Skip to main content
sharethis

ศาลแขวงพระนครเหนืออ่านคำพิพากษายกฟ้อง คดี 'คุณภัทร คะชะนา' อดีตอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หลังนำเสื้อและหนังสือมือสองไปขายในงานชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อปี 2564 

13 ก.ย. 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าวันนี้ (13 ก.ย.) เวลา 9.30 น. ศาลแขวงพระนครเหนือ อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีที่นายคุณภัทร คะชะนา อดีตอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คดีหมายเลขดำที่ อ.3425/2564 หลังนำเสื้อและหนังสือมือสองไปขายในงานชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อปี 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลพิจารณาแล้ว มีความเห็นโดยสรุปดังนี้ พยานโจทก์เบิกความขัดแข้งกันในหลายประเด็น อาทิ ไม่ปรากฎภาพถ่ายและวิดีโอที่เกี่ยวกับพฤติการณ์การก่อความรุนแรงของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ภาพที่โจทก์ยื่นก็ไม่ปรากฏใบหน้าของจำเลย ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าจำเลยแต่งกายเหมือนกับผู้ชุมนุมและได้สวมใส่ผ้าโพกหัวตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ทั้งไม่ปรากฎหลักฐานใดที่จะเชื่อมโยงได้ว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ในช่วงการสลายการชุมนุมในวันเกิดเหตุ และการที่จำเลยวิ่งหนีชุดจับกุมก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อสงสัยหลายประการจึงไม่อาจรับฟังได้ ทั้งไม่จำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานของจำเลย พิพากษาให้ยกฟ้อง

นายคุณภัทร คะชะนา ได้กล่าวความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาในวันนี้ไว้ว่า “รู้สึกแรกคือโล่งใจมากเหมือนเอาอะไรออกไปจากชีวิตเลย รู้สึกโล่งมาก ก่อนที่จะเดินทางมาโดยรถไฟ ตนเหมือนมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์วันเกิดเหตุนี้ ก็ยังรู้สึกเหมือนเดิมว่ามันไม่ควรจะมาถึงจุดตรงนี้ ไม่น่าเป็นคดีหรือควรมีช่องทางอะไรที่ไม่ทำให้เราต้องมาถึงตรงนี้ แต่รัฐกระทำกันอย่างเป็นระบบ ตอนสืบพยานค้นหาความจริง ก็มีการปะทะกันระหว่างความจริงของรัฐและความจริงของเรา เกิดคำถามว่าที่รัฐเบิกความมาเป็นความจริงของใครกันแน่ แต่ตอนนี้ก็รู้สึกว่าความจริงที่เรายังยึดมั่น มันชนะความจริงที่รัฐพยายามจะสร้างและกดทับเรา แต่เราก็ต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้มีอิสรภาพเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่งพึงมี”

“ตอนที่โดนก็ยังรู้สึกซวยอยู่ ตอนหลังก็เริ่มเห็นภาพรวมว่าถ้าเราโดนมันก็มีโอกาสที่คนอื่นจะโดนแบบเราได้อีก อยู่ดีๆก็โดนจับไป ทั้งที่ไม่ได้มากระทำผิดอะไร และถึงแม้จะเป็นการชุมนุมก็สามารถทำได้ตามสิทธิเสรีภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่จะแสดงออกมา กรณีเช่นนี้อาจจะไม่จบที่คดีตน ยังคิดว่าสังคมไทยน่าจะต้องเจออะไรพวกนี้อยู่ ยังคงมีคนที่ถูกกระทำจากมาตรการของรัฐที่รุนแรงหรือกระบวนการยุติธรรมที่จะผลักให้คนที่ถูกจับกุมเป็นคนผิดไปเลยตั้งแต่ต้น ทั้งต้องถูกอคติ มาชี้ว่าตนผิด เพราะว่าตนชุมนุมหรืออยู่ในพื้นที่ชุมนุม กลายเป็นพวกหัวรุนแรง หรือก่อความไม่สงบ แนวคิดพวกนี้ไม่ควรมีอยู่”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่าคดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่รัฐใช้อำนาจทางกฎหมายฟ้องปิดปากปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน หากเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักสำคัญ กรณีของคุณภัทรอาจไม่ต้องกลายมาเป็นคดีอาญาและไม่ต้องมาต่อสู้ให้เป็นคดีรกโรงรกศาลเช่นนี้ ทั้งยังสร้างความยากลำบากให้กับตัวจำเลยและทุกๆ ฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ติดตามต่อไปว่าพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องอุทธรณ์คดีนี้ต่อไปอีกหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net