อนาคตระบอบกษัตริย์อังกฤษในประเทศแคริบเบียน-เครือจักรภพอื่นๆ หลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธ

กรณีสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ผู้นำทางการเมืองหลายแห่งส่งสารแสดงความเสียใจ แต่สำหรับประชาชนในประเทศเครือจักรภพรวมถึงในแถบแคริบเบียนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

ในวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมาสื่อออสเตรเลียรายงานว่าประเทศในเครือจักรภพคือ แอนทีกา และ บาร์บิวดา กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประกาศจะหันหลังให้กับระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ ในช่วงหลังจากพระราชินีเอลิซาเบธของสหราชอาณาจักรเสด็จสวรรคตได้ไม่นาน

การสวรรคตของราชินีเอลิซาเบธส่งผลให้สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นประมุขพระองค์ถัดไปของสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศในเครือจักรภพที่อยู่ในภูมิภาคแคริบเบียนด้วย เมื่อไม่นานนี้ประเทศบาร์เบโดสซึ่งเป็นหนึ่งในเครือจักรภพได้ถอดถอนราชวงศ์อังกฤษออกจากการเป็นประมุขและมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรกขึ้นเป็นประมุขแทนเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งในตอนนั้นพระราชินีเอลิซาเบธทรงมีพระราชดำรัสแสดงความยินดีต่อชาวบาร์เบโดส

ชาวบาร์เบโดสระบุการปลดแอกจาก 'ควีนเอลิซาเบธที่ 2' สู่ยุคสาธารณรัฐไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่

ในแอนติกาและบาร์บูดาก็แสดงจุดยืนไปในทางเดียวกันทันทีหลังจากที่พระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ นายกรัฐมนตรี แกสตัน บราวน์ แถลงต่อสื่อว่าจะจัดให้มีการทำประชามติว่าประเทศของพวกเขาควรยกเลิกการมีกษัตริย์เป็นประมุขแล้วจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ ภายในช่วง 3 ปีนี้

บราวน์กล่าวว่า "นี่เป็นเรื่องที่ควรจะมีการทำประชามติให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ... มันไม่นับเป็นการมุ่งร้าย และไม่ได้ถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างระบอบกษัตริย์อังกฤษกับประเทศแอนติกาและบาร์บูดาแต่อย่างใด"

บราวน์บอกอีกว่าเรื่องนี้จะนับเป็น "ขั้นตอนสุดท้าย" ที่จะทำให้ประเทศของพวกเขา "เป็นเอกราชอย่างแท้จริง" และไม่นับว่าเป็นการแสดงความลบหลู่ต่อราชวงศ์อังกฤษแต่อย่างใด

นอกจากกรณีของบาร์เบโดสแล้ว ก่อนหน้านี้เคยประเทศในแคริบเบียนอื่นๆ ที่ทยอยถอดถอนพระราชินีอังกฤษออกจากการเป็นประมุขของประเทศ เช่น สาธารณรัฐมอริเชียส ที่ถอนควีนออกจากการเป็นประมุขมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว ขณะที่จาไมกาซึ่งอยู่ใกล้กับแอนทิกาและบาร์บูดาก็วางแผนจะเปลี่ยนสถานะของประเทศเป็นสาธารณรัฐภายในปี 2568 นี้

นอกจากประเทศในแถบแคริบเบียนแล้ว ประเทศออสเตรเลียก็เริ่มมีขบวนการเรียกร้องเป็นสาธารณรัฐที่มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานิส จากที่เขาแต่งตั้ง ให้ แมตต์ ทิสเทิลธ์เวต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณรัฐ

ปรากฏการณ์ที่ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษพากันถอนตัวออกจากระบอบกษัตริย์ของอังกฤษแล้วเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้น่าพิจารณาว่าอนาคตของการครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นอย่างไรต่อไป

สหราชอาณาจักรและเครือจักรภพตอนนี้มีรัฐที่เป็นสมาชิกอยู่ 54 รัฐ แต่ในปัจจุบันมีอยู่เพียง 15 รัฐที่ยังคงนับกษัตริย์หรือราชินีอังกฤษเป็นประมุข เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, จาไมกา, ปาปัวนิวกินี, เบลิซ, บาฮามาส, เซนต์ลูเซีย แอนติกาและบาร์บูดา เป็นต้น

ในหลายประเทศเหล่านี้ขบวนการเรียกร้องเป็นสาธารณรัฐก็มีความเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน ในกรณีของบาฮามาส อดีตอัยการสุงสุด ฌอง แมควีนนีย์ เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2564 ว่า มันคงเป็นเรื่องที่ "หลีกเลี่ยงไม่ได้" ที่บาฮามาสจะเดินรอยตามบาร์เบโดสในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ

ในเบลิซ รัฐมนตรีกระทรวงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการเมือง เฮนรี ชาร์ลส์ อัชเชอร์ กล่าวไว้เมื่อปี 2564 เช่นกันว่า "บางทีมันอาจจะถึงเวลาแล้วที่เบลิซจะก้าวไปอีกขั้นในการเป็นเอกราชอย่างแท้จริง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ประชาชนในเบลิซจะต้องตัดสินใจ"

ขณะเดียวกัน มิคาเอล ฟิลิปส์ สมาชิกพรรคฝ่ายค้านของรัฐสภาจาไมกาก็กล่าวไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า เขาเชื่อว่าการสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านประเทศจาไมกาไปสู่การเป็นสาธารณรัฐได้ ในประเทศเซนต์ลูเซีย หัวหน้าฝ่ายค้าน อัลเลน ชาสตาเนต ก็กล่าวต่อสื่อว่าเขาสนับสนุนขบวนการเรียกร้องให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศแถบแคริบเบียนได้แสดงออกในทำนองนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าฟ้าชายวิลเลียมและแคเธอรีน มิดเดิลตัน พระชายาของพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกลุ่มประเทศแถบแคริบเบียน พระองค์ต้องเผชิญกับการประท้วงและเรียกร้องให้มีการชดเชยเรื่องการใช้ทาสที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ขบวนการสาธารณรัฐของออสเตรเลียได้แสดงการไว้อาลัยทันทีหลังจากที่ได้ข่าวการสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธ แต่ก็บอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่ออสเตรเลียควรจะก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็นเอกราชอย่างเต็มรูปแบบ ในแถลงการณ์ของขบวนการระบุอีกว่า "พระราชินีทรงสนับสนุนสิทธิของชาวออสเตรเลียให้เป็นประเทศเอกราชอย่างเต็มรูปแบบในช่วงที่มีการทำประชามติเรื่องออสเตรเลียเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 2541 พระองค์มีพระราชดำรัสในตอนนั้นว่าพระองค์ 'แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่เสมอว่าอนาคตของระบอบกษัตริย์ในออสเตรเลียนั้นเป็นประเด็นที่ประชาชนออสเตรเลียเท่านั้นที่จะตัดสินใจ โดยอาศัยวิธีการที่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและหลักรัฐธรรมนูญ' "

รัฐบาลออสเตรเลียยังเคยบอกไว้ว่าพวกเขาจะพิจารณาตัวเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐ ขณะที่ทิสเทิลธ์เวตซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการสนับสนุนให้ออสเตรเลียเป็นสาธารณรัฐก็เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อต้นปี 2565 ว่า "ชาวออสเตรเลียจำนวนมากเชื่อว่านี่เป็นเวลาอันสมควรแล้ว" ในการที่จะปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานะประมุขของประเทศ

อย่างไรก็ตามในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลอัลบานิสของออสเตรเลียดูจะมีท่าทีอ่อนลงเล็กน้อยในเรื่องของขบวนการสาธารณรัฐ และบอกว่าจะมีการเชิญพระราชาธิบดีชาร์ลส์มาเยือนออสเตรเลียโดยเร็วที่สุด รวมถึงอ้างว่ามันยังไม่ใช่เวลาอันสมควรที่จะเปิดการถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องสถานะความเป็นสาธารณรัฐ

ในประเทศแถบแคริบเบียนอื่นๆ นั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการแสดงการไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธอย่างเป็นพิธี แต่ประชาชนทั่วไปมีความคิดเห็นอย่างไรกันแน่

หนึ่งในผู้ที่อาศัยในกรุงคิงส์ตัน ประเทศจาไมกา กล่าวว่าประชาชนก็ยังคงดำเนินชีวิตตามปรกติและสำหรับตัวเธอแล้ว "ฉันคิดว่าว่ามัน(การสวรรคต)เป็นเรื่องโชคร้าย พระราชินีทรงมีชีวิตอยู่มาเป็นเวลานานมากแล้ว ซึ่งฉันเดาว่ามันได้แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์ได้รับการปฏิบัติอย่างไรในอังกฤษ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ฉันก็ไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธนัก"

ชารีส โจนส์ หนึ่งในผู้อาศัยในบาร์เบโดส ประเทศที่เพิ่งถอนตัวออกจากระบอบกษัตริย์อังกฤษ ระบุว่า ราชินีเอลิซาเบธได้ "ส่งเสริมและค้ำชูสิ่งที่เป็นความเกลียดชัง สิ่งแย่ๆ สิ่งเลวร้าย จำนวนมาก" อย่างไรก็ตามควีนเอลิซาเบธก็ยังเป็น "สัญลักษณ์ของอำนาจ" ในประเทศของพวกเขามานาน ทำให้พวกเขารู้สึกแปลกๆ ในช่วงเวลาแบบนี้ หลังจากที่พวกเขาเผชิญการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในแคนาดามีความคิดเห็นเกี่ยวกับการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธในอีกแง่หนึ่ง จิลเลียน ซันเดอร์แลนด์ นักศึกษาในโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวว่าการสวรรคตของควีนทำให้เธอรู้สึกซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซันเดอร์แลนด์เป็นบุคคลที่ถือสองสัญชาติคือแคนาดาและบาร์เบโดส เธอบอกว่ามันเป็น "เรื่องเศร้ามาก" ที่พระองค์สวรรคต แต่ทว่าในฐานะที่ควีนเอลิซาเบธเป็น "ผู้นำหุ่นเชิด" ที่เป็นตัวแทนของสถาบันทางอำนาจ ซึ่งทำให้ผู้คนในอดีตประเทศอาณานิคมต้องอยู่อย่างยากลำบากเพราะมรดกของสถาบันกษัตริย์อังกฤษมาก่อน ทำให้ผู้คนเหล่านี้มีความรู้สึกสัมพันธ์กับระบอบกษัตริย์อังกฤษและต่อควีนเอลิซาเบธต่างกันออกไป

มีบางส่วนที่แสดงการไว้อาลัยและพูดถึงความทรงจำอันอบอุ่นเกี่ยวกับราชินีเอลิซาเบธ แต่ผู้คนบางส่วนก็เน้นพูดถึงผลกระทบที่ยังคงเกิดขึ้นจากการที่ควีนเอลิซาเบธเป็นตัวแทนของระบอบอาณานิคม

ซันเดอร์แลนด์บอกว่าความรู้สึกของตัวเธอก็มีความขัดแย้งในตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอเติบโตขึ้นในแคนาดาที่ได้เห็นการนำเสนอภาพลักษณ์ทางบวกของเชื้อพระวงศ์อังกฤษตั้งแต่เด็ก แต่พอเธอได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเชื้อสายบายันของเธอทำให้ภาพลักษณ์อันสวยงามของราชวงศ์อังกฤษเปลี่ยนแปลงไปในสายตาเธอ ทำให้เธอรู้สึกว่าเดิมทีที่เคยเห็นควีนอังกฤษเปรียบเสมือน "แม่หรือคุณยาย หรือยายทวด" สำหรับเธอ กลายเป็นว่าเธอมองเห็นควีนในฐานะสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคม

ดอนโนวาน ไซมอน คนผิวสีที่เคยเป็นประธานสมาคมชาวจาไมกันแคนาดากล่าวว่าไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะมีปฏิกิริยาเกี่ยวกับการสวรรคตแตกต่างกันไป แน่นอนว่าควีนเอลิซาเบธทรงมีบางส่วนที่น่าชื่นชม แต่ชาวจาไมกาก็ยังคงรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากลัทธิอาณานิคมและจักรวรรดินิยมอยู่

คาเรน ริชาร์ดส์ ประธานบอร์ดของสมาคมชาวแคนาดาผู้มีเชื้อสายแอฟริกันและแคริบเบียนกล่าวว่าในขณะที่เธอไม่เชื่อในเรื่องที่ว่าจะถึงขั้นมีคน "กระโดดโลดเต้นบนท้องถนนและโห่ร้องแสดงความยินดีต่อการสวรรคตของควีน" แต่การที่ชาวแคนาดาที่มีเชื้อสายแอฟริกันและแคริบเบียนจะไม่ได้รู้สึกเศร้าในแบบเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ริชาร์ดส์บอกอีกว่า ถึงแม้ว่าราชวงศ์อังกฤษจะมีการพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับชุมชนคนผิวสีกลุ่มประเทศเครือจักรภพ แต่ก็น่าสงสัยว่าเป็นแค่การพยายามประนีประนอมกันแค่เปลือกนอกหรือเปล่า หรือมีมาตรการในการประนีประนอมร่วมกันอย่างจริงจัง

มีมุมมองของนักวิชาการต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ไอแซค ซานีย์ จากมหาวิทยาลัยดาลเฮาส์กล่าวว่า ภูมิภาคแคริบเบียนดูเหมือนจะเป็นพื้นที่สำคัญที่มีการท้าทายระบอบกษัตริย์ของอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วโดยเป็นการท้าทายสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น "สิ่งตกค้างทางอาณานิคม"

ซานีย์ ผู้ที่เป็นประธานกรรมาธิการด้านคนผิวสีและคนเชื้อสายแอฟริกันพลัดถิ่น ยังบอกอีกว่าเชื้อพระวงศ์ของอังกฤษไม่เคยรับรู้ในเรื่องนี้เลยว่า "ชีวิตที่หรูหราฟุ้งเฟ้อของพวกเขา ความมั่งคั่งที่พวกเขาสามารถเอามาใช้จ่ายได้ มาจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในแถบแคริบเบียน ผ่านการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านทางการล่าอาณานิคม และผ่านทางการครอบงำประเทศอื่นๆ ในประเทศโลกทางใต้"

 

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท