ส.ส.ก้าวไกล ชี้ EEC มรดกบาป คสช. ทำพิษ ชาวปราจีนฯ ร้องก้าวไกลช่วยตรวจสอบ

  • เบญจา พาชาวปราจีนทวงความเป็นธรรมหลัง EEC ปราจีนพ่นพิษ มรดกบาปคสช. สร้างปัญหาไม่หยุด หลังผู้มีอิทธิพลลักลอบทิ้งสารเคมี ข่มขู่นักกิจกรรม
  • ปธ.อนุ กมธ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะฯ สผ. รับหนังสือจาก ชาว จ.สระบุรี ขอเร่งตรวจสอบโรงงานไฟฟ้า RDF ใน ต.หนองไข่น้ำ จัดตั้งถูกกฎหมายหรือไม่

14 ก.ย.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เบญจา แสงจันทร์ พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม และ สุทธวรรณ สุบรรณ ณ.อยุธยา ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงทวงความยุติธรรมให้เกษตรกร หลังจากที่มีคำสั่ง 4/ 2559 ทำให้เกิดการเปลี่ยนผังเมือง และมีการตั้งโรงงาน 101 105 และ 106 จนเป็นที่มาของปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาการทิ้งขยะสารเคมีต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่

เบญจากล่าวว่า "เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพื้นที่ที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องของขยะอันตราย และสารพิษที่เป็นเคมี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคสช. ที่ประกาศให้มีโรงงาน 101 105 และ 106 ตั้งในพื้นที่" นอกจากเรื่องการตั้งโรงงานและปัญหามลภาวะ ยังมีเรื่องของ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจนถึงนักการเมืองระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพราะมีการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน 

ปัจจุบันมีสถานการลักลอบทิ้งขยะ กากเคมี เกิดปัญหามลพิษในพื้นที่ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีนักกิจกรรมต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชน กิจกรรมเพื่อปกป้องพื้นที่แต่ปัญหาก็คือและกิจกรรมทั้งหมดถูกข่มขู่คุกคาม สุเมธ หนึ่งในชาวปราจีนบุรีที่ได้เดินทางมาร้องเรียนกับส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า "ได้รับผลกระทบจากกาาเกิดปัญหาด้านมลภาวะ เช่น ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และคำสั่ง 4/2559 การเปลี่ยนแปลงทั้งเมือง และทำให้เกิดขยะรีไซเคิลเข้ามายังจังหวัดปราจีนบุรีเป็นจำนวนมาก" โดยยังระบุเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก จากมลภาวะกลิ่นเหม็นฝุ่นละอองไปจนถึงรถยนต์ที่วิ่งเข้าออกทั้งคืนของโรงงาน

นอกจากนี้ สุนทร หนึ่งในชาวปราจีน ได้เสริมความของสุเมธว่า "การรั่วไหลของสารเคมี 105 106 ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือ ลักลอบทิ้งสารเคมี น้ำมันล้างเครื่อง หรือน้ำเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม หลักการบริษัทจะต้องส่งให้กับนิคมและนิคมส่งให้โรงงานที่รับบำบัดน้ำต่อไป กระบวนการลักลอบทิ้งน้ำเสียนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะเริ่มลักลอบมาตั้งแต่ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม เกาะขนุม ลามไปถึงปราจีนบุรี สระแก้ว มีผู้อิทธิพลสามารถหาพื้นที่ที่จะทำให้กระบวนการเหล่านี้เอาน้ำไปทิ้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด เริ่มจากผู้มีอิทธิพลทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งข่มขู่ชาวบ้านในพื้นที่" เขายังกล่าวถึงปัญหาของการร้องเรียน ว่าเรื่องกลับไม่คืบหน้า และอยากให้พรรคก้าวไกล ช่วยตรวจสอบ

เบญจา ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล จึงได้กล่าวสรุปว่า "ปัญหาต่างๆในเรื่องของการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานขยะคัดแยกขยะแล้วก็โรงงานอุตสาหกรรมเคมี ก็มีการลักลอบทิ้งของเสียในภาคตะวันออกไม่ว่าจะเป็นฉะเชิงเทรา สระแก้ว หรือ ปราจีนบุรี ส่งผลกระทบมาอย่างยาวนานและสิ่งนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องประชาชน ส่งผลกระทบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิชุมชน ในเรื่องของการถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่คุกคาม พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงจะนำไปสู่การออกแบบกฎหมาย และการใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ในแง่ของการแก้กฎหมายเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต"

ปธ.อนุ กมธ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะฯ สผ. รับหนังสือจาก ชาว จ.สระบุรี ขอเร่งตรวจสอบโรงงานไฟฟ้า RDF ใน ต.หนองไข่น้ำ จัดตั้งถูกกฎหมายหรือไม่

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานด้วยว่า กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ใน กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย (ปภ.) สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก กฤษณา บำรุงราษฎร์ และ พรชัย หาสีสุข ตัวแทนประชาชนชาวตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และคณะ เรื่อง ขอให้เร่งตรวจสอบการดำเนินการโครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด หมู่ที่ 2 ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

โดยตัวแทนประชาชนผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า โครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ดังกล่าว จัดตั้งผิดหลักกฎหมายที่ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าภายในรัศมี 300 เมตรจากชุมชน ซึ่งการจัดตั้งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทางชาวบ้านในพื้นที่ได้เคยร้องเรียนคัดค้านกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแล้วถึงผลกระทบอย่างมากที่มีต่อชุมชนและประชาชน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ประกอบกับพบว่า ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองไข่น้ำ ได้มีการแก้ไขปัญหาข้อบัญญัติชุมชนให้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้ ทั้งที่เดิม ข้อบัญญัติชุมชนได้ห้ามสร้างโรงไฟฟ้า เพราะพื้นที่ผังเมืองเป็นพื้นที่สีเขียวและชมพู และพื้นดังกล่าวมีปัญหาการระบายน้ำ รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ โดยชาวบ้านในพื้นที่ ขอให้ทาง กมธ.ปภ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการตั้งโรงไฟฟ้า RDF ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชน รวมถึงการตั้งโรงไฟฟ้า RDF แห่งนี้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ 

ประธานคณะอนุ กมธ. พิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะฯ กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า ตนจะได้นำเรื่องนี้ไปผลักดันการแก้ปัญหาตามกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท