Skip to main content
sharethis

ศาล รธน. นัดอ่าน ปม 8 ปี นายกฯ 'ประยุทธ์' 30 ก.ย.นี้ -  ประธานคณะทํางานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยันเจตนารมณ์รธน.60 ม.158 และ 170 ชัดว่านายกฯจะดํารงตําแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าตําแหน่งนั้นจะได้มาเมื่อใด-ตามรธน.ฉบับใด

 

14 ก.ย.2565 จากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระเพื่อพิจารณาวาระที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นผ่านประธานนรัฐสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เนื่องจากครบวาระ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ม.158 นั้น โดย วันนี้ ข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดอ่านคำวิจฉัยคดีวาระ 8 ปี นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 30 ก.ย. เวลา 15.00 น.

ทั้งนี้ระบุด้วยว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน

‘ชูศักดิ์’ ยันเจตนารมณ์รธน.60 ม.158 และ 170 ชัดว่านายกฯจะดํารงตําแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าตําแหน่งนั้นจะได้มาเมื่อใด-ตามรธน.ฉบับใด

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทํางานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ความเห็นกรณีการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกินกว่า 8 ปี เป็นเหตุให้ความเป็นนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ว่า ตนเองให้ความสําคัญต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดรัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเช่นนั้น ความสําคัญนี้อาจจะมีมากกว่าเจตนารมย์ของผู้ร่าง ซึ่งกําลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ ดังนั้น ตนขอให้ข้อสังเกตดังนี้ 1.มาตรา 158 บัญญัติกรณี 8 ปี ว่านายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ไม่ว่าจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ทั้งนี้ ได้บัญญัติแตกต่างไปจากมาตรา 171 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติเพียงว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้ รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีหลักการแปดปีเหมือนกัน ทําไมถึงเขียนต่างกัน 2.การที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่เป็นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยยกเว้นคุณสมบัติบางประการที่กําหนดไว้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่กลับไม่ยกเว้นคุณสมบัติบางเรื่องเช่นการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เกินกว่าแปดปี ถ้าต้องการยกเว้นก็ควรจะต้องเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าเรื่องแปดปียกเว้น เป็นมาก่อน ไม่นับ แต่เรื่องอื่นๆ กลับเขียนไว้โดยชัดเจนว่าไม่นํามาใช้บังคับกับ ครม.ที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว และ 3.เจตนารมณ์สําคัญของการห้ามนายกรัฐมนตรีดํารงตําแหน่งเกินกว่าแปดปีมีความชัดเจน ในบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าเพื่อมีให้เกิดการผูกขาดอํานาจในทาง การเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมืองได้ ระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของผู้นํา ประเทศถือเป็นสากล เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม เพราะอํานาจทําให้คนทุจริต อํานาจเด็ดขาด ทําให้ทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจํากัด คนที่มีอํานาจเหนือคนอื่นมีแนวโน้มที่จะทุจริตหรือใช้อํานาจในทาง มิชอบ ถ้าปล่อยให้บุคคลเหล่านี้มีอํานาจเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไปก็เท่ากับปล่อยให้ ผู้ใช้อํานาจสามารถกระทํามิชอบ ทุจริตโดยไม่มีข้อจํากัด การที่บุคคลใดจะดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดํารง ตําแหน่งนายกมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ใช้อํานาจอธิปไตยหนึ่งในสามอํานาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้มาอย่างไร ตามกฎหมายใดก็คือนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net