Skip to main content
sharethis

'ถ้ากองทัพพม่ายังอยู่ในอำนาจ สหภาพแรงงานก็คงไม่รอด' ส่องสถานการณ์สิทธิแรงงานพม่าที่ทรุดหนัก ตั้งแต่รัฐประหารปี'64 รายงาน ILO เผยทหารพม่าจับกุมผู้นำแรงงานที่ออกมาเรียกร้อง ปชต. ขึ้น บช.ดำสหภาพแรงงานที่ไม่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกตอบโต้การคุกคามเสรีภาพของกองทัพ

 

1ฺ3 ก.ย. 2565 เฮงทูซาน รายงานข่าวบนเว็บไซต์ ‘อิรวดี’ ภาษาอังกฤษ ระบุว่า องค์กรสิทธิแรงงานในเมียนมา เผยว่ากองทัพพม่าละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศ รวมถึงสิทธิการรวมตัวของสหภาพแรงงาน นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 2564 อย่างต่อเนื่อง

โมซานดามยิด (Moe Sander Myint) ประธานสหพันธรัฐผู้ใช้แรงงานแห่งเมียนมา (Federation of General Workers Myanmar - FGWM) ซึ่งตอนนี้กำลังทำงานอยู่นอกเขตควบคุมของกองทัพพม่า กล่าวว่า สิทธิการรวมตัวของสหภาพแรงงานเสื่อมถอยลงนับตั้งแต่กองทัพพม่ายึดอำนาจ

“สหภาพแรงงานไม่ว่าจะในระดับภูมิภาค หรือทั่วประเทศ ตอนนี้ไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว” โมซานดาร์มยิด กล่าว

สหภาพแรงงานในโรงงานตอนนี้ไม่สามารถทำงานพื้นฐานได้ เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพราะว่าเจ้าของโรงงานทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน ของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และข่มขู่สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงาน เพื่อขัดขวางการร่วมกิจกรรมของสหภาพฯ หรือเรียกร้องสิทธิแรงงาน

"มีเหตุการณ์หนึ่งที่พวกเขา (เจ้าของโรงงาน) ให้ข้อมูลส่วนตัวของคณะผู้ก่อการ แก่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงพม่า เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะสามารถสืบสวน และเข้าจับกุม" โมซานดาร์มยิด เน้นย้ำ

ช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เผยแพร่รายงานสั้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเน้นย้ำว่า กองทัพพม่าประกาศให้สหภาพแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และองค์กรภาคประชาชน จำนวน 16 แห่ง เป็นองค์กรผิดกฎหมาย และตอนนี้พวกเขาไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากความกลัวจากการถูกจับกุม

รายงานของ ILO ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าบุกไปยังสำนักงานของสหภาพแรงงานในเมียนมา คุกคามและข่มขู่สมาชิกสหภาพฯ และครอบครัวของพวกเขา และคุมตัวหัวหน้าสมาชิกสหภาพฯ ไปคุมขัง และขึ้นบัญชีดำ เพื่อเอาคืนแรงงานที่เข้าร่วมประท้วงหยุดงาน และประท้วงด้วยสันติ เรียกร้องให้กองทัพพม่าฟื้นคืนประชาธิปไตย และให้รัฐบาลพลเมืองกลับมาบริหารประเทศ 

วิศวกรและพนักงานเหมืองทองแดงของบริษัท Myanmar Yangtze Copper Mine (บริษัทร่วมทุนกับจีน) ประกาศหยุดงานต้านรัฐบาลทหารพม่า (ภาพโดย Hmoon Thet Chial)

ภาคประชาสังคม และสหภาพแรงงาน ที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อในบัญชีดำอย่างเป็นทางการก็เผชิญกับการคุกคามอย่างเดียวกัน โดยเครื่องมือสำคัญที่กองทัพพม่าใช้ในการกดปราบสหภาพแรงงาน คือ หมายจับประมวลอาญามาตรา 505(a) หรือยุยงปลุกปั่น

เมื่อ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานของ SAC ออกมาโต้แย้งรายงานของ ILO อย่างรวดเร็วว่า ‘ขอคัดค้านต่อแถลงการณ์เท็จของ ILO’

เมียวเมียวเอ หัวหน้า สหภาพแรงงานสามัคคีแห่งเมียนมา หรือ STUM ยืนยันว่า พวกเขาได้ยินว่า STUM เป็นหนึ่งในองค์กรแรงงานที่ถูกกองทัพพม่า แปะป้ายว่าเป็นหนึ่งในองค์กรผิดกฎหมาย 

“พวกเขา (เจ้าหน้าที่ทหาร) เตือนคนงานด้วยวาจาว่า พวกเขาจะเจอปัญหา ถ้ายังติดต่อกับพวกเขา” เมียวเมียวเอ ระบุ

หัวหน้า STUM เคยถูกควบคุมเป็นเวลาครึ่งปี หลังมีการทำรัฐประหาร เช่นเดียวกับผู้นำแรงงานคนอื่นๆ 

เธอกล่าวต่อว่า ตอนนี้มีสหภาพแรงงานชื่อว่า ‘สหภาพสีเหลือง’ หรือสหภาพแรงงานปลอมขึ้นมา ซึ่งองค์กรเหล่านี้บริหารโดยเจ้าของโรงงาน และกลุ่มผู้บริหารโรงงาน เพื่อที่พวกเขาจะได้บอกกับบริษัทและผู้ซื้อสินค้ารายอื่นๆ ว่า โรงงานนี้ให้ความใส่ใจกับสิทธิแรงงานในโรงงาน 

STUM และองค์กรแรงงานอื่นๆ เช่น 'แอ็กชัน เลเบอร์ ไรท์' (Action Labour Rights) คณะกรรมการประสานงานสหภาพแรงงาน (Coordination Committee of Trade Union) สหภาพแรงงานแห่งสหพันธรัฐพม่าทั้งมวล (All Burma Federation of Trade Unions) และสุดท้าย ฟิวเจอร์ไลท์เซ็นเตอร์ (Future Light Center) ยังคงทำงานต่อไป แต่ทำได้เพียงขอบเขตที่เล็กมากจากกิจกรรมปกติที่ทำอยู่  

องค์กรแรงงานอื่นๆ อีก 11 องค์กร ที่ถูกระบุชื่อโดยเผด็จการทหารว่าเป็น 'องค์กรแรงงานนอกกฎหมาย' หนีออกนอกพื้นที่ที่กองทัพพม่าควบคุมแล้ว

แรงงานบางส่วนที่สำนักข่าวอิรวดี ได้สัมภาษณ์ระบุว่า ตอนที่ถูกคุกคามสิทธิแรงงานในโรงงาน พวกเขาไร้ทางสู้ และต้องเผชิญกับความเสี่ยงจับกุมหากติดต่อกับสหภาพแรงงาน กลไกการระงับข้อพิพาทถูกจำกัดลงเช่นกันหลังทหารทำรัฐประหาร

ตอนนี้สหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานทั้งหมดทำได้เพียงให้คำแนะนำทางไกลแก่แรงงาน

โมซานดาร์มยิด ประธาน FGWM ระบุว่า สหภาพแรงงานต้องทำงานให้คำปรึกษาทางไกล พวกเขาต้องรับฟังข้อพิพาท และคดี จากแรงงาน และจากนั้น จึงให้คำแนะนำว่าจะเจรจา และต่อรองเพื่อสิทธิแรงงานพวกเขาอย่างไรกับผู้ว่าจ้างในโรงงาน

แต่โมซานดาร์มยิด ระบุต่อว่าเธอไม่พอใจกับสถานการณ์ในตอนนี้ เพราะว่าสหภาพไม่สามารถให้ความช่วยเหลือคนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น  

"ตราบใดที่เผด็จการทหารพม่ายังอยู่ในอำนาจ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่สหภาพแรงงานจะอยู่รอด" โมซานดาร์มยิด กล่าว

รายงานของ ILO ต่อสถานการณ์สิทธิแรงงานในเมียนมา เรียกร้องให้องค์การนานาชาติให้ความช่วยเหลือ ตอบโต้การคุกคามการมีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น และการคบค้าสมาคมอย่างเสรีในเมียนมา รายงานระบุด้วยว่า นี่เป็นเวลาที่ประชาคมโลกจะประท้วงด้วยความสมัครสมานสามัคคีร่วมกับองค์กรต่างๆ ซึ่งยังคงต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานในเมียนมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Myanmar Junta Cracking Down on Trade Unions and Violating Workers Rights

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net