทำงานให้ตรงตามที่กฎหมายรับรองแล้ว

อยากให้พี่ช่วยอธิบายเรื่อง ป.พ. ๑ : ป/ฉ ใบ ป.พ. ๑ : บ/ฉ สำหรับชั้น มัธยมต้น และ ใบ ป.พ. ๑ : พ/ฉ สำหรับมัธยมปลาย ได้มั้ย เพราะมองดูว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางเจ้าหน้าที่เขต ยังสับสนไม่เข้าใจแต่พยายามจะใช้เกณฑ์ ปพ.๑ ของในระบบโรงเรียนมาใช้กับบ้านเรียนกันอยู่?

ใบ ปพ. ๑.... /ฉ. เป็นเอกสารสำคัญในการแสดงผลการเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่ละระดับชั้น สำหรับผู้เรียนที่จบการศึกษาตามแนวทางที่ผู้จัดการศึกษากำหนด ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 1798 /2558 เรื่อง การจัดทำทะเบียนผู้เรียนสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยหลักการแล้ว ใบแสดงผลการเรียนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ควรต้องสอดคล้องกับแผนการศึกษาตามที่ครอบครัวกำหนดรายงานผลการเรียนเป็นรูปแบบ”กลุ่มประสบการณ์” แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้น้ำหนักการเรียนรู้ระบบ “ร้อยละ”แทนระบบหน่วยกิต และให้ระดับคะแนนตามที่เหมาะสมได้ทุกรูปแบบทั้งตัวเลข ตัวอักษร เปอร์เซ็นต์ คำสำคัญสะท้อนมาตรฐานทั้ง 2 ระดับ 4 ระดับ 5 ระดับ ซึ่งผู้จัดการศึกษาเลือกได้

สุดท้ายนี้ มีข้อแนะนำ มีข้อเสนอและทางออกอย่างไรบ้าง กับปัญหาของโฮมสคูลเมืองไทยเราในขณะนี้ เพราะดูเหมือนว่าผ่านมา 20-30 ปี ปัญหาเก่าๆ ยังไม่มีการแก้ไข สุดท้ายก็วนลูปกลับมาเหมือนเดิม?

อันดับแรก เราได้เสนอปัญหาและข้อเสนอไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้าพบตัวแทนฝ่ายกฎหมายและผู้รับผิดชอบงานบ้านเรียนที่ สพฐ.แล้วในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากมติที่ประชุม เราขอให้มีมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น 1.การบังคับทำแผน 8 สาระการเรียนรู้ในการยื่นขออนุญาตระหว่างนี้  2.การไม่ยอมรับการดำเนินการวัดและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมทำให้เด็กไม่ได้เลื่อนชั้นในปีการศึกษาที่แล้ว 3.การปฏิเสธการยื่นขออนุญาตทำให้ครอบครัวเสียสิทธิจัดการศึกษาในปีนี้ เรื่องเหล่านี้เราขอให้มีการแก้ไขเร่งด่วนเพื่อสิทธิของเด็กๆ จะได้รับการศึกษาตรงกับชั้นเรียนตามวัยในห้วงเวลานี้ซึ่งเป็นปีการศึกษาใหม่แล้ว 4.สพฐ.ควรแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศรับทราบแนวปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งต้องแนะแนวปฎิบัติเรื่องการทำแผนการศึกษารูปแบบกลุ่มประสบการณ์ให้ครอบครัวรับทราบ ไม่นำเข้าข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อผู้ประสงค์ขอจัดโฮมสคูลตามสิทธิทางกฎหมาย และมีมาตรการแจ้งการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวโฮมสคูลในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องเสนอให้ สพฐ.แก้ปัญหาเชิงระบบโดยเร็ว คือเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงและกลไกในโครงสร้างสำนักงานที่รับผิดชอบเรื่องโฮมสคูลให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเสนอว่า หากสำนักงานเดิมของ สพฐ. หรือ สพฐ. ไม่มีความพร้อมในการรับผิดชอบเพราะทำให้เกิดผลเป็นความเดือดร้อนในวงกว้างมาเป็นประจำแบบนี้ รัฐควรกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการด้วยหน่วยงานที่มีความพร้อมใหม่

สิ่งสำคัญ คือ เมื่อรัฐพบว่าไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโฮมสคูล ควรจัดให้มีพื้นที่การทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายโฮมสคูลที่มีประสบการณ์ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการปฏิบัติงานทั้งการออกกฎ ระเบียบ คำสั่งและการประสานงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและการปฏิบัติงานในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ อันจะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพ่อแม่โฮมสคูลและละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็กบ้านเรียน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโฮมสคูลในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท