Skip to main content
sharethis

ปาฐกถา "ชายแดน ทรัพยากร และความมั่งคั่ง" โดยศาสตราจารย์ยศ สันตสมบัติ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศครั้งที่ 5 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศาสตราจารย์ยศ ชวนมองลึกลงไปยัง “ชายแดน” ลุ่มน้ำโขง พื้นที่ของผู้คนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและการสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งนำมาสู่ “คำสาปของทรัพยากร” จากการแย่งชิงของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน

ศาสตราจารย์ยศ สันตสมบัติ ในงานปาฐกถา 

11 ก.ย. 2565 ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศครั้งที่ 5 ในหัวข้อ "โครงสร้าง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับทางเลือกและทางรอดของผู้คนในพื้นที่ชายแดน" ระหว่างวันที่ 8 - 9 กันยายน 2565 

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ยศ สันตสมบัติ ศาสตราจารย์ ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปาฐกถาเปิดงานเรื่อง "ชายแดน ทรัพยากร และความมั่งคั่ง" ศาสตราจารย์ยศได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อเสนอว่าด้วยงานวิจัยชายแดนในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของพื้นที่ชายแดนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ อัตลักษณ์ของผู้คน และความหลากหลายของความเชื่อที่ปะปนกันอยู่ในพื้นที่ของชายแดน

 

ชายแดนลุ่มน้ำโขงกับความเป็นชายขอบ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชายแดนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในแวดวงวิชาการไทยเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์ยศเสนอว่า ชายแดนลุ่มน้ำโขงมักจะเชื่อโยงกับความเป็นชายขอบ เวลาที่คนอื่นมองเข้ามาในชายแดนก็มักจะมองถึงความป่าเถื่อน ความรกร้าว่างเปล่า ความล้าหลัง ไร้ความเจริญ ไร้กฎหมาย หรือไร้ระเบียบ ภาพของชายแดนจึงมักจะเป็นคู่ตรงข้ามกับศูนย์กลางของความเจริญ หรือกฎหมายและความเป็นระเบียบทางสังคม ความคิดเช่นนี้เป็นผลมาจากความคิดลัทธิอาณานิคม

หลังจากลัทธิอาณานิคมผ่านไป ชายแดนก็ต้องเจอกับความคิดทางการเมืองของการสร้างชาติ โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หากมองตาม “อุดมการณ์ทางการเมืองของการสร้างชาติ” ชายแดนเป็นพื้นที่ที่ต้องทำให้เชื่อง กดบังคับ ปราบปราม และถูกควบคุมโดยศูนย์กลาง บริเวณชายแดนจึงมักเป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐจากส่วนกลางที่เข้ามาควบคุมและจัดระเบียบพื้นที่ นอกจากนี้ ปัญหาของชายแดนที่ถูกพูดถึงยังมักวนอยู่ที่ปัญหาความมั่นคงของรัฐ, ยาเสพติด, การค้ามนุษย์, แรงงานผิดกฎหมาย, สินค้าหนีภาษี, ความขัดแย้ง และความรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาในด้านลบ

“ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ของชายแดนทุกแหล่งทั่วโลก รวมถึงชายแดนในลุ่มน้ำโขงที่เราเน้นเป็นพื้นที่ของผลประโยชน์ เป็นพื้นที่ของความมั่งคั่ง ซึ่งเกิดจากการค้าข้ามพรมแดน ระหว่างคนที่ที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายอารยธรรม และความหลากหลายตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะมองข้าม” ศาสตราจารย์ยศ ย้ำ

 

ดังนั้น หากพูดถึงชายแดนแล้วจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดน การที่ชายแดนลุ่มน้ำโขงอยู่บนพื้นที่สูงทำให้มีงานวิชาการหลายชิ้นเรียกผู้คนบริเวณนี้ว่า “Zomai” หรือโซเมียร์ ซึ่งเป็นคำที่ Willem Schendel ใช้เรียกกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชายแดน ศาสตราจารย์ยศกล่าวว่า ในแผนที่แม่น้ำโขงถูกแยกด้วยเส้นแบ่งของรัฐชาติ แต่ถ้าใช้ชนชายแดนมาเป็นหัวใจของการวาดแผนที่ก็จะทำให้ได้ภาพที่แตกต่างกัน และจะเป็นแผนที่ที่ประกอบสร้างโดยชนชายแดน

การที่พื้นที่ชายแดนถูกมองข้าม เนื่องจากไม่มีการก่อรูปของรัฐที่เข้มแข็ง มีลักษณะคลุมเครือทางการเมือง ทำให้โซเมียร์ไม่ได้รับความสนใจจนกลายเป็นชายขอบจากแวดวงวิชาการภูมิภาคศึกษา การผลิตความรู้ในพื้นที่ชายแดนก่อนหน้านี้จึงล้าหลังกว่าพื้นที่อื่นๆ อันเป็นผลมาจากการถูกละเลยในบางส่วน

อาณาบริเวณ Vs. ความมั่งคั่ง ของลุ่มน้ำโขง

หากมองจากแผนที่ของแม่น้ำโขงจะพบว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่กินอาณาบริเวณตั้งแต่ชายแดนของจีนตอนใต้ลงมายังเวียดนาน ไทย ลาว และพม่า ซึ่งเป็นที่รับรู้กันตั้งก่อนยุคอาณานิคมว่าพื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ อัญมณี แร่ธาตุ ไม้ ผลผลิตจากป่า ผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ ส่วนในแง่ของผู้คนศาสตราจารย์ยศอธิบายว่า “ชนชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง มักจะถูกมองว่ายากจน ห่างไกล และแปลกประหลาด เมื่อเปรียบเทียบกับคนพื้นราบ”

การศึกษาชายแดนที่มุ่งทำความเข้าใจกับการสร้างความมั่งคั่งจากธรรมชาติของคนชายแดน โดยเน้นไปที่ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และผู้คนท้องถิ่น ยังมีให้เห็นน้อยมาก

 

“สิ่งที่ผมอยากจะเสนอในวันนี้ก็คือ การทำความเข้าใจกับการช่วงชิงผลประโยชน์จากความมั่งคั่งตามธรรมชาติ ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “โซเมียร์” เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ข้ามกลุ่มชาติติพันธุ์ และความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนรัฐชาติ” ศาสตราจารย์ยศ กล่าว

 

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอาณานิคมเมื่อ 100 ปีก่อน จะเห็นบทบาทของมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ตามมาด้วยสงครามร้อนและสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาสู่ยุคสร้างรัฐชาติ มีการรุกรานของรัฐส่วนกลางเข้ามาครอบงำพื้นที่ในทุกภาคส่วนของรัฐชาติ เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างโซเมียร์กับพื้นราบ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

“หลายทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดจีนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อชายแดน และความมั่งคั่งของชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พูดถึงถึงอัญมณี แร่ธาตุ ไม้ ผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการภายในของจีนมีบทบาทมากในการสร้างแรงจูงใจให้ท้องถิ่นผลิตสินค้ามีค่าจากธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ยศ อธิบาย

 

ในภาคเหนือจะเห็นกลุ่มคนที่มีบทบาทโดดเด่นหลายกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนจีนยูนนาน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญทางการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมกับประเทศจีนโดยตรง

“แต่พอมาอยู่ในลุ่มน้ำโขงชุมชนจีนยูนนานเหล่านี้ ก็กลายมาเป็นชนชายแดน เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ด้วยเหตุนี้เวลาเราพูดถึงผู้คนในพื้นที่ชายแดน เราจำเป็นต้องใช้ในสิ่งที่ทางสังคมศาสตร์ เรียกว่า การแยกและโยง แยกผู้กระทำการ แยกชุมชน สถาบัน หน่วยงาน และองค์กรทางการเมือง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิต การค้า การสร้างความมั่งคั่งในพื้นที่ชายแดน การเชื่อมโยงผู้กระทำการเหล่านี้เข้าด้วยกันจะทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดน” ศาสตราจารย์ยศ กล่าว

 

ยกตัวอย่างเช่น ชายแดนตอนเหนือของเวียดนามมีการขนส่งแร่ธาตุเข้าจีนตลอดเวลาที่พรมแดนเปิด ผ่านชายแดนหล่าวกายของเวียดนาม ภาพเหล่านี้สะท้อนความมั่งคั่งที่ไหลผ่านพื้นที่ชายแดนอยู่ตลอดเวลา โดยมีชนชายแดนเป็นผู้สร้างความมั่งคั่งและส่งออกผลผลิต ทำให้พื้นที่ชายแดนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในหลายประเทศการค้าชายแดนมีมูลค่าคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ที่มาจากการค้าของทั้งประเทศ การค้าชายแดนจึงมีนัยยะสำคัญมากกว่าการค้าเล็กๆ หรือการค้าของหนีภาษี

 

คำสาปของทรัพยากร

การค้าชายแดนในรัฐกะฉิ่นของพม่าทำให้เห็นแนวคิดที่ทางสังคมศาสตร์เรียกว่า “คำสาปของทรัพยากร” (resource curse) ของบางพื้นที่ที่ร่ำรวยทรัพยากรมีค่า

รัฐกะฉิ่นมีไม้ การขนไม้เข้าจีนทำต่อเนื่องหลาย 10 ปี แต่ในแง่ชีวิตของคนกะฉิ่นที่เป็นผู้สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศกลับต้องเผชิญหน้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตช้า มีเสถียรภาพน้อย และการเมืองที่ไม่มั่นคงทำสงครามสู้รบกับทหารพม่าหลายสิบปี ทางวิชาการอธิบายกรณีเช่นนี้ว่าเป็น “คำสาปทรัพยากร” เช่นเดียวกับชายแดนเชียงรายและแม่ฮ่องสอนของไทยที่มีการสร้างความมั่งคั่งทั้งจากการค้าชายแดนและการสร้างแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่คนเชียงของเติบโตมากับการค้าฝ้ายของคนไทลื้อ ศาสตราจารย์ยศตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมคนไทลื้อถึงได้ทำการค้าฝ้ายร่ำรวยกว่าคนลื้อในพื้นที่อื่น เหตุที่คำถามนี้ไม่ถูกคิดต่อเนื่องจากนักวิชาการมองข้ามความมั่งคั่งในพื้นที่ชายแดนไป ทั้งที่ชนชายแดนสามารถสร้างความมั่งคั่งในพื้นที่ให้แก่ตนเองและประเทศได้อย่างมีบทบาทสำคัญ

“การศึกษาชายแดนเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งของพื้นที่ชายแดนมากขึ้น” ศาสตราจารย์ยศ กล่าว

 

ทั้งนี้ งานศึกษากลุ่มชาติติพันธุ์ในอดีตของทางสังคมศาสตร์ ก็ให้ความสนใจไปที่การสร้างความมั่งคั่งของผู้คน มองการค้าที่เข้าไปเกี่ยวพันกับอำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคมในหลายมิติ ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงแยกไม่ออกกับมิติทางสังคม จนอาจกล่าวได้ว่าการสร้างความมั่งคั่งเป็นคุณค่าพื้นฐานทางสังคม

“การทำความเข้าใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องดูการทำมาหากินของเขา การสร้างความมั่งคั่งของเขา” ศาสตราจารย์ยศ อธิบาย

 

เช่นงานศึกษาคลาสสิคของ เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่ว่าด้วยทฤษฎีเรื่องระบบคุณค่า โดยเกรเบอร์พยายามจะทำให้เห็นว่า คุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมโลก นอกจากนี้ยังมีงานของ โทมัส ปีเกตตี (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่เน้นการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยเชื่อมโยงกับความมั่งคั่ง

“ความมั่งคั่งและการสืบทอดความมั่งคั่งคือรากเหง้าของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ศาสตราจารย์ยศ เน้น

หนังสือเรื่อง Beyond Borders โดย เหวิน ชิน ชาง

ต่อมาเป็นงานศึกษาชิ้นสำคัญของ เหวิน ชิน ชาง (Wen-Chin Chang) นักวิจัยชาวไต้หวัน ที่ศึกษาพ่อค้าจีนยูนนานบริเวณชายแดนจีน พม่า ไทย ต่อเนื่องกัน 20 ปี ชางพยายามเสนอว่า การดูการค้าชายแดนสะท้อนความเป็นมนุษย์ของผู้คนออกมาเช่นไรในหนังสือเรื่อง Beyond Borders ที่พูดถึงชีวิตของชนชายแดนผ่านเรื่องเล่าของคนในพื้นที่

 

“การไปศึกษาชีวิตของผู้คน เหวิน ชิน ชาง บอกว่า ทำให้เห็นว่ากลไกตลาดมีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับเงื่อนไขทางสังคมการเมืองของภูมิภาคและท้องถิ่น ชีวิตของคนจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมือง ไม่ใช่เฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ

อีกประเด็นหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้เสนอคือ ชนชายแดนเป็นพลังขับเคลื่อนการค้าและความมั่งคั่งในบริเวณชายแดน โดยไปดูการตอบโต้ระหว่างคนชายแดนกับรัฐ คนชายแดนต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐพม่า ซึ่งคนชายแดนมีวิธีการต่อรองและหลบหลีกการตรวจสอบควบคุมโดยกลไกรัฐสมัยใหม่

การศึกษาเช่นนี้ มีเรื่องการค้า ความมั่งคั่ง เป็นพื้นฐานในตัวของมันเอง” ศาสตราจารย์ยศ อธิบาย

หนังสือ "Cross-Border Traders in Northern Laos: Mastering Smallness"

โดย Simon Rowedder

หนังสือเล่มสุดท้ายที่ ศาสตราจารย์ยศแนะนำคือ "Cross-Border Traders in Northern Laos: Mastering Smallness" ของ Simon Rowedder จากมหาวิทยาลัยพัสเซา (University of Passau) ประเทศเยอรมนี ที่ศึกษาผู้ค้ารายย่อย ทั้งชาวบ้านที่ห้วยเม็ง เชียงของ จ.เชียงราย และพ่อค้าลาวทางตอนเหนือ ความน่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้พยายามทำให้เห็นถึง “ชาติพันธุ์นิพนธ์ว่าด้วยสิ่งเล็กๆ” หรือ ethnography of smallness ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการของคนตัวเล็กตัวน้อย ความชำนาญของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยซึ่งเป็นหัวใจของการค้าชายแดน และการสร้างความมั่งคั่งของคนตัวเล็กตัวน้อยต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญของการค้าชายแดน

ชีวิตของคนกลุ่มนี้สามารถทำให้เข้าใจพลวัตของเศรษฐกิจและการค้าข้ามชาติและภูมิภาค

ทั้ง Simon Rowedder และ เหวิน ชิน ชาง พยายามนำเสนอรูปแบบของความรู้ที่ถูกมองข้าม ถูกลบเลือน ถูกเพิกเฉยจากวัฒนธรรมความรู้กระแสหลัก

“การที่เรามาให้ความสนใจกับความมั่งคั่ง การทำงานของคนตัวเล็กตัวน้อย จึงเป็นการปรับมุมมองทางญาณวิทยา เป็นการปรับ Epistemology ที่ช่วยสร้างความยุติธรรมของระบบคิดที่ถูกครอบงำ และช่วยสร้างยุทธวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้เสียงของคนที่ถูกกดทับเป็นเสียงที่ผู้คนได้ยินมากขึ้น” ศาสตราจารย์ยศ ย้ำ

 

เช่นในกรณีของแม่น้ำโขงต่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยจะตะโกนอย่างไร ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็ไม่เคยได้ยิน ความอยุติธรรมของระบบคิดจะทำให้เห็นถึงการขยายตัวทางอิทธิพลของจีนในปัจจุบันผ่านโครงการแถบและเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับโลกที่รัฐบาลจีนเชิญชวนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมมือด้วย

ศาสตราจารย์ยศ อธิบายว่า “จีนกำลังทำสิ่งเดียวกับที่ตะวันตกกำลังทำให้ช่วงอาณานิคม คือการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงความคิด หรือการทำลายระบบความรู้ของท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง เรื่องเล่า ภาษาของ BRI ที่พูดถึงการเชื่อมโยงข้ามชาติ ทั้งการสร้างรถไฟความเร็วสูง การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การค้าพลังงาน การเงิน การท่องเที่ยวจากยุโรป แอฟริกา มาสู่เอเชีย วิธีคิดนี้กำลังผลิตซ้ำความด้อยค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกหนึ่งจากที่ยุคอาณานิคมเคยทำมาแล้ว และบดบังเสียงของท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง

โครงการ BRI ของจีนกำลังสร้างจักรวรรดิทางความคิดแบบจีนขึ้นมาใหม่ ซึ่งอันตราย” 

 

ก่อนจบปาฐกถา ศาสตราจารย์ยศกล่าว่าที่พูดมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า การทำวิจัยชายแดนอาจจะต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องการสร้างความมั่งคั่งในชีวิตของผู้คน โดยดูจากประวัติศาสตร์ ทรัพย์สิน ทรัพยากรของผู้คนในแต่ละพื้นที่ เช่น ประเด็นที่ว่าชนชายแดนสะสมทุนอย่างไร การหลอมรวมพลังและความเสียดทานของคนชายแดนที่สร้างผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมและธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร ด้านบวกด้านลบของการสร้างความมั่งคั่ง ฯลฯ

“การตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายแดนกับความมั่งคั่ง น่าจะนำเราไปสู่ความเข้าใจที่ลุ่มลึกมากขึ้นเกี่ยวกับท้องถิ่น ทั้งการดิ้นรนต่อสู้ การเอาตัวรอดของชนชายแดน” ศาสตราจารย์ยศ สรุป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net